คงไม่มีใครไม่รู้จัก ยุทธนา บุญอ้อม ชายมากความสามารถผู้มีประสบการณ์ในวงการบันเทิงมายาวนานกว่า 30 ปี คนในวงการพร้อมใจกันเรียกเขาว่า “ป๋าเต็ด” ด้วยความชื่นชมและเคารพ ก่อนเข้าสู่บทสัมภาษณ์ เราขอเท้าความถึงชีวิตการทำงานของป๋าเต็ดว่ามีทั้งงานเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ตั้งแต่ดีเจที่เอ-ไทม์ไปจนถึงระดับบริหาร ผลงานซึ่งเป็นที่รู้จักของเขาได้แก่การก่อตั้งคลื่นวิทยุสุดอินดี้ FAT Radio ผู้บริหารค่ายเพลงสนามหลวง (Sanamluang Music) ผู้สร้างสรรค์เวทีที่เปิดโอกาสแก่นักร้องนักดนตรีรุ่นใหม่อย่างงาน Hotwave Music Award และงานมหกรรมดนตรีขนาดยักษ์ Big Mountain Music Festival ปัจจุบันเขาออกมาตั้งบริษัทของตัวเองชื่อว่า แก่น 555 เน้นการทำอีเว้นท์และคอนเสิร์ตเป็นหลัก
แต่กว่าจะประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ เขาก็เคยเป็น “เด็กฝึกงาน” มาก่อน การฝึกงานให้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหน แต่ละช่วงชีวิตป๋าต้องผ่านอะไรมาบ้าง ป๋าเต็ดจะเล่าให้เราฟัง

จุดเริ่มต้นของการเป็นเด็กฝึกงาน
ผมเติบโตในครอบครัวที่เต็มไปด้วยบรรยากาศบันเทิง ส่งเสริมให้ผมเป็นคนกล้าสื่อสารกับคนหมู่มาก ผมจึงเลือกเรียนที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาวิทยุและโทรทัศน์ ในระหว่างเรียนได้มีโอกาสเริ่มต้นชีวิตเด็กฝึกงานด้วยการเป็นผู้ช่วยของพี่เล็ก-บุษบา ดาวเรือง ผ่านการฝึกงานด้านคอนเสิร์ต ฝ่ายครีเอทีฟค่ายเพลง รายการทีวี รายการวิทยุ แม้หลังจากนั้นผมจะลาออกก่อนเรียนจบ แต่ก็ได้เข้ามาทำงานที่จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ อย่างเต็มตัว
แนวคิดการทำงานของป๋าเป็นอย่างไร
ไม่ว่าใครจะทำอาชีพอะไร ผู้กำกับหนัง ดารา หรือแม้กระทั่งกระเป๋ารถเมล์ก็ตามที คุณต้องเข้าใจก่อนว่าขอบข่ายหน้าที่ที่คุณต้องรับผิดชอบนั้นคืออะไร เรียนรู้ ปรับปรุง และพัฒนาเพื่อทำงานออกมาให้ดีที่สุด เนื่องจากมีอาชีพน้อยมากที่ต้องทำงานแค่คนเดียว ในที่สุดเราก็ต้องร่วมงานกับใครสักคนหนึ่งอยู่ดี ไม่คนในออฟฟิศ คนในทีมเราเอง ก็ต้องร่วมงานกับคนข้างนอก คนที่มาเป็นลูกค้าเรา สั่งของเรา หรือใครก็ตาม นอกจากรู้หน้าที่ของตัวเองแล้ว เราต้องเคารพในหน้าที่ของคนอื่นด้วย เราต้องไม่ก้าวก่ายและให้เกียรติหน้าที่ของเขา งานถึงจะสำเร็จได้ นอกจากนี้คุณควรมีวินัย มีความรักในงานที่ตัวเองทำ มีความตั้งใจที่จะพัฒนางานให้ดีขึ้น หากมีความเข้าใจในงานของตนเอง มีความเข้าใจในหน้าที่ของคนอื่น เคารพในหน้าที่ของคนอื่นแล้ว สิ่งนี้แหละเรียกว่า “ความเป็นมืออาชีพ”
ประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาให้อะไรแก่ป๋าบ้าง
ในแต่ละช่วงเวลาของชีวิตก็จะให้บทเรียนที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับอายุ คุณวุฒิ วัยวุฒิ และตัวบุคคลว่ามีนิสัยยังไง อย่างผมมีนิสัยชอบทบทวนถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ทบทวนข้อผิดพลาด ชอบวิจารณ์ตัวเอง ข้อที่เป็นจุดแข็งจุดอ่อนของเรา ไม่ค่อยรู้สึกว่าเราเป็นคนเก่งที่สุด ดังนั้นในแต่ละช่วงจึงต้องคอยทบทวนบทเรียนไปเรื่อยๆ แต่บทเรียนล่าสุดที่ผมได้ ณ วันที่ผมอายุ 52 ปี ทำงานมา 30 กว่าปี พบว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด
คำว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ไม่ได้แปลว่าการทำงานจะต้องลุยเดี่ยว แต่อายุการทำงานของผมถึงจุดที่ต้องเป็นที่พึ่งแก่คนอื่นแทนบ้างแล้ว ผมเชื่อว่าหัวใจของการเป็นมนุษย์คือเกิดมาเพื่อเรียนรู้และแบ่งปัน การที่คุณเรียนรู้ทำได้โดยที่มีคนรุ่นก่อนหน้าหรือคนที่ฉลาดกว่าแบ่งปันมาให้คุณ ขณะเดียวกันเมื่อเราเรียนรู้หรือค้นพบวิชาเคล็ดลับอะไรใหม่ๆ เราก็มีหน้าที่แบ่งปันให้คนรุ่นต่อไปเช่นกัน ตอนนี้ผมมาถึงวัยแบ่งปันแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าผมพ้นช่วงเรียนรู้แล้วนะ เพราะคนเราเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต เพียงแต่บทบาทของการแบ่งปันต้องเริ่มมีมากขึ้น

ความสุขของการแบ่งปันประสบการณ์
ผมเป็นคนชอบปันมาก เรียกว่าเป็นคนชอบแชร์เอามากๆ เลยก็ได้ ทุกครั้งที่มีใครเชิญผมไปพูดให้นักศึกษาฟัง หรือมาสัมภาษณ์เพื่อที่จะแชร์ประสบการณ์ของผมให้แก่คนที่สนใจงาน ผมมีความสุขทุกครั้งเมื่อได้แบ่งปันประสบการณ์เหล่านั้นให้เขาได้นำไปใช้ประโยชน์ ความจริงอาชีพในฝันอย่างหนึ่งของผมคือการเป็นครู แม้ตอนนี้จะไม่ได้เป็นครูอย่างเต็มตัว แต่ผมก็ยังอยากแบ่งปันในสิ่งที่ผมทำได้ การทำหนังสือก็เป็นการแบ่งปันความรู้รูปแบบหนึ่ง กลุ่มคนที่ผมอยากแบ่งปันที่สุดคงไม่พ้น “เด็กฝึกงาน” ช่วงวัยที่คาบเกี่ยวระหว่างการเรียนกับการทำงาน จึงออกมาเป็นหนังสือป๋าเต็ด Talk วัยรุ่นเอ๋ย ป๋าเคยมาก่อน
ที่มาของหนังสือป๋าเต็ด Talk วัยรุ่นเอ๋ย ป๋าเคยมาก่อน
เนื้อหาในเล่มว่าด้วยช่วงชีวิตของการเป็นเด็กฝึกงาน เพราะผมมีความผูกพันและให้ความสำคัญแก่ชีวิตช่วงเด็กฝึกงานมาก จริงๆ ไอเดียเริ่มต้น ผมอยากพานักศึกษาฝึกงานมานั่งคุยกับผมด้วยซ้ำ แล้วให้คุณแจ็ค ผู้เป็น บก. นำไปเรียบเรียง เพราะผมอยากแลกเปลี่ยนความเห็นกับน้องๆ ฝึกงานยุคนี้ว่าเขาพบเจอปัญหาอะไร เหมือนหรือต่างจากตอนที่ผมเป็นเด็กฝึกงานมากน้อยแค่ไหน แต่ก็ไม่ได้ใช้วิธีนั้นทั้งหมด ผมใช้วิธีการถ่ายทอดแบบผมไปยืนพูดให้คุณฟังอยู่ในบ้านของคุณตามชื่อหนังสือ และให้ บก.เล่มช่วยเรียบเรียงออกมา อยากให้อ่านแล้วได้ความรู้สึกว่าพวกเรากำลังพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกันอยู่ ผมจึงใช้วิธีพูดเหมือนยืนพูดให้คุณฟัง เพราะฉะนั้นเวลาอ่านหนังสือเล่มนี้ก็อาจจะให้ความรู้สึกเหมือนผมไปทอล์กโชว์อยู่ในบ้านคุณ จึงเป็นที่มาของชื่อหนังสือด้วย
ทำไมป๋าจึงให้ความสำคัญกับคำว่า ‘เด็กฝึกงาน’
ผมประสบความสำเร็จในอาชีพทุกวันนี้เพราะโชคดีที่มีโอกาสได้เป็นเด็กฝึกงานในงานที่หล่อหลอมผมมา ความรู้ที่ได้จากการฝึกงานกับพี่เล็กตอนนั้น ผมใช้จนทุกวันนี้ยังไม่หมดเลย คำว่า ‘เด็ก’ กับ ‘งาน’ เป็นคำที่อยู่กันคนละโลกเลย แต่ ‘เด็กฝึกงาน’ เป็นคำที่สามารถเชื่อมทั้งสองสิ่งไว้ด้วยกัน ด้วยความเป็นเด็กเขาสามารถนำเสนอความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างอิสระโดยที่รุ่นพี่ไม่ค่อยว่าอะไรหรอก ไม่ซีเรียสเท่าตอนออกมาทำงานจริง ทำให้เขาได้ทดลองอะไรมากมายในสภาพแวดล้อมการทำงานจริง มันจึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก
และในระหว่างการทำหนังสือป๋าเต็ด Talk วัยรุ่นเอ๋ย ป๋าเคยมาก่อนนี้เองที่ทำให้ผมพบว่า “จริงๆ แล้วเราต้องเป็นเด็กฝึกงานไปตลอดชีวิต” แม้เราจะรู้เรื่องหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังมีสิ่งใหม่ๆ ที่เรายังต้องเรียนรู้อยู่อีก อย่างผมตอนนี้กำลังฝึกงานกับโลกของโซเชียลมีเดียที่มันเปลี่ยนไปเยอะมาก โพสต์ในเฟซบุ๊กอย่างไรถึงจะมีประสิทธิภาพ จะสร้าง channel ใน YouTube อย่างไร อินสตาแกรม แอคเคาน์ทวิตเตอร์ เล่นต่างกันยังไง ทำให้ผมยังเป็นเด็กฝึกงานในเรื่องอย่างนี้อยู่ ดังนั้น ในที่สุดแล้วคำว่าเด็กฝึกงานมันอยู่กับเราทั้งชีวิต อยู่ที่ว่าเราจะมีมุมมองต่อสิ่งใหม่ๆ ที่เข้ามาอย่างไร
หัวใจสำคัญที่ทำให้ป๋าสามารถสื่อสารกับ ‘วัยรุ่น’ ได้ด้วยประสบการณ์ของ ‘ผู้ใหญ่’ ได้
สิ่งที่อยากจะบอกทั้งคนรุ่นใหม่และใครก็ตาม คือโลกหรือสังคมมันเต็มไปด้วยความต่างกันอยู่แล้ว ให้นึกภาพว่าถ้าคุณอยู่ในประเทศที่ทุกคนคิดเหมือนกันหมด ชอบอะไรเหมือนกันหมด โคตรน่ากลัวเลยนะเว้ย คุณนึกภาพคนทุกคนในประเทศไทยไว้ผมทรงเดียวกัน กินเหมือนกันทุกอย่าง ใส่เสื้อผ้าเหมือนกัน ฟังเพลงเพลงเดียวกัน พูดเหมือนกัน ยิ้มพร้อมกัน เล่นมุกเดียวกันขำพร้อมกัน มันหลอนมากเลยนะ ที่เราอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขได้เพราะว่ามีความแตกต่างกัน เราขำเพราะเพื่อนพูดในเรื่องที่เราคิดไม่ถึง ถ้าเกิดทุกคำที่เพื่อนเราพูด แล้วเรารู้หมดเนี่ย ชีวิตมันเศร้ามากเลยนะ จงดีใจที่คิดไม่เหมือนกัน จงพยายามทำความเข้าใจว่าทำไมเขาถึงคิดแบบนั้น ทำไมเราถึงคิดแบบนี้ ไม่ใช่พยายามที่จะเอาความคิดของเราไปชนะเขา มันต้องเข้าใจก่อนที่จะโต้แย้ง เพราะหลายอย่างอาจเป็นเรื่องเดียวกัน แค่มีวิธีพูดไม่เหมือนกันเท่านั้นเอง ถ้าเราไม่ได้เริ่มต้นด้วยการรู้สึกว่ากำลังถูกว่าอยู่ การพูดคุยมันจะเปลี่ยนไปนะ มันจะกลายเป็นการแลกเปลี่ยนความเห็นกัน และอยู่ร่วมกันได้

แง่คิด ‘ไม่มีใครเด็กเกินคิดถึงอนาคต’ จากป๋า
เวลาเราอ่านการ์ตูนโดราเอมอนหรือดูหนังเจาะเวลาหาอดีตผ่านไทม์แมชชีน แล้วเห็นไหมว่าเวลาเราย้อนเวลากลับไปในอดีต เราต้องระมัดระวังไม่ไปแตะต้องหรือยุ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต เพราะว่าถ้าเราไปเปลี่ยนอะไรในอดีต เดี๋ยวมันจะทำให้ปัจจุบันเปลี่ยนไป เราเข้าใจคอนเซ็ปต์นี้มาก แต่ทุกคนลืมไปว่าไอ้ที่เราเป็นอยู่ตอนนี้เราคืออดีตของอนาคต สิ่งที่เราทำอยู่ตอนนี้มันเปลี่ยนอนาคตได้หมดเลย คุณมัวแต่ไปห่วงว่าอย่าไปแตะอดีตนะ เดี๋ยวปัจจุบันมันจะเสียหาย แต่คุณลืมนึกไปว่าทุกอย่างที่คุณทำ ณ วันนี้มีผลต่ออนาคตหมด ทุกอย่างที่คุณโพสต์ลงไปในเฟซบุ๊ก ทุกสิ่งที่คุณพูดกับเพื่อนในแต่ละวัน คุณกำลังจะสร้างเพื่อนรักที่สุดที่จะอยู่กับคุณไปตลอด หรือคุณกำลังจะสร้างเพื่อนที่เกลียดคุณที่สุด มันทุกอย่างที่คุณทำอยู่ ดังนั้นมันไม่มีใครเด็กเกินไปที่จะนึกถึงอนาคต ถ้าตอนเราเด็กกว่านี้ เราขยันกว่านี้ในบางเรื่อง เราก็อาจจะสำเร็จกว่านี้ในบางเรื่องเช่นเดียวกัน ซึ่งถ้าเราคิดอย่างนั้นได้ ก็แปลว่า ณ วันนี้คุณก็ขยันซะสิ เพราะว่าคนคนนี้ในอนาคตมันก็อาจจะกำลังนั่งบ่นเรื่องนี้อยู่ก็ได้ ว่าเฮ้ยถ้าตอนนั้นมึงขยันมากกว่านี้สักหน่อย ป่านนี้กูก็คงจะไม่เป็นอย่างนี้แล้ว ประวัติศาสตร์มันสำคัญตรงไม่ได้สอนให้เรารู้ว่าอดีตเป็นยังไง แต่มันทำให้เรารู้ว่าเราควรทำตัวยังไงเพื่อให้อนาคตมันดีกว่านี้
นี่คือมุมมองชีวิตของชายผู้พร้อมจะเรียนรู้และฝึกงานกับเรื่องใหม่ๆ ที่ผ่านเข้ามา จนเป็นตัวอย่างความสำเร็จอันน่าชื่นชม