เรื่องสั้นการเมืองรางวัลพานแว่นฟ้า: ภาพสะท้อนการเมืองไทย

-

รางวัลพานแว่นฟ้าเป็นรางวัลที่ริเริ่มโดยรัฐสภาเมื่อ พ.ศ.2545 เพื่อมอบแก่เรื่องสั้นและบทกวีการเมือง  และดำเนินงานมาเป็นเวลา 17 ปี แล้ว   นับเป็นรางวัลวรรณกรรมรางวัลหนึ่งซึ่งมีสถานะโดดเด่นในพื้นที่วรรณกรรมไทยมากขึ้นตามจำนวนปีที่ผ่านไป

ในการประกวดต้นฉบับเรื่องสั้น รางวัลพานแว่นฟ้า พ.ศ.2562 มีเรื่องสั้นส่งเข้าประกวด  364 เรื่อง  ผ่านการคัดเลือกและตัดสินจากคณะกรรมการสองชุด  เรื่องที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ คือเรื่อง โลกที่เราทิ้งไว้ข้างหลัง  ของ โศภนิศ  นามสิริ  ส่วนรางวัลรองชนะเลิศ คือ ซอยตัน ของ  ปาริชาติ คุ้มรักษา และ ปลากัดลายธงชาติ ของ อุเทน พรมแดง  ในการประกวดแต่ละปี  ใช่จะมีแต่นักเขียนมือเก๋าที่คว้ารางวัล แต่มักจะมีนักเขียนหน้าใหม่หรือมีผลงานไม่มากนักได้รับรางวัลและอาจจะเป็นรางวัลใหญ่ด้วย  ปีนี้ก็เช่นเดียวกัน  คุณโศภนิศ นามสิริ ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ เป็นอดีตข้าราชการกระทรวงต่างประเทศ ส่วนผู้ได้รับรางวัลชมเชย หลายคนเป็นนิสิตนักศึกษา

เรื่อง “โลกที่เราทิ้งไว้ข้างหลัง”  เป็นเรื่องสั้นที่ใช้ฉากในประเทศตูนิเซียซึ่งมีเหตุการณ์ความวุ่นวายจากการที่ประชาชนประท้วงและต่อต้านรัฐบาลอย่างรุนแรง นักปฏิวัติประชาชนหลายพวกหลายเหล่าต่างจัดชุมนุม  แถลงข่าว  แถลงการณ์  ยื่นข้อเสนอ ฯลฯ  มีการประท้วง ปะทะ ที่นั่นที่นี่  เสียงปืน เสียงระเบิด ดังก้องเมืองทุกเมื่อเชื่อวันยาวนานหลายปี  และยอดผู้เสียชีวิตก็ทวีจำนวนขึ้นอย่างน่าตกใจ กว่าครึ่งเรื่องที่ผู้เขียนฉายภาพให้เราเห็นตูนิเซียในภาวะมิคสัญญี   แต่ในขณะเดียวกันสงครามในตูนิเซียก็กลับฟื้นภาพจำถึงเหตุการณ์การต่อสู้ทางการเมืองในประเทศไทยช่วงก่อนการปฏิวัติของ คสช. และกระตุ้นให้ตระหนักว่าเราไม่อยากให้คนในชาติรบราฆ่าฟันกันเป็นสงครามการเมืองเช่นที่เคยเกิดขึ้นอีกแล้ว    

จากการทำหน้าที่ดูแลคนไทยในตูนิเซีย  ตัวละคร “ฉัน” และครอบครัวจึงตกอยู่ในวิกฤตการณ์ของสงครามกลางเมืองเช่นกัน   เขานึกถึงความปรารถนาของพ่อผู้อยากให้เขาเป็นนักดนตรีมากกว่าเป็นนักการเมือง  แต่เขาไม่ยอมเพราะคิดว่าเพลงนับร้อยเพลงของพ่อนั้น  “สอน  สั่ง และสวยเกินไป  มีแต่คำงาม คำกวี  ไม่มีคำดิบๆ ด่วนๆ  ไม่มีท่อนฮุค  ไม่มีคนอกหัก  ไม่มีความสลดหดหู่  ไม่มีผู้ถูกกระทำ  ไม่มีความเหลื่อมล้ำ…”  ส่วนคนรุ่นลูกรุ่นหลานก็วิจารณ์เพลงของพ่อว่า “เป็นเพลงเพื่อชาติ (หน้า)  เพลง ‘โลกสวยยุคไดโนเสาร์’ เพลงที่ไม่มีเสียงแห่งยุคสมัย”  การสนทนากับพ่อหลังรอดชีวิตทำให้เขามองเห็นว่าการเมืองและดนตรีมีฐานความคิดอย่างเดียวกัน  นั่นคือ  การเมืองและดนตรีต้องมีความสมดุลระหว่างความขัดแย้งกับเอกภาพ  การเมืองและดนตรีต้องควบคุมได้  การเมืองและดนตรีมีกฎกติกา  แต่ก็ “ด้น” ได้โดยอยู่ในขอบเขต  ไม่ใช่ว่า  “เข้ารกเข้าพง เล่นกันคนละเพลง”  การเมืองและดนตรีมีทั้งเสียงและความเงียบ  ใช่จะ “เอาแต่ร้องตะเบ็งเซ็งแซ่แช่งชักกันไปไม่หยุดหย่อน  มีแต่คนอยากพูดแต่ไม่มีคนอยากฟัง”  

เรื่องสั้นชนะเลิศรางวัลพานแว่นฟ้าเรื่องนี้สะท้อนภาพความยุ่งเหยิงของการเมืองไทยหลังเลือกตั้ง พ.ศ.2562 ซึ่งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านยังต่างฝ่ายต่างเล่นคนละเพลง  ไม่ได้ก้าวข้ามความต่างแล้วร่วมใจกันนำพาประเทศให้รอดพ้นหายนะ 

ในขณะที่เรื่อง “โลกที่เราทิ้งไว้ข้างหลัง”  ใช้ภาพของแผ่นดินอื่นที่ไกลตัวสะท้อนภาพแผ่นดินไทย  เรื่อง “ซอยตัน”  ของปาริชาติ  คุ้มรักษา  ใช้ภาพใกล้ตัวของซอยเล็กๆ ในย่านใดย่านหนึ่งเพื่อสะท้อนภาพใหญ่ของสังคมไทย   ซอยตันแห่งนี้เป็นที่อาศัยของชาวบ้านชั้นกลางระดับล่าง  ผู้ใช้ชีวิตเสรีโดยไม่คำนึงถึงกฎหมายหรือกติกาการอยู่ร่วมกันในสังคม  ไม่ว่าจะเป็นการรุกที่ดินว่างเปล่าเข้าไปปลูกต้นไม้  การเลี้ยงสัตว์ระบบเปิด  การตั้งวงเหล้าร้องเพลงเล่นดนตรีและสังสรรค์ด้วยเสียงดังลั่นทุกเมื่อเชื่อวัน ตลอดจนการใช้พื้นที่สาธารณะเป็นแหล่งทำมาหากินและจอดรถ   การละเมิดสิทธิของผู้อื่นนำไปสู่การวิวาทบาดหมางซึ่งบานปลายมากขึ้น  จากความร้าวฉานเป็นความเกลียดชังและการแบ่งฝ่าย   แต่หลังจากผ่านความทุกข์ยากร่วมกันในช่วงน้ำท่วม  ชาวซอยตันกลับมาสมานฉันท์โดยระวังที่จะ “ไม่ก้าวข้ามเส้นที่มองไม่เห็น”  และเปิดใจยอมรับความคิดต่างของเพื่อนร่วมซอย  มองเห็นคุณค่าของการรับรู้  ยอมรับ  แบ่งปันและพึ่งพาอาศัยกัน  ความสุขสงบของชาวซอยตันจึงเกิดจากการให้อภัย  อโหสิ  และเอาใจเขามาใส่ใจเรา   เรื่องราวของซอยตันจบลงด้วยดี  ข้อความเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองที่ผู้เขียนตั้งใจหยอดไว้ตรงนั้นบ้างตรงนี้บ้าง  เป็นสารแห่งความหวังว่าความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยคงจบสิ้นลงด้วยความสมานฉันท์เช่นกัน

เรื่อง “ปลากัดลายธงชาติ” ของอุเทน พรมแดง  เป็นเรื่องสั้นอีกเรื่องหนึ่งที่อ่านได้สองชั้น  สารชั้นแรกเป็นเรื่องของการเพาะเลี้ยงปลากัดลายธงชาติเพื่อสร้างอาชีพ แม้ว่าจะซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่เขาเพาะไว้มาต่อยอด  แต่การเพาะปลากัดลายธงชาติเพื่อขายก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ผู้เขียนให้ความรู้ละเอียดทุกขั้นตอนจนเห็นภาพและเศร้าใจไปกับความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า ความยุ่งยากของการเพาะปลากัดลายธงไตรรงค์มีหลากหลาย  แม้จะผ่านอุปสรรคเรื่องอาหาร  อุณหภูมิของน้ำ ความสะอาดของน้ำ และเชื้อโรค ไปได้แล้ว ก็ยังพบว่าในครอกหนึ่งๆ มีลูกปลากัดลายธงชาติที่พอดูได้เพียงไม่กี่ตัว  นอกนั้นเป็นพวกต้องคัดทิ้ง  ถึงกระนั้น  ปลากัดคัดทิ้งก็ยังไล่กัดกันเองตามสัญชาตญาณจนตายเกือบหมด  โดยไม่รู้ว่าชีวิตเล็กๆ ของมันยังมีสัตว์ร้ายอย่างงู กบ และปลาใหญ่คอยจ้องกินอยู่  สารชั้นแรกนี้นำไปสู่สารชั้นที่สอง  นั่นคือการให้ข้อคิดว่า  การสร้างชาติให้ดำรงอยู่อย่างสง่างาม โดดเด่น  เหมือนปลากัดลายธงชาติที่มีลายและสีสมบูรณ์  ต้องประสบอุปสรรคยากลำบากแสนสาหัส ทั้งจากปัจจัยภายนอกที่คอยบ่อนทำลายและปัจจัยภายในคือประชาชนคนในชาติที่คอยบั่นทอน  ดังที่ผู้เขียนส่งสารเป็นนัยว่า สัญชาตญาณดิบเถื่อนไม่เพียงทำลายชีวิตเพื่อนร่วมชาติแต่ยังทำลายชาติด้วย

เรื่องสั้นทั้งสามเรื่องที่ได้รับรางวัล มีจุดเด่นที่แตกต่างกัน  แต่ก็มีจุดร่วมที่นำเสนอเรื่องความขัดแย้งของคนในชาติ  ไม่ว่าจะเป็นสงครามกลางเมืองในตูนิเซีย  การทะเลาะวิวาทของชาวบ้านในซอยตัน  หรือการกัดกันเอาเป็นเอาตายของปลากัดครอกเดียวกัน ซึ่งล้วนเป็นประเด็นสำคัญที่บั่นทอนความสงบสุขและสันติภาพในชาติของเรา เมื่อไรจะคำนึงว่าเราเล่นดนตรีวงเดียวกันแม้จะต่างชนิด เมื่อไรจะคิดว่าเราคือเพื่อนบ้านในซอยเดียวกัน เมื่อไรจะเห็นว่าเราเป็นคนไทยเหมือนกันและมีชาติเป็นเป้าหมายสูงสุด  คำถามเหล่านี้มีคำตอบอยู่ในใจของทุกคน เพียงแต่จะลงมือทำให้เป็นจริงได้เมื่อไร

เรื่องเล่าของนักเขียนนั้นมีพลังต่อผู้อ่านตั้งแต่สะท้อนภาพให้เห็น  กระตุ้นเตือน จนถึงปลุกจิตสำนึก ตลอด 17 ปีของการจัดประกวดรางวัลพานแว่นฟ้า  วรรณกรรมที่ส่งเข้าประกวดได้สะท้อนภาพทิศทางของการเมืองไทยเป็นระยะ  อย่างเช่นในปีนี้นักเขียนส่วนใหญ่นำเสนอเรื่องการปรองดอง ความสมานฉันท์ การลดละความแตกแยก และการยึดมั่นในความสงบสุขของคนในชาติเป็นเป้าหมายสำคัญ รางวัลพานแว่นฟ้าเป็นเวทีเดียวที่เปิดเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองผ่านวรรณกรรม  จำนวนของเรื่องสั้นและบทกวีที่ส่งเข้าประกวดชิงรางวัลพานแว่นฟ้าเพิ่มขึ้นทุกปี  นับว่าเป็นสัญญะที่บ่งบอกความอัดอั้นในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในสังคมไทยที่ถูกปิดกั้นและตรวจสอบ    ดังนั้น  การที่รัฐสภาจัดการประกวดให้รางวัลแก่วรรณกรรมการเมืองอย่างต่อเนื่อง  จึงเป็นทางออกที่ดีทั้งในเชิงสังคมการเมืองและการสร้างพัฒนาการของวรรณกรรม


เรื่อง: ศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!