“เวลาเจอคนพิการมาขายของก็ช่วยซื้อนะ แต่ซื้อแล้วก็ไม่ได้ใช้” นี่คือสิ่งที่อาจเกิดขึ้นกับใครอีกหลายคน ซึ่งช่วยอุดหนุนสินค้าจากคนพิการด้วยความสงสารมากกว่าจะซื้อเพราะของสิ่งนั้นมีคุณภาพและนำมาใช้งานจริง ส่วนหนึ่งของแรงบันดาลใจที่ทำให้สาวนักกิจกรรมเพื่อสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือและเริ่มทำโครงการต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและปรับเปลี่ยนทัศนคติที่คนตาดีมีต่อคนตาบอด เธอคนนั้นคือ ผึ้ง-วันดี สันติวุฒิเมธี ผู้เริ่มต้นโครงการ “ปักจิตปักใจ” (pakjitpakjai) โครงการซึ่งฝึกอบรมคนตาบอดให้สามารถปักผ้า งานฝีมือจากศักยภาพคนตาบอดที่สวยงามน่าใช้สอยไม่น้อยหน้าใคร
ย้อนเส้นทางของนักกิจกรรมเพื่อสังคม
การทำกิจกรรมเพื่อสังคมของพี่เริ่มตั้งแต่สมัยเรียนคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิชาเอกหนังสือพิมพ์ พี่เข้าร่วมการออกค่ายของคณะอย่างต่อเนื่องเพราะสนใจงานด้านจิตอาสาและได้สัมผัสชีวิตชนบท จนถึงชั้นปีที่ 4 ก็ได้ขึ้นเป็นประธานชมรมค่ายนิเทศฯ เมื่อเรียนจบปริญญาตรีพี่ได้เข้าร่วมกับโครงการ “สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร” (ปัจจุบันเป็นวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์) ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเรียนรู้ชีวิตในชนบทอย่างจริงจัง ก่อนกลับมาทำงานเป็นนักเขียนที่นิตยสารสารคดี งานเขียนของพี่เป็นงานเขียนเชิงปัญหาสังคม แรงงานต่างด้าว นักรบชายขอบ ฯลฯ ซึ่งเป็นความต่อเนื่องมาตั้งแต่การทำค่าย ระหว่างทำงานที่สารคดีพี่ได้เรียนปริญญาโทสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ควบคู่ไปด้วย
เมื่อเรียนจบพี่ก็ลาออกจากนิตยสารสารคดีและย้ายไปอยู่จังหวัดเชียงใหม่ แม้จะไม่ได้ทำงานที่สารคดีแล้ว แต่พี่ก็ยังไม่หยุดงานเขียน พี่ทำหน้าที่บรรณาธิการนิตยสารทางเลือก ชื่อว่า “สาละวินโพสต์” (SalweenpostFanpage) ทำสื่อเพื่อสร้างความเข้าใจคนชายแดนและคนในพม่าอยู่ 9 ปีเต็ม
เมื่อย้ายมาอยู่เชียงใหม่ นอกจาก “สาละวินโพสต์” แล้ว พี่ได้จัดตั้งบ้านกิจกรรมเด็กชื่อว่า “บ้านเพลิน” และเริ่มทำเชิงจิตอาสาเพื่อให้เด็กๆ ได้ทำกิจกรรมร่วมกับคนพิการ ซึ่งเป็นจุดเชื่อมโยงให้ได้ทำงานร่วมกับคนตาบอด จนวันหนึ่งเกิดจุดหักเหขึ้น เมื่อเด็กๆ ไปเจอคนตาบอดที่เคยมาทำกิจกรรมร่วมกัน พี่เขาเคยอยู่ศูนย์ฝึกอาชีพ แต่เมื่ออายุเกินจึงต้องออกจากที่ศูนย์ฯ ไปร้องเพลงเลี้ยงชีพอยู่ตลาดนัดแถวบ้าน เด็กสงสัยว่าทำไมพี่เขาต้องมาร้องเพลง นั่นเป็นจุดที่ทำให้พี่พบว่าคนตาบอดมีทางเลือกในอาชีพน้อย ส่วนใหญ่ต้องร้องเพลงข้างถนน ขายล็อตเตอรี่ หรือเป็นหมอนวด
จุดมุ่งหมายเดียวกันสู่ความเป็นทีม
แรงบันดาลใจที่ค่อยๆ สั่งสมมา ทำให้พี่อยากพัฒนางานฝีมือของคนตาบอดให้ดียิ่งขึ้น ประกอบกับในช่วง 3-4 ปีนั้น พี่หันมาสนใจเรื่องงานผ้า งานแฮนด์เมด และได้รู้จักการปักผ้าแบบซาชิโกะ (刺し子) ซึ่งเป็นการปักผ้าแบบญี่ปุ่น ด้วยความที่ลายปักใช้ไหมเส้นใหญ่และเป็นงานทูโทนที่ไม่ต้องเล่นสีมาก คนตาบอดน่าจะปักได้ พี่จึงไปสอบถามและขอความช่วยเหลือจากครูป้าหนู-ภวัญญา แก้วนันตา (จาก Sewing Studio) ผู้สอนการปักผ้าแบบซาชิโกะว่าการปักแบบนี้ คนตาบอดพอจะปักได้ไหม ครูป้าหนูจึงทดลองหลับตาปักผ้าดู ผลคือน่าจะทำได้ แต่เนื่องจากครูป้าหนูไม่ใช่คนตาบอด อีกทั้งเคยเห็นลายปักมาก่อน จึงไม่อาจรู้ได้เลยว่าผลงานดังกล่าว เกิดจากความจัดเจนเพราะตาเคยเห็นหรือเปล่า ดังนั้นต้องพิสูจน์โดยการพาคนตาบอดมาทดลองปักจริง
ด้วยความบังเอิญที่พี่รู้จักกับนายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน เติร์ด-ต่อพงศ์ เสลานนท์ จึงได้ปรึกษาว่าอยากพาคนตาบอดมาลองปักผ้า เติร์ดก็มีความเห็นตรงกับพี่ว่างานหัตถกรรมสำหรับคนตาบอดถึงทางตันมานานแล้ว เนื่องจากที่ผ่านมางานหัตถกรรมคนตาบอดคือการร้อยและถักลูกปัด ซึ่งตลาดไม่ค่อยกว้างเท่าไหร่นัก และส่วนใหญ่คนซื้อเพราะความสงสาร จึงอยากพัฒนาสินค้าหัตถกรรมคนตาบอดเช่นกัน ความมุ่งหมายที่มีร่วมกันคือจุดเริ่มต้นของการก่อตั้ง “โครงการปักจิตปักใจ”
ปักผ้าด้วยใจไม่ต้องใช้ตา
ก้าวแรกของโครงการปักจิตปักใจเริ่มจากการคัดเลือก “ดรีมทีม” หน่วยกล้าตาย 6 คนแรกจากคนตาบอดที่สนใจงานหัตถกรรมและพร้อมลองผิดลองถูก เนื่องจากสิ่งที่ทำทั้งหมดยังอยู่ในช่วงทดลอง ไม่มีใครรู้เลยว่าคนตาบอดจะปักผ้าได้หรือไม่ ทั้งครูและนักเรียนต้องกล้าและพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ไปด้วยกัน ผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นที่น่าพอใจมาก เนื่องจากคนตาบอดมีศักยภาพในความมืดบางอย่างสูงกว่าคนตาดี ระบบสัมผัสของคนตาบอดมหัศจรรย์มาก อย่างลายวงกลม พอเราเอาแพทเทิร์นกลมล็อคไว้ก่อนแล้วให้คนตาบอดเริ่มปักจากการ “คลำ” ไปตามขอบแพทเทิร์น พอได้วงรอบนอกสุดจึงนำแพทเทิร์นพลาสติกออก จากนั้นคนตาบอดสามารถปักผ้าจากด้านนอกเข้าด้านในด้วยวิถีขึ้น-ลงเท่าๆ กัน และหมุนผ้าไปเรื่อยๆ โดยไม่ใช้ตา ในขณะที่คนตาดีไม่สามารถทำวิธีนี้ เพราะจะค่อยๆ หมุนผ้าไปโดยใช้ตามอง วงกลมอาจบิดเบี้ยวไปบ้าง
หลังจากความสำเร็จของดรีมทีมหรือตาบอดปักผ้ารุ่นแรกเป็นไปได้ด้วยดี พี่และทีมจึงร่วมกันพัฒนาหลักสูตรของการปักผ้าซึ่งกินเวลา 6 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 2 วัน เพื่อที่ระหว่างสัปดาห์นักเรียนจะได้ฝึกฝีมือก่อนมาเรียนลวดลายใหม่ในครั้งถัดไป อีกทั้งยังพัฒนาเครื่องมือที่ทำให้คนตาบอดสามารถปักผ้าได้ด้วยตัวเอง ไม่เป็นภาระหรือเป็นภาระคนอื่นให้น้อยที่สุด เนื่องจากคนพิการทุกประเภทเขามีบางอย่างที่ทำไม่ได้ สิ่งไหนที่เขาทำไม่ได้ เราค่อยช่วยเหลือเขา แต่สิ่งไหนที่เขาทำได้ก็ปล่อยให้เขาดูแลตัวเอง เขาจะมีความภาคภูมิใจมากกว่าการพึ่งพาคนอื่น
จากวันนั้นถึงวันนี้
นับตั้งแต่เริ่มลงเข็มปักผ้าวันแรกเมื่อ 3 มิถุนายน 2561 ปัจจุบันโครงการสามารถอบรมนักปักผ้าตาบอดมา 3 รุ่นแล้ว และยังเพิ่มการอบรมหลักสูตร “ตาบอดทอผ้า” อีกด้วย ทั้งสองโครงการทำให้คนตาบอด (ซึ่งคนส่วนใหญ่มักตัดสินจากภายนอก มองว่าเขาเป็นภาระ ทำอะไรไม่ได้) สามารถสร้างรายได้จุนเจือครอบครัว เปลี่ยนสถานะให้เขาเป็นคนที่มีคุณค่าและภาคภูมิใจกับผลงานที่ตนเองสร้างสรรค์ พอมาปักผ้าแล้ว เราเห็นว่าคนที่เขาไม่เคยมีงานทำมาก่อน เขามีความพยายามเยอะนะ เพราะนี่คือรายได้ของเขา ทำให้เราเห็นว่าคนที่ไม่เคยมีโอกาส พอได้โอกาสแล้วเขามีความตั้งใจมาก สินค้าในปัจจุบันเป็นปกสมุดบันทึก ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ กระเป๋าหลากประเภท ในอนาคตพี่อยากขยายตลาดไปสู่ของแต่งบ้านและอาจเพิ่มการผสมผสานงานผ้าปักกับงานหัตถกรรมของคนตาบอดชนิดอื่น เช่น นำงานถัก งานร้อยเข้ามาใช้เป็นตัวตกแต่ง รวบรวมหัตถกรรมคนตาบอดไว้ในแบรนด์ “ปักจิตปักใจ”
ที่ผ่านมาเราจำหน่ายผลงานผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ pakjitpakjai พอดีพี่เป็นนักเขียนด้วย จึงเล่าสตอรี่ผ่านหน้าเพจ เล่าเรื่องราวของแต่ละคน ตั้งแต่วันแรกที่สนเข็ม พัฒนาการและความตั้งใจของเขา วันที่เขาเรียนจบ งานชิ้นแรกที่เขาขายก็จะมีคนมารอซื้อเต็มเลย แต่ละคนจะมีแฟนคลับ การที่เราเล่าเรื่องราวเหล่านี้ทำให้คนได้เห็นคุณค่าของความพยายาม ว่ากว่าที่แต่ละคนจะปักผ้าได้ ต้องใช้ความพยายามเยอะมาก
การร่วมพัฒนานวัตกรรมกับมหาวิทยาลัยญี่ปุ่น
สมาคมวัฒนหัตถศิลป์ล้านนา (Lanna Culture & Crafts Association) จัดโครงการอบรมช่างพื้นบ้านไทยทางภาคเหนือ และเชิญอาจารย์จากมหาวิทยาลัยทามะอาร์ต Tama Art University (TAU มหาวิทยาลัยด้านออกแบบผลิตภัณฑ์อันดับหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น) มาร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ เราได้เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาเครื่องมือที่ทำให้คนตาบอดแยกสีในการปักผ้าได้ เล่นสีได้ เพื่อให้งานออกมาสวยงามมากขึ้น เครื่องมือที่เป็นสัญลักษณ์ ข้างบนจะเป็นสัญลักษณ์สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม วงกลมไว้คนละแกน แกนละสี แยกสีกัน ก้าวต่อไปคือการพัฒนาเครื่องมือไล่เฉด เช่น สีเหลืองมีสามเฉด ก็จะเป็นเครื่องมือที่ไล่ระดับให้เขารู้ว่าอันนี้สีเหลืองเข้ม กลาง อ่อน เพื่อต่อไปคนตาบอดก็จะทำเป็นงานอาร์ตได้มากขึ้น ถ้าเสร็จโครงการนี้เราก็จะมี “ชุดอุปกรณ์แยกสี” ให้คนตาบอดและคนตาดีทำงานร่วมกันได้
ทอผ้าทอใจให้เป็นผืน
นอกจาก “โครงการปักจิตปักใจ” ยังมีโครงการเพื่อส่งเสริมอาชีพและพัฒนาศักยภาพคนตาบอดอื่นๆ อย่าง “โครงการตาบอดทอผ้า” มีจุดเริ่มต้นมาจากพี่ได้ทราบเรื่องราวของคนตาบอดสนิทคนหนึ่งชื่อ “ดีฮ่า” อายุ 50 ปี อยู่อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ สามารถทอผ้าเองได้ พี่และนายกสมาคมคนตาบอดฯ จึงเดินทางไปศึกษาดูงาน ก่อนริเริ่มโครงการ “ตาบอดทอผ้า” เมื่อต้นปี 2562 รวบรวมชาวกระเหรี่ยงตาบอดที่อยู่ในบริเวณนั้นมา 10 คน แล้วอบรมทอผ้า 15 วันโดยใช้ครูตาดี (ซึ่งเป็นหลานของพี่ดีฮ่า ผู้คอยดูแลป้าของเขามาตลอด ดังนั้นจึงมีวิธีสื่อสารกับคนตาบอด)
เราสนับสนุนคนตาบอดที่อยู่บ้าน ไม่เคยมีงานทำมาก่อนได้เข้าร่วมโครงการ โครงการนี้ทำให้คนตาบอดซึ่งเป็นคนชายขอบ ในครอบครัวเคยมองว่าเป็นภาระ ทำอะไรไม่ได้ สามารถสร้างรายได้จุนเจือครอบครัว เปลี่ยนสถานะในครอบครัวให้เขาเป็นคนที่มีคุณค่า ยกตัวอย่างเช่น “คุณป้าแวยู” เธออยากทอผ้ามากเลยนะ วัฒนธรรมของคนกะเหรี่ยงคือผู้หญิงต้องทอผ้า แต่ป้าแวยูไม่เคยได้ทอผ้าของตัวเองเลย จนวันที่ป้าแวยูได้มาเรียนทอผ้าเป็นครั้งแรก เธอดีใจมาก ลูกชายของป้าก็ภูมิใจที่ได้ใช้ย่ามที่แม่ทอ
นักเขียนผู้ถ่ายทอดเรื่องราวในมุมที่คนตาดีไม่เคยสัมผัส
ที่ผ่านมาเรื่องราวของคนตาบอดซึ่งเรารับรู้ในสังคมไทย เป็นมุมมองจากคนข้างนอกเขียนถึงคนตาบอด คนนอกเขียนเรื่องคนใน นำเสนอถึงแง่มุมความเวทนาน่าสงสาร จริงๆ แล้ว คนตาบอดเขาก็มีความเป็นมนุษย์ มีมิติอื่นๆ แต่เราไม่เคยได้ยินเรื่องราวของเขา ทางสมาคมคนตาบอดเองก็อยากให้คนตาบอดได้สร้างคอนเทนต์เองเช่นกัน บวกกับอาชีพจริงๆ ของพี่คือนักเขียน พวกเราจึงร่วมสร้าง “หลักสูตรนักเขียนตาบอด” ขึ้นมา ให้คนตาบอดเป็นคนเล่าเรื่อง ถ่ายทอดเรื่องราวของตัวเอง ถ่ายทอดโลกใบนี้โดยไม่ต้องใช้สายตา เพื่อให้คนตาดีได้สัมผัสเรื่องราวในอีกมุมมอง โครงการนักเขียนตาบอดจะแสดงให้เห็นศักยภาพของคนตาบอดว่าเขาถ่ายทอดเรื่องราวและสามารถใช้สื่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้คนตาดีอ่านเรื่องราวของเขาได้ โดยเทคโนโลยีปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนมีส่วนอย่างมากในการช่วยเชื่อมโลกของคนตาบอดกับคนตาดีให้ถึงกัน
นักเรียนในหลักสูตรคนหนึ่งเคยเป็นนักดำน้ำมาก่อนจอประสาทตาเสื่อม จึงไม่ได้ลงน้ำอีก อยู่มาวันหนึ่งเธอบังเอิญพบโครงการพาคนวีลแชร์ไปดำน้ำ คนตาบอดเช่นเธอจึงลองเสี่ยงยื่นสมัครไป ปรากฏว่าครูอนุญาตให้เธอเข้าร่วมโครงการด้วย โดยทำวิธีสื่อสารพิเศษขึ้นจากการสัมผัส เช่น ถ้าปลาเยอะ เจอต้นไม้ หรือเหนื่อยจะทำสัญลักษณ์โดยการสัมผัสบนแขนแบบต่างๆ วันที่เธอได้กลับไปลงน้ำอีกครั้ง การบ้านที่เธอส่ง ทำให้คนอ่านอย่างพี่ร้องไห้ เธอบอกว่าวันที่เธอกลับไปทะเลอีกครั้งหลังจากตาบอดมา 13 ปี เธอถามทะเลว่า “เธอจำฉันได้ไหม ฉันกลับมาแล้วนะ” งานเขียนของเธอถ่ายทอดเรื่องราวใต้ท้องทะเลโดยใช้ประสาทสัมผัสช่วยบรรยายออกมา “กระแสน้ำอุ่นไหลผ่านกาย เท้าของฉันสัมผัสไปบนผืนทรายอันนุ่มนวลอ่อนโยน” ล้วนเป็นสิ่งที่คนมองเห็นละเลยประสาทสัมผัสละเอียดอ่อนเหล่านั้นไป ยกอีกตัวอย่างคือคนตาบอดคนหนึ่งชอบยืนดูพระจันทร์ คนตาดีถามว่าตาบอดมองไม่เห็นแล้วจะยืนดูไปทำไม คนตาบอดตอบว่าเขาสัมผัสได้ แสงของพระอาทิตย์ยามเช้า กลางวัน เย็น ความอบอุ่นไม่เหมือนกัน ซึ่งคนตาดีมองแต่การขึ้น-ลงของแสงแต่ละเลยประสาทสัมผัสเหล่านี้ งานเขียนของนักเขียนตาบอดจะช่วยคนตาดีให้มองโลกในมุมที่ละเอียดอ่อนขึ้น
หลักสูตรการเรียนเพื่อเป็นนักเขียนตาบอด
การอบรมจะแบ่งเป็น 3 หลักสูตร คือ หลักสูตรที่ 1 เล่าเรื่องตัวเองจากประสบการณ์ตรง หลักสูตรที่ 2 เล่าเรื่องคนอื่น สัมภาษณ์ การเขียนสารคดี หลักสูตรที่ 3 การเขียนนิยายกับบทโทรทัศน์ การเรียนแต่ละหลักสูตรเรามีการคัดเลือก ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเรียนได้ คนที่ส่งการบ้านในหลักสูตรที่ 1 ครบและอยากเรียนต่อก็จะได้เข้าร่วมหลักสูตรที่ 2 ถ้าหลักสูตรที่ 2 จะไปต่อในหลักสูตรที่ 3 คุณต้องส่งการบ้านครบและมีแววถึงจะได้ไปต่อ โครงการนี้เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2562 โดยรุ่นที่ 1 จะจบหลักสูตรในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้
ช่องทางเผยแพร่ผลงานของนักเขียน
สามารถติดตามอัพเดตข่าวสารได้ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ Blind Magazine Online และ blindmagazineonline.com เว็บไซต์ที่รวมงานเขียนของนักเขียนตาบอดทั่วประเทศไทย เราเปิดโอกาสให้คนตาบอดคิดคอลัมน์เอง คุณจะพบกับคอลัมน์ท่องเที่ยวไม้เท้าขาว (ไม้เท้าขาวคือสัญลักษณ์ไม้เท้าของคนตาบอดสนิท) พาเที่ยวโดยใช้ประสาทสัมผัสของเขา บางคนเขียนคอลัมน์ทำอาหาร ชั่ง ตวง วัด ส่วนผสมอาหารยังไงโดยที่คุณไม่ต้องใช้ตา ซึ่งงานเขียนทั้งหมดจะทำให้เราได้เรียนรู้และเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ของคนตาบอด
โครงการทั้งหมดที่วันดีและทีมงานทำ ล้วนมุ่งหวังให้คนทั่วไปได้เห็นถึงศักยภาพของคนตาบอด สะท้อนผ่านแต่ละผลงานซึ่งไม่ได้ด้อยคุณภาพน้อยไปกว่าคนตาดีเลย เธอเข้ามาช่วยเสริมสร้างความเข้าใจ ให้คนตาดีลองปรับเปลี่ยนแง่มุมที่มีต่อคนตาบอด เพราะว่าทุกคนล้วนมีความเป็นมนุษย์เฉกเช่นเดียวกันและสามารถอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม