มีส้มห้าผลในกระจาด หยิบออกสองผล เหลือส้มกี่ผล จงเขียนเป็นประโยคสัญลักษณ์และหาคำตอบ
5 – 2 = 3 คือคำตอบของโจทย์ข้างต้น หากเปลี่ยนโจทย์คณิตศาสตร์เป็นความสัมพันธ์ ส้มในกระจาดคือภาพและคำพูดที่มีให้กัน เพียงแต่ว่ามันไม่เคยชัดเจนอย่างส้มที่มีอยู่ห้าผล หรือที่หยิบออกสองผล เมื่อเป็นเช่นนั้นเราจะเขียนออกมาเป็นประโยคสัญลักษณ์และหาคำตอบได้อย่างไร
“มุนินฺ” นักวาดการ์ตูน ผู้สร้างคาแรกเตอร์การ์ตูนที่โด่งดังชื่อเดียวกับนามปากกาของเธอ “มุนินฺ” นำเราไปพบกับความรักความสัมพันธ์ที่ไม่อาจอธิบายได้ชัดๆ หรือเขียนออกมาตรงๆ ผ่านผลงานการ์ตูนรวมเล่มของเธอที่ชื่อ ประโยคสัญลักษณ์ ด้วยภาพวาดที่เรียบง่ายงดงาม แต่พาผู้อ่านซึมทราบกับความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร และยังสะท้อนภาพสังคมปัจจุบันได้ชัดเจน จึงทำให้การ์ตูนเรื่องนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศหนังสือดีเด่น เซเว่นบุ๊คอวอร์ด (7 Book Awards) ปี 2562
ล่าฝันบนเส้นทาง “นักเขียนการ์ตูนอาชีพ”
เราชอบอ่านการ์ตูน แล้วก็เขียนการ์ตูนเล่นๆ แต่ไม่คิดทำเป็นอาชีพ เพราะเห็นรูปวาดล้อนักเขียนการ์ตูนว่าไส้แห้ง กินข้าวกับก้างปลา จึงไม่เคยมองอาชีพนี้เลย พอเข้าเรียนมหา’ลัย เราก็ทิ้งการ์ตูนไปจนกระทั่งปี 4 ได้เจอกับสามี เขาชอบอ่านพ็อคเก็ตบุ๊กการ์ตูนไทย เราไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีแบบนี้ด้วย เรารู้จักแต่การ์ตูนญี่ปุ่น หรือถ้าการ์ตูนไทยก็แบบขายหัวเราะ สามีแนะนำให้เราอ่าน แล้วคะยั้นคะยอให้ลองส่งผลงานไปที่เล็ทส์ คอมิค (Let’s Comic) เป็นแนวการ์ตูนช่องแบบญี่ปุ่น ปรากฏว่าผ่านการคัดเลือก เลยได้เขียนมาเรื่อย จากนั้นได้เห็นนักเขียนการ์ตูนคนอื่นๆ เขียนงานลงบล็อคอย่าง Exteen เลยลองเขียนลงบ้าง กลายเป็นว่าการ์ตูนที่เขียนเล่นๆ ดันได้รับความนิยม มีคนส่งต่อเป็นฟอร์เวิร์ดเมล์ จนเป็นที่รู้จักและได้รวมเล่ม เกิดเป็นการ์ตูน มุนินฺ พร้อมๆ กับ พฤหัสบายดี
หลังจากเรียนจบ เราไปเป็นสถาปนิกตามสายวิชาที่ร่ำเรียนมา แต่รู้สึกไม่ใช่ จึงลองสำรวจตัวเองและได้คำตอบว่าเรามีความสุขกับการเขียนการ์ตูนมากกว่า เลยขอที่บ้านพิสูจน์ตัวเองหนึ่งปี ลองเต็มที่กับอาชีพนักเขียนการ์ตูนดูว่าจะไปได้ไกลแค่ไหน นับจากวันนั้นก็ทำเรื่อยมา และแกล้งลืมว่าครบหนึ่งปีแล้ว (ฮ่า)
จากรูปแบบการ์ตูนญี่ปุ่น สู่การพัฒนาเป็นสไตล์เฉพาะของ “มุนินฺ”
สมัยที่เขียนให้เล็ทส์ คอมิค เป็นสไตล์การ์ตูนญี่ปุ่นมีช่องคำพูดเยอะๆ ซึ่งเหนื่อยและใช้พลังงานมาก แล้วรู้สึกว่าเนื้อเรื่องการ์ตูนของเราไม่จำเป็นต้องมีบทพูดมากขนาดนั้น เลยเปลี่ยนวิธีเล่าเรื่องให้เป็นแบบเดียวกับภาพยนตร์ คือการเล่าด้วยภาพเป็นหลัก ซึ่งน่าจะสื่อสารได้ดีกว่า แล้วก็เปลี่ยนการวาดช่องการ์ตูน จากเดิมต้องตัดช่องหลายๆ แบบทั้งแนวตั้งและแนวนอน เพื่อให้เข้ากับรูปภาพ ก็เปลี่ยนเป็นช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวนอนอย่างเดียว เลียนแบบจอภาพยนตร์ ดีไซน์แค่ว่าแต่ละซีนควรเป็นมุมกว้างหรือแคบ เพื่อให้ทำงานง่ายขึ้น แต่ส่วนที่ยากคือการถ่ายทอดอารมณ์ อาจต้องวาดถึงสามช่อง ถึงจะเข้าใจว่าตัวละครกำลังรู้สึกอย่างไร เช่น ภาษากาย มองต่ำแล้วค่อยๆ เงยขึ้น ก็ต้องวาดเยอะแทบจะเป็นอนิเมชั่นเลย แต่ถ้าเป็นการ์ตูนมีช่องคำพูดเล่าความรู้สึกทุกอย่าง ก็ไม่จำเป็นต้องวาดเยอะขนาดนี้
เนื้อหาของการ์ตูนมุนินฺยึดแนว feel good เป็นหลัก
ใช่ค่ะ คิดว่าตัวเองถนัดแนวนี้ เริ่มแรกเราเขียนเรื่องครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ เพราะที่บ้านเป็นครอบครัวขยาย มีญาติๆ อาศัยอยู่รวมกัน เราก็จับนั่นจับนี่มาสร้างเป็นเรื่องราว จากนั้นพัฒนาเป็นความรักวัยรุ่น ซึ่งเก็บมาจากเรื่องราวคนรอบตัว ระยะหลังมีเรื่องที่แต่งขึ้นโดยไม่ได้อ้างอิงจากเหตุการณ์ใด จุดแข็งของเราน่าจะเป็นการนำเสนอเรื่องราวความสัมพันธ์ ครอบครัว หรือประเด็นที่ละเอียดอ่อน ซึ่งมีไม่มากในการ์ตูนไทย
ประโยคสัญลักษณ์ ความสัมพันธ์ที่เขียนออกมาเป็นสัญลักษณ์ไม่ได้
เป็นงานทดลองที่เราอยากวาดโดยมีคำบรรยายให้น้อยที่สุด เหมือนซับไตเติลสั้นๆ ในหนังแค่นั้น เราเคยเสนอกับสำนักพิมพ์มาก่อน แต่เขาไม่ค่อยเข้าใจไอเดียเราเท่าไหร่ เลยเก็บไว้ เพิ่งได้จังหวะสานฝัน เราพูดถึงความสัมพันธ์ที่ไม่ชัดเจน เหมือนมีคนถามว่า ช่วงนี้ความรักเป็นยังไง บางครั้งเราไม่รู้จะตอบอะไร “คงดีมั้ง” แบบนี้ ไอเดียนี้เกิดขึ้นวันที่คุยกับครอบครัว อยู่ดีๆ พี่สาวพูดถึงประโยคสัญลักษณ์ เขาเล่าเรื่องการบ้านของเด็กคนหนึ่งเกี่ยวกับการเขียนให้เป็นประโยคสัญลักษณ์ เช่น ฉันมีส้มสองผล แม่ให้อีกสามผล ฉันมีส้มกี่ผล จงเขียนเป็นประโยคสัญลักษณ์ เรารู้สึกว่าคำคำนี้กระทบใจ ถ้าเปลี่ยนเป็นความสัมพันธ์ล่ะ ความสัมพันธ์ซึ่งไม่อาจอธิบายได้ว่าคืออะไร ไม่สามารถแปลงเป็นสัญลักษณ์ได้ เราเชื่อว่าหลายคนต้องเคยเจอ โดยเฉพาะเพื่อนสนิทต่างเพศ ซึ่งสนิทกันจนเลยความเป็นแฟนไปแล้ว เป็นความผูกพันที่จำกัดความไม่ได้
ผลงานเล่มนี้พัฒนาขึ้นจากเดิมอย่างไร
ก่อนหน้านี้ถึงแม้เขียนการ์ตูนความสัมพันธ์ แต่จะเล่าอย่างตรงไปตรงมา เช่น เขียนเรื่องแม่ แม่โทร.มาไม่รับสาย ทำอย่างอื่นจนละเลยแม่ เด็กๆ อ่านแล้วเห็นภาพตามเลย แต่ประโยคสัญลักษณ์มีความซับซ้อนทางอารมณ์มากขึ้น อาจเข้าใจหรือไม่เข้าใจก็ได้ เราพยายามไม่ตัดสินว่าสิ่งนี้ผิดหรือถูก ทำแบบนี้ใจร้ายไหม แค่อยากให้มองแล้วรู้สึก เล่มนี้โตขึ้นกว่าผลงานที่ผ่านมา และเป็นเล่มที่เราชอบที่สุดด้วย
มีสารที่อยากส่งถึงคนอ่านผ่านผลงานเล่มนี้บ้างไหม
ตอนที่รับรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด เรากล่าวในงานว่า ผลงานเรื่องนี้เกิดจากเรามีเรื่องที่อยากเล่า แล้วเราก็เล่าไปโดยไม่คิดว่ามันจะกลายเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่หรือทรงคุณค่าขนาดนั้น แต่พอได้อ่านคำนิยม ซึ่งคณะกรรมการตัดสินรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดเขียนไว้ประมาณว่า หนังสือเล่มนี้เป็นทางออกที่ดีสำหรับวัยรุ่นที่กำลังเผชิญปัญหาความไม่สมหวัง มันใช่ ตรงกับที่เราคิดแต่ไม่ได้บอกไปตรงๆ คือ เมื่อตัวละครเจอจุดเปลี่ยนหรืออุปสรรคชีวิต จะมีหนทางบรรเทาหรือมีทางออกเสมอ ไม่ฟูมฟาย ยิ้มนิดๆ แล้วไปต่อกันเถอะ เป็นสิ่งที่เราพยายามสื่อและคงเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน
(คำนิยมจากคณะกรรมการรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด – ประโยคสัญลักษณ์ เป็นหนังสือบอกเล่าเรื่องราว ความรัก การแสดงออกของวัยรุ่นที่ปราศจากความรุนแรง และสะท้อนภาพสังคมปัจจุบันได้อย่างชัดเจน
สะท้อนความรู้สึกนึกคิด ความฝัน ของวัยรุ่น ที่ประสบทั้งความสมหวังและความผิดหวัง ชี้แนะให้รู้จักควบคุมตนเองอย่างมีสติ ไม่เลือกใช้ความรุนแรง เป็นวิธีที่ผู้คนในปัจจุบันควรเลือกใช้เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาที่คาดไม่ถึง)
“รางวัล” กำลังใจสำคัญแด่นักเขียน
เราภูมิใจมากกับรางวัลนี้ เพราะเซเว่นบุ๊คอวอร์ดเป็นรางวัลในระดับประเทศ และได้รับโล่พระราชทานด้วย แต่ที่ประทับใจที่สุดคือหนังสือของเราเป็นหนังสือการ์ตูน และยังเป็นการ์ตูนความรักวัยรุ่นด้วย เราไม่คาดคิดว่าผู้ใหญ่จะเล็งเห็นความสำคัญของงานเรา แต่พอได้อ่านคำนิยมแล้วรู้สึกขอบคุณมากจริงๆ เป็นเกียรติมากที่คณะกรรมการซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิเห็นคุณค่าในผลงานของเรา
10 ปี กับการทำงานในวงการการ์ตูนไทย เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง
มันมีช่วงที่บูมมาก คือช่วงที่เราเริ่มเข้ามาทำงานนั่นแหละ เป็นช่วงเริ่มต้นของโซเชียลมีเดีย นักวาดแจ้งเกิดในอินเตอร์เน็ตมากมาย จำได้ว่าช่วงงานหนังสือเรามีลิสต์หนังสือการ์ตูนไทยที่อยากซื้อเยอะมาก แต่แล้วเหมือนพลุไฟสว่างจ้านั้นค่อยๆ อ่อนแสงลง เหลือนักวาดรุ่นใหญ่ที่ยังคงทำงานจนถึงตอนนี้ไม่กี่คน อย่างไรก็ตาม เรารู้สึกว่าวงการการ์ตูนยังคึกคัก ยังไม่ดับแสง เพียงแต่มีอุปสรรคตรงที่นักวาดการ์ตูนไทยทำงานคนเดียว ไม่มีทีม ปีหนึ่งวาดได้เต็มที่สองสามเล่ม ทำไมผลิตผลงานได้น้อยจัง เพราะเราทำคนเดียวไง เมื่อผลิตได้ปีละสองสามเล่ม ค่าตอบแทนจะพอเลี้ยงชีพเหรอ ไม่พอ ก็ต้องไปรับงานจ้างอื่น จนในที่สุด “ไม่มีเวลาเขียนการ์ตูน” นักเขียนการ์ตูนก็ค่อยๆ หายกันไป
อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ “มุนินฺ” สามารถยืนหยัดมาได้เป็น 10 ปี
ถ้าคุณทำหนังสือได้แค่ปีละ 2-3 เล่ม หนังสือของคุณต้องขายดี ระหว่างนั้นถ้าต้องไปทำงานอื่นเสริมก็ต้องจัดสมดุลให้ดี เราจะรับงานนอกนิดหน่อยโดยไม่ให้กระทบงานเขียนการ์ตูน เพราะนี่คืออาชีพหลัก ต้องทำให้ดี ต้องขายดีให้ได้
แล้วรู้ได้อย่างไรว่าผลงานเล่มนี้จะดัง จะปัง หรือเปล่า
ที่จริงตั้งแต่คิดคอนเซ็ปต์ก็มีการแลกเปลี่ยนความเห็นกับบก. ซึ่งเป็นคนสำคัญในการตบแต่งไอเดียให้เข้าที่เข้าทางและเข้าท่า ส่วนระหว่างทาง เขียนเสร็จก็ทิ้งไว้ ไปนอน แล้วค่อยกลับมาตรวจงานโดยสวมวิญญาณนักอ่าน เขารู้สึกเหมือนที่เราอยากให้รู้สึกไหม ถามว่าเรากดดันไหมที่ตั้งเป้าต้องทำให้หนังสือดัง ก็กดดัน แต่เป็นความกดดันที่ดี ทำให้เราพยายามพัฒนาตัวเอง กดดันไปเถอะถ้ามันทำให้เราสร้างงานดีๆ ออกมาได้
ถ้าวันนี้มีเด็กคนหนึ่งเดินมาบอกว่าอยากเป็นนักเขียนการ์ตูนจัง จะให้คำแนะนำอะไรแก่เขาบ้าง
เราเป็นคนเชื่อในเรื่องจังหวะชีวิตมากๆ อย่างจังหวะที่เราก้าวเข้าสู่วงการการ์ตูนเกิดขึ้นแว้บเดียวเท่านั้น แต่ทำให้เราอยู่มายาวจนตอนนี้ เพียงแต่ว่าจังหวะนั้นคุณจะคว้ามันทันไหม น้องบางคนบ่นให้ฟังว่า ทำไมส่งงานไปกี่รอบก็ไม่ผ่านการพิจารณาสักที เราคิดว่าบางทีอาจยังไม่ถึงจังหวะเวลาของเขา ถ้าเรามุ่งมั่นจริง ยังไงต้องได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อย่าหยุดฝึกฝน ฝึกวาดจนกล้ามเนื้อจดจำได้เอง เดี๋ยวนี้อาจไม่ต้องเป็นการ์ตูนเล่ม เป็นการ์ตูนออนไลน์ก็ได้ มีช่องทางให้เติบโตในสายอาชีพนี้มากมาย เริ่มทำ ทำให้เยอะ ทำให้มาก จนคนข้างนอกมองเห็นเรา แล้วหนทางจะเกิดขึ้นเอง
ในเมื่อการเสพการ์ตูนมีหลายช่องทาง แล้วช่องทางหนังสือเล่มยังเติบโตอยู่อีกหรือไม่
เราว่ายังมีคนอยากอ่านหนังสือ อยากสัมผัสเนื้อกระดาษ ค่อยๆซึมซับ ต่อให้เราเอาเรื่องที่ลงในอินเตอร์เน็ตแล้วมารวมเล่ม ก็เชื่อว่ายังมีคนตามซื้อ เราจึงไม่เคยหมดหวังกับหนังสือเลย
3 เล่มในดวงใจ “มุนินฺ”
- แค็ตตาล็อครัก โดย Masami Nagata
เป็นการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องแรกๆ ที่อ่าน ชอบลายเส้นและเนื้อเรื่องที่ไม่หวือหวาเกี่ยวกับความรักของคู่รัก เพื่อน และครอบครัว ซึ่งลงตัว น่ารักน่าติดตาม
- Puzzle พรุ่งนี้ยังมีรัก โดย Ryo Ikuemi
ภาพการ์ตูนในเรื่องสื่ออารมณ์ได้ดีมาก เป็นการ์ตูนรักจบในตอน เนื้อเรื่องมีความหลอนนิดๆ เน้นเล่าเรื่องด้วยภาพเป็นหลัก
- Yotsuba &! โดย Kiyohiko Azuma
เกี่ยวกับเด็กหญิงโยทสึบะ ที่เป็นเด็กมึนๆ น่ารักแบบกวนๆ และคาดเดายาก เกี่ยวกับครอบครัวและประสบการณ์ของเด็กหญิง อ่านแล้วอมยิ้ม อีกทั้งภาพสวย วาดฉากได้ละเอียด