– ๑๕ –
………………
ผมตามกลิ่นน้ำเทียนที่เดือดคลั่งมาถึงโรงพยาบาล ไหล่คล้องสายกระเป๋าเสื้อผ้า วิทยุเทปฝากโรงรับจำนำย่านบางพลัดไว้เพื่อลดภาระการสัญจร จิตใจที่หนักอึ้งด้วยความเศร้าและโกรธเกรี้ยวยิ่งหดหู่เมื่อพบว่าคนงานพลัดถิ่นในเมืองใหญ่แห่งนี้ไม่ต่างอะไรกับมนุษย์นิรนาม โรงพยาบาลใหญ่ซับซ้อนไปด้วยอาคารผู้ป่วยและตึกที่แยกประเภทของโรคออกไป ผมสิ้นหวังกับรายชื่อผู้ป่วยบนกระดาน ชอล์คสีขาวที่เขียนไว้ตามลำดับทั้งชื่อและนามสกุลไม่มีคนที่ผมตามหา
ทั้งผม จ้อย ไหมน้อย และใครต่อใครที่ถูกสำนักจัดหางานจับโยนสู่ทะเลเหงื่อ ใบสมัครที่ลงชื่อตามบัตรประชาชนล้วนถูกลืมไปสิ้น ผมไม่เคยถามชื่ออย่างเป็นทางการของจ้อย ชื่อผมไชยา… บิดเพี้ยนมาจากคำเรียกขานของเพื่อนร่วมงาน
ผมเปลี่ยนเป้าหมายที่จะเสาะถามหานามของมนุษย์ไร้ชื่อ ผ่านโต๊ะประชาสัมพันธ์ของตึกผู้ป่วย ผมถามหาคนไข้ที่ถูกน้ำร้อนลวก ไม่ใช่น้ำร้อนหรอก จริงๆ เป็นขี้ผึ้งที่ถูกหลอมละลายด้วยความร้อน มันอาบลงบนร่างที่เต็มไปด้วยเลือดเนื้อ แล้วเกาะจับผิวหนังเมื่อถูกความเย็นจนแข็งตัว คุกรุ่นด้วยความทรมานสืบเนื่องประหนึ่งร่างทั้งร่างกลายเป็นภูเขาไฟรอเวลาระเบิด
ประตูอาคารหลังแล้วหลังเล่าที่ผมเดินเข้าออก ความพยายามที่ไม่ลดละพาผมเข้าไปถึงห้องผู้ป่วยรวม ร่างที่พันด้วยผ้าขาวเป็นมัมมี่ร้อยปีนอนเหยียดยาวอยู่บนเตียง พยาบาลเอ่ยถามผมเสียงดังทันทีที่ขยับเท้าเข้าใกล้
“คุณเป็นญาติผู้ป่วยคนนี้ใช่ไหมคะ”
“เป็นเพื่อนครับ” ผมตอบ
ผมไม่อาจเติมคำขยายว่าเป็นเพื่อนร่วมงาน สถานะปัจจุบันของผมกลายเปลี่ยนเป็นอื่นไปเรียบร้อย ผมถูกไล่ออก และดำรงสถานะคนตกงาน
“ระวังนะคะ คนไข้จะติดเชื้อได้ง่าย” พยาบาลคนเดิมกล่าวเตือน
ผมชะงักเท้าในระยะห่างจากเตียงคนป่วยราวสามสี่ช่วงก้าว พยาบาลพูดอีกว่า “คนไข้ไม่มีญาติ ยาหลายตัวที่หมอสั่งไม่อาจเบิกได้ บางตัวทางโรงพยาบาลสำรองจ่ายไปก่อน ถ้าคุณเป็นญาติ เดี๋ยวรับใบสั่งแล้วไปที่ห้องจ่ายยานะคะ”
ไม่เคยเยี่ยมคนป่วย ไม่เคยมีประสบการณ์กับโรงพยาบาล ผมไม่มีอะไรติดไม้ติดมือมาฝากคนป่วย ข้าวของเครื่องใช้จำเป็นของคนไข้อนาถาไร้ญาติโรงพยาบาลไม่มีบริการ จ้อยนอนเจ็บอยู่บนเตียง ท่ามกลางอายกลิ่นแห่งความป่วยไข้รายรอบ ถึงไม่เดียวดายแต่โดดเดี่ยวในความรู้สึก ทันทีที่ดวงตาซึ่งถูกรายล้อมด้วยผ้าขาวมัดตรึงไว้เบิกมองมาเห็นผมเข้า ประกายแห่งความหวังเหมือนถูกจุดขึ้นประหนึ่งแสงเทียนในความมืด
จ้อยพูดได้เต็มเสียงตามปกติ และมีสติพอจะลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเขาได้ตั้งแต่ต้นจนจบ มือสองข้างของเขาเป็นปกติไม่โดนลวกหรือถูกห่อหุ้ม อิสระพอจะรับสัมผัสจากเพื่อนร่วมงาน
โขนเป็นคนพาเขาขึ้นแท็กซี่ตามคำสั่งของเฮียคุงหลังเกิดอุบัติเหตุ เด็กหนุ่มต่างจังหวัดไม่รู้จักชื่อโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ แม้แต่แห่งเดียว มอบให้เป็นภาระของโชเฟอร์ตัดสินใจพาไปยังโรงพยาบาลใกล้ที่สุด แห่งแรกถูกขับไล่ด้วยเหตุผลเสี่ยงต่อการติดเชื้อ แห่งที่สองเป็นโรงพยาบาลเอกชนขนาดเล็กซึ่งโชเฟอร์เลี้ยวรถเข้าไปถึงห้องฉุกเฉิน ทั้งเจ้าหน้าที่ ประชาสัมพันธ์ และพยาบาลสามัคคีกันให้เหตุผลเช่นเดียวกับโรงพยาบาลแรกที่ปฏิเสธ
“ดีแล้ว” ผมว่า “รักษาโรงพยาบาลใหญ่ขนาดนี้ มึงคงได้หมอดี”
“กูเจ็บมาก” จ้อยพูดเสียงสั่น “ตอนอยู่บนรถเหมือนจะขาดใจตาย กูเองก็คิดว่าไม่รอดแล้วตอนนั้น คิดถึงพ่อแม่ กัดฟัน เกร็งแขน น้ำตาไหลมาตอลดทาง”
“แต่มึงก็รอด ทำใจดีๆ ไว้” ผมว่า
จ้อยพูดต่อ “หมอบอกว่าการรักษามีหลายขั้นตอน แผลไฟไหม้หายดีแล้ว ยังจะต้องทำศัลยกรรมอีกหลายครั้ง แต่ก็คงใช้เงินมาก”
“เป็นความผิดของกูเอง” ผมก้มมองตาเขา “ถ้าไม่ปล่อยให้มึงทำงานคนเดียว เรื่องคงไม่เกิด”
“ไม่” จ้อยแย้ง “มึงก็รู้ กูเป็นคนไม่ละเอียด เรื่องนี้มึงก็ด่ากูมาตลอด มันเกิดเพราะมันจะต้องเกิด แต่แย่ก็ตรงที่ ถ้าเรื่องเกิดแล้วมึงอยู่ด้วย มึงน่าจะพากูมาโรงพยาบาลได้เร็วกว่านี้ มึงหัวไหวกว่าไอ้โขน”
ผมบีบมือเขา “มึงรู้ไหม กูถูกเถ้าแก่ไล่ออกจากงานแล้ว”
“เฮ้ย เป็นไปไม่ได้” จ้อยเสียงแข็ง “เสี่ยเตี้ยชอบมึงจะตาย เรื่องแค่นี้แกไม่ไล่มึงออกหรอก”
ผมส่ายหน้าและยิ้มให้จ้อย “มันคงเป็นคราวซวย”
ผมหอบกระเป๋าไปที่ร้านขายเทียนย่านจักรวรรดิ ถึงแม้ผมจะทำลายแท่นเทเทียนไปบ้าง และมีความผิดติดตัวที่ทิ้งงาน ถึงจะถูกตัดค่าแรง ผมก็น่าจะมีเหลือค้างจำนวนพอสมควร เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฮียคุงคงรายงานด้านเดียวไปหมดจดแล้ว ผมจะไม่แก้ตัวให้เสียเวลา ถ้าผมผิดร้ายจนถึงขั้นไล่ออก ค่าแรงที่เหลือผมก็ต้องได้รับ
ผมยืนนิ่งมองประตูเหล็กที่ปิดสนิท กระดาษสีขาวเหมือนแผ่นป้ายเขียนไว้บอกกล่าวกับลูกค้า ปิดยาวไปเกือบสิบวัน ผมถามร้านข้างเคียง ได้ข้อมูลเพิ่มเติม เสี่ยเตี้ยและครอบครัวเดินทางไปเยี่ยมญาติที่เมืองจีน
เช้าวันที่เฮียเคี้ยงกลับมาเฝ้าหน้าเตา แล้วพี่ชายใหญ่ของแกซึ่งดำรงตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปของโรงงานดันแผ่นหลังเด็กหนุ่มอย่างโขนมาเป็นผู้ช่วย แล้วแกก็แอบอ้างประกาศิตของเสี่ยเตี้ยเป็นเครื่องมือไสส่งผม
“เถ้าแก่ไล่เอ็งออกแล้ว”
ผมไปที่ห้องจ่ายยา แวะร้านค้าในโรงพยาบาลซื้อของใช้จำเป็น ย้อนกลับมาข้างเตียงผู้ป่วย จ้อยซึ่งนอนเค้เก้ตะแคงข้างขบฟัน ดวงตาของเขาเปียกชื้น ผมไม่เคยตกอยู่ในที่นั่งบาดเจ็บเยี่ยงเดียวกับเขา ถึงกระนั้นก็พยายามทำความเข้าใจ ผิวเนื้อและเส้นเลือดของเขาก็คงยังถูกแผดไหม้ราวกับถูกยกขึ้นเตาย่าง
ผมจับมือเขาบีบเบาๆ “มึงอยากได้อะไรเพิ่ม”
จ้อยพูด “มึงหากระดาษและปากกามาจดที่อยู่ กูอยากให้มึงช่วยส่งโทรเลขส่งข่าวไปบ้าน กูคิดถึงพ่อแม่ อยากให้แกมารับกูกลับบ้าน”
ก่อนจดที่อยู่ลงบนกระดาษ ผมบอกจ้อย “มึงต้องได้ค่าชดเชยจากโรงงาน ไม่นับค่ายาและค่ารักษาทั้งหมด มึงประสบอุบัติเหตุระหว่างการทำงาน”
จ้อยส่ายหน้าเบาๆ “กูไม่หวังเลยว่าเขาจะช่วย”
“ไม่ใช่การช่วยเหลือ” ผมแย้ง “แต่เป็นหน้าที่ของเขาต้องให้เงินชดเชย”
“มึงมองโลกในแง่ดีเกิน” จ้อยเสียงสั่น “ถ้าเขาไม่ให้ คนอย่างกูก็ไม่รู้จะทำยังไง”
ผมยังเหลือเงินติดตัวเจ็ดร้อยบาท ควักออกมาจากกระเป๋าแบ่งให้จ้อยไว้ใช้จ่ายห้าร้อย รับปากที่จะส่งโทรเลขไปถึงพ่อแม่ของเขาที่หมู่บ้านเล็กๆ ในเขตจังหวัดร้อยเอ็ดโดยเร็ว ก่อนหมอจะมาตรวจไข้ผมกระซิบถาม
“มึงจำที่อยู่ไหมน้อยได้หรือเปล่า”
จ้อยส่ายหน้า “กูไม่เคยอ่านที่เขาจ่าหน้าซองไว้เลย ไปถึงที่ทำการไปรษณีย์ กูก็ได้แต่ยื่นให้เจ้าหน้าที่”
ผมพักนอนตามโรงแรมเล็กๆ ระหว่างหางานใหม่ ช่วงบ่ายแวะมาที่โรงงานเทียนไข สอดสายตาลอดซี่กรงประตูไปยังฝาผนังป้อมยาม ตื่นเต้นทุกครั้งที่แลเห็นซองจดหมายเสียบไว้ ค่อยๆ ย่องก้าวเข้าไปใกล้ แนบหน้ามองผ่านช่องประตู ไล่สายตาอ่านชื่อบนหน้าซอง ยังไม่มีจดหมายของไหมน้อยส่งถึงผม
ประหนึ่งหมาป่าเปลี่ยวกลางป่าคอนกรีต ผมพาตัวเองสัญจรไปตามถนนหลายสาย ทุกคืนที่นอนตากน้ำค้าง ผมหวนนึกถึงนิยายของแฮร์มันน์ เฮสเส ที่เคยได้อ่าน แล้วตระหนักถึงสถานะของตัวเอง หมาป่าตัวน้อยๆ ที่บาดเจ็บกลางเมืองกว้าง เดียวดาย เปลี่ยวเหงา และไม่มีที่ทางอันเป็นจุดหมาย
ผ่านไปสัปดาห์เศษ ผมได้งานที่ท่าเรือแห่งหนึ่ง แบกกระสอบปุ๋ยหนักประมาณห้าสิบโลลงเรือ แลกกับอาหารสามมื้อ ที่พักซึ่งสภาพคล้ายโกดังเก็บของ และค่าแรงวันละสามสิบบาท
อาบเหงื่อต่างน้ำวันละสิบชั่วโมง ตกถึงค่ำคืนกล้ามเนื้อแขนขาบิดเกร็งด้วยตะคริว เจ็บช้ำไปทั่วร่างราวกับถูกทุบตีด้วยไม้หน้าสาม หลับไปแล้วสะดุ้งตื่น ในความรู้สึกยังเหมือนว่าถุงปุ๋ยหนัก ๆ ยังทาบบ่า
บ่ายวันที่ผมออกจากงาน แวะโรงพยาบาลด้วยความเป็นห่วงเพื่อน พบว่าคนป่วยได้เดินทางกลับบ้านเกิดไปแล้วพร้อมญาติๆ ที่เหมารถมารับ
ผมรู้สึกใจหาย เพื่อนดีที่สุดคนหนึ่งจากไปโดยไม่มีโอกาสบอกลา ตลอดชีวิตที่เหลืออาจไม่มีวันได้พบกันอีก
ผมบึ่งมาที่หน้าโรงงาน แนบหน้ามองผ่านช่องประตูด้วยหัวใจเต้นแรง มีจดหมายจ่าหน้าซองถึงผมเสียบติดอยู่บนแผ่นไม้กระดาน ผมลองผลักประตูบานเล็กทั้งๆ ที่รู้ว่าช่วงกลางวันเฮียคุงจะใส่กลอนข้างใน คนงานออกมาข้างนอกได้หากมีธุระ ขณะคนนอกจะเข้าไปต้องได้รับอนุญาต
ผมพยายามเลื่อนประตูบานใหญ่ พบว่าล็อคข้างในไว้เช่นเดียวกัน
ผมบอกตัวเองว่ารอได้ ตกค่ำผมจะโหนกิ่งมะม่วงปีนกำแพงเข้าไป ฆ่าเวลาด้วยการไปเยือนย่านสถานีรถไฟบางบำหรุ ขณะย่ำเท้าข้ามหมอนรถไฟ ทุกครั้งที่เรือนร่างงดงามของขวัญรื้นขึ้นมาในความทรงจำ ผมรีบสลัดทิ้ง กวัดถึงภาพความน่ารักสดใสของหญิงสาวอีกคน คืนนี้ผมจะได้รู้ข่าวคราวที่เธอส่งมาถึง อีกไม่นานจะถึงวันสงกรานต์ ผมต้องถนอมชีวิตไว้ให้ถึงวันนั้น
หากรู้ล่วงหน้าว่าจะต้องออกจากงาน รถไฟเที่ยวจากพรากคงไม่มีน้ำตาแม้แต่หยดเดียว โลกกลมๆ ที่หมุนรอบตัวเองพาไหมน้อยกลับไปหาแม่ บนม้านั่งแข็งๆ ย่อมไม่ได้มีเพียงเธอตามลำพัง ผมจะอยู่เคียงข้าง พร้อมกับหันหลังให้เมืองที่เต็มไปด้วยผู้คนที่ยากทำความเข้าใจ
ผมทรุดนั่งลงบนพื้นหญ้าตรงที่เคยนอนกลิ้งแนบน้ำค้างในคืนเมามาย คิดถึงจ้อยและบรรยากาศรอบริมบึงน้ำเน่าที่เราเคยดื่มกิน ฟังเพลง เต้นแร้งเต้นกาด้วยความสนุกสนาน
จ้อยจากเมืองแห่งนี้ไปพร้อมบาดแผล สี่สหายเทเทียนหันหลังจากโรงงานไปสู่อนาคตที่พวกเขาหวังว่าจะได้พบสิ่งที่ดี ชีวิตทุกคนล้วนมีวันข้างหน้า แล้วอดีตหัวหน้าคุมเตาต้มเทียนอย่างผมเล่า…
ผมนอนเกยหัวหนุนเนินหญ้า ฟังเสียงล้อเหล็กบดรางที่แล่นผ่านไป พยายามไม่นึกถึงภาพหน้าต่างรถไฟที่ไหมน้อยเคยนั่ง
ถ้าข่าวที่เธอส่งมาถึงไม่สะเทือนความรู้สึกนัก แม่ที่บาดเจ็บจากการตกเกวียนหายดีแล้ว ผมจะโทรเลขนัดหมายให้เธอมารับ บางทีไม่ต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ผมจะนั่งรถไฟเที่ยวค่ำไปลงที่สถานีศรีสะเกษ ในรุ่งเช้ากลางสายลมร้อน ร่างเล็กๆ ของสาวน้อยที่หัวใจเปี่ยมรักคงโผเข้าสู่อ้อมกอดของผมราวกับพลัดพรากจากกันมาเป็นร้อยปี
กรุงเทพฯ มีอะไรให้หวังอีก ผมไม่อาจเป็นกวีหรือนักศึกษาในมหาวิทยาลัย บันไดหวังที่จะตะกายสูงขึ้นไปหักสะบั้นไปแล้ว ดำรงสถานะหมาป่าเปลี่ยวในดงคอนกรีตนานเข้ามีแต่จะเปลี่ยนผมเป็นคนดุร้าย คลุ้มคลั่ง มองโลกในแง่ลบ และอคติกับคนทั้งโลก
ผมจะต่อสู้เพื่อประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงในเมืองของคนอื่นไปทำไม หากความมีชื่อเสียงเปรียบเสมือนดาวฉายแสงสกาว ผมก็ไม่ปรารถนาจะเป็นดาวของใครเลย นอกจากดาวเล็กๆ ในดวงตาของไหมน้อย
ผมหยิบกระเป๋าข้างกายมารูปซิปเปิด เลือกเสื้อผ้าที่เก่าแล้วคิดจะโยนทิ้งไป ภาระที่ลดน้อย กระเป๋าเบาลงจะช่วยให้ผมคล่องตัวขึ้น แต่ทันทีที่ลูบมือสัมผัสรอยปะชุนจากมือของไหมน้อย ผมตัดใจทิ้งไม่ลง หมวกและผ้าพันคอยังอยู่ ผมนิ่งมองพร้อมนึกถึงมือน้อยๆ ที่เพียรสอดด้ายถักทอมันขึ้นด้วยความรัก
หยิบมีดพับติดสปริงเล็กๆ ที่ซื้อมาจากตลาดของเก่า สอดเหน็บไว้กับเข็มขัด คืนนี้ผมอาจจำเป็นต้องใช้ หากบังเอิญเผชิญหน้ากับเฮียคุง แต่ผมก็ภาวนา… อย่าให้มีเหตุเลวร้ายไปยิ่งกว่านี้ ผมจะไม่ทำร้ายคนอื่น ผมแค่ลอบเข้าไปเอาจดหมาย
ผมกะเวลาจากสีของความมืด และดาวดวงแรกที่แย้มขอบฟ้าด้านทิศตะวันออก นาฬิกาข้อมือที่ซื้อให้ตัวเองเป็นเรือนแรกในชีวิตพรากจากผมไปอยู่โรงรับจำนำ แลกกับเงินทุนสำหรับรอคอยข่าวคราว
ผมลุกขึ้น หิ้วกระเป๋าสะพายข้าง ค่อยๆ เดินผละจากเนินหญ้าไปพร้อมรถไฟเที่ยวค่ำที่แหวกความมืดหันหัวสู่ชนบทอันแสนไกล
ลายมือของไหมน้อยบนหน้าซองที่ผมมองเห็นจากระยะไกลเหมือนกวักมือเรียกไหวๆ ทันทีที่ได้สัมผัสและเปิดออกอ่าน ใจผมเหมือนถูกสวมกอดด้วยความรักอีกครั้งหนึ่ง
ใช้เวลาไม่กี่นาทีผมก็มาถึงโรงงาน ปลดกระเป๋าจากไหล่ซุกไว้ในพงหญ้า ลอบชำเลืองเข้าไปในความมืดข้างป้อมยาม ใต้ต้นมะม่วง และหน้าบันไดขึ้นตึก ไม่มีแสงไฟจากบุหรี่แดงวาบๆ ไร้เสียงฝีเท้าเคลื่อนไหว แต่นั่นก็ใช่ว่าจะปลอดภัยเสียทีเดียว เฮียคุงพร้อมกระบองดำมะเมื่อมในมือจะเดินส่ายอาดๆ ออกจากเงามืดเมื่อไหร่ก็ได้ ที่สำคัญแกมีปืนพกตุงอยู่ที่เอว
ผมสำรวจมีดสปริงอีกครั้ง เตรียมความพร้อมที่จะชักออกมาหากถึงนาทีวิกฤต เคลื่อนเท้าไปยังข้างกำแพง กระโดดเพียงน้อยผมก็โน้มกิ่งเขียวเสวยลงมาอาศัยเป็นค้ำถ่อ โหนตัวขึ้นถึงสันกำแพง ป่ายสู่ลำต้นมะม่วงซึ่งผมและเพื่อนร่วมงานเคยปลิดผลมากินเนื้อเปล่าๆ จนกระทั่งเท้าสัมผัสพื้นอย่างแผ่วและเงียบกริบ มองซ้ายแลขวาอย่างระแวงระวัง พลิ้วกายเลียบกำแพงมาถึงหน้าป้อมยาม ครั้นเงยแหงนไปยังแผ่นกระดาน ใจผมคล้ายเต้นผิดจังหวะ
จดหมายของไหมน้อยที่ส่งถึงผม พร้อมกับซองจดหมายอื่นๆ ที่เคยเสียบไว้ไม่มีแล้ว
ผมแทรกร่างเข้าไปในป้อม รื้อลิ้นชักเก่าๆ หวังว่าจดหมายทั้งหมดจะถูกย้ายมาเก็บไว้ ทว่าพบเพียงความว่างเปล่า ผมควักมีดสปริงมาถือไว้ รอเฮียคุงเดินตรวจพื้นที่ผ่านมา ผมพร้อมจะปรี่ออกไปจ่อปลายมีดขู่ปลิดชีวิต หากแกไม่ยอมส่งมอบจดหมายที่ผมต้องการ
แกไม่มีวันเข้าใจว่าจดหมายฉบับนี้มีความสำคัญมากมายอย่างไรสำหรับผม ไม่ใช่เพียงถ้อยคำสื่อสาร หรือตัวอักษรบนหน้ากระดาษ หากมันหมายถึงกุญแจที่เปิดไปสู่อาณาจักรแห่งชีวิตอนาคตทั้งหมดของคนสองคน
ผมนั่งอยู่ในป้อม ตาจ้องเขม็งไปยังความมืด ไม่ปรากฏไฟบุหรี่ ไม่ได้ยินเสียงฝีเท้า และไร้ซึ่งเงาตะคุมของชายร่างสูงใหญ่ จนกระทั่งฟ้าใกล้สาง ผมโหนตัวออกนอกกำแพง ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะบุกเข้าไปพบเฮียคุงเพื่อขอจดหมายซึ่งๆ หน้า หรือลอบเข้าไปแล้วหาทางแย่งปืนที่เอวของแก จ่อหัวแล้วขู่ให้แกยอมทำตามที่ผมต้องการ
แววตาผมเปลี่ยนไป หญิงวัยกลางคนเจ้าของร้านชำทักขณะยกอาหารตามสั่งมาเสิร์ฟ ดวงตาที่เคยเชื่อมหวานเยี่ยงนักฝันแฝงแววเศร้า ดูดุร้ายเหมือนโกรธอะไรสักอย่างอยู่ในที ผมหัวเราะกลบเกลื่อน ไม่ได้เล่าอะไรให้แกฟัง นอกจากบอกไปว่าอาจเป็นเพราะงานหนัก
กินข้าวผัดเกือบหมดจาน ใครคนหนึ่งที่เดินใกล้เข้ามาช่วยให้ผมรู้สึกผ่อนคลาย ผมวางช้อน ยกแก้วน้ำขึ้นดื่มจนหมด ผุดลุกขึ้น ไม่รอให้พี่แดงเดินเข้ามาในร้าน ผมปรี่ออกไปดักหน้าแกที่กลางถนน แกหยุดเท้าลงพร้อมยกมือทาบอก
“มึงนี่เอง ไอ้ไชยา…”
ผมผิวคล้ำไปจากเดิม ตามท่อนแขนเต็มไปด้วยริ้วรอยจากคมกระสอบและเชือกมะนิลา ผมยาวยุ่งและปลายงอนหยักศกไม่เปลี่ยน
ผมจับมือแกบีบแน่น “พี่แดง ผมมีเรื่องขอร้อง เรื่องนี้จำเป็นมาก พี่ฟังผมก่อน”
ผมเล่าถึงวันจากลากับไหมน้อย พันธะสัญญาที่เรามีต่อกัน และความสำคัญของจดหมาย
พี่แดงจ้องหน้าผมพร้อมยิ้มเศร้า “จดหมายที่ส่งถึงมึง ป่านนี้เฮียคุงคงโยนเข้าเตาไฟไปแล้ว”
“พี่แดง” ผมไม่ลดละ “ถ้ามีจดหมายส่งถึงผมอีก พี่รับแล้วเก็บไว้ให้ผมได้ไหม”
แกส่ายหน้าตอบ “รับปากไม่ได้หรอก ตอนบุรุษไปรษณีย์มาส่ง คนอยู่รับหน้าประตูก็มักเป็นเฮียคุง”
ผมไม่ยอมแพ้ ยกมือไหว้ และกล่าววิงวอน “ถ้าพี่เห็นแกเสียบไว้ หยิบของผมออกมาก่อน พี่เก็บไว้ให้ผม อย่าให้แกเอาไปโยนเข้าเตาอีก”
พี่แดงพยักหน้า ผมปล่อยมือแกแล้วฝากอีกเรื่อง “วันหยุดสงกรานต์ ถ้าไหมน้อยมาที่โรงงาน พี่แดงช่วยดูแลด้วย บอกเขาว่าผมอยู่ใกล้ๆ แถวนี้ รอกลับบ้านไปพร้อมกัน”
พี่แดงจ้องหน้าแล้วตบบ่าผมเบาๆ “ไอ้ยา… มึงใจร้อนไป มึงรู้ไหม เถ้าแก่กับเฮียคุงทะเลาะกันเรื่องมึงใหญ่โตทีเดียว จริงๆ แล้ว เถ้าแก่ไม่เคยสั่งให้ไล่มึงออก เฮียคุงตัดสินใจทำไปเพราะเกลียดมึง…”
***************************