ยุทธภูมิหนองบัวลำภู

-

วรรณคดีเป็นประณีตศิลป์ชั้นสูงซึ่งกวีเป็นผู้สร้างสรรค์ คุณค่าสำคัญที่สุดของวรรณคดีคือสุนทรียภาพในเชิงวรรณศิลป์ ขณะเดียวกันวรรณคดีก็เป็นเสมือนจดหมายเหตุบันทึกข้อมูลทางประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมในยุคสมัยที่แต่งเรื่องนั้นไว้ด้วย 

เมื่อพุทธศักราช 2369 อันเป็นต้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดกรณีกบฏเจ้าอนุวงศ์เวียงจันท์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรีธาทัพใหญ่ขึ้นไปปราบถึง 3 ทัพด้วยกัน ทัพหลวงมีสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ทรงเป็นจอมทัพ ประกอบด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ทรงกำกับหน้าที่ต่างๆ หลายพระองค์ ที่ปรากฏพระนามในจดหมายเหตุทัพเวียงจันท์ ได้แก่ “…กรมหมื่นนเรศรโยธี กรมหมื่นเสนีบริรักษ์ คุมพลเป็นกองหน้าที่ 2 กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จเป็นกองหลวง พร้อมด้วยกรมหมื่นรามอิศเรศรเป็นยกกระบัตร กรมหมื่นเทพพลภักดิ์เป็นเกียกกาย กรมหมื่นธิเบศรบวรเป็นจเรทัพ…ฯ” อาจกล่าวได้ว่าเป็นทัพใหญ่ที่สุดในรัชกาลที่ 3 

พระโอรสองค์หนึ่งของกรมหมื่นเสนีบริรักษ์ คือ หม่อมเจ้าทับ ได้โดยเสด็จไปในกองทัพหลวง และได้แต่งนิราศทัพเวียงจันท์ขึ้น ดำเนินเรื่องตามขนบและรูปแบบของกลอนนิราศ สาระเด่นที่สุดของนิราศเรื่องนี้คือ รายละเอียดการเดินทัพและการสู้รบกับกองทัพลาวซึ่งเจ้าอนุวงศ์ตั้งรับไว้ตามหัวเมืองรายทางที่จะไปถึงนครเวียงจันท์ และจบนิราศลงเมื่อ “ไปลุยล้างเวียงจันท์เสียบรรลัย” 

กองทัพหลวงของกรมพระราชวังบวรฯ ยกออกจากกรุงเทพฯ เมื่อเดือนสี่ ขึ้น 11 ค่ำ ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม พุทธศักราช 2369 โดยกระบวนทัพเรือ ทวนลำน้ำเจ้าพระยาไปเข้าแม่น้ำป่าสักที่กรุงเก่าจนถึงท่าเจ้าสนุก แล้วเดินบกแวะไปนมัสการพระพุทธบาทก่อน ยกทัพออกจากพระพุทธบาทผ่านธารทองแดง พุกำจาน ชัยบาดาล ลำพญากลาง ไปยังเมืองนครราชสีมา 

นิราศทัพเวียงจันท์ของหม่อมเจ้าทับ กล่าวถึงความยากลำบากในการเดินทัพบกผ่านเส้นทางอันทุรกันดารจากเมืองนครราชสีมาไปยังสามหมอ ภูเวียง ลำพอง (น้ำพอง) บ้านโพธิ์ บ้านลาด บ้านพร้าว แสนตอ กระทั่งหนองบัวลำภู ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ยกพลมาตั้งสกัดกองทัพไทยอยู่ที่นั่น เมื่อฝ่ายไทยไปถึง ฝ่ายลาวเผาฉางข้าวมิให้กองทัพไทยใช้เป็นเสบียง 

 

ก็รีบจรมิได้หย่อนลงหยุดพักเข้าโหมหักชิงข้าวที่ลาวเผา 

ไปติดตามรบรุกทุกลำเนาก็ชิงเอาเสบียงได้ครามครัน 

สดับข่าวลาวมาตั้งสู้ที่หนองบัวลำภูเป็นค่ายขัน 

ทำที่มั่นกั้นทางไปเวียงจันท์ทั้งแปดพันคอยท่าจะราวี 

 

ทัพไทยตั้งกอง “เสือป่าแมวเซา” หรือหน่วยสอดแนมและจู่โจม เมื่อกองทัพหลวงจะยกข้ามน้ำที่ลำพะเนียงซึ่งเป็นลำน้ำสำคัญของหนองบัวลำภู ก็มีการจัดกระบวนทัพแบบ “นาคพยุห” (กระบวนนาคี) ตามตำราพิไชยสงคราม 

 

ก็ลุถึงทางท่าชลาสินธุ์ที่แถวถิ่นลำพะเนียงพนาศรี 

พร้อมนิกรโยธาฝั่งวารีตั้งกระบวนนาคีลงข้ามชล 

ให้ข้ามกลางหางเศียรอยู่ภายหลังคอยระวังต้นทางที่กลางหน 

ครั้นถึงพร้อมขึ้นบกแล้วยกพลล่วงตำบลหนองบัวเข้าโดยจง 

 

ที่หนองบัวลำภู (นิราศตอนนี้เรียกว่า หนองบัว) เป็นยุทธภูมิสำคัญแห่งหนึ่งในศึกเจ้าอนุวงศ์ เป็นการรบแบบตะลุมบอน 

พวกไทยถึงจึงพร้อมเข้าล้อมค่ายไปตามชายทิวป่าพนาสณฑ์ 

เหล่านายร้อยเร่งรัดกำจัดพลก็รุกร้นต้อนตามกันเติมมา 

 

ค่ายกองทหารลาวที่ตั้งรับเป็นค่ายใหญ่ ฝ่ายไทยไม่สามารถล้อมได้ทุกด้าน จึงมีหนังสือแจ้งให้ยอมสวามิภักดิ์ ฝ่ายลาวก็ตอบลวงว่าจะขอเป็นไมตรี ขณะที่ฝ่ายไทยยังมิทันได้ตั้งหลัก ฝ่ายลาวก็เปิดฉากโจมตีก่อน 

 

ลาวไล่ไทยหนีเป็นทีท่าลาวล่าไทยไล่อุตลุด 

พุ่งซัดศัสตราแลอาวุธสัประยุทธ์ไม่ย่อท้อกัน 

การต่อสู้ตามตำราพิไชยสงครามโบราณเป็นศิลปวิทยา มีพิธีกรรมพิธีการ แม้ในยามสงครามก็ยังมีดนตรีปี่กลองบรรเลงประกอบการต่อสู้ 

 

เสียงไพร่พลดนตรีออกมี่ก้องปี่พาทย์ฆ้องกราวเชิดดูเฉิดฉัน 

กลองแขกตีเปลี่ยนแปลงเมื่อแทงกันบันลือลั่นกึกก้องทั้งหิมวา 

 

ดนตรีในกองทัพตามตำรับโบราณ เป็นที่มาของวงดุริยางค์และวงโยธวาทิตของแต่ละเหล่าทัพในปัจจุบัน แต่ภารกิจหน้าที่ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย 

ยุทธภูมิหนองบัวลำภูคราวนั้นรบกันตั้งแต่บ่ายจนถึงรุ่งเช้า ไพร่พลล้มตายลงด้วยกันทั้งสองฝ่ายจน “โลหิตไหลแดงดาษปัฐพี” ในที่สุดค่ายหนองบัวลำภูก็แตก ฝ่ายไทยต้องสูญเสียขุนนางผู้ใหญ่คือ พระยาเกียรติ์ นายกองรามัญที่ร่วมไปในกองทัพ 

 

พระยาเกียรติ์รามัญประมาทศึกเข้าโหมฮึกแหกค่ายทลายถอน 

ก็ต้องปืนนกสับลงพับนอนพระยามอญอาสัญในทันตา 

ปลัดกองถาโถมเข้าโจมอุ้มอ้ายลาวซุ่มยิงซ้ำเข้าอังสา 

ทั้งสองนายวายชีพชีวาอ้ายลาวร่าเริงร้องลำพองใจ 

 

นั่นเป็นอดีตอันผ่านเลยไปแล้ว 193 ปีที่หนองบัวลำภู 


คอลัมน์ตะลุยแดนวรรณคดี / เรื่อง: บุญเตือน ศรีวรพจน์ ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์ 

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!