คอลัมน์คิดอย่างวิทยาศาสตร์เคยเขียนถึงคลิปวิดีโอมั่วๆ ทางอินเทอร์เน็ตมาแล้ว คลิปนั้นมีชื่อว่า “Shocking Secrets of the Food Industry” หรือ “ความลับน่าตกใจของอุตสาหกรรมอาหาร” ของเพจเฟซบุ๊กชื่อว่า Blossom ซึ่งเป็นเพจชื่อดังเกี่ยวกับเทคนิคเคล็ดลับในการประดิษฐ์หรือทำงานฝีมือ แต่กลับทำคลิปรวมเรื่องไม่จริงเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหาร สร้างความแตกตื่นหวาดกลัวไปทั่วทุกสารทิศ
มาคราวนี้ ทางเพจ Blossom ปล่อยคลิปมั่วอันใหม่อีกแล้ว ในชื่อว่า “Is your food fake or real? Find out with these 16 easy tests at home!” หรือ “อาหารของคุณนั้นปลอมหรือจริง มาทดลองง่ายๆ 16 วิธีนี้ที่บ้าน” คลิปนี้เริ่มเผยแพร่เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ.2019 และมียอดผู้ชมถึงร้อยล้านคนภายในเวลาไม่กี่วัน แต่ได้ถูกลบออกไป หลังจากที่มีคนเข้ามาแย้งเป็นจำนวนมาก
การทดลอง “อาหารปลอม” 16 อย่างในคลิปนี้ มีทั้งที่เป็นเรื่องมั่ว เรื่องบิดเบือน หรือเรื่องที่ลือต่อๆ กันมา รวมถึงเรื่องที่เคยเกิดขึ้นจริงในอดีต แต่ปัจจุบันนั้นไม่มีแล้ว หรือเกิดขึ้นในประเทศด้อยพัฒนา แต่ไม่มีในประเทศที่การผลิตอาหารนั้นเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยสากล
หน่วยงานผู้รับผิดชอบของประเทศสหรัฐอเมริกา คือ องค์การอาหารและยา (FDA) ต้องออกแถลงการณ์ว่า คลิปวิดีโอดังกล่าวอาจจะทำให้ผู้บริโภคสูญเสียความเชื่อมั่นในภารกิจของ FDA แต่ขอยืนยันว่า สหรัฐฯ มีกฎหมายที่เข้มงวดเรื่องควบคุมให้อาหารนั้นมีความปลอดภัย ไม่มีการปนเปื้อน และได้รับการติดฉลากที่เหมาะสม ผู้บริโภคสามารถมั่นใจในอาหารที่รับประทานได้ แต่บริษัท First Media ผู้ทำเพจ Blossom กลับแก้ตัวว่า คลิปนี้ทำเพียงเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนและเพื่อความบันเทิงเท่านั้น
ทีนี้ เรามาลองพิจารณาดูว่า คลิปทดสอบอาหารปลอมนี้ มีประเด็นไหนที่เป็นเรื่องไม่จริงบ้าง
- เนยแข็งแปรรูป (processed cheese) ที่ผสมสารเคมีลงไปด้วย จะละลายได้ยากกว่าเนยแข็งธรรมชาติเมื่อเผาไฟ คำตอบคือ “เรื่องนี้ไม่เป็นความจริง” ความเชื่อเรื่องเนยแข็งแปรรูปจะเผาละลายได้ยากนั้น เริ่มตั้งแต่ ค.ศ.2014 มีคนเอาแผ่นเนยแข็งมาลองเผาไฟเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นของปลอมหรือไม่ และแน่นอนว่า การเผาไฟนั้นไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องในการทดสอบอาหารแต่อย่างใด
ทางเพจ Blossom อ้างว่า ใน “เนยแข็งแปรรูป” ซึ่งเป็นเนยแข็งชนิดที่ผ่านกระบวนการปรับปรุงลักษณะเนื้อสัมผัสให้อยู่ในรูปที่นิยมรับประทาน เช่น นำเนยแข็งธรรมดามาผ่านความร้อน แล้วเติมส่วนผสมอื่น เช่น ไขมันนม โปรตีนนม นมผง เนย ครีม สารให้กลิ่น เครื่องปรุงรส ก่อนนำไปฆ่าเชื้อนั้น ได้เติม “เกลืออีมัลซิไฟอิ้ง (emulsifying salt)” ลงไปด้วย เพื่อให้จับกับไขมัน โปรตีน และน้ำที่อยู่ในเนยแข็ง และเกลืออีมัลซิไฟอิ้งนี่แหละที่ทำให้เนยแข็งแปรรูปเผาไฟละลายได้ยากกว่าเนยแข็งธรรมชาติ
แต่ความจริงแล้ว ผลที่ได้กลับตรงกันข้าม เพราะบรรดาส่วนผสมที่เติมเข้ามานั้น โดยเฉพาะเกลือคีเลตติ้ง (chelating salt) และกรดซิตริก กลับช่วยให้โปรตีนเคซีน (casein) ซึ่งปกติเกาะกันอย่างเหนียวแน่นในเนยแข็งธรรมดานั้น แยกตัวออกจากกัน และทำให้เนยแข็งแปรรูปละลายได้ง่ายขึ้นต่างหาก
- ข้าวปลอมผสมพลาสติก เพื่อเพิ่มกำไรให้แก่ผู้ผลิต เมื่อวางบนกระทะร้อนจะกลายเป็นพลาสติกใส เรื่องนี้ก็ “ไม่เป็นความจริง” เช่นกัน แม้ว่าข่าวลือเกี่ยวกับข้าวปลอมทำจากพลาสติก นำเข้าจากประเทศจีนและประเทศเอเชียอื่นๆ รวมถึงทวีปแอฟริกา จะมีมานานแล้ว และทำให้ผู้บริโภคหวาดกลัวกันทั่วหน้า แต่ก็ไม่มีหลักฐานว่าข้าวปลอมดังกล่าวจะมีอยู่จริง และหลายประเทศได้สรุปว่าเรื่องนี้เป็นแค่ข่าวปลอม
ถึงเติมพลาสติกลงไปในเนื้อข้าว ก็ไม่สามารถจะเอาข้าวพลาสติกนั้นไปหุงให้สุกนุ่มทั้งเมล็ดได้ จะเคี้ยวก็เคี้ยวไม่เข้า ใครๆ ก็ต้องดูออก ขณะที่ราคาของพลาสติกนั้นกลับแพงกว่าข้าว จนไม่มีใครเอาพลาสติกมาทำเป็นข้าวปลอมแน่นอน ส่วนในคลิปที่มีการเอาข้าวไปวางบนกระทะร้อนแล้วกลายเป็นพลาสติกใสนั้น ก็ไม่น่าจะเป็นคลิปจริง แต่น่าจะเป็นการทำคอมพิวเตอร์กราฟิกตัดต่อเอามากกว่า
- อาหารทารกปลอม ผสมหินป่นเป็นผง แล้วโฆษณาว่าเสริมแคลเซียม เอาแม่เหล็กมาดูดผงหินดูได้ คลิปนี้เป็นคลิปหลอกแน่ๆ เพราะความจริงแล้ว สิ่งที่แม่เหล็กจะดูดได้จากอาหารนั้น มีเพียงแค่ “ผงเหล็ก” ที่มีการเติมลงไปในอาหารทารก รวมถึงอาหารอีกสารพัดอย่าง เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เพื่อเสริมธาตุเหล็กให้แก่ร่างกายของผู้บริโภค ไม่ใช่แคลเซียมแต่อย่างใด เพราะแม่เหล็กไม่สามารถดูดแคลเซียมได้
และต่อให้มีการเสริมแคลเซียมลงในอาหารทารกจริง ก็ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร เพราะแคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่สำคัญต่อร่างกายของเด็กในวัยเจริญเติบโต ผงแคลเซียมซึ่งอาจจะผลิตจากหินปูน เปลือกหอย หรือแหล่งวัตถุดิบอื่นๆ จึงผสมลงในอาหารบริโภคได้โดยไม่เป็นอันตราย
- วิตามินสังเคราะห์นั้นทำจากสารเคมี จะไหม้ไฟเมื่อเอาไปอบ ขณะที่วิตามินธรรมชาติจะไม่ไหม้ไฟ ข้อนี้ก็ “ไม่เป็นความจริง” วิตามินสังเคราะห์มีโครงสร้างทางเคมีไม่แตกต่างจากวิตามินตามธรรมชาติ และคำว่า “ธรรมชาติ” กับ “สังเคราะห์” นั้นเป็นคำที่ใช้ข่มกันทางการค้าขายวิตามินมานานแล้ว
ยิ่งถ้าดูตามในคลิป ก็จะยิ่งน่าสงสัย เพราะการเผาไหม้ของเม็ดวิตามินจะขึ้นอยู่กับที่มาของเม็ดวิตามิน เปลือกแคปซูล และสารเติมในเนื้อยา ว่าหลอมเหลวหรือติดไฟง่ายแค่ไหน ดังนั้น การเอาไปอบความร้อน จึงไม่ใช่วิธีการที่จะพิสูจน์ได้ว่าเม็ดใดเป็นวิตามินธรรมชาติหรือวิตามินสังเคราะห์
เรื่อง: รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์