หลายคนคงเคยได้ยินชื่อของสองพระสงฆ์นักพัฒนาแห่งวัดพระบรมธาตุดอยผาส้มมาไม่มากก็น้อย พระอาจารย์โต้ง – พระสรยุทธ ชยปัญโญ เจ้าอาวาส และพระอาจารย์สังคม ธนปัญโญ รองเจ้าอาวาส สองผู้ริเริ่มโครงการเพื่อพัฒนาความมั่นคงและยั่งยืนมาสู่ชุมชนใกล้บริเวณวัด อย่างชุมชนบ้านอมลอง ตำบลยั้งเมิน อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยผู้ที่มาให้สัมภาษณ์ในบุคคล (ไม่) ธรรมดา ฉบับนี้คือพระอาจารย์สังคม ธนปัญโญ นั่นเอง

ประวัติของพระอาจารย์สังคม ธนปัญโญ
ครั้งยังเป็นฆราวาส ท่านจบการศึกษา มศ.3 ที่โรงเรียนรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ ปวส. ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์ ระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และระดับปริญญาโท สาขาบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยราชธานี หลังจบจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ท่านได้มีโอกาสไปเรียนต่อทางช่างภาพหนังสือพิมพ์ที่สหรัฐอเมริกา มีประสบการณ์ทั้งเรียนและทำงานในต่างประเทศถึง 10 ปี ก่อนมาบวชท่านได้เป็นหนึ่งในช่างภาพเฉพาะกิจของประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา จอร์จ ดับเบิลยู. บุช เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการรัฐเท็กซัส พระอาจารย์สังคม ธนปัญโญ บรรพชาอุปสมบท ณ วัดพุทธรัตนาราม เมืองเคลเลอร์ รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา โดยมีเจ้าคุณนิเทศศาสนคุณ เจ้าอาวาสวัดพุทธบูชา เมืองแซนอันโตนิโอ เป็นอุปัชฌาย์ ภายหลังกลับมาจำพรรษาและบวชใหม่ ณ วัดป่าบ้านค้อ จังหวัดอุดรธานี
เหตุใดพระอาจารย์โต้งและพระอาจารย์สังคม จึงมาจำวัดที่วัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม
เมื่อก่อนพวกเราทั้งสองก็อยู่วัดป่าบ้านค้อ จังหวัดอุดรธานี อบรมเด็กและเยาวชนอยู่กับหลวงพ่อทูล ขิปปปัญโญ ท่านกล่าวว่าเมื่อพระอายุพรรษาเยอะๆ แล้ว ไม่ควรจะอยู่กับครูบาอาจารย์นาน ท่านจึงให้พวกเราออกจากวัดป่าบ้านค้อ มาธุดงค์ภาวนาอยู่ที่ดอยผาส้ม ในตอนแรกนั้นพระอาจารย์โต้ง เดินทางมาก่อน และได้หลงทางอยู่บนยอดดอยหาทางลงไม่เจอ ท่านจึงอธิษฐานจิตว่าถ้าหากลงจากดอยนี้ได้ จะกลับมาบูรณะปฏิสังขรณ์ ไม่อยากให้คนอื่นมาหลงทางอย่างท่าน ทั้งบนยอดดอยผาส้มยังมีพระธาตุเก่าแก่ของหลวงปู่ที่สร้างทางขึ้นดอยสุเทพคือครูบาศรีวิชัยผู้โด่งดังอีกด้วย จึงเป็นปฐมเหตุของการเข้ามาจำพรรษาอยู่ที่วัดพระบรมธาตุดอยผาส้มแห่งนี้

การเข้ามาพัฒนาชุมชนเริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร
จุดเริ่มต้นเกิดจากในตอนแรกที่มาอยู่ที่นี่ พวกเราได้รับความช่วยเหลือเกื้อกูลจากชุมชนก่อน พวกเราเป็นพระต่างถิ่น มาอยู่หัวเดียวกระเทียมลีบ ทว่าชาวบ้านก็ยังเมตตาดูแลพวกเราใส่บาตรให้ฉัน ดูแลยามเจ็บไข้ได้ป่วยและช่วยเหลือพัฒนาวัดร้างจนมีเสนาสนะอยู่อาศัยได้ สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดความสำนึกบุญคุณและอยากตอบแทน เมื่อมาอยู่ได้ระยะหนึ่งพวกเรารับรู้ถึงปัญหาที่ชาวบ้านต้องเผชิญ คือปัญหาหนี้สินเนื่องจากระบบเศรษฐกิจที่เริ่มเข้าสู่ยุควัตถุนิยม ชาวบ้านถูกโฆษณาชวนเชื่อให้ปลูกผลผลิตเพื่อขายให้แก่บริษัทต่างๆ เช่น ปลูกข้าวโพด ปลูกสตรอว์เบอร์รี่ ปลูกมะเขือม่วง การปลูกเพื่อขายแบบนี้ต้องเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ไม่ใช่เป็นการปลูกแบบผสมผสาน อีกทั้งยังเกิดภัยธรรมชาติ ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล อันเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้ชาวบ้านขาดทุน ต้องกู้หนี้ยืมสินมาซื้อปุ๋ย ผลผลิตที่ขายได้ก็นำเงินมาใช้หนี้จนหมด แล้วไหนจะต้องส่งลูกไปเรียนหนังสือในเมือง ทั้งหมดนี้ทำให้พระสงฆ์ทั้งสองรูประดมความคิดกันว่าจะช่วยเหลือชุมชนเหล่านี้ให้มีชีวิตชีวา ให้หมดหนี้สินได้อย่างไร จึงคิดหาวิธีการจากศาสตร์ที่ร่ำเรียนมาว่ามีอะไรบ้างที่พอจะช่วยเหลือชาวบ้านได้ จนเกิดเป็นการพัฒนาชุมชนให้มั่นคงและยั่งยืนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
ภูมิประเทศของดอยผาส้มเป็นอย่างไรบ้าง เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาชุมชนมากน้อยแค่ไหน
ภูมิประเทศที่นี่เป็นป่าแล้ง ไฟไหม้ทุกปีจนทำให้ป่าไม่เคยได้ฟื้นความอุดมสมบูรณ์ ต้นเหตุของความแล้งคือการปล่อยให้ไฟไหม้ป่า วิธีการแก้ปัญหาป้องกันไฟแล้งก็คือเราต้องดับไฟป่าก่อน พอดับไฟป่าแล้ว เราก็สร้างฝายชะลอน้ำ เท่านั้นยังไม่พอเราพยายามที่จะปลูกป่าเสริมขึ้นอีก ทำทุกวิถีทาง พอไฟไม่มาเข้าสู่ปีที่สอง ปีที่สามความชุ่มชื้นก็เกิดขึ้น ป่าเริ่มฟื้นคืนชีวิต ดังที่เราทำ โครงการคืนผืนป่าสู่แผ่นดิน คืนพื้นป่าที่อุดมสมบูรณ์สู่แผ่นดินของเรา เราศึกษาตามแนวทางของในหลวง รัชกาลที่ 9 จนเข้าใจถึงคำคำหนึ่งว่า “ปลูกป่าในใจคน” ทำให้ชาวบ้านเกิดความรักต่อป่า แต่ก่อนพวกเขาไม่เชื่อและปล่อยให้ไฟไหม้ ไม่หาแนวทางป้องกันเพราะคิดว่ามันเป็นไปตามธรรมชาติ แต่พระอาจารย์ศึกษามาแล้วว่าเป็นความเชื่อที่ผิด จึงช่วยกันรณรงค์และพิสูจน์ให้ชาวบ้านเห็นว่าหากไม่เกิดไฟไหม้ ป่าจะอุดมสมบูรณ์ขึ้น ใช้เวลาหลายปีกว่าชาวบ้านจะยอมรับและให้ความร่วมมือ จนตอนนี้สามารถทำให้หลายๆ ชุมชนหันมาป้องกันไฟป่ากันอย่างจริงจัง

เศรษฐกิจ จิตใจ ต้องแก้ไขพร้อมกัน
ตอนนั้นเราได้อ่านเจอคำสอนของครูบาอาจารย์ท่านหนึ่ง ท่านเป็นนักพัฒนาตัวอย่างคือหลวงปู่จันทร์ กุสโล (พระพุทธพจนวราภรณ์) อดีตเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ท่านเขียนไว้เลยว่าการพัฒนานั้น เศรษฐกิจ จิตใจ ต้องแก้ไขพร้อมกัน จิตใจของชุมชนไม่ดี เสียกำลังใจ เราก็ต้องอบรมบ่มเพาะให้ชาวบ้านรู้ถึงกฎของธรรมชาติว่ามันไม่เที่ยง อย่าไปยึดมั่น ถือมั่น และต้องมีปัญญา มีความระมัดระวัง ทำอะไรก็ทำให้รอบคอบ มีธรรมะ มีจิตใจที่เข้มแข็ง โดยมีหลักการคือ
1. ต้องไม่ดื่มเหล้า
2. ไม่สูบบุหรี่
3. ไม่เล่นการพนัน
4. ขยันทำมาหากิน
และสุดท้าย ข้อ 5. ต้องทำบัญชีครัวเรือน
เรายื่นข้อเสนอกับชุมชนเลยว่าถ้าจะให้พระอาจารย์ช่วย ต้องมาทำ 5 ข้อนี้ นี่คือด้านจิตใจต้องให้รู้ธรรมะ โดยอาศัยการพัฒนาแบบองค์รวม ก็คือให้ บ้าน วัด โรงเรียน (บวร) รู้รักสามัคคีกัน สิ่งเหล่านี้เราอ่าน ศึกษา และพยายามเจริญรอยตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
นอกจากการพัฒนาตามแนวพระราชดำริดังกล่าว ยังมีการพัฒนาอะไรบ้างในลำดับต่อมา
พัฒนาอย่างที่หนึ่งคือเรื่องสิ่งแวดล้อม ต่อมาเราก็ทำเรื่องเศรษฐกิจ เรานำศาสตร์ของพระราชามาใช้เป็นสำคัญ คือต้องปลูกให้พอกิน ปลูกให้พออยู่ ปลูกให้พอใช้ แล้วมันก็จะได้รับความร่มเย็นเอง (แนวคิดป่า 3 อย่าง ให้ประโยชน์ 4 อย่างตามแนวทางพระราชดำริ) หลังจากนั้นเรื่องที่สามที่เราทำคือเรื่องของพลังงานทดแทน เช่น ไบโอดีเซล ให้เอาน้ำมันเก่ามาแลกสบู่ แชมพู พลังงานน้ำจากฝายชะลอน้ำ พลังงานโซล่าร์เซลล์ พลังงานแดด เอาไม้ล้มหมอนนอนไพรมาเป็นฟืนเผาถ่าน ได้น้ำส้มควันไม้ ได้ขี้เถ้ามาทำน้ำด่าง แชมพู สบู่ ขี้เถ้าทิ้งลงไปในดินก็เป็นดิน และเรื่องสุดท้ายที่เราพัฒนาคือการศึกษาทางเลือกที่สอนให้ลูกหลานของเราพึ่งพาตนเองได้ หลังจากเขาเรียนจบ หรือแม้กำลังเรียนอยู่ก็สามารถพึ่งพาตนเองและหารายได้ไปด้วย

การศึกษาคือสิ่งที่จะทำให้การพัฒนาที่กล่าวมาทั้งหมดยั่งยืน พระอาจารย์ได้ผลักดันด้านการศึกษาในชุมชนอย่างไรบ้าง
ทั้งหมดที่พูดมาจะเกิดการส่งต่อถึงลูกหลานไม่ได้ หากชาวบ้านขาดการศึกษา สิ่งเหล่านี้จะไม่ได้รับการต่อยอด เพราะค่านิยมของชาวบ้านคือการส่งลูกหลานเข้าไปเรียนในเมือง โดยมีสาระหลักสูตรการศึกษาไม่เกื้อกูลต่อสังคมและชุมชนที่อาศัยอยู่เลย ไม่ได้ตระหนักรู้ว่าชุมชนเราต้องการอะไร เหตุเหล่านี้จึงก่อให้เกิดการศึกษาทางเลือก ที่พระอาจารย์โต้งและพระอาจารย์สังคมก่อตั้งขึ้นคือ “ดอยผาส้มโฮมสคูล” ให้ลูกหลานเยาวชนได้เข้าเรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เรียนวิชาที่จะได้ใช้ในพื้นที่ในชุมชนของเขา เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติตามเศรษฐกิจพอเพียงที่พ่อหลวงทรงสอนในเรื่องของการพึ่งพาตัวเองให้ได้ นี่คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดอยผาส้มโฮมสกูลโด่งดังมาก ตอนนี้เราจึงเปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 และร่วมมือกับสถาบันอาศรมศิลป์ ให้ลูกหลานของเราได้เรียนจนถึงปริญญาตรี ปริญญาโทเลย
ตั้งแต่เริ่มทำโครงการจนถึงวันนี้ผ่านมากี่ปีแล้ว ความสำเร็จครั้งแรกที่เกิดขึ้นเห็นผลตั้งแต่ปีไหน
เริ่มทำโครงการมาจนถึงวันนี้ก็ 11 ปีแล้ว ตั้งแต่ พ.ศ.2549 พอเริ่มทำก็เห็นผลเลย อย่างเช่น ฝายชะลอน้ำ พอฝนตกก็เริ่มเห็นน้ำปริ่มๆ แล้วก็ล้นให้เราเห็น มีน้ำไปเรื่อยๆ ทุกปีๆ จนเดี๋ยวนี้กลายเป็นลำห้วยที่มีน้ำเยอะมาก หลังจากนั้นเราก็ค่อยๆ บอกให้ชาวบ้านลด ละ เลิกการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลง พอลดแล้วเราก็ทำปุ๋ยเอง ทำน้ำยาเอนกประสงค์ ทำแชมพู สบู่เอง เราต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด เมื่อชาวบ้านมีกิน มีใช้ มีอยู่แล้ว สิ่งไหนที่ปลูกแล้วกินไม่หมด พวกเขาก็จะนำไปแปรรูป แจกจ่ายไปทำบุญ หรือนำไปขาย เริ่มทำเป็นเครือข่ายแล้วขายร่วมกัน รวมตัวกันคล้ายกับสหกรณ์ชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการ ทำให้ค่อยๆ ปลดเปลื้องหนี้สินกันทีละน้อย จนวันนี้ชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่หมดหนี้สินกันหลายครอบครัว
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปมีอะไรบ้าง
กาแฟ ข้าวโปโละ (ข้าวกล้องดอย) ข้าวประจำถิ่น ข้าวกล้องงอก ฟ้าทลายโจร มะรุมอัดเม็ด น้ำยาอเนกประสงค์ แชมพู สบู่ น้ำมันเขียว กระเทียมอินทรีย์ อีกทั้งยังมีสมุนไพรต่างๆ มากมาย ส่งเข้ามาขายผลิตภัณฑ์เหล่านี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะได้รับบูรณาการตั้งแต่เริ่มแรก เนื่องจากมีน้ำอุดมสมบูรณ์ พอมีน้ำก็มีชีวิต สามารถปลูกทุกอย่างได้ ควบคุมการใช้สารเคมีได้ เป็นกลุ่มเกษตรอินทรีย์ที่มีชื่อเสียงและได้รับความเชื่อถือจากลูกค้ามากขึ้น

ปัจจุบันวัดพระบรมธาตุดอยผาส้มมีพระนักพัฒนาทั้งหมดกี่รูป
4 รูปครับ คือมีเจ้าอาวาสพระสรยุทธ ชยปัญโญ หรือพระอาจารย์โต้ง (ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระครูสุพรหมธรรมาภิวัฒน์) พระสังคม ธนปัญโญ หรือพระอาจารย์สังคม พระวีระยุทธ์ อภิวีโร หรือครูบาจ๊อก และครูบาเซเอ พระทั้งสองรูปหลังนี้ ครั้งยังเป็นฆราวาสเคยเป็นลูกศิษย์ของพระอาจารย์โต้งและพระอาจารย์สังคมมาก่อน ทั้งสองท่านได้เห็นแนวทางในการพัฒนาชุมชน ก็เกิดความศรัทธาและตัดสินใจบวชในพระพุทธศาสนาเพื่อที่จะช่วยงานกันอย่างเต็มที่ แต่ปัจจุบัน ณ วัดพระบรมธาตุดอยผาส้มมีพระประจำวัดอยู่เพียง 3 รูป เนื่องจากพระอาจารย์สังคมได้ย้ายมาช่วยงานอาจารย์ยักษ์ (ดร.วิวัฒน์ ศัลยกําธร ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ตำบลหนองบอนแดง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน
อยากให้เล่าถึงความร่วมมือกันทำงานระหว่างวัดพระบรมธาตุดอยผาส้มกับศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง
อาจารย์ยักษ์ ประธานศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ท่านได้เห็นการพัฒนาของดอยผาส้มเป็นไปอย่างรวดเร็วก็ชื่นชมและขึ้นมานิมนต์พระอาจารย์สังคมที่ดอยผาส้มถึง 5 ครั้งให้ลงไปช่วยพัฒนาศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง พระอาจารย์สังคมจึงตัดสินใจรับนิมนต์ท่านอาจารย์ยักษ์ กราบลาเพื่อนหมู่คณะ และลงมาช่วยพัฒนาศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้องโดยใช้หลักบวร บ้าน วัด โรงเรียน บ้านคือชุมชนกสิกรรมวิถีและศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง วัดคือศูนย์ปฏิบัติธรรมมาบเอื้องเพื่อเศรษฐกิจพอเพียง และโรงเรียนคือโรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัย มาบเอื้อง โดยนำแนวทางและวิถีปฏิบัติของดอยผาส้มโฮมสคูลมาเป็นโมเดลตัวอย่างในการก่อตั้งโรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัยมาบเอื้อง

ก้าวต่อไปในอนาคตที่พระอาจารย์ตั้งใจจะทำให้เกิดขึ้นคืออะไรบ้าง
พัฒนาด้านการศึกษาทางเลือกโดยใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวทางพระราชดำริ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้มากที่สุด พระอาจารย์ตั้งใจไว้ว่าเราจะมีดอยผาส้มยูนิเวอร์ซิตี้ของเราเอง สร้างโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทางเลือกตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงปริญญาเอก เน้นการศึกษาจากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน จุดประสงค์คือการสร้างคน สร้างเด็กและเยาวชนให้เป็นคนที่มีภูมิปัญญามั่นคงและเข้มแข็ง ไม่ให้หลงใหลไปกับวัตถุนิยม นี่คือความฝันที่อยากทำมากที่สุด และอยากเห็นสถาบันการศึกษาที่เราสร้างกระจายไปทั่วประเทศหรือทั่วโลกให้ได้
สุดท้ายนี้อยากให้พระอาจารย์สังคมช่วยฝากหลักธรรมในการดำเนินชีวิตถึงผู้อ่านออล แม็กกาซีน
หลักธรรมที่สำคัญในการดำเนินชีวิต ข้อแรกเราต้องรู้จักตัวเอง มีปัญญาพอที่จะรู้ว่า ‘เราเกิดมาทำไม เกิดมาเพื่ออะไร’ เมื่อรู้ว่าเราเกิดมาเพื่อทำชีวิตให้แจ้ง ให้พ้นทุกข์ ก็จะหาทางเอาตัวรอดด้วยการไม่ทำกรรมชั่ว ทำแต่กรรมดี ทำจิตใจให้สว่างไสว ต่อมาต้องเรียนรู้ธรรมะ ศึกษาให้รู้และปฏิบัติด้วยทาน ศีล ภาวนา ที่สำคัญต้องรู้จักพอ อยู่บนความพอเพียง แล้วค่อย ๆ ดำเนินชีวิตไปอย่างไม่ประมาท “มองตัวเองให้ออก บอกตัวเองให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น” ดังที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์สอนมาตลอดว่าให้ใช้ปัญญาพิจารณาสรรพสิ่งทั้งหลายอย่างมีเหตุและผล
“ความขาดแคลนไม่เป็นปัญหา ถ้ามีปัญญาและความอดทน” คติธรรมนี้ยังดังก้องอยู่ในหัวใจของพระนักพัฒนาอย่างพระอาจารย์สังคมอยู่เสมอ

ศูนย์การเรียนรู้เชิงปฏิบัติการเศรษฐกิจพอเพียง วัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม
บ้านอมลอง ต.ยั้งเมิน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ 50250
เฟซบุ๊ก : @doiphasom
เว็บไซต์ : http://www.watdoiphasom.com
เบอร์โทรศัพท์ : 08 9574 2528 (พระอาจารย์สังคม ธนปัญโญ)