วานนี้ (18 ธันวาคม 2562) กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จัดงานแถลงข่าวประกาศผลการพิจารณาคัดเลือกวรรณกรรมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่มีแนวคิดตามศาสตร์พระราชา และเปิดตัวหนังสือ “วรรณกรรมยอดเยี่ยมในสมัยรัชกาลที่ 9 ตามแนวคิดศาสตร์พระราชา” และระบบจำหน่ายหนังสือออนไลน์ของกรมศิลปากร ณ หอสมุดแห่งชาติ เทเวศร์ โดยมีนายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวถึงภาพรวมของโครงการ และได้รับเกียรติจากนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ให้เกียรติประกาศผล ร่วมกับนางชมัยภร บางคมบาง ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2557 ประธานอนุกรรมการพิจารณาคัดเลือกวรรณกรรม ประเภทสารคดี และ ศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา สำนักศิลปกรรม ประธานอนุกรรมการพิจารณาคัดเลือกวรรณกรรม ประเภทนวนิยาย ร่วมกล่าวถึงแนวทางการพิจารณาคัดเลือกวรรณกรรมในประเภทต่างๆ และแนะนำหนังสือ “วรรณกรรมยอดเยี่ยมในสมัยรัชกาลที่ 9 ตามแนวคิดศาสตร์พระราชา” ในครั้งนี้ด้วย
นายอิทธิพล คุณปลื้ม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ตระหนักในความสำคัญของแนวพระราชดำริและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีต่องานด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ประกอบกับทรงเป็นองค์อัครศิลปิน จึงมอบหมายให้กรมศิลปากร (ศก.) ดำเนินโครงการพิจารณาคัดเลือกวรรณกรรมในรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 ที่มีแนวคิดตามศาสตร์พระราชา โดยเชิญศิลปินแห่งชาติ นักประพันธ์ นักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาษาและวรรณกรรมร่วมเป็นคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกและประกาศยกย่องวรรณกรรมตามแนวข้างต้น 5 ประเภท ได้แก่ นวนิยาย เรื่องสั้น กวีนิพนธ์ สารคดี และวรรณกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน โดยแบ่งเป็นวรรณกรรมยอดเยี่ยมประเภทละ 9 เรื่อง วรรณกรรมดีเด่น ประเภทละ 61 เรื่อง
“กรมศิลปากรได้จัดพิมพ์หนังสือวรรณกรรมยอดเยี่ยมในสมัยรัชกาลที่ 9 ตามแนวคิดศาสตร์พระราชา เพื่อเผยแพร่รายชื่อวรรณกรรมอันทรงคุณค่าแห่งรัชสมัย ตลอดจนเชิดชูเกียรติผู้ประพันธ์วรรณกรรมไว้เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ สำหรับหนังสือเล่มใดที่หมดไปจากท้องตลาด กรมศิลปากรจะดำเนินการประสานงานไปยังทายาทหรือสำนักพิมพ์เพื่อขอนำมาจัดพิมพ์ใหม่ เพื่ออนุรักษ์วรรณกรรมเล่มดังกล่าวให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสอ่านและคงอยู่สืบไป รวมถึงเตรียมประสานกระทรวงศึกษาธิการพิจารณาวรรณกรรมยอดเยี่ยมสำหรับเด็กและเยาวชนเพื่อจัดเข้ารายการหนังสืออ่านนอกเวลาส่งเสริมให้เด็กไทยอ่านและซึมซับแนวคิดศาสตร์พระราชาต่อไป” รมว.วัฒนธรรม กล่าว
ด้าน ศ.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ ประธานอนุกรรมการพิจารณาคัดเลือกวรรณกรรมประเภทนวนิยาย กล่าวว่า งานวรรณกรรมทั้ง 5 ประเภท ถือว่ามีความสำคัญและน่าสนใจยิ่ง ผลการพิจารณาในครั้งนี้ครอบคลุมทุกประเภทวรรณกรรมรวม 350 เรื่อง ที่ล้วนสร้างสรรค์ตลอด 70 ปีการครองราชย์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 สำหรับเกณฑ์ตัดสินมี 2 แนวทางหลักคือเป็นเรื่องที่แสดงถึงแนวคิดศาสตร์พระราชา ซึ่งไม่ได้กำหนดว่าจะแต่งขึ้นก่อนหรือหลังมีแนวคิดศาสตร์พระราชาขึ้น
“ทั้งนี้ ภาพรวมหนังสือ 350 เรื่องที่คัดเลือกมานี้ ผู้แต่งได้น้อมนำศาสตร์พระราชามานำเสนออย่างมีวรรณศิลป์ ถ่ายทอดเรื่องความเพียร ความมีสติ การเกื้อกูล การปฏิบัติหน้าที่ของตน การรักธรรมชาติ รักแผ่นดิน รักศิลปวัฒนธรรม มีความเข้าใจรากเหง้าวิถีไทย การรักษาวิถีดั้งเดิมปรับให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ รวมถึงการกินอยู่อย่างพอมีพอกิน นอกจากนี้ยังเสนอเรื่องความไม่ย่อท้อและจำนนต่อชะตากรรม ไม่ท้อแท้แม้เผชิญอุปสรรค มีความบากบั่นวิริยะอดทน ปลูกจิตสำนึกความเป็นธรรมในสังคมด้วย” ศ.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ กล่าว
สำหรับผลคัดเลือกวรรณกรรมยอดเยี่ยม 5 ประเภท มีดังต่อไปนี้
- ประเภทนวนิยาย วรรณกรรมยอดเยี่ยมจำนวน 9 เรื่องได้แก่ เขาชื่อกานต์ ผู้แต่ง สุวรรณี สุคนธา, ทุ่งมหาราช ผู้แต่ง มาลัย ชูพินิจ, บางกะโพ้ง ผู้แต่ง วินทร์ เลียววาริณ, บุษบกใบไม้ ผู้แต่ง กฤษณา อโศกสิน, ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด ผู้แต่ง โบตั๋น, ผู้ใหญ่ลีกับนางมา ผู้แต่ง กาญจนา นาคนันท์, แผ่นดินนี้ยังรื่นรมย์ ผู้แต่ง ศรีฟ้า ลดาวัลย์, ไผ่แดง ผู้แต่ง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช และลูกอีสาน ผู้แต่ง คำพูน บุญทวี
- ประเภทเรื่องสั้น วรรณกรรมยอดเยี่ยม 9 เรื่อง ได้แก่ ขุนทองเจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง ผู้แต่ง อัศศิริ ธรรมโชติ, แจ่มรัศมีจันทร์และรวมเรื่องสั้นเกือบทั้งชีวิตของเสนีย์ เสาวพงศ์ ผู้แต่ง เสนีย์ เสาวพงศ์, แผ่นดินอื่น ผู้แต่ง กนกพงศ์ สงสมพันธุ์, ฟ้าบ่กั้น ผู้แต่ง ลาว คำหอม, รวมเรื่องสั้น คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้แต่ง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช, รวมเรื่องสั้นรับใช้ชีวิตของศรีบูรพา ผู้แต่ง ศรีบูรพา, เรื่องสั้นนอกเหมืองแร่ ผู้แต่ง อาจินต์ ปัญจพรรค์, สวนสัตว์ ผู้แต่ง สุวรรณี สุคนธา และสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน ผู้แต่ง วินทร์ เลียววาริณ
- ประเภทกวีนิพนธ์ วรรณกรรมยอดเยี่ยม 9 เรื่อง ได้แก่ ขอบฟ้าขลิบทอง ผู้แต่ง อุชเชนี, บทกวีของฉัน: จ่าง แซ่ตั้ง ผู้แต่ง จ่าง แซ่ตั้ง, ปณิธานกวี ผู้แต่ง อังคาร กัลยาณพงศ์, พุทธทาสธรรมคำสอนเส้นทางสู่ความสุขเย็น ผู้แต่ง พุทธทาสภิกขุ, เพียงความเคลื่อนไหว ผู้แต่ง เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, ม้าก้านกล้วย ผู้แต่ง ไพวรินทร์ ขาวงาม, รวมบทกวีและงานวิจารณ์ศิลปะวรรณคดีของกวีการเมือง ผู้แต่ง กวีการเมือง, เราชะนะแล้วแม่จ๋า ผู้แต่ง นายผี และศึกษาภาษิตและร้อยกรอง ผู้แต่ง ฐะปะนีย์ นาครทรรพ
- ประเภทสารคดี วรรณกรรมยอดเยี่ยม 9 เรื่อง ได้แก่ กาเลหม่านไต ผู้แต่ง บรรจบ พันธุเมธา, ขบวนการแก้จน ผู้แต่ง ประยูร จรรยาวงษ์, ความเป็นมาของคำสยามไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ ผู้แต่ง จิตร ภูมิศักดิ์, คู่มือมนุษย์ผู้แต่งพุทธทาสภิกขุ ชีวิตที่เลือกไม่ได้: อัตชีวประวัติของผู้ที่เกิดในแผ่นดินไทยคนหนึ่ง ผู้แต่ง กรุณา กุศลาสัย, น้ำบ่อเกิดแห่งวัฒนธรรมไทย ผู้แต่ง สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา, พุทธธรรม ผู้แต่ง พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตโต), เพลงนอกศตวรรษ ผู้แต่ง อเนก นาวิกมูล และฟื้นความหลัง ผู้แต่ง เสถียรโกเศศ
- ประเภทวรรณกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน วรรณกรรมยอดเยี่ยม 9 เรื่อง ได้แก่ เกาะที่มีความสุขที่สุดในโลก ผู้แต่ง ลินดา โกมลารชุน, ขวัญสงฆ์ ผู้แต่ง ชมัยภร แสงกระจ่าง, ต้นเอ๋ยต้นไม้ ผู้แต่งและภาพประกอบ จารุพงษ์ จันทรเพชร, บึงหญ้าป่าใหญ่ ผู้แต่ง เทพศิริ สุขโสภา, ผีเสื้อและดอกไม้ ผู้แต่ง นิพพานฯ, ภาพประวัติศาสตร์(กรุงรัตนโกสินทร์ตอนนต้น) ผู้แต่ง เปลื้อง ณ นคร ภาพประกอบ เหม เวชกร, เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก (เล่ม1-4) ผู้แต่ง ทิพย์วาณี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ภาพประกอบปีนัง, แม่โพสพ ผู้แต่ง ม.ล. เติบ ชุมสาย ภาพประกอบ อุดมลักษณ์ ทรงสุวรรณ และ “เรือใบใจกล้า” ในหนังสือชุดสำหรับเยาวชน: หนังสือสื่อประสมเฉลิมพระเกียรติ ผู้แต่งและภาพประกอบ วิภาวี ฉกาจทรงศักดิ์ และคณะ
ภายในงานเดียวกันนี้ นายพนม จันทรโชติ รองอธิบดีกรมศิลปากร CIO ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง กรมศิลปากร ได้กล่าวถึงระบบการจำหน่ายหนังสือออนไลน์ของกรมศิลปากร และนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมได้ทดลองสั่งซื้อหนังสือระบบออนไลน์ในครั้งนี้ด้วย
“นับเป็นโอกาสดีที่กรมศิลปากรได้เพิ่มช่องทางระบบการจำหน่ายหนังสือออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการสั่งซื้อหนังสือที่กรมศิลปากรจัดพิมพ์ผ่านทาง http://bookshop.finearts.go.th โดยเฉพาะสั่งซื้อเป็นของขวัญปีใหม่สำหรับช่วงเทศกาลปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถสั่งซื้อหนังสือวรรณกรรมยอดเยี่ยมในสมัยรัชกาลที่ 9 ตามแนวคิดศาสตร์พระราชา และหนังสืออื่นๆ ที่น่าสนใจของกรมศิลปากร ทั้งด้านโบราณคดี พิพิธภัณฑ์ วรรณกรรมและประวัติศาสตร์ รวมทั้งหนังสือจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ สำนักหอสมุดแห่งชาติ ช่องทางระบบดังกล่าวได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยด้วย” รัฐมนตรีกล่าวปิดท้าย
คอลัมน์:ข่าววรรณกรรม / เรื่องและภาพ: ณ ชล