ชาวเรารับรู้เล่าเรียนกันมาช้านานว่าพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์ลายสือไทยหรืออักษรไทยขึ้นเมื่อพุทธศักราช 1826 และจารึกลงในแท่งหินเป็นศิลาจารึกหลักที่ 1 หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่าศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ศิลาจารึกดังกล่าวเป็นแท่งหินชนวนสี่เหลี่ยมจารึกข้อความด้วยอักษรไทย ภาษาไทยทั้ง 4 ด้าน และจารึกด้านที่ 4 บรรทัดที่ 8-11 มีข้อความเรียบเรียงเป็นอักขรวิธีปัจจุบันว่า
“… เมื่อก่อนลายสือไทยนี้บ่มี 1205 ศกปีมะแม พ่อขุนรามคำแหงหาใคร่ใจ ในใจแลใส่ ลายสือไทยนี้จึงมีเพื่อขุนผู้นั้นใส่ไว้…”
1205 ศกปีมะแม เป็นการนับปีตามมหาศักราชซึ่งเกิดขึ้นหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว 621 ปี ดังนั้นมหาศักราช 1205 ที่พ่อขุนรามคำแหงใส่ลายสือไทยหรือประดิษฐ์อักษรไทยจึงตรงกับพุทธศักราช 1826 ซึ่งนักประวัติศาสตร์ไทยก็เชื่อกันอย่างนั้น กระทั่งเมื่อไม่กี่ปีมานี้มีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งเสนอแนวคิดสรุปประเด็นว่า “พ่อขุนรามฯ ไม่ได้ประดิษฐ์อักษรไทย ศิลาจารึกพ่อขุนรามฯ เป็นประดิษฐกรรมในรัชกาลที่ 4” ผู้เสนอแนวคิดดังกล่าวโยงไปถึงประวัติการพบศิลาจารึกหลักนี้เมื่อพุทธศักราช 2376 ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติการนำศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมายังกรุงเทพฯ ปรากฏในเรื่อง อภินิหารการประจักษ์ ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงพระนิพนธ์ขึ้นเมื่อยังทรงผนวชเป็นพระภิกษุพระองค์เจ้าฤกษ์ วัดสมอราย (ปัจจุบันคือวัดราชาธิวาส) โดยเสด็จพระราชดำเนินธุดงค์พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ขึ้นไปยังเมืองเหนือ เสด็จประพาสเมืองกำแพงเพชร พิษณุโลก สวรรคโลก และสุโขทัย เมื่อพุทธศักราช 2376 การเสด็จธุดงค์เมืองสุโขทัยคราวนั้นพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎทรงพบและนำศิลาจารึกพ่อขุนรามฯ และพระแท่นมนังคศิลาลงมาไว้ที่วัดสมอรายซึ่งเป็นที่ประทับจำพรรษาด้วย ความในอภินิหารการประจักษ์ ตอนหนึ่งว่า
“… เสด็จไปเที่ยวประพาสพบแท่นศิลาแห่งหนึ่งอยู่ริมเนินปราสาท เขาก่อไว้เป็นแท่นหักพังลงมาตะแคงอยู่ ที่เหล่านั้นชาวเมืองเขาเคารพสำคัญเป็นศาลเจ้า เขามีมวยสมโภชทุกปี คนเดินกรายทำอคารวะก็ไม่ได้ เกิดเจ็บไข้ไม่สบาย เขาห้ามไม่ให้คนกล้ำกรายเข้าไปใกล้ ทอดพระเนตรเห็น เสด็จตรงเข้าไปที่แท่นศิลานั้น พวกกรมการปากสั่นกลัวเต็มที กราบทูลว่าที่นี่ขลังนัก เสด็จทรงยืนประทับรับสั่งว่า อย่าทำๆ แล้วเสด็จขึ้นทรงนั่งบนแผ่นศิลา รับสั่งว่า อยู่ทำไมกลางป่า ไปอยู่บางกอกด้วยกัน จะได้ฟังเทศน์จำศีล ครั้นเห็นเงียบสบายอยู่ เมื่อจะเสด็จกลับก็รับสั่งชะลอลงมาก่อเป็นแท่นไว้ที่ใต้ต้นมะขาม วัดสมอราย …”
ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงอยู่บริเวณเนินปราสาทในเมืองเก่าสุโขทัยใกล้ๆ กับพระแท่นมนังคศิลา เมื่อพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จไปครองวัดบวรนิเวศฯ ก็ให้ย้ายพระแท่นและศิลาจารึกไปไว้ที่วัดบวรนิเวศฯ ด้วย ครั้นเสด็จขึ้นทรงครองราชสมบัติก็โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ได้ทรงพยายามอ่านและคัดลอกศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงเป็นบางส่วน และต่อมาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงอ่านข้อความในศิลาจารึกดังกล่าวตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือวชิรญาณ เมื่อพุทธศักราช 2427
กระผมไม่เคยมีข้อกังขาเกี่ยวกับศิลาจารึกหลักที่ 1 โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า “พ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์อักษรไทย” ครั้นมีผู้แสดงความเห็นคัดค้านกับสิ่งที่กระผมเคยรับรู้เล่าเรียน ความเห็นที่แตกต่างดังกล่าวจึงเป็นเรื่องสนุกสำหรับนักศึกษาวัยชราอย่างกระผมที่จะต้องเสาะหาหลักฐานมาสนับสนุนความเชื่อดั้งเดิมให้หนักแน่นมั่นคง
กระผมเชื่อว่า คนไทยเรารู้ว่าพ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์อักษรมาตั้งแต่สมัยอยุธยาหรือก่อนหน้านั้น มีหลักฐานอยู่ในหนังสือจินดามณี แบบเรียนไทยที่ใช้มาตั้งแต่สมัยอยุธยา จินดามณี ฉบับความแปลก สมุดไทยหน้าแรก บรรทัดแรก มีข้อความว่า “ศักราช 645 ปีมะแมศก พญาร่วงเจ้าได้เมืองศรีสัชนาไล จึ่งแต่งหนังสือไทยแลแม่อักษรทังหลาย…” จินดามณีฉบับนี้ใช้จุลศักราช ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว 1181 ปี ดังนั้น ศักราช 645 มะแมศกจึงตรงกับพุทธศักราช 1826 ตรงกับที่ระบุในศิลาจารึกพ่อขุนราม
หลักฐานสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือจินดามณี ฉบับพระเจ้าบรมโกศ ซึ่งคัดลอกเมื่อพุทธศักราช 2275 อันเป็นปีแรกในแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ ก็ปรากฏข้อความว่า “อันหนึ่งในจดหมายแต่ก่อนว่า ศักราช 645 มะแมศก พระญาร่วงเจ้าได้เมืองศรีสัชนาไลยแล้ว แต่งหนังสือไทย…”
กระผมเชื่อว่าแบบเรียนไทยจินดามณีเป็นของแท้ มีมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยา หากจารึกพ่อขุนรามคำแหงเป็นของปลอม ศิลาจารึกสมัยสุโขทัยหลายๆ หลัก เช่น จารึกวัดศรีชุม จารึกนครชุม ซึ่งมีเนื้อความสอดคล้องกับจารึกพ่อขุนรามฯ ก็คงต้องเป็นของปลอม หนังสือจินดามณีที่เราเชื่อว่าเป็นแบบเรียนมาแต่ครั้งอยุธยาก็เป็นของปลอม ตำรับตำราโบราณที่เกี่ยวเนื่องก็น่าจะเป็นของปลอมด้วย
คอลัมน์: ตะลุยแดนวรรณคดี / เรื่อง: บุญเตือน ศรีวรพจน์