สำนักพิมพ์ปลากระโดด ปลุกการตื่นรู้ของปัญญา

-

เพลงรักทะไลลามะ  โศลกคำสอนมหามุทราของตีโลปะ  เราต่างมีพุทธะในตัวเอง  พ่อแม่เต้าเต๋อจิง  เหล่านี้คือชื่อหนังสือส่วนหนึ่งอันเป็นผลงานของสำนักพิมพ์ ‘ปลากระโดด’ แม้จะดูเป็นหนังสือที่อ่านยาก เป็นที่สนใจเฉพาะกลุ่มและไม่ทำกำไรมากนัก แต่เจ้าของสำนักพิมพ์ยืนยันว่าจำเป็นต้องมีอยู่ในสังคมไทย เพื่อปลุกการตื่นรู้ทางปัญญา สร้างสังคมอารยะ และตระหนักรู้ถึงความหมายแห่งชีวิต อันเป็นอุดมการณ์เล็ก ๆ ของสำนักพิมพ์ขนาดเล็กแห่งนี้

ปลากระโดด คือภาพชั่วพริบตาที่ปลาในสระน้ำนิ่ง กระโดดโผล่พ้นน้ำขึ้นมา เสมือนวินาทีแห่งการตื่นรู้ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อันเป็นความมุ่งหวังซึ่ง วิจักขณ์ พานิช อาจารย์พิเศษวิชาปรัชญาและศาสนา ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ ต้องการจะให้หนังสือของสำนักพิมพ์แห่งนี้ได้ทำหน้าที่ปลุกความคิดความเข้าใจตัวตนผ่านประสบการณ์ธรรมดาที่พบเจอในชีวิตประจำวัน วิจักขณ์เริ่มต้นจากการแปลงานด้านศาสนธรรม และเผยแพร่ด้วยภาษาสมัยใหม่ที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ไม่ยากจนเกินไป แต่แนวทางดังกล่าวอาจจะไม่ตรงกับสำนักพิมพ์ที่มีอยู่ ณ ขณะนั้น เขาจึงตัดสินใจก่อตั้งสำนักพิมพ์ขึ้นเองเพื่อผลิตงานศาสนธรรมตามรูปแบบที่ตั้งใจ

แนวหนังสือที่ ‘ปลากระโดด’ ตีพิมพ์ หากเป็นซีกโลกตะวันตกจะจัดอยู่ในประเภท ‘spirituality’ หรือ ‘จิตวิญญาณ’ ซึ่งไม่ได้หมายถึงงานเขียนทางศาสนาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงงานวรรณกรรมที่ส่งผลกระทบต่อความคิดและจิตวิญญาณ เช่น วรรณกรรมเรื่องสิทธารถะก็จัดอยู่ในหมวด spirituality งานเขียนเหล่านี้แม้จะพูดถึงเรื่องศาสนาแต่ก็ใช้ภาษาโลกวิสัย สะท้อนความรัก ความกรุณา ความฝัน และความโหยหาของชีวิต ซึ่งไม่จำกัดแค่พุทธศาสนานิกายเถรวาท แต่ยังรวมถึงพุทธศาสนานิกายมหายาน วัชรยาน หรือแม้แต่เซน เช่น งานเขียนของเชอเกียม ตรุงปะ หรือเพม่า โชดรัน ทั้งหมดแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ ผู้อ่านจะได้พบเรื่องศาสนาของคนซีกโลกตะวันออกที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่ผู้คนในซีกโลกตะวันตกได้อย่างเป็นสากล นอกจากนั้น สำนักพิมพ์ยังขยับขยายสู่งานด้านการศึกษา ด้านสุนทรียศาสตร์ รวมถึงนิทานภาพฝีมือคนไทย ซึ่งทั้งหมดไม่ทิ้งวัตถุประสงค์คือการแฝงหลักปรัชญาที่จะกระตุ้นความคิดและจิตวิญญาณ

แม้ว่าจะเป็นหนังสือศาสนาและปรัชญา แต่วิจักขณ์ให้ความสำคัญแก่การออกแบบรูปเล่มให้มีความทันสมัย ไม่ห่างไกลตัวผู้อ่านนัก เขายอมรับว่าหนังสือของ ‘ปลากระโดด’ ไม่ใช่หนังสือที่อ่านง่าย ดังนั้นจึงต้องทำให้หนังสือมีความน่าจับต้องและใกล้ชิดนักอ่านด้วย เล่มที่ขายดีของ ‘ปลากระโดด’ ได้แก่ พ่อแม่เต้าเต๋อจิง ที่พูดถึงการดูแลจิตใจของพ่อแม่เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการฟูมฟักลูกน้อย รองลงมาคืองานเขียนของเพม่า โชดรัน ซึ่งมีด้วยกัน 3 เล่ม คือ โจน  ใจที่เธอกลัว และ ง่ายงามในความธรรมดา

สำหรับปัญหาที่สำนักพิมพ์เล็ก ๆ แห่งนี้ต้องเผชิญคงหนีไม่พ้นเรื่องเงินทุนและค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับ “เราต้องจ่ายทุกอย่างในอัตราที่เป็นสากล เช่น จ่ายค่าแรงคนออกแบบปก คนจัดหน้า บรรณาธิการ ค่าต้นฉบับ ทุกอย่างมีเกณฑ์ราคาของมัน แต่ราคาหนังสือในประเทศไทยไม่เป็นสากล ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น หนังสือเล่มนี้มี 70 หน้า ผมตั้งราคา 125 บาท ซึ่งเสียงส่วนใหญ่บอกว่าแพง เพราะปกติราคาเฉลี่ยของหนังสือไทยตกหน้าละหนึ่งบาท ผมอยากให้ลองคิดอีกมุมว่าแล้วสำนักพิมพ์จะเหลือกำไรกี่บาทเมื่อต้องจ่ายค่ากระบวนการต่าง ๆ กว่าจะออกเป็นรูปเล่ม และยังไม่รวมส่วนลดในงานหนังสือ อีกทั้งเราพิมพ์หนังสือแค่สองสามพันเล่ม พูดตามตรงว่ามันอยู่ไม่ได้ ถ้าบวกลบคูณหารแล้วผมไม่แนะนำให้ใครตั้งสำนักพิมพ์ มันไม่ใช่ธุรกิจที่ทำแล้วคุ้ม เพื่อน ๆ ที่ทำสำนักพิมพ์ขนาดเล็กทุกคนแทบไม่คิดค่าใช้จ่ายหรือเงินเดือนของตัวเอง แต่ทุกคนทำเพราะใจรัก เพราะอยากผลิตงาน”

อย่างไรก็ดี การเกิดขึ้นของระบบการซื้อขายสินค้าออนไลน์ และสังคมโซเชียลมีเดีย มีส่วนสำคัญที่ทำให้สำนักพิมพ์ขนาดเล็กขายหนังสือได้มากขึ้น “ต้องขอบคุณเว็บไซต์ Readery ที่ทำให้นักอ่านเจอหนังสือของเราได้ง่ายขึ้น และทำให้เราขายหนังสือได้ นอกเหนือจากนั้น ระบบรีวิวหนังสือก็เป็นอีกสิ่งที่มีส่วนช่วยสำนักพิมพ์ที่เป็น niche market อย่างพวกเรา โดยเฉพาะหนังสืออ่านยาก คุณอาจจะอ่านแล้วไม่เข้าใจทั้งหมด แต่นั่นไม่สำคัญเท่าคุณอ่านแล้วรู้สึกยังไง จากนั้นบอกเล่าประสบการณ์ออกมา แล้วมันจะเกิดเป็นชุมชน เกิดการแนะนำปากต่อปากขึ้น ยกตัวอย่างงานเขียนของมูราคามิที่โด่งดังขึ้นมาในสังคมไทยช่วงหลังนี้ ผมว่ามาจากการที่คนเข้าสู่วัฒนธรรมรีวิว อ่านแล้วดียังไง คนก็อยากจะหามาอ่านบ้าง”

วิจักขณ์ยังให้ความเห็นต่องานเขียนในแบบฉบับของ ‘ปลากระโดด’ ว่าสุดท้ายแล้วงานประเภทนี้ก็ไม่ใช่งานที่ขายได้ดีในสังคมไทย แต่อย่างไรเสียก็ควรจะต้องมีอยู่ในสังคม “แน่นอนว่าคนจะตั้งคำถามว่าอ่านไปทำไม ยากก็ยาก เครียดก็เครียด อ่านแล้วจะได้อะไรกับสังคมนี้ เราจะพูดถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตวิญญาณ ทางสังคม ทางจิตสำนึกไปทำไม ในเมื่อสังคมที่เราอยู่มันไม่เอื้อและไม่เปิดกว้างเท่าสังคมตะวันตก ดังนั้นสุดท้ายมันจึงไม่ค่อยขายในสังคมไทย แต่จุดยืนของปัญญาชนหรือคนมีความรู้ที่เห็นถึงประโยชน์และดื้อดึงนำเสนองานเหล่านี้ออกมา เพราะเขาเห็นว่ามันเป็นน้ำหล่อเลี้ยงจิตใจ หล่อเลี้ยงสมอง คือ being ทั้งหมดรวมกัน เป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกถึงความหมายของการมีชีวิต สร้างสังคมอารยะ การที่เราเรียนหนังสือหรือสนใจอ่านหนังสือ มันอาจจะไม่ใช่เรื่องนำไปประยุกต์ทำมาหากิน แต่มันคือการเปิดจินตนาการ สิ่งที่เป็นจุดอ่อนของสังคมไทยคือเราไม่ต้องการให้มีจินตนาการ จึงไม่เกิดการสนับสนุนสิ่งเหล่านี้

“ในความเห็นของผมมองว่าพฤติกรรมการอ่านของคนไทย เราชอบอ่านสิ่งที่มันโดนใจ ซึ่งก็ดี แต่ยังมีการอ่านอีกแนวที่อยากให้ลองเปิดใจ ลองอ่านอะไรที่มันยาก เราอาจไม่ต้องรู้เรื่องทั้งหมดก็ได้ แต่มันจะเปิดมุมมองเราให้กว้างขึ้นว่ามีอย่างนี้อยู่ด้วยเหรอ เช่น บทกวีที่เขียนโดยทะไลลามะที่ 6 ซึ่งเป็นพระ แต่เนื้อหาเป็นบทกวีจีบสาว ซึ่งมันทำได้และมีแบบนี้บนโลกด้วย หรือหนังสือรางวัลโนเบล มันมีอะไรถึงได้รางวัล สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การเชื่อมต่อสู่แง่มุมทางประวัติศาสตร์ สังคม การปฏิวัติ ซึ่งทำให้เรามีความรู้ที่หลากหลายขึ้น”

แค่เพียงเปิดหนังสือ ก็ปลุกการตื่นรู้ของปัญญาญาณแล้ว

ภิญญ์สินี

Writer

กองบรรณาธิการ ศิษย์เก่าเอกปรัชญาและศาสนา ชอบติดตามกระแสสังคม และเทรนด์แฟชั่น สนใจศิลปวัฒนธรรม และสีมงคล ลายนิ้วหัวแม่มือคือลายมัดหวาย

อนุชา ศรีกรการ

Photographer

ช่างภาพที่เกิดวันเดียวกับวันถ่ายภาพโลก เลยทำอย่างอื่นไม่เป็นแล้ว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!