หลังจากโลดแล่นอยู่ในวงการบันเทิงมากว่าสิบปี “ปู-ไปรยา ลุนด์เบิร์ก” นักแสดงและนางแบบสาวผู้เปี่ยมด้วยความมั่นใจก็ได้พลิกสถานภาพจากหญิงสาวหรูหราไฮโซไปทำงานเพื่อสังคม ด้วยการดำรงตำแหน่ง “ทูตสันถวไมตรี” ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR-United Nations High Commissioner for Refugees) ถือเป็นทูตสันถวไมตรีคนแรกของประเทศไทยและคนแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับเป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทย และแสดงถึงบทบาทผู้หญิงไทยในระดับโลกอีกด้วย
“เหตุผลที่ปูอยากทำงานกับ UNHCR เป็นเพราะปูเห็นข่าวชาวโรฮีนจาแล้วรู้สึกเศร้ามาก ถามใจตัวเองว่าทำไมเพื่อนมนุษย์อย่างพวกเขาต้องเจอเรื่องราวแบบนี้ ปูคิดว่าไม่ควรมีใครบนโลกที่ต้องพบกับปัญหาแบบนี้ เมื่อสี่ปีที่แล้วปูจึงตัดสินใจส่งอีเมลไปขอทำงานกับ UNHCR จากนั้นทาง UNHCR ได้ตอบรับให้ปูเป็นอาสาสมัครเพื่อเรียนรู้การทำงานของ UNHCR โดยเดินทางไปที่ค่ายผู้ลี้ภัยต่างๆ ในประเทศไทย รวมถึงเดินทางไปประเทศจอร์แดนและพูดคุยกับผู้ลี้ภัยชาวซีเรียด้วยเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ปูได้ลงพื้นที่อย่างจริงจังที่ค่ายกูตูปาลอง ประเทศบังคลาเทศ ค่ายแห่งนี้ถือเป็นประสบการณ์ที่เปลี่ยนชีวิตของปูอย่างสิ้นเชิง” ไปรยาเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำงานด้านนี้ให้เราฟัง
“ในค่ายกูตูปาลองมีผู้ลี้ภัยถึง 9 แสนคน ในจำนวนนี้เป็นเด็กถึงร้อยละ 55 ปูเห็นเด็กบางคนต้องรับผิดชอบเป็นหัวหน้าครอบครัวเพราะพ่อแม่เสียชีวิต เคสที่สะเทือนใจปูมากคือ ชายหญิงคู่หนึ่ง เขาอุ้มลูกวัยหนึ่งขวบเพื่อเดินทางมายังค่ายนี้ เขาใช้เวลาเดินทาง 12 วัน โดยไม่มีอาหารตกถึงท้องเลย แล้วลูกเขาก็เสียชีวิตในวันที่สี่ของการเดินทาง เรื่องที่เกิดขึ้นทำให้ปูย้อนมองตัวเอง ปูก็รักบ้านเกิดและครอบครัวของปู ถ้าวันหนึ่งปูต้องลี้ภัยออกจากบ้านของตัวเอง แล้วต้องสูญเสียลูก สูญเสียพ่อแม่ หรือคนในครอบครัวของตัวเองระหว่างเดินทาง ปูว่ามันน่าเศร้ามาก”
เราถามว่าทำไมเธอถึงสนใจปัญหาผู้ลี้ภัยมากกว่าปัญหาสังคมด้านอื่น นักแสดงสาวตอบว่า “ปูคิดว่าผู้ลี้ภัยเป็นกลุ่มคนที่น่าสงสาร บางคนไม่มีสัญชาติ บางคนไม่สามารถกลับบ้านเกิดได้ รวมทั้งไม่ได้รับสิทธิและความคุ้มครองใดๆ เขาสูญเสียทุกอย่าง เราในฐานะเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกจึงควรตระหนักและช่วยเหลือพวกเขาเหล่านั้น ขณะนี้มีผู้ลี้ภัยทั้งโลกประมาณ 68 ล้านคน ถือเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง ปัญหาผู้ลี้ภัยจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปแต่เป็นวิกฤติที่คนทั้งโลกควรใส่ใจและช่วยเหลือพวกเขาเหล่านี้ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง คำว่า ‘ไม่มีใครต้องการ’ เป็นคำที่เจ็บปวดมาก ปูมองว่าเราเองยังรักพ่อแม่ของเราสุดหัวใจ แล้วทำไมพ่อแม่ของพวกเขาถึงไม่มีคุณค่าเท่ากับพ่อแม่เรา ทำไมการสูญเสียพ่อแม่หรือลูกของพวกเขาจึงไม่มีคุณค่าได้ขนาดนั้น สิ่งที่ปูได้เจอทำให้ชีวิตของปูเปลี่ยนไป ปูเข้าใจเกี่ยวกับความสูญเสียได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น”
ช่วงลงพื้นที่เยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยกูตูปาลองกับ UNHCR นั้น ไปรยาได้เข้าไปเยี่ยมชมสถานแรกรับผู้ลี้ภัย (Transit Centre) ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับลงทะเบียน ตรวจร่างกาย ฉีดวัคซีน เธอเห็นUNHCR ช่วยดูแลทุกอย่าง โดยเฉพาะการจัดเตรียมสถานที่ แพทย์ และพยาบาล เพื่อช่วยให้ผู้ลี้ภัยได้อยู่ในสถานที่ที่ดีและปลอดภัยที่สุด ทางรัฐบาลบังคลาเทศให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี ส่วนสภากาชาดไทยก็ส่งแพทย์และพยาบาลไปช่วยเหลือดูแลด้านสุขภาพอนามัยของผู้ลี้ภัยด้วย “ปูขอขอบคุณรัฐบาลไทยที่มอบความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยมาโดยตลอด ขอบคุณ UNHCR ที่ดูแลผู้ลี้ภัยเป็นอย่างดี และรัฐบาลบังคลาเทศที่ให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยเป็นจำนวนมาก ถ้าไม่มีพวกคุณ ปูมองไม่ออกเลยว่าอนาคตของคนเหล่านี้จะเป็นอย่างไร”
สำหรับภารกิจสำคัญในหน้าที่ทูตสันถวไมตรีของUNHCRนั้น ไปรยาอธิบายว่าเธอมีหน้าที่สร้างความตระหนักและความรับรู้เกี่ยวกับปัญหาผู้ลี้ภัย “ปูอยากให้คนทั่วไปเข้าใจปัญหาผู้ลี้ภัยมากขึ้น ปัญหานี้สำคัญเร่งด่วนไม่ต่างกับภาวะโลกร้อนหรือความยากจน ผู้หญิงคนหนึ่งเล่าให้ปูฟังว่า ขณะอพยพเธอนั่งอุ้มลูกอยู่ในเรือ แล้วจังหวะที่โดนคลื่นซัด ลูกน้อยวัยแปดเดือนได้พลัดจากมือตกลงไปในทะเล เธอเห็นลูกจมน้ำไปต่อหน้าต่อตา นั่นคือความสูญเสียที่เธอได้รับ ปูทำได้แค่พูดคุยและรับฟังปัญหาของเธอ แต่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นได้ปูได้ ปูบอกกับเธอว่าปูเสียใจ ปูรู้ว่าคำว่า ‘เสียใจ’ มันไม่พอ ปูจึงอยากมีโอกาสทำอะไรเพื่อช่วยเหลือผู้หญิงคนนี้ ให้มากกว่าพูดคำว่า ‘เสียใจ’ เพียงอย่างเดียว” เธอเล่าให้ฟังด้วยแววตาเศร้าพร้อมหยาดน้ำตา
” งานนี้ทำให้ชีวิตปูมีคุณค่าและรู้ว่าชีวิตทุกคนมีคุณค่า ชีวิตผู้ลี้ภัยทุกคนมีค่าเท่ากับชีวิตปู “
“เชื่อไหมคะว่าตอนไปเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัย ปูไม่เคยได้ยินเสียงเด็กร้องไห้เลย ปูคิดว่าเด็กที่สามารถเดินทางพร้อมกับพ่อแม่เป็นเวลาหลายวันโดยไม่มีน้ำไม่มีข้าวกินนั้น ทั้งหัวใจและร่างกายเขาต้องแกร่งมาก ปูประทับใจในความแกร่งของผู้ลี้ภัย มันทำให้ปูเห็นถึงความแกร่งของมนุษย์ ส่วนคำพูดที่ปูประทับใจที่สุดคือทุกคนอยากกลับบ้าน เวลาถามว่าเขาต้องการอะไร คำตอบคือถ้าประเทศต้นทางปลอดภัย เขาและครอบครัวก็อยากกลับบ้าน คำตอบนี้ทำให้ปูรู้สึกว่าสุดท้ายเขาก็ไม่ต่างจากปู เขาต้องการอยู่กับครอบครัว ต้องการอยู่บ้านเท่านั้นเอง ปูรู้สึกว่าตัวเองมีบุญมากที่มีโอกาสทำงานกับ UNHCR และยิ่งมีบุญมากขึ้นไปอีกเมื่อมีโอกาสพูดคุยกับผู้ลี้ภัย ใครจะคิดว่าคนที่ได้พบความรุนแรงและความสูญเสียขนาดนี้ เขากลับไม่โทษใครเลย เขามีเพียงความหวังว่าจะได้กลับบ้านในวันใดวันหนึ่งเท่านั้นเอง” นักแสดงสาวกล่าว
ก่อนหน้านี้ ไปรยาได้เดินทางไปค่ายผู้ลี้ภัยสี่แห่งในประเทศไทย และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมสนับสนุนแคมเปญ “Namjai for Refugees” ของ UNHCR เพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในประเทศไทย อีกทั้งในปี 2561 ที่ผ่านมา ไปรยา ลุนด์เบิร์กพร้อม 60 คนดังและผู้มีชื่อเสียงทั่วโลก ได้ร่วมกันรณรงค์แคมเปญ #WithRefugees ของ UNHCR ซึ่งได้รับการลงชื่อสนับสนุนมากถึง 1.2 ล้านรายชื่อ เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในวาระเกี่ยวกับวิกฤติการณ์ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพด้วย “การทำงานของUNHCR เป็นการวางแผนระยะยาว เพราะผู้ลี้ภัยบางคนอยู่ในฐานะผู้ลี้ภัยนานถึง 30 ปีหรือเกือบทั้งชีวิต โดยเฉพาะเด็กที่เกิดในค่าย เขาคือผู้ลี้ภัยทั้งชีวิต เราจึงต้องการงบประมาณสนับสนุนในระยะยาว ปูมองว่าคนคนเดียวช่วยไม่ได้ ต้องอาศัยคนทั้งโลก ประเทศทุกประเทศต้องร่วมมือกัน ช่วยกันคิดแก้ไขปัญหาวิกฤติผู้ลี้ภัยนี้ค่ะ”
เมื่อถามถึงความรู้สึกที่ UNHCR แต่งตั้งให้เป็นทูตสันถวไมตรี เธอตอบว่า“ปูรู้สึกเป็นเกียรติมากค่ะ ปูถือว่างานนี้เป็นหน้าที่และเป็นสิ่งที่ปูอยากทำ ตำแหน่งที่ได้รับทำให้การพูดของปูมีน้ำหนักและสร้างความรับรู้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม งานนี้ทำให้ชีวิตปูมีคุณค่าและรู้ว่าชีวิตทุกคนมีคุณค่า ชีวิตผู้ลี้ภัยทุกคนมีค่าเท่ากับชีวิตปู ลูกๆ ของเขามีค่าเท่ากับลูกในอนาคตของปู คุณพ่อเขาก็มีค่าเท่ากับคุณพ่อของปู แล้วปูเป็นใครที่จะมาตัดสินว่าเขาไม่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ ทัศนคติเกี่ยวกับความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยของปูจึงเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด”
ตลอดหนึ่งปีที่ดำรงตำแหน่งทูตสันถวไมตรี ไปรยาได้ทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถ แต่กระนั้นก็ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเธอมุ่งทำงานให้ต่างประเทศ แต่ไม่ยอมช่วยเหลือเด็กไทย ในประเด็นนี้ นางแบบสาวอธิบายว่า “ปูทำงานเพื่อสังคมมานานแล้วค่ะ ก่อนหน้านี้ก็ช่วยสนับสนุนโครงการผู้ป่วยโรคเอดส์ มอบทุนการศึกษาแก่เด็กยากจนในประเทศไทย แต่ที่ผ่านมาปูทำงานคนเดียว ก็สามารถช่วยได้ระดับหนึ่งเท่านั้น ปูถือว่าการทำงานที่ UNHCR คือการฝึกงานของปู ในอนาคตปูก็อยากช่วยเหลือคนไทย เพราะปูเป็นคนไทย รักประเทศไทย รักทุกอย่างที่เป็นเมืองไทย ปูอยากให้เด็กไทยได้รับโอกาสที่ดี ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาต่อไปเหมือนกับทุกคนค่ะ”
แล้วการเป็นดาราที่มีชื่อเสียงทำให้การทำงานด้านนี้ง่ายขึ้นด้วยไหม ไปรยาตอบว่า “ความเป็นดาราเหมือนมีสิทธิพิเศษ เรามีช่องทางพิเศษมากมายที่จะสื่อไปถึงคนทั่วไป และทุกคนก็พร้อมจะฟังเราปูคิดว่าปูโชคดีที่เริ่มต้นทำงานเพื่อสังคมได้ไม่ยากปูมองว่าถ้าเราขายสินค้าได้ เราก็น่าจะเปลี่ยนแปลงสังคมได้เคยมีคนถามปูว่ามาทำงานเป็นการสร้างภาพไหม ปูอยากตอบว่าถ้าคนทั้งประเทศสร้างภาพดีๆ แบบนี้ได้ ก็อยากให้มาช่วยสร้างความดีกันเยอะๆ ประเทศของเราจะได้เป็นประเทศที่น่าอยู่มากยิ่งขึ้น ปูมองว่าอาชีพดาราของเราเกิดได้เพราะคนในสังคมชื่นชมยอมรับ เรามีหน้าที่ตอบแทนสังคม แต่ในเวลาเดียวกัน สังคมเขาก็มีสิทธิ์ที่จะมองเราในแง่ดีหรือไม่ดีได้เช่นกัน เราต้องรับสิ่งนี้ให้ได้ เราไม่ควรเหลิงกับคำชมหรือทุกข์กับคำติ เราต้องอยู่ในโลกแห่งความจริงให้ได้”
เมื่อถามว่าจะทำงานกับ UNHCR ไปอีกนานแค่ไหน ไปรยายืนยันว่าจะทำงานด้านนี้ไปตลอดชีวิต เพราะอยากช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ “ปูไม่ได้เรียนมาด้านนี้ ไม่ได้มีความรู้มากเท่ากับเจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติ ปูเป็นเพียงนักแสดง เป็นนางแบบ แต่ปูก็เชื่อมั่นว่าเสียงของนักแสดงหรือนางแบบคนนี้อาจมีคุณค่าในการช่วยเหลือพวกเขาได้บ้าง ตลอดเวลาเกือบห้าปีที่ผ่านมา ปูถือว่าปูยังเป็นเด็กฝึกงาน ได้แต่หวังว่าเมื่อทำงานมากขึ้น ปูคงมีความเข้าใจและช่วยเหลือพวกเขาอย่างลึกซึ้งมากกว่าที่เป็นอยู่ ปูดีใจที่ได้มีโอกาสทำงานกับ UNHCR เพราะปูค้นหาคุณค่าของชีวิตของปูมานานมาก และก็พบแล้วว่าสิ่งที่ปูกำลังทำเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์นี้ คือสิ่งที่ทำให้ชีวิตปูมีคุณค่าค่ะ”
ทูตสันถวไมตรีคนแรกของประเทศไทยทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า “ปัญหาผู้ลี้ภัยมีมานานมาก นั่นเป็นเพราะมนุษย์ไม่ได้เรียนรู้ถึงคำว่า ‘สันติภาพ’ เมื่อไหร่ที่เราสามารถอยู่บนโลกใบนี้และรักกันบนพื้นฐานของสันติภาพ เมื่อนั้นคำว่าผู้ลี้ภัยก็จะไม่มีอีกต่อไปและปูก็เชื่อว่าวันนั้นต้องมาถึงไม่วันใดก็วันหนึ่งค่ะ”