‘ฉัตรรวี’ กับงานเขียนอินดี้ ‘คุณคือดวงจันทร์ ฉันสิคนบ้า’

-

เมื่อพูดถึงเดือนกันยายน ทำให้นึกไปถึง ‘หญิงสาวพรหมจรรย์’ ตามสัญลักษณ์ประจำราศีกันย์ รวมไปถึงเรื่องราวของเทศกาลไหว้พระจันทร์ในวันที่ 15 ค่ำ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติ หรือถ้าตามปฏิทินสากลมักจะอยู่ในช่วงปลายเดือนกันยายน หรืออาจจะขยับเขยื้อนเป็นต้นตุลาคมในบางปี ตำนานของเทศกาลนี้ยังเกี่ยวเนื่องกับสาวงามหรือเทพธิดานาม ‘ฉางเอ๋อ’ ที่หญิงสาวชาวจีนมักจะขอพรให้ตนมีความงามตลอดไปดั่งเทพธิดานางนี้ นัดพบนักเขียนฉบับกันยายนจึงขออินเทรนด์เรื่องสาวงาม ด้วยการพูดคุยทำความรู้จักกับนักเขียนสาวสวยน่าจับตามองของวงการวรรณกรรม ป่าน-ฉัตรรวี เสนธนิสศักดิ์ กับผลงานเรื่อง ‘คุณคือดวงจันทร์ ฉันสิคนบ้า’ ที่ติดอันดับหนังสือขายดีในหลายร้าน

ป่าน-ฉัตรรวี เสนธนิสศักดิ์

เรานัดพบป่านที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สถานที่ที่รู้สึกได้ว่าเข้ากับตัวเธอเป็นอย่างดี ความน่ารักในแบบเก๋ๆ เท่ๆ มีเอกลักษณ์ ทำให้เธอดูเข้ากับงานศิลป์โดยรอบ และยังทำให้ช่างภาพของเราถึงกับเพ้อไปทีเดียว นอกจากรูปลักษณ์ที่ดีของเธอแล้ว ป่านยังเขียนหนังสือได้ดีไม่แพ้กันอีกด้วย เราขอเริ่มต้นบทสัมภาษณ์ด้วยการถามถึงสาเหตุความสนใจในการเขียนของเธอ

สนใจการเขียนหนังสือได้อย่างไร
น่าจะมาจากการชอบอ่าน ป่านโตมาในบรรยากาศที่คุณพ่อเวลาเดินทางไปไหนจะชอบแวะเข้าร้านหนังสือ ถ้าเป็นของเล่นอย่างอื่นจะไม่ค่อยได้เล่น แต่ถ้าเป็นหนังสือคุณพ่อจะเท่าไหร่เท่ากัน ทำให้เราได้อ่านหนังสือตั้งแต่เด็กจากนั้นมีแต่งกลอน ชนะการประกวดบ้าง แต่ยังไม่ได้คิดว่าจะมาทำงานเขียน แม้ว่าจะสอบได้ทุนของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิชาเอกภาษาไทย แต่ยังรู้สึกว่าแค่เรียนวิชานี้ได้ดีกว่าวิชาอื่น ซึ่งในขณะนั้นป่านจะไปเข้าค่ายนักเขียนบ่อย เช่น การร่วมเดินทางไปกับพี่คุ่น-ปราบดา หยุ่น ที่สนใจเข้าร่วมเพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่ค่อยมีคุณค่าเลยต้องหาอะไรทำ ให้ตัวเองมีสาระหน่อย ไม่อย่างนั้นเราจะเป็นแค่เด็กอักษรฯ ที่เรียนไม่เก่ง มาจากต่างจังหวัด ติดเพื่อน เที่ยวเยอะ พอไปเข้าร่วมก็ทำให้เห็นว่านักเขียนมืออาชีพเขาทำงานกันยังไง

แต่ป่านได้ทุนเลยนะ จะเรียนไม่เก่งได้อย่างไร
(หัวเราะ) เราเรียนไม่เก่งถ้าเทียบกับเด็กทุนทั้งหมด เด็กอักษรฯ มักจะต้องเก่งภาษาอังกฤษแต่ป่านไม่เก่ง เลยอยากภูมิใจในตัวเอง ชอบตัวเองได้ ตอนนั้นป่านรู้สึกตัวเองเป็นคนนอกประมาณหนึ่ง ด้วยความที่เป็นเด็ก รู้สึกว่าเพื่อนๆ น่าเบื่อ ไม่อยากคบเด็กอักษรฯ ไปคบเด็กศิลปกรรม เด็กต่างมหาวิทยาลัยแทน บางคนจะมองว่าเรามาจากต่างจังหวัดแล้วหลงแสงสีติดเที่ยว แต่เรามองว่าเธอน่าเบื่อจัง จากนั้นก็เถียงกับตัวเองว่า ไปว่าเขาน่าเบื่อเขาเรียนเก่งจะตาย แล้วตัวแกทำอะไรบ้าง (หัวเราะ) เลยไปเข้าค่ายนักเขียน แล้วเริ่มเขียนงานของตัวเองส่งให้เพื่อนอ่าน พอเราได้อ่านงานเขียนที่หลากหลายและลุ่มลึกขึ้น ไม่รู้ตอนไหนที่อยากเป็นผู้เล่าบ้าง

แต่เกือบจะไปเป็นแอร์โฮสเตสด้วย ทำอย่างไรถึงกลับมาเส้นทางนักเขียน และเริ่มต้นเป็นกองบรรณาธิการ
ขอสารภาพว่าตอนแรกป่านนึกภาพไม่ออกว่าการเขียนจะเป็นอาชีพได้ยังไง มันเป็นเรื่องของจังหวะจริงๆ ทางนิตยสาร aday Bulletin รับสมัครคนพอดี แล้วเราก็ได้งานแถมปีแรกทำ TV ด้วย จากนั้นไปทำงานที่ Bunbook แล้วมาเป็นนิตยสาร Giraffe ปัจจุบันมาทำ Content Online ที่ Life MATTERs ซึ่งตลอดเวลานั้นเราได้ออกงานเขียนของตัวเอง 3 เล่ม

ผลงาน ‘คุณคือดวงจันทร์ ฉันสิคนบ้า’ เป็นมาอย่างไร
มันเคยเป็นหนังสือทำมือของป่านมาก่อน ชื่อเรื่อง Scene จะมีเรื่องสั้นอยู่ 8-9 เรื่อง ป่านรักเล่มนี้มากเลยเพราะเราทำทุกกระบวนการเอง พอดีได้เห็นงานของสำนักพิมพ์ P.S. แล้วรู้สึกชอบคาแร็กเตอร์ของสำนักพิมพ์ อย่างที่เห็นขนาดของหนังสือจะเล่มเล็กๆ เรารู้สึกแบบนี้ก็ได้นี่ ไม่เห็นต้องจำกัดว่าต้องยาวมากๆ ถึงจะขายได้ เลยส่งต้นฉบับให้สำนักพิมพ์พิจารณาจนได้ตีพิมพ์

ตอนเขียนป่านไม่ได้วางคอนเซ็ปต์นะต้องเป็นแบบไหน เวลาเขียนทุกอย่างมันไหลลื่นออกมาหมด เริ่มจากฉากเล็กๆ ก่อน สมมติไปร้านหนึ่งเห็นอะไรเราจะพิมพ์ทิ้งๆ ไว้ ใช้ภาษาแรดๆ บ้าๆ โกรธใครก็พิมพ์เป็นสต๊อคไว้ แล้วนำเรื่องต่างๆ มาผูกกัน ส่วนมากทุกเรื่องจะมีบทสนทนาไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล่าที่ได้ยินมา หรือเหตุการณ์ที่เราเจอแล้วรู้สึกว่าชอบบทสนทนาในตอนนั้น ทำให้บางคนมาอ่านแล้วคิดไปว่าเราชอบเขา คือขอโทษ ไม่ได้ชอบ แค่บทสนทนาเวลานั้นมันดีมาก

คุณคือดวงจันทร์ ฉันสิคนบ้า

จากชื่อเรื่อง ‘คุณคือดวงจันทร์ ฉันสิคนบ้า’ เรามองความสัมพันธ์เป็นดวงจันทร์เหรอ
ใช่ เกิดจากการเอา 2-3 เรื่องมาอ่าน โดยไม่รู้ตัวเรามักชอบเขียนให้ในความสัมพันธ์ มีใครบางคนที่บ้ากว่าหรือรักมากกว่าอีกคน และช่วงนั้นชอบขึ้นไปดาดฟ้าคอนโดไปดูพระจันทร์เลยหยิบมา ค่อนข้าง Romanticize นิดหนึ่ง ป่านมีเขียนเติมเพื่อให้เข้ากับคอนเซ็ปต์ ให้มันชัดขึ้น ซึ่งป่านชอบเรื่องที่เติมทีหลังหมดเลย รู้สึกมันบ้ากว่าเรื่องแรกๆ

ทำไมเลือกหยิบยกเรื่อง ‘ความสัมพันธ์’ มาถ่ายทอด
น่าจะเพราะตอนนั้นเราอินกับเรื่องนั้น ความสัมพันธ์เราไม่ดีด้วยมั้ง (หัวเราะ) มันกระทบอารมณ์เลยหยิบมาเขียน ตอนนี้ความสัมพันธ์ดีเลยจะไปเขียนเรื่องอื่นแทน (หัวเราะ) ป่านเขียนเรื่องสั้นจากห้วงเวลาในแต่ช่วง ซึ่งพออายุมากขึ้นอาจจะอินกับเรื่องอื่น เช่น การเมือง สังคม ก็ไปเขียนเรื่องนั้นแทน พอหยิบมารวมเล่มจะเป็นเหมือนสรุปเหตุการณ์ในแต่ละช่วงอายุว่า ตอนนั้นเราทำอะไร สนใจเรื่องไหน

หลายคนมองว่าเราเป็นนักเขียนอินดี้ แล้วป่านล่ะรู้สึกว่าตัวเองเป็นอย่างนั้นรึเปล่า
ไม่รู้เลยค่ะ นึกภาพไม่ออกเลยว่างานเขียนอินดี้เป็นแบบไหนต้องเปรียบเทียบกับใคร สมมติมองในมุมหนังสือเป็นที่รู้จักในคนหมู่มาก หรือสำนักพิมพ์ใหญ่ งานเรามาจากสำนักพิมพ์เล็กๆ ก็อาจจะอินดี้ หรือถ้ามองกลับกัน อินดี้มาจาก Independent เป็นอิสระไม่ขึ้นกับใคร แต่เรามีค่ายนะ เห็นภาพไม่ชัดเลยไม่รู้ว่าตัวเองอินดี้รึเปล่า

ถ้าอย่างนั้นแนวทางการเขียนของ ป่าน-ฉัตรรวี ต้องเป็นแบบไหน
คงจะยึดเรื่องสั้นไปก่อน และสิ่งที่มันชัดออกมาอีกอย่างคือความ Feminine ไม่ใช่ Feminist นะคะ เราก็อ่อนแอในแบบของผู้หญิงเหมือนกัน แต่เรื่องของป่านจะมีความเป็นผู้หญิงออกมา อาจจะเพราะคนเขียนเป็นผู้หญิง คนอ่านจะสัมผัสได้เพราะป่านดัดแปลงไม่เก่ง ก้อนวัตถุดิบที่ได้มาอาจจะสร้างเรื่องราวออกไปไกลจากเดิมได้มากๆ แต่ด้วยธาตุ อารมณ์บางอย่างของเราทำให้มันออกมาในลักษณะนี้

ในฐานะที่เป็นผู้หญิง มองผู้หญิงกับวงการเขียนหนังสืออย่างไรบ้าง
ที่ผ่านมามันถูกเน้นภาพว่า ถ้าเป็นงานของนักเขียนหญิงจะต้องเจ็บปวด ต้องเล่าเรื่องเซ็กซ์ ต้องอีโรติกหน่อย หรือไม่จะต้องเป็นนิยายรักหวานแหว ซึ่งเราอาจจะเป็นอย่างนั้นก็ต้องยอมรับ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราไร้สาระหมกมุ่นกับแค่ความรักความสัมพันธ์สักหน่อย เพียงแค่เรื่องเหล่านี้มันกระทบอารมณ์ทำให้อยากเล่า แต่ไม่ได้เป็นสรณะของชีวิต ผิดหรือที่ไม่ได้เขียนเรื่องสังคมการเมือง ไม่ใช่ไม่คิด เราแค่เป็นพวกอารมณ์นำ ซึ่งป่านไม่อยากจะเชื่อว่ายังมีความคิดเห็นที่ไม่น่าจะมีในยุคนี้เหมือนกัน

ไม่ได้หมายความว่าเราไร้สาระหมกมุ่นกับแค่ความรักความสัมพันธ์
สักหน่อย เพียงแค่เรื่องเหล่านี้มันกระทบอารมณ์ทำให้อยากเล่า

ทราบมาว่าตัวป่านชอบงานของคุณสุวรรณี สุคนธา
ป่านรู้สึกว่าผู้หญิงคนนี้เหมือนเราจัง ไม่รู้หลงตัวเองรึเปล่า (หัวเราะ) ป่านได้อ่านเรื่องสั้นเรื่อง “งูร้องไห้ ดอกไม้ยิ้ม” พออ่านแล้วรู้สึกว่าเขาเป็นผู้หญิงที่เท่มาก ไม่น่าเชื่อว่าเป็นผู้หญิงรุ่นแม่รุ่นยายด้วยซ้ำ รู้สึกว่าเขากับเรามีความคิดบางอย่างเหมือนกัน เราชอบจริตที่เขาเป็น สิ่งที่เขาคิด สิ่งที่เขาเจ็บ สิ่งที่เขารัก เรารู้สึกได้เหมือนกับเขาเลยชอบจริตแบบนี้ แล้วก็คิดว่าในเรื่องสั้นน่าจะเป็นตัวตนของคนสุวรรณีเหมือนกัน ไม่แน่ใจว่ามีผู้ชายที่อ่านแล้วรู้สึกว่าคุณสุวรรณีแอบชอบเขาเหมือนเรารึเปล่า (หัวเราะ) สมัยเรียนพออ่านวรรณกรรมเยอะๆ เราจะรู้สึกว่ามันต้องวิพากษ์สังคมรึเปล่า ต้องตั้งคำถามกับระบบระบอบรึเปล่า ป่านพยายามจะเขียนแบบนั้นนะแต่ตัวเองยังไม่เก่งพอ พออ่านงานของคุณสุวรรณีเรื่องนี้รู้สึกเล่าแบบนี้ก็ได้นี่ เราฟูมฟายได้ เราเป็นผู้หญิงที่ไปชอบคนอื่นแล้วหยิบมาเขียนได้นี่ ถ้าเล่มไหนจะเป็นหนังสือที่เปลี่ยนชีวิตก็คงเป็นเล่มนี้ และจะเรียกว่าเป็น Idol ก็ได้ มีคิดค่ะว่าสักวันหนึ่งอยากเป็นนักเขียนที่เท่แบบนี้บ้าง เพราะคิดภาพตัวเองทำอาชีพอื่นไม่ออกเหมือนกัน

ป่าน-ฉัตรรวี เสนธนิสศักดิ์

งานประจำของเราตอนนี้คือทำคอนเทนต์ออนไลน์ ที่ผ่านมาป่านสัมผัสมาหลายรูปแบบตั้งแต่นิตยสารรายสัปดาห์ หนังสือเล่ม และ Free copy จนมาทำออนไลน์ เรามองการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร
ทำออนไลน์เหนื่อยค่ะ ต้องใช้กำลังใจหลายส่วนเพราะคอนเทนต์อายุสั้น และยังไขปริศนาไม่ออกว่าอะไรที่ดึงดูดให้คนอ่าน หลายๆ อย่างเปลี่ยนเยอะมาก จะใช้ลีลาการเขียนแบบเดิมไม่ได้ ต้องเข้าประเด็นตั้งแต่ย่อหน้าแรก ต้องเร็ว ต้องโดน ป่านเลยยิ่งโหยหาการเขียนเรื่องสั้นมากๆ เป็นเหมือนที่พักใจ ไม่อย่างนั้นเราคงหลุดจากความเป็นเราไปเลย มันยากและเหนื่อยมาก แต่ยังมองว่าทางออนไลน์ก็มีแง่ดีค่ะ โดยเฉพาะการตลาด เพราะหนังสือของป่านก็ได้การตลาดออนไลน์ช่วยในการโปรโมต แต่ป่านถือว่าตัวเองโตมากับยุคกระดาษ ยังยึดติดกับหนังสือและการหยิบจับ อย่างเนื้อหาออนไลน์ต้องเป็นคนที่ตั้งใจไปเสิร์ชเพื่ออ่าน แต่หนังสือเราอาจทิ้งไว้มุมห้องแล้วหยิบมาอ่านก็ได้ ตัวป่านอาจจะแค่ยึดติดเอง ดังนั้นจึงพยายามจะทำให้งานของเราออกมาเป็นเล่มไปได้เรื่อยๆ

บทสนทนาสุดท้ายนักเขียนสาวสวยของเราฝากกำลังใจไปถึงนักอยากเขียนว่า ปัจจุบันพื้นที่การเขียนมีรองรับงานทุกประเภทแล้ว และยังมีพื้นที่ให้เผยแพร่ได้ง่ายยิ่งขึ้น ในทางกลับกันมันอาจจะทำให้แจ้งเกิดยากขึ้น แต่ถึงแม้คนกด Like น้อย คนอ่านน้อยก็ไม่เห็นเป็นไร ถ้าทำไปเรื่อยๆ สิ่งที่เราทำต้องส่งผลอะไรสักอย่างอย่างแน่นอน

 


คอลัมน์: นัดพบนักเขียน
เรื่อง: ภิญญ์สินี
ภาพ: อนุชา ศรีกรการ
all magazine กันยายน 2560

ภิญญ์สินี

Writer

กองบรรณาธิการ ศิษย์เก่าเอกปรัชญาและศาสนา ชอบติดตามกระแสสังคม และเทรนด์แฟชั่น สนใจศิลปวัฒนธรรม และสีมงคล ลายนิ้วหัวแม่มือคือลายมัดหวาย

อนุชา ศรีกรการ

Photographer

ช่างภาพที่เกิดวันเดียวกับวันถ่ายภาพโลก เลยทำอย่างอื่นไม่เป็นแล้ว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!