เมื่อไม่นานมานี้ ออล แม็กกาซีนได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพนักศึกษาสาขาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร คณะมนุษยศาสตร์และประยุกต์ศิลป์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ดำเนินโครงการโดยอาจารย์ฐนธัช กองทอง ได้เชิญศิษย์เก่ามาร่วมพูดคุยให้ความรู้ในหัวข้อ “ก้าวไปสู่การเป็นนักเขียนมืออาชีพ” แขกรับเชิญในวันนี้คือนักเขียนชื่อดัง “พราวแสงเดือน”
พราว-สุธาทิพย์ ดารา หรือ “พราวแสงเดือน” “เพราพนิต” และอีกหลายนามปากกา เจ้าของผลงานติดอันดับขายดีและเป็นที่รู้จักของแฟนๆ นักอ่าน เช่น ขอโทษที…พระเอกเรื่องนี้เป็นมาเฟีย, รักวุ่นวายของนายรสแซ่บ, Memory ความทรงจำที่ผมหลงรัก, บ่วงรักลิขิตร้าย ฯลฯ เขียนนวนิยายประจำให้สำนักพิมพ์หกแห่ง อาทิ สนพ.Hermit Books สนพ.EverY (ในเครือแจ่มใส) สนพ.Rakkun Publishing สนพ.Nananaris Ybooks และ สนพ.SENSE BOOK) และนวนิยายในรูปแบบอีบุ๊ก (E-Book) อีกหลายเรื่อง
หลังจากทำความรู้จักกันแล้ว อาจารย์ฐนธัชรับหน้าที่เป็นพิธีกร ถาม-ตอบ “พี่พราว” ของน้องๆ ถึง กลเม็ดเคล็ดลับในการเป็นนักเขียน บทสัมภาษณ์สอดแทรกบทเรียน ท่ามกลางบรรยากาศแบบเป็นกันเองระหว่างศิษย์อาจารย์และรุ่นพี่รุ่นน้อง
จุดเริ่มต้นของการเป็นนักเขียน
พราวแสงเดือน: ในสมัยเรียน พราวยังไม่ได้เริ่มต้นเขียนนิยาย มาสนใจงานเขียนจริงๆ หลังจากเรียนจบไปแล้ว ช่วงที่พราวเรียน ยังไม่มีหลักสูตรการสอนวิชาการเขียนนิยายอย่างปัจจุบัน แต่มีวิชาวรรณกรรมและการเขียนสร้างสรรค์ ซึ่งนำมาปรับใช้กับงานเขียนได้ จุดเริ่มต้นของพราวมาจากนักอ่านที่อยากพลิกบทบทบาทมาเป็นนักเขียน พราวอ่านหนังสือทุกวัน และอ่านได้หลากหลายแนวเพื่อสะสมคลังความรู้ จนวันหนึ่งพราวอยากลองเขียนนิยายของตัวเองบ้าง เรื่องแรกที่พราวลงมือเขียนคือเรื่องสั้นเผยแพร่ให้อ่านในเว็บออนไลน์ หลังจากนั้นก็ผลิตผลงานออกมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเขียนได้สี่เล่ม จำนวนทั้งสิ้นกว่า 600 หน้า พราวคาดหวังอยากรวมเล่มผลงานของตัวเองจึงนำ 4 เล่มนี้ไปเสนอสำนักพิมพ์ แต่ไม่ผ่านการพิจารณา
ความล้มเหลววันนั้นสู่นักเขียนมืออาชีพในวันนี้
พราวแสงเดือน: แม้ผลงานที่คาดหวังและตั้งใจจะไม่ได้รับการตีพิมพ์ พราวก็ไม่ท้อ แต่ใช้สี่เล่มนั้นเป็นแรงผลักดันให้พราวรังสรรค์ผลงานชิ้นต่อๆ ไป เราหยุดแค่ตรงนี้ไม่ได้ ต้องเขียนต่อไปเรื่อยๆ เพราะถ้าเราอยากรู้ว่าไปได้สุดแค่ไหน ก็ต้องทำให้เต็มที่ที่สุด พราวยังเขียนนิยายต่อมาเรื่อยๆ เก็บคำติชมที่ได้รับจากคนอ่านมาพัฒนาปรับปรุงงานเขียนจนเริ่มจับสไตล์ของตัวเองได้
เทคนิคการเขียนของ “พราวแสงเดือน”
พราวแสงเดือน: จุดเด่นในนวนิยายของพราวคือพล็อตและเนื้อเรื่อง เทคนิคส่วนตัวของพราวคือการเขียนโดยทิ้งปริศนาในแต่ละตอนไว้ให้คนอ่านได้ลุ้นและติดตามต่อ เทคนิคปมซ้อนปมนี้ พราวเริ่มจับทางได้จากคอมเมนต์ของคนอ่าน จุดนี้คือประโยชน์ที่ได้จากการลงนิยายแบบออนไลน์ เมื่อคนอ่านเดาถูก เราก็ต้องพลิกให้เขาเดาทางไม่ได้ หากนักอ่านสามารถเดาทางได้ง่ายในแต่ละตอน เราก็ผูกปมให้ยากขึ้น ส่วนการเฉลยปมจะเฉลยตอนกลางหรือท้ายเรื่องก็ได้ นิยายแต่ละเรื่องถ้าอยากให้คนติดตามต้องมีฉากพีค คือฉากคลายปมทุกอย่างที่เราวางเอาไว้
การเขียนแบบปมซ้อนปมอาจทำให้เกิดการสับสน การดำเนินไปให้จนจบเรื่องต้องเขียนโครงเรื่องหรือทำทรีทเมนต์เหตุการณ์แต่ละตอนไว้ ว่าในตอนนี้ใครจะทำอะไร ตอนต่อไปใครจะทำอะไร แล้วค่อยมาเติมรายละเอียดทีหลัง เขียนคร่าวๆ เป็นเรื่องย่อของแต่ละบท ย่อยลงมาอีกทีหนึ่งว่าฉากนี้เราใช้สถานที่อะไร ตัวละครไหน
เพิ่มเติม: การทำทรีทเมนต์ (treatment) คือ การเขียนเรื่องย่อแบบขยายความหรือเรื่องย่อแบบละเอียด ว่าตัวละครไหนจะทำอะไรที่ฉากไหน ลำดับเรื่องราวเหตุการณ์ในนิยายตั้งแต่ต้นจนจบ แบ่งแยกย่อยแต่ละตอน แต่ละบท ก่อนมาใส่รายละเอียดเต็มตอนแต่งจริง ประโยชน์ของการทำทรีทเมนต์คือเพื่อเป็นแผนที่นำทางไม่ให้เรื่องออกทะเล ป้องกันความสับสนในกรณีที่ใช้ตัวละครเยอะ ช่วยให้นักเขียนตรวจสอบช่องโหว่หรือความสมเหตุสมผลของตัวละครได้
การสร้างคาแร็กเตอร์ตัวละคร
พราวแสงเดือน: สี่เล่มแรกเราได้รับความคิดเห็นว่าตัวละครไม่เด่น ราบเรียบ สามารถเดาทางได้ง่ายว่าตัวละครจะคิดอะไร ทำอะไร เพราะฉะนั้นเราจึงต้องสร้างคาแร็กเตอร์ที่น่าสนใจขึ้น เช่น ความชอบ ความสามารถพิเศษของตัวละคร คนอ่านบางคนจะเดาล่วงหน้าว่าตัวละครต้องทำแบบนี้ แต่ถ้าเราเขียนไปอีกอย่าง จะทำให้เขาเดาต่อไม่ถูก ซึ่งเป็นการให้คนอ่านได้ลุ้นไปด้วย
อุปสรรคของนักเขียน
พราวแสงเดือน: เกิดอาการการตัน เขียนไม่ออก แต่งต่อไม่ได้ ถือเป็นอุปสรรคใหญ่ของนักเขียนเลยค่ะ ถ้าตันกลางเรื่อง ทำให้ครึ่งเรื่องหลังแต่งต่อไม่ได้ ถ้าเขียนต่อไม่ได้ก็ต้องหยุด บางคนพอตันแล้วพยายามเขียนต่อ ก็เป็นการสร้างความกดดันให้ตัวเอง พราวไม่แนะนำให้ทำ เพราะถ้าใส่ความกดดันลงไปในงานเขียน คนอ่านสามารถรับรู้ได้และเขาจะเริ่มไม่สนุกกับงานของเรา เราเองก็ไม่สนุกกับสิ่งที่เขียนเหมือนกัน วิธีแก้ปัญหาคือควรพักเพื่อหาแรงบันดาลใจ พอได้มาแล้วค่อยกลับมาเขียนต่อ ซึ่งการทำทรีทเมนต์ไว้จะช่วยให้เราสามารถต่อติดได้โดยอัตโนมัติ
นิยามความรักจากนักเขียนนิยายรัก
พราวแสงเดือน: พราวเขียนนิยายรักมาสองแบบ ทั้งความรักแบบชาย-หญิงและความรักแบบชาย-ชาย (นิยายวาย หรือ yaoi คือนิยายชายรักชาย) ซึ่งพล็อตนิยายชาย-หญิงกับวายสามารถใช้ด้วยกันได้ เพราะเป็นความรักที่ไม่จำกัด ไม่ว่าตัวละครเอกจะเป็นชาย-หญิงหรือชาย-ชาย เราสามารถเขียนให้ตัวละครรู้สึกผูกพันกัน มีเหตุการณ์ที่ทำให้ประทับใจซึ่งกันและกันแล้วค่อยๆ พัฒนาเป็นความรัก บางเรื่องสองสามตอนแรกตัวละครก็รักกันแล้ว ตัวละครยังไม่มีความผูกพันกัน ไม่มีเหตุการณ์อะไรที่ทำให้เขารู้สึกว่าเขาจะรักกันได้ มันจะขาดความสมเหตุสมผล
ปัจจุบันนิยายวายกำลังเป็นที่นิยมในนักอ่านรุ่นใหม่ สิ่งที่พราวคิดว่าเป็นประเด็นที่ทำให้นักอ่านสนใจอาจมาจาก “อุปสรรค” สังคมยังไม่ยอมรับหรือครอบครัวไม่ค่อยโอเคกับความสัมพันธ์แบบนี้ ทำให้คนอ่านอยากรู้ว่าตัวละครจะฝ่าฟันอุปสรรคเหล่านั้นไปได้อย่างไร นักอ่านจะได้ลุ้นไปเป็นตอนๆ ว่าตัวละครจะทำยังไงให้คนรอบข้างยอมรับ
วิธีการสร้างตัวตนของนักเขียน
พราวแสงเดือน: พราวเริ่มต้นการเป็นนักเขียนโดยที่ไม่คิดว่าจะมีตัวตนในวงการ แต่เริ่มต้นจากการทำงานที่ตัวเองรัก หลังจากค้นพบสไตล์ของตัวเอง และรู้ว่าผู้อ่านของตัวเองเป็นใคร พราวก็เริ่มสร้างตัวตนจากงานเขียน นักอ่านที่ตามตั้งแต่เล่มแรก เขาจะตามเล่มต่อไปเรื่อยๆ โดยตามจากนามปากกาเป็นหลักค่ะ
นักเขียนแต่ละคนมีวิธีต่างกันไป บางคนสร้างด้วยการลงเว็บออนไลน์สม่ำเสมอ ให้คนเห็นผลงานเขาเรื่อยๆ หรือบางคนก็ขายแบบอีบุ๊ก หรือส่ง สนพ. แต่ละคนชอบทางไหน ก็จะไปสุดในทางนั้น ปัจจุบันเราเข้าถึงนักเขียนได้ง่ายเพราะมีเว็บออนไลน์เพิ่มขึ้น เมื่อก่อนจะมีแค่หนึ่งถึงสองเว็บและจำกัดแนวในการลง แต่ตอนนี้นักเขียนสามารถลงได้หมดทุกแนว นักเขียนถนัดแนวไหนก็สามารถลงได้หมด
คำว่านักเขียนไส้แห้งนั้นไม่จริง
พราวแสงเดือน: ไม่มีแล้วค่ะ แรกเริ่มพราวเขียนนิยายเป็นงานอดิเรกควบคู่ไปกับการทำงานประจำ ตอนนี้กลายเป็นการเขียนนิยายเป็นอาชีพหลักอย่างเดียว อาชีพนักเขียนนั้นสิ่งสำคัญคือการมีวินัย เขียนและลงงานอย่างสม่ำเสมอ เราต้องสร้างวินัยของเราเอง เพราะเราไม่มีเวลาทำงานตายตัวเหมือนการทำงานบริษัท
วันหนึ่งเรามีเวลาเขียนกี่ชั่วโมง ก็ต้องเขียนให้ได้มากที่สุด วันไหนหยุดเขียนไปแล้วกลับมาต่อไม่ติด ถ้าทำทรีทเมนต์ไว้ก็จะไม่มีปัญหา เพราะรู้แล้วว่าเรื่องย่อของตอนนี้จะเป็นยังไง เราก็ใส่รายละเอียด อย่างตัวพราวเองจะเริ่มเขียนตอนบ่ายไปจนถึงตอนกลางคืนเลย
แรงใจเพิ่มเติมจากอาจารย์
อาจารย์ฐนธัช: มีปรัชญาการเขียนอย่างหนึ่งว่า “เราเป็นหนึ่งในความหลากหลายและในความหลากหลายนั้นมีเราเป็นหนึ่ง” หมายความว่าในนวนิยายที่มีหลากหลายแนว เราเป็นหนึ่งในความหลากหลายนั้น และในความหลากหลายนั้นมีเราเป็นหนึ่ง นวนิยายประเภทเดียวกัน เราก็จะมีสไตล์ที่ไม่เหมือนคนอื่นเขา สมมติว่าถ้าสนใจเขียนเรื่องรัก พี่พราวก็จะมีมุมมองของชีวิตและสไตล์การเขียนของตัวเอง เราต้องค้นหาตรงนั้นให้ได้
สิ่งที่อยากแนะนำทุกคนคือ พยายามเขียนอย่างต่อเนื่องเพื่อทำให้ผลงานเราเตะตา และที่สำคัญคืออย่าท้อ สิ่งที่อาจินต์ ปัญจพรรค์เคยพูดว่า “ตะกร้าสร้างนักเขียน” ยังใช้ได้อยู่ บางคนที่คิดว่าเขียนแล้วไม่มีคนอ่าน ไม่มีคนสนใจ ฉันทำแล้วท้อก็ไม่ใช่ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ นักประพันธ์ใหญ่ของโลกเคยกล่าวว่า “งานเขียนเป็นแรงงานแห่งความรัก” เราทำงานด้วยความรัก เป็นแรงงานที่เราทุ่มเทไปเพื่อแลกกับความรักในงานนั้น เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัวเหนื่อย กลัวท้อ ไม่ต้องกลัวอะไรทั้งสิ้น ครูมาให้พลังใจและอยากเห็นพวกเราประสบความสำเร็จ แล้วครูก็เชื่อมั่นว่าถ้าพวกเรามุ่งมั่น พวกเราจะผ่านได้ ยอมก้าวข้ามความกลัวไปได้ อย่าคิดว่าฉันเขียนแล้วไม่มีคนอ่าน อย่างน้อยเรียนกับครู ครูก็อ่านแล้วคนหนึ่ง
อาจารย์ฐนธัชได้กล่าวปิดท้ายทำให้บรรยากาศในห้องจบลงด้วยเสียงหัวเราะและรอยยิ้ม ประสบการณ์ที่ได้จากรุ่นพี่และบทเรียนเสริมจากอาจารย์ ทำให้ออลฯ เชื่อว่าชั่วโมงพูดคุยนี้คงสามารถเสริมสร้างแรงใจให้นักศึกษาเอกภาษาไทยได้มีพลังในสร้างสรรค์ผลงานนิยายเป็นของตัวเองต่อไปอย่างแน่นอน
ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก : ฐนธัช กองทอง และแฟนเพจ “พราวเแสงเดือน”
ติดตามผลงานนักเขียน “พราวแสงเดือน” ได้ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ พราวแสงเดือน (@PhrawSaengDeun)