ครูคือบุคคลผู้เสียสละ ทุ่มเทแรงกายแรงใจอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ โดยไม่เคยหวังสิ่งตอบแทนใดๆ จะมีก็เพียงปรารถนาให้ศิษย์สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตได้ บุคคล (ไม่) ธรรมดา ฉบับนี้ ขอพาทุกคนไปรู้จักกับ พยุงศิลป์ เปศรี อาจารย์ประจำสาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ครูจิตอาสาผู้สละเวลาส่วนตัว นอกเหนือเวลางานที่มหาวิทยาลัย เข้าไปเป็นอาจารย์พิเศษช่วยสอนวิชาตัดเย็บเครื่องหนังให้แก่เด็กที่โรงเรียนศรีสังวาลย์ขอนแก่น ซึ่งเป็นโรงเรียนสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกาย
ประวัติคร่าวๆ ของอาจารย์พยุงศิลป์
ผมเข้าทำงานที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นเมื่อปี พ.ศ.2524 แรกเริ่มเป็นนายช่างศิลป์ 2 ก่อน หลังจากนั้นได้ไปเรียนต่อที่โรงเรียนเวชนิทัศน์พัฒนา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล หรือที่เรียกกันว่าโรงเรียนช่างภาพการแพทย์ คือไปเรียนการทำงานกับคุณหมอ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างภาพประกอบด้วยการถ่ายภาพ เขียนภาพ หรือการทำสื่อประชาสัมพันธ์ทางทีวีต่างๆ ไปเรียนสื่อการสนับสนุนทางการแพทย์ เรียนจบประมาณปี พ.ศ.2528-2529 และได้กลับมาทำงานเป็นช่างภาพการแพทย์ มีหน้าที่ทำสไลด์ ตั้งห้องสไลด์ สนับสนุนแพ็กเกจทางการแพทย์ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2537 ผมได้เป็นคณะกรรมการก่อตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พอก่อตั้งเสร็จก็ไม่มีใครดูแลสาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ จึงได้รับการทาบทามมาเป็นอาจารย์สอนที่คณะ และได้มาเป็นหัวหน้าภาควิชาตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน
จุดเริ่มต้นของการเข้าไปเป็นครูจิตอาสาสอนวิชาตัดเย็บเครื่องหนัง
ธรรมชาติของการสอนศิลปะ เป็นวิชาที่เราต้องเข้าไปคลุกคลีอยู่กับเด็กอยู่แล้ว เพราะการเรียนศิลปะต้องใช้การเรียนแบบตัวต่อตัว เพื่อทำให้เด็กมีความเข้าใจ มีความรู้ กว่าเด็กจะรู้ได้ ก็ต้องใช้อาศัยความใกล้ชิดจากครู จากการที่ผมสนิทกับนักศึกษานี้เอง ทำให้ได้รับหน้าที่เป็นนักกิจกรรมด้านกิจกรรมนักศึกษา พูดง่ายๆ คือทุกกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยผมเป็นคนดูแลทั้งหมด ทีนี้ครูนาวิน โพละลัย ซึ่งสอนประจำที่โรงเรียนศรีสังวาลย์ และเป็นลูกศิษย์ที่จบจากคณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น พอมีกิจกรรมอะไร เขาก็จะชวนไปทำ ไม่ว่าจะเป็นการทำกิจกรรมศิลปะประเภทการปั้นหรือการหล่อ พอโรงเรียนขาดบุคลากรที่จะเข้าไปให้ความรู้ด้านเครื่องหนัง เราก็เลยได้เข้าไปช่วย
ทำไมจึงสอนวิชาตัดเย็บเครื่องหนัง
นักศึกษาเห็นกันทั้งมหาวิทยาลัยว่าผมเป็นคนที่ทำกระเป๋าใช้เอง และทางโรงเรียนศรีสังวาลย์จะมีเครื่องหนัง เศษหนัง ที่ได้รับบริจาคมา แต่ไม่สามารถที่นำมาประกอบใช้เองได้เพราะขาดครูพิเศษที่จะสอนวิชานี้ ครูนาวินที่ทำงานที่นั่นจึงคิดถึงผม และติดต่อให้ไปช่วยสอน ซึ่งผมก็ยินดี
อาจารย์มาสอนที่โรงเรียนศรีสังวาลย์มากี่ปีแล้วคะ
สอนมา 1 ปีแล้ว ได้มีโอกาสเข้าไปช่วยก่อนเกษียณ แต่พอเกษียณก็ยังบอกกับตัวเองและลูกศิษย์ที่โรงเรียนศรีสังวาลย์ว่า ครูก็ยังมีเวลาอยู่นะ ถ้าพวกคุณอยากให้เข้าไปช่วยสอน ครูก็ยินดี ซึ่งจนถึงตอนนี้แม้จะเกษียณอายุแล้ว ผมก็ยังคงเข้าไปช่วยสอนอยู่
โรงเรียนศรีสังวาลย์ขอนแก่น มีนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอะไร แล้วมีความบกพร่องด้านใดบ้าง
โรงเรียนศรีสังวาลย์ขอนแก่นจะมีทั้งนักเรียนออทิสติก รวมทั้งนักเรียนที่บกพร่องทางกายภาพ จัดการศึกษาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ส่วนที่ลงเรียนวิชาตัดเย็บเครื่องหนังจะเป็นนักเรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกายครับ
วิชานี้สามารถเลือกเรียนเองได้ใช่ไหม หรือเป็นวิชาที่ทุกคนต้องลงเรียน
เลือกเรียนได้ ที่โรงเรียนศรีสังวาลย์ก็มีการเรียนแบบหลักสูตรพื้นฐานนะ เรียนวิทยาศาสตร์ เรียนคณิตศาสตร์ แต่วิชาศิลปะจะไม่บังคับแบบนั้น เรียนเพื่อที่จะให้ความสนุก เพื่อทดสอบทักษะเขา ใครชอบ เขาก็จะอยู่ ใครไม่ชอบเขาก็จะหมุนล้อไปที่อื่นต่อ ถ้าสนใจเรื่องไหนเราก็จะจัดกิจกรรมให้ มีอีกหลากหลายกิจกรรมให้เลือก เพราะเด็กจะกิน จะนอน และจะเรียนอยู่ที่นั่นเลย กิจกรรมตรงนี้คือกิจกรรมเสริมที่ใครก็สามารถมาลงได้ ว่างแล้วก็มาช่วยกัน ใครทำอะไรไปถึงไหนแล้ว กระเป๋าใบนี้ทำกันกี่วัน หรือกระเป๋าใบนี้ใครทำและจะใช้เวลากี่วันเสร็จ เพราะเราแนะนำวิธีออกแบบแพทเทิร์นให้เขา เขาก็เริ่มตอก เริ่มเย็บกัน แล้วก็มีอาจารย์ผู้ดูแลคอยช่วยดูอยู่ใกล้ๆ
ความยากง่ายในการสอน ต่างจากการสอนนักเรียนปกติหรือไม่
ส่วนหนึ่งของร่างกายที่ไม่เหมือนพวกเรา ทำให้ได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยพบจากการสอนเด็กในชั้นเรียนปกติ คือพวกเขาจะช่วยกันตอก ช่วยกันจับ ช่วยกันดึง ช่วยเหลือพึ่งพากันและกัน โดยที่พวกเขาจะบูรณาการกันเอง คนนี้มาช่วยด้านนั้น คนนั้นมาช่วยด้านนี้ หรือใครทำสิ่งไหนได้จะเข้ามาช่วย ผมมองเห็นว่าสิ่งนั้นมันจะพัฒนาตัวของพวกเขาได้อย่างสมบูรณ์ อย่างน้อยประสบการณ์นี้จะทำให้เขาได้เรียนรู้และเข้าใจการทำงานร่วมกับผู้อื่น
เมื่อผมเป็นครู ผมก็เป็นครูทั้งชีวิต นักเรียนจะไม่รับก็ไม่เป็นไร
แต่ถ้าได้มีโอกาสสอนใคร ผมก็สอนอย่างเต็มที่
ส่วนใหญ่นักเรียนจะทำผลงานออกมาแนวไหน
ก็เป็นกระเป๋าง่ายๆ กระเป๋าหนังสำหรับถือขนาดเล็กๆ ใช้เชือกมาหมุนกัน สามารถนำมาใส่ของได้ ใส่มือถือได้ ใส่กระเป๋าสตางค์ได้ แต่ตอนนี้มีการพัฒนามากยิ่งขึ้นคือมีทำเป็นกระเป๋าสะพาย กระเป๋าหิ้วแล้ว แรกเริ่มผมจะเข้าไปสอนทำกระเป๋าเล็กๆ แล้วค่อยมาต่อยอดว่าจะทำเป็นของที่ระลึกในรูปแบบใด เข้าไปช่วยสร้างแพทเทิร์นให้เขา แล้วให้ทำตามแพทเทิร์นที่วางไว้ ในอนาคตเมื่อเขาเชี่ยวชาญ จะสามารถออกแบบเองได้ หรือนำความรู้พื้นฐานนี้ไปต่อยอดเรียนต่อทางด้านการออกแบบเพิ่มเติม
ผลงานที่ออกมา ส่วนมากนักเรียนเอาไปใช้เองหรือนำไปจำหน่ายต่อ
ใช้เองครับ แต่ก็มีคนมาสั่งทำนะ มีการส่งเสริมให้ทำเป็นของที่ระลึกสำหรับงานแต่งงาน แต่เกรงว่าถ้าสั่งเป็นร้อยหรือเป็นพัน น้องๆ เขาก็คงทำไม่ไหวหรอก
ในอนาคตอาจารย์คาดหวังไหมว่า นักเรียนจะนำวิชานี้ไปประกอบวิชาชีพได้
ตอนนี้ยังคงไม่หวังอะไร ขอแค่ให้เขาใช้ทักษะพัฒนาส่วนที่เขายังคงขาดอยู่ เพราะยิ่งฝึกฝนมากก็จะยิ่งเกิดความเชี่ยวชาญมากยิ่งขึ้น ส่วนที่เขาขาดหายก็จะได้รับการเติมเต็ม อย่างที่เคยบอกว่า ศิลปะคือเครื่องมือพัฒนามนุษย์ ศาสตร์ของศิลปะจะเป็นตัวให้เขาพัฒนาทั้งความคิด ทดสอบทักษะความจำ กล้ามเนื้อมือ ฝึกสมอง เป็นเรื่องฝึกความสมบูรณ์ของมนุษย์ ศิลปะยังช่วยพัฒนาจิตใจ สร้างความภาคภูมิใจให้แก่เขา ส่วนตัวผมไม่ได้คาดหวังที่จะให้นักเรียนประกอบเป็นอาชีพ เพียงแค่อยากให้เขาเข้าใจศิลปะ นำไปใช้กับชีวิต และรู้สึกกับมันได้ เพราะศิลปะสอนให้เรารู้สึก ผมอยากให้เขามองในแง่ดีมากกว่าแง่ลบ อยากสอนให้เขามองโลกอย่างยิ้มแย้มครับ
ศิลปะต้องอาศัยความมานะ ถ้าหากเขามีความเพียร มีความพยายามในการเรียนรู้ ศิลปะก็จะช่วยพัฒนาเขา
ทำไมถึงเลือกมาเป็นครูจิตอาสาที่ไม่ได้รับค่าตอบแทน ทั้งๆ ที่สามารถสอนพิเศษหารายได้เสริมได้
ผมเป็นครู มีเงินเดือน และไม่ได้หวังให้ตัวเองร่ำรวยกว่านี้ ไม่ได้ต้องการเงินทองอะไร ขอเพียงนักเรียนสามารถนำความรู้ที่ได้จากเราไปใช้ในการดำรงชีวิตได้ก็พอแล้ว การให้ความรู้คือการทำบุญ ในเมื่อมีโอกาสให้ทำ เราก็ทำ ถ้ามัวไปคิดถึงเรื่องเงินทอง ก็ไม่ได้ทำสักที การเข้าไปช่วยคน ช่วยชุมชน ช่วยสังคม อะไรที่พอจะช่วยได้ ผมก็จะช่วย เพราะความช่วยเหลือจากเราอาจจะสามารถไปเติมเต็มเขา นำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในอนาคตได้
อาจารย์มีอะไรอยากจะฝากถึงผู้ที่อยากจะทำเพื่อคนอื่นเช่นเดียวกับอาจารย์บ้าง
จริงๆ ความอยากของแต่ละคนมีไม่เหมือนกัน เหมือนตอนที่ตั้งคำถามก่อนหน้านี้ว่า อาจารย์มาสอนได้ยังไงในเมื่อไม่มีค่าสอนให้ ไม่มีอะไรให้ จริงๆ แล้วมันต้องเกิดจากการอยากทำก่อน ถ้าอยากจะทำ ก็ไม่มีอะไรจะมาปิดกั้นเราได้ เพราะตัวเราเองจะทำไปแบบอัตโนมัติโดยความอยาก แต่! เราก็ต้องดูก่อนว่าโอกาสมาตรงจังหวะกับความอยากของเราไหม โอกาสนั้นก็สำคัญนะ บางทีก็ไม่มีโอกาสที่จะทำ มีโอกาสแต่ไม่ยอมทำ อยากทำแต่โอกาสไม่มาก็มี หรือแม้แต้ไม่อยากทำแต่ก็มีโอกาสมาให้ได้ทำ อะไรอย่างนี้ ผมเป็นคนเชื่อโอกาส เพราะโอกาสทำให้ได้เข้าร่วมกับคณะแพทย์ ทำให้ได้ก่อตั้งคณะศิลปกรรม เห็นไหมว่าเราไม่รู้ว่าโอกาสจะเข้ามาเมื่อไร แต่เมื่อเข้ามาเราก็ต้องคว้าไว้ เพราะไม่รู้ว่าชีวิตหนึ่งจะได้มีโอกาสสักกี่ครั้ง ยิ่งผมเป็นข้าราชการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุดสมที่เป็นค่ารองบาทของพระองค์ นั่นแหละคือสิ่งสำคัญที่สุด เพราะฉะนั้นเมื่อผมเป็นครู ผมก็เป็นครูทั้งชีวิต นักเรียนจะไม่รับก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าได้มีโอกาสสอนใคร ผมก็สอนอย่างเต็มที่
หน้าที่ของอาชีพครูคือการทุ่มเทมอบความรู้… ไปทั้งชีวิต
คอลัมน์: บุคคล (ไม่) ธรรมดา
ภาพ: พยุงศิลป์ เปศรี
เฟซบุ๊ก: phayungsil.pasri