เอกสารทางราชการและตำราเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ระบุไว้ว่า ชาวญี่ปุ่นเป็นรายแรกที่นำภาพยนตร์เข้ามาเผยแพร่ในประเทศสยามเมื่อ พ.ศ.2447 และต่อมาใน พ.ศ.2453 นายริชาร์ด เบอร์ตัน โฮล์ม ชาวอเมริกัน ได้เข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในสยามเป็นครั้งแรก
นอกจากนี้กินเนสส์บุ๊คฉบับตีพิมพ์ในปี 2526 ในบทที่ว่าด้วย “ภาพยนตร์สมัครเล่น” ยังระบุไว้ว่า
“เจ้านายนักถ่ายภาพยนตร์รายแรก คือ มกุฎราชกุมารสยาม ผู้ทรงฝักใฝ่งานอดิเรกนี้มาตั้งแต่ปี 2457 พระองค์ยังมีโรงฉายภาพยนตร์ส่วนพระองค์อยู่ในพระราชวังที่กรุงเทพฯ ด้วย”
และในบทที่ว่าด้วย “ผู้ชมและผู้แสดง” ระบุอีกว่า
“เชื้อพระวงศ์รายแรกที่มีโรงภาพยนตร์ส่วนพระองค์อยู่ในวัง ได้แก่ มกุฎราชกุมารสยาม และ พระเจ้าซาร์นิโคลาส ที่ 2 แห่งรัสเซีย ตั้งแต่ราวปี 2456 ทั้งสองราย”
แต่ โดม สุขวงศ์ ผู้ทุ่มเทค้นคว้าประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ในประเทศไทย ได้พบว่า ข้อความข้างต้นนี้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
ชาวญี่ปุ่นนำภาพยนตร์เข้ามาฉายในปี 2447 จริง แต่ไม่ใช่รายแรก
และในปีที่กินเนสส์บุ๊คกล่าวถึงมกุฎราชกุมารสยาม ในปีนั้นสยามก็ไม่มีมกุฎราชกุมาร แต่อาจหมายถึง เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดช ซึ่งทรงเป็นนักถ่ายภาพยนตร์สมัครเล่น และเมื่อขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 7 ก็ทรงตั้งสมาคมภาพยนตร์สมัครเล่นแห่งสยามขึ้น มีห้องฉายภาพยนตร์อยู่ในพระตำหนักจิตรลดา และทรงเป็นสมาชิกของสันนิบาตนักถ่ายภาพยนตร์สมัครเล่นแห่งโลก
แต่ก็ยังมีเชื้อพระวงศ์อีกองค์หนึ่งที่ทรงเป็นนักถ่ายภาพยนตร์สมัครเล่นและเป็นการค้า ทรงมีโรงภาพยนตร์ส่วนพระองค์อยู่ในวัง และทรงเริ่มมาก่อนตั้งปี 2443
โดม สุขวงศ์จึงทำรายงานเสนอต่อคณะกรรมการตัดสินการประกวดภาพยนตร์ไทย ประจำปี 2526 เพื่อพิจารณารางวัลเกียรติยศ “บิดาแห่งภาพยนตร์ไทย” ถวายเจ้านายพระองค์นี้ ซึ่งก็คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ ต้นราชสกุล “ทองแถม” ซึ่งเป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 ประสูติเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2400 ได้รับพระราชทานพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสาตรศุภกิจ ในรัชกาลที่ 5 มีตำแหน่งเป็นราชองครักษ์และผู้บังคับบัญชากรมช่างมหาดเล็ก
ในรัชกาลที่ 5 การถ่ายรูปเป็นที่นิยมกันมากในราชสำนัก งานพระราชพิธีต่างๆ จะมีการถ่ายภาพออกขายคราวละเป็นหมื่นๆ รูป ซึ่งก็เป็นงานของกรมช่างมหาดเล็กภายใต้การอำนวยการของกรมหลวงสรรพาสาตรศุภกิจ ซึ่งทรงพระปรีชาสามารถงานช่างหลายประเภท และทรงสนพระทัยในประดิษฐกรรมใหม่ๆ จากต่างประเทศ
ในวันที่ 3 สิงหาคม 2439 พระพุทธเจ้าหลวงได้ทอดพระเนตรประดิษฐกรรมเครื่องเล่นทางภาพยนตร์ชนิดถ้ำมอง ที่เรียกว่า “คีเนโตสโคป” ของ โทมัส เอดิสัน ที่สิงคโปร์เป็นครั้งแรก ซึ่งกรมฯ สรรพสาตรฯ ก็ตามเสด็จด้วย ต่อมาในปี 2440 เสด็จฯ ประพาสยุโรปครั้งแรก ในการตามเสด็จครั้งนี้ กรมฯ สรรพสาตรฯ มีหน้าที่พิเศษสืบหาสิ่งของแปลกๆ สำหรับชาติจากประเทศต่างๆ ด้วย
ในวันที่ 14 กรกฎาคม 2440 พระพุทธเจ้าหลวงได้ทอดพระเนตรภาพยนตร์ที่เรียกว่า “ซีเนมาโตกร๊าฟ” ที่กรุงสต๊อคโฮล์ม ซึ่งถ่ายทำมาจากพิธีรับเสด็จเมื่อวานนี้เอง ฉะนั้นในบัญชีรายการ “สิ่งของแปลกๆ สำหรับชาติ” จึงมี “หนังฝรั่ง 3 สำรับ” ซึ่งก็คงมีทั้งกล้องถ่าย เครื่องฉาย เครื่องล้างฟิล์ม รวมทั้งฟิล์มมาพร้อม
ในเดือนธันวาคม 2443 ได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองวัดเบญจบพิตร ซึ่งพระพุทธจ้าหลวงทรงโปรดให้บูรณะขึ้นเป็นวัดประจำรัชกาล มีการออกร้านมากมาย หนึ่งในจำนวนร้านเหล่านี้ ก็คือร้านฉายภาพยนตร์ของกรมฯ สรรพสาตรศุภกิจนั่นเอง
พ.ศ.2446 ซึ่งอยู่ในเทศกาลเฉลิมพระชนมายุ 50 พรรษา ผนวกกับงานฉัตรมงคลพระพุทธเจ้าหลวง ซึ่งจัดเป็นงานมโหฬารตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมา ในกลางเดือนพฤศจิกายนนั้น กรมทหารบกได้จัดงานราตรีสโมสรขึ้นที่สวนดุสิต มีรายการละเล่นต่างๆ และออกร้าน ซึ่งหนึ่งในรายการที่ปรากฏอยู่ในสูจิบัตรก็คือ “รูปเป็น ของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสาตรศุภกิจ”
ในเดือนเดียวกันนี้ บริษัทภาพยนตร์เอดิสันแห่งสหรัฐอเมริกา ได้นำภาพยนตร์เร่เข้ามาฉายที่โรงแรมโอเรียนเตล มีโฆษณาโปรแกรมพิเศษเป็นภาษาอังกฤษในหนังสือพิมพ์รายวันบางกอกไตมส์ ฉบับวันที่ 24 พฤศจิกายนว่า
“กรมฯ สรรพสาตรศุภกิจ ทรงประทานพระกรุณาให้เรายืมฟิล์มภาพยนตร์ที่ดีเลิศจำนวนหนึ่ง ซึ่งพระองค์ทรงถ่ายและล้างทำขึ้นด้วยพระองค์เอง แสดงให้เห็นเหตุการณ์ต่างๆ หลายอย่างเกี่ยวกับเทศกาลงานที่เพิ่งผ่านไป ภาพยนตร์เหล่านี้จะได้นำออกสู่สาธารณชนเป็นครั้งแรกที่นี่”
นอกจากนี้บางกอกไตมส์ฉบับเดียวกันยังเสนอข่าวเกี่ยวกับภาพยนตร์ชุดนี้ว่า
“เสด็จในกรมทรงมีห้องปฏิบัติการซึ่งทรงติดตั้งอุปกรณ์อย่างดีพร้อมห้องหนึ่ง และได้ทรงถ่ายทำภาพยนตร์เป็นงานอดิเรกเป็นเวลาราวสามปีมาแล้ว เป็นที่รู้กันอยู่บ้างในกรุงเทพฯ นี้ว่า ผลงานของพระองค์เป็นความสำเร็จที่น่าชื่นชมเพียงไร พวกฝรั่งเจ้าของคณะหนังเร่ป่าวร้องว่าพวกเขาได้รับประทานภาพยนตร์จากพระองค์มาส่วนหนึ่ง ซึ่งนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของผลงานภาพยนตร์ที่ดีเยี่ยมที่สุดเท่าที่เคยทำกันมา”
ข่าวชิ้นนี้เป็นการยืนยันว่า กรมฯ สรรพสาตรฯ ทรงถ่ายภาพยนตร์ในสยามมาตั้งแต่ปี 2443 ซึ่งทรงนำออกฉายในงานออกร้านของวัดเบญจมบพิตรในปีแรกนั่นเอง
นอกจากนี้บางกอกไตมส์ ฉบับ 16 กรกฎาคม 2449 รายงานว่า บางครั้งทรงจัดฉายภาพยนตร์กลางแปลงขึ้นที่สนามในวัง ถนนตะนาว ซึ่งก็คือแพร่งสรรพศาสตร์ในปัจจุบัน มีการขายเบอร์ออกรางวัลมีค่าถึงขั้น “รถโมเตอร์คาร์” รายการเช่นนี้บางครั้งพระพุทธเจ้าหลวงได้เสด็จฯ มาทอดพระเนตรด้วย
ในเดือนพฤศจิกายน 2451 มีงานพระราชพิธียิ่งใหญ่ที่สุดอีกครั้งหนึ่ง เฉลิมฉลองการเสด็จเถลิงถวัลย์อยู่ในราชสมบัติถึง 40 ปีของพระพุทธเจ้าหลวง ซึ่งยาวนานกว่ารัชกาลใดๆ ในคืนวันที่ 19 พฤศจิกายนมีรายการฉายภาพยนตร์ประชัน 3 จอขึ้นที่ลานพระบรมรูปทรงม้า นับเป็นการประชันหนังกลางแปลงครั้งแรกในสยาม ซึ่งบางกอกไตมส์ ฉบับวันที่ 20 พฤศจิกายนกล่าวว่า อาจจะเป็นครั้งแรกในโลกด้วย
แต่ละจอล้วนเป็นขนาดมโหฬารตั้งเรียงกัน จอหนึ่งเป็นของคณะโรงหนังญี่ปุ่น อีกโรงหนึ่งเป็นของคณะโรงหนังกรุงเทพฯซีเนมาโตกร๊าฟ ส่วนจอกลางเป็นของกรมฯสรรพศาตรฯ ฉายสลับกันทีละจอ ท่ามกลางมหาชนที่เข้าชมกันล้นหลาม ซึ่งพระพุทธเจ้าหลวงประทับทอดพระเนตรจนสองยามจึงเสด็จกลับ
ด้วยทรงมีผลงานเป็นผู้บุกเบิกการถ่ายทำภาพยนตร์และจัดฉายเป็นรายแรกในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ของชาติ คณะกรรมการตัดสินการประกวดภาพยนตร์ไทย ประจำปี 2526 จึงลงมติถวายพระเกียรติ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ เป็น “บิดาแห่งภาพยนตร์ไทย”.
คอลัมน์: เรื่องเก่าเล่าสนุก
เรื่อง: โรม บุนนาค
All magazine กรกฎาคม 2560