ปัญญาพัฒนาชีวิต – พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต

-

ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่สาธุชนคนดีทุกท่าน ช่วงนี้หน้าฝนขอให้ทุกท่านรักษาสุขภาพของตนเองให้ดีด้วยนะ พระเป็นห่วง โยมบางท่านอาจจะสงสัยว่า พระเป็นห่วงโยมได้ด้วยเหรอครับ แหม ก็ได้สิโยม ถ้าไม่ห่วงโยม อาตมาจะไปเทศน์สอนโยมในที่ต่างๆ ทำไม ที่ไปเพราะว่าพระเป็นห่วง ห่วงว่าโยมจะหลงมัวเมาในชีวิต ความห่วงในลักษณะนี้พระพุทธองค์ตรัสว่าเป็นยอดกัลยาณมิตร โยมบางท่านอาจจะสงสัยอีกว่ามิตรคือใคร มิตรก็คือพระเอกไงโยม (มิตร ชัยบัญชา) แหม หลวงพี่เล่นมุกซะเก่าเลย

เข้าสาระเลยแล้วกัน “มิตร” คือ เพื่อน ผู้มีเยื่อใยไมตรี มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อต่อกัน “มิตรแท้” คือ มิตรที่แนะนำประโยชน์ให้แก่เรา โยมอย่าบอกนะว่ามิตรแท้คือบริษัทประกันภัย มันจะฮามากเกินไป โยมทั้งหลาย มิตรแท้ย่อมทำหน้าที่ดังนี้ คือ

1. จะทำชั่วเสียหาย คอยห้ามปรามไว้
2. คอยแนะนำให้ตั้งอยู่ในความดี
3. ให้ได้ฟังได้รู้สิ่งที่ไม่เคยได้รู้ได้ฟัง
4. บอกทางสุขทางสวรรค์ให้

นี่ไงโยม อาตมาเป็นห่วงโยมเพราะไม่ต้องการให้โยมทำความชั่ว แนะนำให้ตั้งมั่นในความดี คอยหาความรู้ใหม่ๆ มาให้โยมทั้งหลาย และพยายามที่จะบอกทางสวรรค์ให้โยมทุกท่าน

โยมทั้งหลาย เมื่อเราพูดถึงมิตร พระพุทธองค์ตรัสสอนว่า

“พวกเกวียน พวกโค ต่างเป็นมิตรของคนเดินทาง มารดาเป็นมิตรในเรือนของตน สหายเป็นมิตรของผู้มีธุระเกิดขึ้นเนืองๆ บุญที่ตนทำเองเป็นมิตรติดตามไปถึงภพหน้า”

โยมอยากรู้ว่าใครเป็นเพื่อนแท้เราไหม ถ้าอยากรู้ลองฟังเรื่องนี้ดู

มีชายคนหนึ่งเป็นผู้สันทัดเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในป่า เขากำลังแนะนำให้กลุ่มนักท่องเที่ยวเข้าใจถึงวิธีกรีดแผลงูกัด
แล้วใช้ปากดูดเอาพิษออกและก็ถ่มทิ้ง

เขาพูดต่อไปว่า แผลที่อยู่บริเวณปากเราไม่อาจก้มไปดูดได้นะครับ

เราจะทำอย่างไร นักท่องเที่ยวช่างสังเกตถาม

ชายคนนั้นตอบว่า ก็ให้เพื่อนเราทำให้สิครับ

ทีนี้สมมติว่างูมันดันไปกัดที่ก้นเราล่ะครับ เราจะทำอย่างไร นักท่องเที่ยวถามอีก

ชายคนนั้นพูดว่า ก็นี่แหละ เราจะได้รู้ว่า ใครเป็นเพื่อนเราจริง

ฟังเรื่องเบาสมองไปแล้ว มาฟังเรื่องที่หนักด้วยสาระดูบ้างนะโยม

กาลครั้งหนึ่ง มีชายคนหนึ่งมีเพื่อนอยู่ 3 คน

คนที่หนึ่งรักเขามาก เขาทำทุกอย่างได้เพื่อเพื่อนคนนี้ ไม่ว่าจะเหนื่อยยากลำบากแค่ไหนเขาก็ทำได้เพื่อเพื่อนคนนี้
เพื่อนคนที่ 2 เขารักรองลงมา ส่วนคนสุดท้องน้องสุดท้าย เขาไม่สนใจไยดี ไม่เคยทำอะไรเพื่อเพื่อนคนนี้เลย

ต่อมาไม่นานเขาก็ตายลง เพราะว่าจิตของเขาผูกพันกับเพื่อนคนที่ 1 เขาจึงไปหา

แต่เพื่อนคนนั้นช่างใจไม้ไส้ระกำ ไม่อาลัยไยดีเขาแม้แต่น้อย เขาพูดด้วยก็ไม่ตอบ เขารู้สึกเสียใจมาก นึกเสียดายขณะที่มีชีวิตอยู่ เขาทุ่มเทกับเพื่อนคนนี้มาตลอด เขาพูดว่าเจ็บใจจริงๆ

จากนั้นเขาก็ไปหาเพื่อนคนที่ 2 เพื่อนคนนี้ดีกว่าคนแรก เพราะเขาเดินไปส่งปรโลก แต่ส่งเพียงครึ่งทางก็กลับ เขาบอกว่ามีธุระต้องไปทำ ลาก่อน เขาจึงจำใจต้องเดินทางคนเดียว

คงมีแต่เพื่อนคนสุดท้องน้องสุดท้ายที่ติดตามเขาไปตลอด ร่วมเดินทางไปกับเขาไม่เคยทอดทิ้งเขาเลย เป็นเพื่อนแท้เป็นมิตรถาวร ไม่เคยจากจรไปไหน

โยมทั้งหลาย เพื่อนทั้งสามคนนั้น คนที่ 1 คือ ทรัพย์สมบัติ เพราะยามที่เรายังมีชีวิตอยู่ เราทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มันมา แต่พอเราตาย มันก็ไม่ไปกับเรา แถมเราพูดด้วยมันก็ไม่ตอบ หยิ่งจริงๆ

คนที่ 2 คือ ลูกเมีย ญาติพี่น้อง เวลาที่เราตายเขาก็ทำบุญให้ ทำศพให้ แปลว่า เขาส่งเราไปแค่ครึ่งทาง สุดท้ายก็ทิ้งให้เราอยู่คนเดียว

ส่วนคนสุดท้องน้องสุดท้าย เป็นเพื่อนที่คู่ควรแก่การแสวงหายิ่งนัก เพราะทั้งรักและห่วงใยเรามาก

นั่นคือ บุญ บาป เมื่อเราตายไป ทั้งสองอย่างนี้จะติดตามเราไป ดังนั้นเราต้องใส่ใจเพื่อนคนสุดท้องน้องสุดท้ายให้มาก

โยมทั้งหลาย สิ่งที่จะทำให้เกิดบุญกุศลมากที่สุดคือปัญญา ถ้ามีปัญญาที่มีสัมมาทิฐิ เราจะพิชิตบาปทั้งปวง เราจะไม่ตกอยู่ในบ่วงแห่งความชั่ว เราจะทำจิตและตัวให้สูงด้วยศีล สมาธิ และปัญญา

โยมทุกท่าน ปัญญามีสองประเภทคือ “โลกิยปัญญา” กับ “โลกุตตรปัญญา”

โลกิยปัญญา  คือ ปัญญาทางโลก ซึ่งเป็นแสงสว่างที่จะนำพาตนเองและครอบครัวดำเนินไปตามทางแห่งความสุขความเจริญ เป็นทางของผู้ประพฤติธรรมรักษาศีล ทำบุญทำทานเป็นปกติ มีสติรักษาตน ครองตนโดยธรรม เปรียบประดุจบุรุษผู้มีแผนที่ชี้ทาง

ประเภทที่สอง คือ โลกุตตรปัญญา หมายถึง ปัญญาที่เป็นแสงสว่างอย่างแท้จริงในธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นเครื่องออกจากทุกข์ ละจากกามคุณทั้งปวง

โยมทั้งหลาย ประโยชน์ของการบริหารจิต คือ

1. ทำให้กายและจิตผ่องใส มีความสงบ
2. ทำให้จำแม่น เข้าใจได้รวดเร็ว เป็นผลดีต่อการศึกษาเล่าเรียน
3. ทำให้มีความเมตตากรุณา เห็นอกเห็นใจผู้อื่น สัตว์อื่น
4. ทำให้มีจิตตั้งมั่น มีสติ สมาธิ ปัญญา อยู่กับตัวตลอดเวลา
5. ทำให้มีปัญญารอบรู้ รู้จักเหตุผล และสิ่งอันควรและไม่ควร
6. ช่วยไม่ให้ประมาทในชีวิต และมีสำนึกในหน้าที่ของตนเองอยู่ตลอดเวลา

สิ่งที่สำคัญมากๆ ของการบริหารจิตเจริญปัญญา คือ

1. รู้จักตนเอง เข้าใจตนเอง
2. เข้าใจธรรมชาติ
3. มีเหตุผล
4. ไม่หวั่นไหวในสุขและทุกข์

ดังนั้น เมื่อโยมทั้งหลายเปิดใจรับกัลยาณมิตร ชีวิตของโยมก็ย่อมพบปัญญาที่จะนำความสุขมาให้

เจริญพร


คอลัมน์: ธรรมะอมยิ้ม
เรื่อง: พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต
ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!