คำบางคำในสำนวนไทยที่พูดออกเสียงไม่ชัด  เช่น อักษร  ร, ล,อักษรควบกล้ำ หรือด้วยความคุ้นเคยกับภาษาไทยที่นิยมเสียงสัมผัส ฯลฯ จะทำให้เขียนเพี้ยนไปด้วยจนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านรูปคำ  ความหมายและความเปรียบ  รวมทั้งไม่ทราบที่มาของสำนวน เช่นคำ “เศร้า” ในสำนวน “รักสามเส้า”,  “ตา” ใน “ถี่ลอดตัวช้าง ห่างลอดตัวเล็น”, “กลืน” ใน “ข่มเขาโคขืนให้กินหญ้า”,  “ยิบ” ใน “สู้จนเย็บตา”, “ลา” ใน “ลดราวาศอก”, “คา” ใน “พลัดที่นาคลาที่อยู่”

 

รักสามเส้า

วันหนึ่งผู้เขียนนั่งดูโทรทัศน์ขณะผู้ประกาศข่าวกำลังรายงานข่าวฆาตกรรมก็มีข้อความปรากฏหน้าจอว่า “ปัญหารักสามเศร้า  ผัวฆ่ากิ๊กเมีย”ในที่นี้การใช้ว่า “รักสามเศร้า” ไม่ใช่สำนวนเปรียบ เพราะมีความหมายตรงตามตัวอักษรว่าความรักของคนทั้งสามที่น่าเศร้า  ถ้าจะใช้เป็นสำนวนเปรียบต้องเขียนว่า “รักสามเส้า”

คำ “เส้า” ในสำนวน “รักสามเส้า” หมายถึงวัตถุเช่นก้อนดินหรือก้อนหิน 3 ก้อนที่นำมาวางชิดกันเป็น 3 มุมเพื่อใช้เป็นที่ตั้งหม้อข้าวหม้อแกง  สำนวน “รักสามเส้า” จึงถูกนำมาเปรียบกับความรักของคน 3 คนที่เป็นปัญหาจนทำให้เกิดการวิวาทฆ่าฟันกันเพราะความหึงหวง  เช่น  ขณะที่ชาวบ้านจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์กันว่าทำไมลุงอึดซึ่งปกติเป็นคนสุขุมเยือกเย็นและใจดีถึงได้กระหน่ำแทงเจ้าเชิดเด็กหนุ่มคราวหลานตายคามือ  คนหนึ่งก็พูดขึ้นว่า “แกคงเหลืออดจะไม่ให้แค้นได้ยังไง ไอ้หนุ่มแอบมาเป็นกิ๊กของเมียสาวของแก แกเคยขอร้องให้เลิกหลายหนก็ไม่สนใจนี่แหละปัญหารักสามเส้าที่ทำให้ชีวิตพังทลาย”

ถี่ลอดตัวช้าง  ห่างลอดตัวเล็น

คำ “ถี่” แปลว่ามีระยะหรือช่องว่างชิดๆ กัน (คือไม่ห่าง)ช้างเป็นสัตว์สี่เท้าที่ตัวใหญ่กว่าสัตว์ทั้งปวง ส่วนเล็นเป็นแมลงชนิดหนึ่งจำพวกเหาที่ตัวเล็กมากจนแทบมองไม่เห็น  ดังนั้นความหมายตามตัวอักษรของ “ถี่ลอดตัวช้าง ห่างลอดตัวเล็น” คือไม่ถี่จริงเพราะช้างทั้งตัวสามารถลอดได้ และไม่ห่างจริงเพราะแม้ช่องว่างเล็กๆตัวเล็นก็สามารถลอดได้

ส่วน “ถี่ลอดตัวช้าง  ห่างลอดตัวเล็น” ซึ่งนำมาใช้เป็นสำนวนเปรียบจะมีความหมายว่าดูเหมือนรอบคอบถี่ถ้วนแต่ไม่รอบคอบถี่ถ้วนจริง  หรือหมายถึงประหยัดในสิ่งที่ไม่ควรประหยัดแต่กลับไม่ประหยัดในสิ่งที่ควรประหยัด ซึ่งเป็นการกระทำที่ได้ไม่คุ้มเสีย เช่น ติ๊กอวดเสื้อซึ่งเพิ่งซื้อมาจากห้างสรรพสินค้าที่กำลังอยู่ในช่วงลดราคาครั้งใหญ่ให้พี่สาวดูบอกว่าซื้อมาราคาถูกมาก ตุ๊กจับเสื้อพลิกไปมาแล้วชี้ให้น้องดูพร้อมกับพูดว่า  “เห็นไหมจ๊ะเนี่ย ด้ายตรงตะเข็บเริ่มขาดเป็นช่วงๆ พี่สงสัยว่าคงค้างสต๊อกมานานหลายปี อย่างนี้ซักไม่กี่ทีก็ขาด  วันหลังซื้อของใหม่ๆ ใช้ดีกว่าจะได้คุ้ม อย่าทำเป็นถี่ลอดตัวช้าง ห่างลอดตัวเล็นไปหน่อยเลย บางทีเธอกินข้าวมื้อหนึ่งแพงกว่าเสื้อตัวนี้อีก”

บางคนใช้สำนวน “ถี่ลอดตัวช้าง ห่างลอดตัวเล็น”  เป็น “ถี่ลอดตาช้าง  ห่างลอดตาเล็น”  คำ “ตัว” เป็น “ตา” ทำให้สื่อความหมายของสำนวนไม่ชัดเจน

 

สู้จนเย็บตา

“สู้จนเย็บตา” มีความหมายตรงตามตัวอักษรว่าสู้จนตาฉีกจนถึงกับต้องเย็บแผลให้ติดกัน  มีที่มาจากการชนไก่ (ตีไก่)  คือระหว่างการชนกันไก่บางตัวถูกคู่ต่อสู้จิกตีจนตาฉีก  เจ้าของต้องเย็บแผลให้สดๆ แล้วค่อยชนกันต่อ

เมื่อนำ “สู้จนเย็บตา” มาใช้เป็นสำนวนจะมีความหมายว่าสู้กันจนถึงที่สุด  คือสู้ไม่ถอย  เช่น  ครูส้มเล่าให้เพื่อนครูฟังถึงเรื่องการทะเลาะถึงขั้นชกต่อยกันของเด็กชายเด่นกับเด็กชายหนึ่งนักเรียนร่วมห้องชั้นประถมปีที่สองตอนหนึ่งว่า  “เจ้าหนึ่งตัวเล็กนิดเดียว  ส่วนเจ้าเด่นสูงใหญ่กว่ามาก  แต่เชื่อไหมเจ้าหนึ่งไม่กลัวซักนิดมันสู้จนเย็บตา  ในที่สุดก็ถูกอาจารย์ใหญ่ลงโทษทั้งคู่”

มีผู้ใช้สำนวน “สู้จนเย็บตา” เป็น “สู้จนยิบตา”  คือใช้คำ “เย็บ” เพี้ยนเป็น “ยิบ”  ทำให้สื่อความหมายแปลกๆ ไม่เข้าที เพราะยิบแปลว่ายิ่ง  เช่น  ละเอียดยิบ  ถี่ยิบ


เรื่อง: ยุพร แสงทักษิณ

ภาพ: ปัญจพร มะโนมัย

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่