O ฉันมิได้มองโลกกว้างเหมือนอย่างคุณ | ถึงโลกหมุนอย่างไรฉันไม่เห็น |
แม้แต่ภาพตะวันและจันทร์เพ็ญ | รูปเงาเป็นอย่างไรฉันไม่รู้ |
O โลกของฉันมืดยิ่งกว่าหลับตาสนิท | แต่ดวงจิตฉันสว่างกระจ่างอยู่ |
และทุกวันฉันใช้หัวใจดู | ยังคงสู้และพร้อมไม่ยอมแพ้ |
บางวรรคของบท “จากฉัน ผู้ไร้ดวงตา” ที่เขียนไว้ในคำนำหนังสือรวมบทกลอน ทุกขณะกระจ่างชัดสัมผัสใจ นำเราไปรู้จักกับตัวตนกวีสาว “รินศรัทธา กาญจวตี” หรือ ลูกหมู-หทัยรัตน์ จตุรวัฒนา ชื่อแท้จริงของเธอ
“ไพลิน รุ้งรัตน์” หรือ ชมัยภร แสงกระจ่าง เขียนไว้ในคำนิยมว่า บทกลอนของ “รินศรัทธา” พูดด้วยน้ำเสียงไพเราะ เรียบเรียงลำดับความอย่างดี และฟังเพลิน …การไร้ดวงตาของเธอไม่เป็นปัญหาเลยแม้แต่น้อย เห็นหรือไม่เห็นไม่ใช่เรื่องสำคัญของเธอ เหตุเพราะเธอไม่เคยไร้ดวงใจ แม้จะไร้ดวงตา ทุกขณะกระจ่างชัดสัมผัสใจ งดงามและทรงคุณค่าจนได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทกวีนิพนธ์ หนังสือดีเด่นรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด (7 Book Awards) ประจำปี 2562
เริ่มแต่งกลอนตั้งแต่เมื่อไหร่ และแต่งกลอนได้อย่างไรในเมื่อตามองไม่เห็น
เริ่มแต่งกลอนตอน ม.1 มีงานสัปดาห์ห้องสมุด คุณครูขอความร่วมมือให้นักเรียนเขียนกลอนส่งประกวดหน่อย หนูก็เขียนส่งแบบไม่คิดอะไร แค่ส่งๆ ไป แต่บังเอิญได้รางวัลชนะเลิศ จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดความรู้สึกว่า สิ่งนี้เราน่าจะทำได้นะ จากนั้นเลยเขียนส่งตลอดไม่ว่าจะงานวันพ่อหรือวันแม่ ก่อนหน้านี้ตาของลูกหมูมองเห็นข้างหนึ่งและบอดอีกข้าง แต่ประสาทตาข้างที่มองเห็นค่อยๆ ถูกทำลาย จนบอดทั้งสองข้างในที่สุด หนูจึงเรียนอักษรเบลควบคู่กับการเรียนภาคปกติมาตลอด ตอนที่ตายังไม่บอดสนิททั้งสองข้าง ยังสามารถเขียนหนังสือได้ปกติ แค่เขียนตัวอักษรใหญ่กว่าคนอื่นหน่อย และใช้การพิมพ์คอมฯ ช่วย
จนบอดสนิทช่วงปิดเทอม ม.3 ขึ้น ม.4 จากนั้นจึงใช้การเขียนด้วยตัวอักษรเบล แล้วอ่านให้เพื่อนหรือครูฟังเพื่อให้เขาช่วยเขียนต่ออีกที แต่ทุกวันนี้เทคโนโลยีพัฒนาขึ้น ใช้การพิมพ์ในคอมฯ มีโหมดสำหรับคนตาบอด พอเรากดปุ่มไหนจะมีเสียงบอกว่าเรากดโดนตัวอะไร
แล้วจริงจังกับการแต่งกลอนตั้งแต่ตอนไหน
พอหนูตาบอดก็เริ่มรู้สึกว่าเราไม่เหมือนเพื่อนแล้ว ตอนพักกลางวันเพื่อนๆ ไปวิ่งเล่นกัน เราได้แต่นั่งเฉยๆ ไปไหนไม่ได้ มันไม่ใช่ความรู้สึกเศร้านะ แต่เป็นความรู้สึกไร้ตัวตน วินาทีที่รู้สึกว่างเปล่าครูภาษาไทยก็เดินมา เราได้ยินครูเปิดหนังสือ แล้วยื่นมือมาจับมือเราพร้อมบอกว่าเดี๋ยวจะอ่านหนังสือให้ฟัง ครูคงอยากให้เราเบี่ยงเบนความสนใจและไม่หมกมุ่นกับปัญหาของตัวเอง จึงใช้หนังสือดึงดูด อาจเพราะเห็นเราเขียนกลอนส่งประกวด จึงอ่านบทกวีให้ฟังเป็นกิจวัตร
กลอนที่ครูอ่านให้ฟังส่วนมากเป็นผลงานของอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ อาจารย์อังคาร กัลยาณพงศ์ ซึ่งแตกต่างจากกลอนในวรรณคดีที่เรียน เหมือนเปิดประตูอีกบานสู่โลกที่เราไม่เคยเห็น ทั้งที่ประตูบานนั้นอยู่ในใจของเราเอง แล้วครูก็จูงหนูก้าวออกไปข้างนอกโดยพาไปค่ายชื่อ “ยุวกวีศรีศิลป์” ทุกคนที่สมาคมนักกลอนน่ารักมาก เขาเห็นเรามีตัวตน เลยค่อยๆ เปิดใจ
หลังจากนั้นลูกหมูฝึกฝนพัฒนาฝีมือตัวเองอย่างไร
มีอยู่ปีหนึ่งไปค่ายแล้วอาจารย์เนาวรัตน์มาพูดปิดโครงการ หนูประทับใจมากจนเดินไปถามอาจารย์ “ครูคะ คนแบบครูสามารถก๊อปปี้ได้ไหมคะ?” หมายถึงการเขียนกลอนได้ดีอย่างที่ครูเขียน สามารถทำตามได้ไหม ครูตอบ “ทำได้สิ” “แล้วหนูจะทำได้ไหม” ครูก็บอกว่า “ทำได้ แต่มีข้อแม้ข้อเดียวคือต้องเขียนกลอนทุกวัน อย่างน้อยวันละบท” หนูตอบว่าจะลองดูแล้วกัน ไม่รับปากด้วย (ฮ่า) จากนั้นหนูจึงเขียนกลอนทุกวันด้วยความ “ไม่เชื่อ” ว่าจะทำให้เก่งอย่างอาจารย์ได้ เพราะไม่เชื่อจึงทำ แรกๆ บอกเลยว่ายากมาก วันนี้เขียนอะไรดี แล้วพรุ่งนี้ล่ะ แม่บ่นก็เอามาเขียน แมวร้องก็เขียน เบื่อที่จะเขียนแล้วก็เอามาเขียน เขียนทุกวันไม่มีขาด คำที่ใช้ก็เป็นคำในชีวิตประจำวัน เรียงร้อยจากสิ่งที่เราพูด จนวันหนึ่งการเขียนกลอนกลายเป็นเรื่องธรรมชาติ เหมือนกิจวัตรที่เราไม่ต้องพยายามอีกต่อไป
นอกจากนี้หนูยังศึกษาด้วยการอ่านผลงานของกวีชั้นครูซึ่งเราได้ยินชื่อในวงสนทนาของนักกลอนว่า ชื่อนี้เด็ดแน่นอน ไม่อ่านสะเปะสะปะ เพราะงานที่ดีคือรากฐานให้เราเติบโตได้อย่างมีมาตรฐาน
แล้วการศึกษางานของกวีชั้นครูส่งอิทธิพลอย่างไรให้เราบ้าง
หลายคนอาจเขียนกลอนแปดแบบสมัยใหม่ขึ้นมาบ้าง แต่หนูยังเขียนโดยยึดฉันทลักษณ์แบบสุนทรภู่
พูดถึงผลงาน ทุกขณะกระจ่างชัดสัมผัสใจ มีความเป็นมาอย่างไร
เมื่อปีที่แล้วหนูล้มป่วย อาจารย์ชมัยภรเป็นห่วงถามไถ่มาว่ามีอะไรให้ช่วยไหม ถ้าขาดแคลนเงินให้บอกนะ หนูบอกอาจารย์ว่าถ้าให้รับเงินหนูต้องทำงานแลกถึงจะแฟร์ อาจารย์เลยบอก งั้นมาพิมพ์หนังสือกัน อาจารย์ไม่ใช่แค่ผู้เขียนคำนิยม แต่เป็นทุกอย่าง เป็นผู้คัดเลือกกลอนจาก 150 สำนวน เหลือ 70 สำนวน ส่งให้สำนักพิมพ์ On Art พี่ทิวา (นายทิวา นามปากกาของเอกรัตน์ จิตรมั่นเพียร) บรรณาธิการได้ต้นฉบับ ใช้เวลาอ่านหนึ่งวันแล้วตัดสินใจพิมพ์เลย เพียง 7 วันหนังสือเล่มนี้ก็สำเร็จ เดิมทีตั้งชื่อเรื่องว่า “จากกวีผู้ไร้ดวงตา” แต่ต่อมาเปลี่ยนเป็น ทุกขณะกระจ่างชัดสัมผัสใจ ซึ่งคือวรรคหนึ่งในบท “จากฉัน ผู้ไร้ดวงตา”
เนื้อหามาจากประสบการณ์ที่เราสัมผัสเอง หนูไปชุมนุมทั้งเสื้อแดงและเสื้อเหลือง ได้ไปคลุกคลีเก็บรสสัมผัส เรารู้สึกว่าต่างฝ่ายต่างถูกทั้งคู่ เพียงแต่มองคนละมุม เลยนำจุดนี้มาเขียนด้วย จริงๆ ทุกบทในหนังสือเล่มนี้มีที่มา มีตัวตนจริงทุกคน หนูได้ทำงานกับนักสิทธิมนุษยชน รู้จักผู้ลี้ภัยทางการเมือง ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่เหลืออะไร แต่เรามองว่าเขาเหมือนเมล็ดพันธุ์ซึ่งปลิวจากที่ที่เคยอยู่ เพื่อตกและเติบโตในดินแดนใหม่ ทุกบทที่เขียนเกิดจากเรื่องจริงทั้งหมด
อาจารย์ชมัยภรเขียนไว้ในคำนิยมว่า กลอนของลูกหมูไม่ได้ตัดพ้อโลก ไม่ดราม่า เรามีทัศนคติในการมองสิ่งต่างๆ ยังไง
หนูคิดว่าคนเรา หนึ่งชีวิตคือหนึ่งวงกลม 360 องศา ลูกหมูตาบอดทำให้สูญเสียไปหนึ่งองศา แต่ทำไมเราต้องไปจมกับแค่หนึ่งองศานั้น เรายังมีอีกตั้ง 359 องศาที่เหลืออยู่ ชีวิตคุณจะโฟกัสอะไรล่ะ 359 หรือ 1 แค่นั้นเอง
มีสารอะไรอีกไหมที่อยากสะท้อนผ่านผลงานเล่มนี้
ทุกบทหนูแฝงแง่คิดไว้ว่า “ตราบใดที่ยังมีความหวัง คุณก็ยังมีชีวิต มีคุณค่า” ทว่าแต่ละคนย่อมตีความต่างกัน แต่พื้นฐานคืออยากให้ความหวังที่จะมีชีวิตอยู่ เพราะหนูเป็นเด็กสิ้นหวังมาก่อน เคยคิดฆ่าตัวตายหลายรอบแล้ว ซึ่งเกิดจากเรื่องน้อยใจในชีวิต ไม่ใช่เรื่องการมองไม่เห็นเลย อย่างเรื่องอกหัก อกหักทำให้หนูรู้สึกไร้ค่ายิ่งกว่าตาบอดอีก
อะไรคือสิ่งที่ทำให้ลูกหมูหลงใหลในบทกวี
เวลาลูกหมูนั่งเขียนกลอนอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ ไม่เคยรู้สึกว่าข้างหน้าคือคอมพิวเตอร์ แต่รู้สึกว่านั่นคือทุ่งกว้าง และเรากำลังนั่งอยู่ในทุ่งกว้าง วัตถุดิบที่ใช้เขียนคือความรู้สึกนึกคิดในสมองของเรา ในใจของเรา เปรียบเสมือนดอกไม้ ต้นไม้ แสงแดด สายลม เมฆบนฟ้า คือความสวยงาม สิ่งนี้แหละคือ “โลกอีกดวงของผู้ไร้ดวงตา” เวลาเราเขียนเหมือนค่อยๆ ใช้มือของเราสัมผัสความรู้สึก ถ้าอบอุ่นก็เหมือนกำลังจับดอกไม้เล็กๆ อยู่ การเอาใจไปจับกับธรรมชาติ ทำให้เกิดความรู้สึกอยากเขียนกลอนต่อไปค่ะ
บทกวีมีความสำคัญต่อลูกหมูอย่างไร
“บทกวีคือลมหายใจ” ตั้งแต่ตื่นจนหลับเรามีบทกวีทุกลมหายใจ ต่อให้ไม่ได้เขียนเป็นกลอน แต่โลกภายในเราเปิดรับด้วยสายตาของกวีตั้งแต่เช้าจรดเย็นจริงๆ ความฝันของหนูจึงมีแค่อย่างเดียวเท่านั้น คือเขียนกลอนมอบให้แก่แผ่นดิน ให้แก่ประชาชน ไม่เคยมีความฝันอื่น พอหนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัล หนูจุดธูปเทียนบอกครูบาอาจารย์ที่ล่วงลับไปแล้วซึ่งได้วางรากฐานให้แก่ชีวิตเรา มอบรางวัลนี้แด่ครู ต่อจากนี้หนูจะพยายามทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม
ช่วยฝากถึงคนที่อ่านบทสัมภาษณ์นี้แล้วมีลูกหมูเป็นแรงบันดาลใจหน่อย
ดีใจที่ตัวเองเป็นประโยชน์ เราทุกคนล้วนเกิดมาแล้วต้องตายเหมือนกัน แต่สิ่งที่ต่างคือใครทำประโยชน์ให้เพื่อนมนุษย์ได้มากกว่ากัน หนูอยากให้การเกิดของหนูมีค่า สิ่งที่หนูพอจะมีคือบทกวี จึงอยากส่งต่อศิลปะแขนงนี้สู่เพื่อนมนุษย์ หนูอยากทำสิ่งที่เป็นประโยชน์เพื่อให้ศิลปะแขนงนี้ดำรงอยู่ต่อไปได้เท่านั้นเอง
ส่วนคนที่มีความฝันและรู้สึกว่าความฝันอยู่ห่างไกล ถ้าเรารักสิ่งนั้นมากพอ เราค่อยๆ ขึ้นบันไดทีละก้าว ทีละขั้น ไม่ต้องมองว่าข้างบนคืออะไร มองแค่ว่าระหว่างทางได้เรียนรู้สิ่งใดเพิ่ม แม้สุดท้ายไม่ถึงฝั่งฝัน แต่ยังได้ความสุขระหว่างทางที่มีค่ามากกว่าการถึงจุดหมายปลายทางด้วยซ้ำ
สำหรับลูกหมู รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดมีคุณค่ามากๆ ไม่ใช่แค่เพราะลูกหมูชนะรางวัล แต่รางวัลนี้ทำให้ลูกหมูรู้ว่าทุกคนที่หนูรักทำเพื่อหนูขนาดไหน อาจารย์ชมัยภรทำหนังสือเล่มนี้ ต้องอ่านตัวหนังสือเล็กๆ ยากขนาดไหน พี่ทิวา บรรณาธิการทำหนังสือในเจ็ดวัน ยากขนาดไหน คนอ่านอ่านกันยากขนาดไหน สิ่งนี้จึงเป็นสัญลักษณ์ของความรักที่เราได้รับ
3 เล่มในดวงใจ “รินศรัทธา กาญจนวตี”
- แม่ โดย แมกซิม กอร์กี แปลโดย จิตร ภูมิศักดิ์
พูดถึงผู้หญิงคนหนึ่งในช่วงก่อนการปฏิวัติรัสเซีย ลุกขึ้นมาต่อสู้ร่วมกับสหายเพื่อพิทักษ์ศักดิ์ศรี อ่านแล้วร้องไห้ ไม่ว่าจะเกิดอะไรต้องย้อนกลับมาอ่านปีละครั้งเสมอ
- แม่น้ำรำลึก โดย เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์
เวลาอ่านเราสัมผัสได้ถึงโลกที่เขาต้องการสื่อ น่าทึ่งมากที่สามารถเปิดโลกของตัวเองให้คนเข้าไปสัมผัสร่วมได้
- ผ่านพบไม่ผูกพัน โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
ชอบเพราะเขียนถึงโลกภายในของตัวเอง น้อยคนที่จะนำมาถ่ายทอดเป็นภาพได้ ภาษาของเขาสวย แม้จะเป็นร้อยแก้วแต่เป็นร้อยแก้วที่แต่ละคำสะท้อนให้เห็นภาพ