วันหยุดที่ผ่านมา ออล แม็กกาซีน มีโอกาสได้ขึ้นไปชมวิวกรุงเทพฯ แบบ 360 องศา ณ แลนด์มาร์คแห่งใหม่ล่าสุด “มหานคร สกายวอล์ค” (Mahanakhon Skywalk) ซึ่งตั้งอยู่ภายในอาคารคิง พาวเวอร์ มหานคร ย่านสีลม-สาทร อาคารนี้ถือเป็นจุดชมวิวบนดาดฟ้าที่สูงที่สุดในประเทศไทย และยังมีลานพื้นกระจก (Glass Tray) ที่เปิดโอกาสให้ผู้เยี่ยมชมได้สัมผัสประสบการณ์สุดเสียวไส้เมื่อขึ้นไปยืนบนกระจกใสที่สามารถมองเห็นวิวเมืองด้านล่างอย่างชัดเจน นับเป็นหนึ่งในพื้นกระจกใหญ่ที่สุดในโลก เรียกว่าใครที่เป็นโรคกลัวความสูงอย่าเผลอเหลือบตาไปมองเด็ดขาด จะเป็นลมเอาง่ายๆ เลยทีเดียว
ก่อนทะยานขึ้นสู่ฟ้าไปด้วยกัน เรามาทำความรู้จัก “อาคารคิง พาวเวอร์ มหานคร” แห่งนี้กันก่อน โครงการนี้ เป็นตึกระฟ้าในรูปแบบอาคารมิกซ์ยูส ออกแบบโดย Ole Scheeren สถาปนิกผู้มีชื่อเสียงชาวเยอรมัน ตัวอาคารออกแบบเสมือนโอบล้อมด้วยริบบิ้นสามมิติ หรือ “พิกเซล” ตลอดความสูง 78 ชั้น ล้อมรอบไปด้วยกระจกราวกับลอยอยู่บนฟ้า เพื่อมอบทิวทัศน์แบบพาโนรามาให้ผู้พักอาศัยภายใน อาคารนี้ตั้งอยู่ใจกลางระหว่างสีลมและสาทร ติดสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสช่องนนทรี ซึ่งเป็นย่านธุรกิจสำคัญของกรุงเทพฯ
เอาละค่ะ ถึงเวลาที่เราจะเข้าไปสัมผัสประสบการณ์ที่ทั้งสูงและเสียวสุดใจกันแล้ว…
เมื่อเดินเข้ามาในอาคารคิง เพาเวอร์ มหานคร บริเวณล็อบบี้ชั้น 1 เป็นจุดจำหน่ายบัตรเข้าชม ราคาบัตรมี 2 แบบด้วยกัน คือ แบบชมวิวภายในอาคาร (ชั้น 74) ผู้ใหญ่ 850 บาท / เด็กและผู้สูงอายุ 250 บาท และแบบชมวิวทั้งภายในและภายนอกอาคาร (ชั้น 74 และชั้น 78) ผู้ใหญ่ 1,050 บาท / เด็กและผู้สูงอายุ 450 บาท
หลังจากซื้อบัตรเสร็จเรียบร้อย ระหว่างทางเดินไปยังลิฟต์เพื่อโดยสารขึ้นไปบนอาคาร เราจะได้พบกับผนังจอ LED ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร เรียกว่าแค่จุดแรกก็ตื่นตาตื่นใจแล้วค่ะ
ไฮไลต์แรกของวันนี้ก็มาถึง นั่นก็คือลิฟต์ความเร็วสูง ขนาดความจุ 15 คน เป็นลิฟต์ที่เร็วที่สุดในประเทศไทย พร้อมจะพาทุกท่านทะยานขึ้นสู่ชั้น 74 โดยใช้เวลาเพียง 50 วินาทีเท่านั้น! ภายในลิฟต์เป็นจอฉายแอนิเมชั่นขนาดใหญ่ที่ฉายภาพบรรยากาศต่างๆ ของกรุงเทพฯ อย่างสวยงาม
ไม่ถึงหนึ่งนาที เราก็ทะยานขึ้นฟ้ามาถึงชั้น 74 เป็นที่เรียบร้อย ชั้นนี้เป็นจุดชมวิวภายในอาคาร (Indoor Observation Deck) สามารถมองทะลุกระจกเห็นวิวเมืองแบบสุดลูกหูลูกตา ทุกคนสามารถเพลิดเพลินไปกับเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) มุมมองกรุงเทพมหานครแบบ 360 องศา และที่ชั้น 74 นี้ นักท่องเที่ยวสามารถกดซื้อและส่งโปสการ์ดจากตู้ไปรษณีย์ที่ขึ้นชื่อว่าสูงที่สุดในประเทศไทยได้อีกด้วย
หลังจากชื่นชมความงามของวิวกรุงเทพฯ ผ่านกระจกใสรอบตึกเป็นน้ำจิ้มกันเรียบร้อยแล้ว เราขึ้นไปต่อกันที่ชั้น 78 ซึ่งเป็นชั้นดาดฟ้าและชั้นที่สูงที่สุดของอาคาร เพื่อชมบรรยากาศและความสวยงามของกรุงเทพมหานครกว้างไกลสุดลูกหูลูกตาแบบ 360 องศา โดยไม่มีอะไรบดบังกันดีกว่าค่ะ
การขึ้นจากชั้น 74 ไปยังชั้น 78 นั้น เราต้องขึ้นบันไดเลื่อนไปที่ชั้น 75 ซึ่งเป็นชั้นลอยก่อน โดยชั้น 75 นี้ เป็นจุดสำหรับขึ้นลิฟต์แก้วไปยังชั้น 78 และเป็นชั้นเดียวที่มีห้องน้ำเปิดให้บริการค่ะ
ก่อนขึ้นลิฟต์แก้ว จะมีเจ้าหน้าที่คอยสแกนบัตร เพราะคนที่จะผ่านขึ้นไปด้วย ต้องซื้อบัตรที่ซื้อขึ้นไปชมวิวบนชั้นดาดฟ้าและรูฟท็อปบาร์ เท่านั้น หน้าลิฟต์ตรงนี้ติดตั้งป้าย QR Code ให้สแกนเพื่อใช้บริการ Wi-Fi ด้วยค่ะ สแกนปุ๊บ ใช้ได้ทันที
ไม่ถึงอึดใจลิฟต์แก้วก็พาเรามาถึงชั้น 78 ซึ่งเป็นดาดฟ้าและจุดชมวิวนอกอาคาร (Outdoor Observation Deck) ที่สูงที่สุดในประเทศไทย ตรงนี้มีความสูงเหนือระดับพื้นดินถึง 314 เมตร ไฮไลต์ของชั้นนี้คือที่นี่มีพื้นกระจกลอยฟ้า (Glass Tray) ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก สูงเหนือพื้นดินถึง 310 เมตร และเราสามารถขึ้นไปเดินเล่น นอนเล่น และถ่ายรูปบนพื้นกระจกที่ใสกิ๊งส่องทะลุลงไปยังเมืองด้านล่างได้แบบฟินๆ ขอเตือนว่าใครใจไม่ถึงอย่าก้มลงไปมองเชียว บอกเลยว่าเสียวไส้สุดๆ
คนที่จะก้าวเท้าลงไปเดินเล่นบนพื้นกระจก ทางอาคารมีข้อกำหนดที่เคร่งครัดเพื่อความปลอดภัยของทุกคนว่า
- ทุกคนต้องสวมถุงผ้าครอบรองเท้ากันลื่น สาวๆ ที่ใส่ส้นสูงแนะนำให้ถอดก่อนนะคะ เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเอง
- สัมภาระต่างๆ เช่น กระเป๋าถือ กระเป๋าเงิน โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ ทางอาคารกำหนดให้ใส่ไว้ในถุงผ้าที่เตรียมไว้บริการ เพื่อป้องกันของตกหล่น ซึ่งอาจทำให้พื้นกระจกเป็นรอยได้
- สำหรับผู้ที่ต้องการถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก นางแบบ-นายแบบสามารถลงไปแอ๊คชั่นบนพื้นกระจกได้ตามสบาย แต่ช่างภาพสามารถถ่ายจากบริเวณที่กั้นด้านบนได้เท่านั้น ไม่อนุญาตให้นำกล้องลงไปถ่ายบนพื้นกระจกหรือเซลฟี่ด้วยกันได้นะคะ ถ้าไปคนเดียวหรืออยากได้รูปคู่ สามารถให้เจ้าหน้าที่ช่วยถ่ายรูปให้ได้ค่ะ
นอกจากพื้นกระจกที่เป็นสุดยอดไฮไลต์แล้ว บริเวณชั้นนี้ยังเป็นที่ตั้งของรูฟท็อปบาร์ (Rooftop Bar) ที่สูงที่สุดในประเทศไทยด้วย ใครที่อยากนั่งชิลพร้อมชมบรรยากาศเมืองตอนกลางคืน ที่นี่ก็มีเครื่องดื่มและค็อกเทลสูตรพิเศษไว้บริการ ถ้าอยากชมกรุงเทพฯ ด้วยสายตาตัวเองไม่ผ่านกระจกกั้น แนะนำให้ขึ้นบันไดไปตรงจุดที่เรียกว่า “เดอะ พีค” (The Peak) ซึ่งมีความสูงเหนือพื้นดินถึง 314 เมตรค่ะ
จุดเด่นอีกประการของ “มหานคร สกายวอล์ค” (Mahanakhon Skywalk) แห่งนี้ คือ ไม่จำกัดเวลาในการเข้าชม เมื่อคุณซื้อบัตรขึ้นอาคารมาแล้ว จะอยู่บนอาคารแห่งนี้กี่ชั่วโมงก็ได้ ออลฯ ขอแนะนำว่าถ้าเป็นไปได้ อยากให้คุณขึ้นอาคารไปตั้งแต่ราวๆ 4-5 โมงเย็น เพื่อชมบรรยากาศก่อนพระอาทิตย์ตกดิน และอยู่ยาวไปจนค่ำเพื่อชมแสงสีของเมืองและดาวกระจ่างฟ้า คุณจะได้เก็บภาพกรุงเทพมหานครไว้ในภาพถ่ายและความทรงจำได้ครบทุกบรรยากาศเลยทีเดียว
เมื่อซึมซับความสวยงามของกรุงเทพมหานครในมุมสูงที่สุดในประเทศไทยจนเต็มอิ่มแล้ว ก็ได้เวลากลับลงมาข้างล่าง จะโดยสารลิฟต์แก้วลงมาที่ชั้น 75 หรือเดินบันไดเวียนลงมาเรื่อยๆ ก็ได้ค่ะ พอถึงชั้น 75 ทางอาคารได้เตรียมลิฟต์ความเร็วสูงอีกตัวหนึ่งไว้รองรับ เพียง 50 วินาทีเราก็ลงจากชั้น 75 มายังชั้น 4 ได้ทันที ในส่วนนี้เป็นช็อปสินค้าปลอดภาษี “คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี” ที่นี่มีทั้งหมด 4 ชั้น (ชั้น 1-4) เป็นอีกหนึ่งศูนย์รวมสินค้าปลอดภาษีชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก, สินค้าแบรนด์เนม, ของที่ระลึกจากสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้, ของระลึกพิเศษเฉพาะที่มหานคร สกายวอล์ค, สินค้าภูมิปัญญาไทยคุณภาพระดับสากล และสินค้าไลฟ์สไตล์อีกมากมาย
เรียกว่าพอลงจากตึกก็มาช้อปสินค้าดิวตี้ฟรีกันแบบจุใจและฟินกันแบบสุดๆ ไปเลย
อัตราบัตรเข้าชม “มหานคร สกายวอล์ค”
แบบที่ 1: มหานคร สกายวอล์ค จุดชมวิวภายในอาคาร ชั้น 74
ผู้ใหญ่ ราคา 850 บาท เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ราคา 250 บาท
แบบที่ 2: มหานคร สกายวอล์ค และรูฟท็อปบาร์ จุดชมวิวภายในและภายนอกอาคาร ชั้น 74 และชั้น 78
ผู้ใหญ่ ราคา 1,050 บาท เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ราคา 450 บาท
การเดินทาง
สำหรับผู้เดินทางมาโดยรถยนต์ส่วนตัว สามารถจอดได้ที่ชั้นใต้ดินของอาคารคิง เพาเวอร์ มหานคร (King Power Mahanakhon) ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพฯ โดยนำบัตรจอดรถไปสแกนค่าจอดรถได้ฟรีที่จุดจำหน่ายบัตร หากไม่ต้องการนำรถยนต์ส่วนตัวมา สามารถเดินทางโดยรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีช่องนนทรี ทางออกหมายเลข 3
เวลาเปิดให้บริการ
เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 10.00-24.00 น. (เปิดให้เข้าชมรอบสุดท้ายเวลา 23.00 น.)
เรื่องและภาพ – ณ ชล