ปี 2562 นี้ เป็นวาระครบรอบ 50 ปีของการที่มนุษย์ได้ไปเดินบนดวงจันทร์เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2512 (ค.ศ. 1969) การที่องค์การการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือนาซ่า (NASA) ของประเทศสหรัฐอเมริกา ประสบความสำเร็จในการส่งนักบินอวกาศขึ้นยานอะพอลโล 11 ไปลงจอดบนพื้นผิวของดวงจันทร์ และสามารถเหยียบบนพื้นดวงจันทร์ได้เป็นคนแรกของโลก ทำให้คนทั้งโลกตื่นเต้นกับความก้าวหน้าครั้งยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ

ในโอกาสครบรอบ 50 ปีของการเหยียบดวงจันทร์นี้ ทางนาซ่าได้จัดเตรียมกิจกรรมหลากหลายเพื่อร่วมเฉลิมฉลอง ดังเช่น การวิเคราะห์ตัวอย่างหินจากดวงจันทร์ ซึ่งนักบินอวกาศไปเก็บกลับมายังโลกตั้งแต่ยานลำแรก คือ อะพอลโล 11 จนถึงยานลำสุดท้าย คือ อะพอลโล 17 รวมแล้วหนักถึง 382 กิโลกรัม และได้เก็บรักษาไว้ในกล่องตัวอย่างที่ปิดผนึกไว้ในสภาพสุญญากาศ ณ ศูนย์อวกาศจอห์นสันของนาซ่า ไม่ให้ใครแตะต้องเลยตลอดระยะเวลาเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเทคโนโลยีในสมัยนั้นยังไม่ดีเพียงพอที่จะวิเคราะห์ก้อนหินดวงจันทร์เหล่านี้อย่างละเอียดได้ แต่ในปีนี้ กล่องเก็บหินดวงจันทร์จะถูกเปิดออก และมีนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำเก้าคณะมาศึกษา ในโครงการ Apollo Next Generation Sample Analysis (ANGSA) ว่าเพราะเหตุใดสารหลายชนิดที่ไม่คาดคิดว่าจะหลงเหลือบนดวงจันทร์ เช่น น้ำ ซึ่งระเหยได้ง่ายมาก แต่กลับยังคงอยู่ได้ทั้งที่ดวงจันทร์ถูกรังสีจากดวงอาทิตย์แผดเผามาหลายร้อยล้านปีแล้ว

ยานอีเกิ้ล หรือยาน Lunar Module ของยานอะพอลโล 11 ที่จอดอยู่บนดวงจันทร์

กิจกรรมอีกอย่างของก็คือ การเชิญชวนให้บริษัทเอกชนต่างๆ มาร่วมพัฒนาวัสดุอุปกรณ์และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะส่งคนกลับไปเยือนดวงจันทร์ให้ได้อีกครั้งในสิบปีข้างหน้า คือ ค.ศ. 2028 (พ.ศ. 2571) เพื่อปูทางสำหรับการเดินทางของนักบินอวกาศไปสำรวจดาวอังคาร ดาวเคราะห์เพื่อนบ้านของโลกเรา ในอนาคต ซึ่งการไปดวงจันทร์รอบที่สองนี้ นาซ่าไม่ได้มุ่งหมายเพียงแค่ไปเหยียบแป๊บๆ แล้วบินกลับมา แต่หาทางตั้งสถานีนิคม ที่นักบินอวกาศสามารถไปตั้งรกรากและนำเอาทรัพยากรบนดวงจันทร์ เช่น น้ำ ออกซิเจนจากดิน และแร่ต่างๆ มาใช้ผลิตเป็นเชื้อเพลิงเพื่อส่งยานอวกาศกลับมายังโลกอีกด้วย

ภารกิจสำรวจดวงจันทร์ไม่ใช่มีแค่นาซ่าแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ยังมีบางชาติบางองค์กรร่วมวง เช่น ประเทศจีนที่เพิ่งประสบความสำเร็จในการส่งยานอวกาศฉางอี้ 4 ซึ่งเป็นยานแบบไม่มีคนขับ ไปลงจอดด้านไกล (far side) ของดวงจันทร์ และทำให้เราสามารถศึกษาดวงจันทร์ในด้านที่เราไม่อาจส่องกล้องมองเห็น รวมถึงบริษัทเอกชนอย่างสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ซึ่งเตรียมการจะส่งนักบินอวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์ให้ได้ในอีกไม่กี่ปีนี้เช่นกัน

แต่ถึงแม้ว่าจะผ่านมากว่า 50 ปีแล้ว ก็ยังมีคนจำนวนมากตั้งข้อสงสัยว่า การเหยียบดวงจันทร์ของนักบินอวกาศนาซ่านั้นเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องลวงโลกกันแน่ พวกเขายืนยันว่า โครงการอะพอลโลทั้งหกภารกิจตั้งแต่ ค.ศ.1969 จนถึง ค.ศ.1972 ซึ่งมีการส่งนักบินอวกาศไปเหยียบดวงจันทร์ถึง 12  คนนั้นที่จริงเป็นเรื่องหลอกลวง เพราะจัดฉากถ่ายทำขึ้นในสตูดิโอลับกลางทะเลทราย บางคนถึงกับยกเอาคลิปวิดีโอจากเว็บไซต์ moontruth.com ซึ่งแสดงบรรยากาศของการถ่ายทำฉากการลงดวงจันทร์และมีการ “เทค” นักแสดงให้ถ่ายใหม่อีกด้วย คลิปนี้อ้างว่าถ่ายทำเมื่อ ค.ศ.1965 ก่อนภารกิจส่งมนุษย์ไปลงดวงจันทร์ แต่ที่จริงแล้ว คลิปดังกล่าวถ่ายทำขึ้นเมื่อ ค.ศ.2002 นี้เองในกรุงลอนดอน และทาง moontruth.com ได้ออกมายอมรับภายหลังว่า เป็นคลิปปลอมที่สร้างขึ้นโดยผู้กำกับชื่อ Adam Stewart  เขาได้อ่านบทความเกี่ยวกับกลุ่มคนที่ไม่เชื่อเรื่องมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์ เลยอยากทำหนังมาล้อเลียนขำๆ เท่านั้นเอง

อันที่จริง ข้อสงสัยต่างๆ ของกลุ่มคนที่ไม่เชื่อว่านาซ่าส่งคนไปเหยียบดวงจันทร์ได้สำเร็จนั้น มีหลายประการที่ฟังขึ้น แต่เราก็มีคำตอบในเชิงวิทยาศาสตร์ให้แก่พวกเขาเช่นกัน ตัวอย่างเช่น “ทำไมฉากหลังของภาพทุกภาพ ที่ถ่ายบนดวงจันทร์นั้นจึงมืดสนิท ไม่เห็นดาวซักดวง ทั้งที่ไม่มีเมฆไม่มีชั้นบรรยากาศมาบดบัง หรือว่าจะเป็นการจัดฉากในสตูดิโอ ?” ที่เป็นเช่นนี้เกิดจากข้อจำกัดของกล้องถ่ายภาพ ซึ่งต้องใช้รูรับแสงที่เล็กมากและใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่สูงมาก เพราะแสงบนดวงจันทร์นั้นเป็นแสงที่สะท้อนจากดวงอาทิตย์โดยตรง ไม่มีชั้นบรรยากาศมากรองแสงไว้ แสงจึงสว่างจ้า จนเปิดรูปรับแสงและใช้ความเร็วชัตเตอร์ตามปกติไม่ได้

นักบินอวกาศ บัซ อัลดริน ของยานอะพอลโล 11 กำลังเดินบนดวงจันทร์

ส่วนข้อสงสัยที่ว่า “ทำไมธงชาติสหรัฐฯ ที่นักบินอวกาศไปปักไว้บนดวงจันทร์ ถึงไม่ลู่ลงแนบเสา แต่กลับโบกสะบัดทั้งที่ไม่มีลมพัด?” คำตอบก็คือ นาซ่าทราบดีว่าบนดวงจันทร์ไม่มีลมพัด และถ้าใช้เสาแบบธรรมดา ธงก็จะลู่ลงแนบเสา นาซ่าจึงได้ทำเป็นเสาอะลูมิเนียมที่มีราวไว้แขวนธง ราวนั้นสั้นกว่าผืนธงเล็กน้อย เพื่อให้ธงมีรอยย่นดูเป็นธรรมชาติ จากนั้น เมื่อนักบินอวกาศปักธงลงไปที่พื้นผิวหินแข็งของดวงจันทร์ ก็จะต้องใช้วิธีปั่นเสาธงให้เจาะพื้นลงไป ส่งผลให้ผืนธงโบกสะบัดไปมา แถมโบกอยู่เป็นเวลานานหลายนาที เนื่องจากไม่มีอากาศมาต้านการสะบัด

บางคนก็เพ่งเล็งไปที่รูปถ่ายรอยเท้าของนักบินอวกาศบนดวงจันทร์ ซึ่งเป็นภาพที่โด่งดังมากว่า “ไม่น่าเป็นไปได้ที่จะมีรอยเท้าเป็นร่องลึกชัดเจนแบบนี้ เพราะบนดวงจันทร์มีแรงโน้มถ่วงน้อยกว่าบนโลกถึงหนึ่งในหกเท่า นักบินอวกาศจึงมีน้ำหนักตัวที่เบามาก จนไม่สามารถจะเหยียบพื้นเป็นรอยชัดแบบนั้นได้ ต้องเป็นรอยเท้าที่สร้างขึ้นมาแน่ๆ”  เรื่องนี้เป็นปรากฏการณ์อันเกิดจากความแปลกของฝุ่นผงละอองบนพื้นผิวดวงจันทร์ที่แตกต่างจากบนโลก ฝุ่นบนดวงจันทร์นั้นเกิดจากการที่ดวงจันทร์ถูกอุกกาบาตพุ่งชนนับครั้งไม่ถ้วน และได้เม็ดฝุ่นผงที่รูปทรงไม่สม่ำเสมอกัน มีผิวหยาบ ไม่เกลี้ยงกลมเหมือนเม็ดทรายบนโลกที่ถูกกัดกร่อนด้วยน้ำและลม เมื่อฝุ่นบนดวงจันทร์ถูกนักบินอวกาศเหยียบ ก็จะยุบตัวเป็นรูปรอยเท้าและคงรูปอยู่อย่างนั้น คล้ายกับเวลาเราเหยียบพื้นปูนเปียกเพียงเบาๆ ก็เป็นรอยเท้าได้

ข้อสงสัยที่น่าคิดอีกเรื่องคือ “ถ้ายานอะพอลโลเคยพานักบินอวกาศไปลงดวงจันทร์จริง แล้วทำไมกล้องโทรทรรศน์ถึงส่องไม่เห็นส่วนของยานและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ทิ้งไว้บนดวงจันทร์ล่ะ? อุปกรณ์สมัยใหม่อย่างกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิ้ล ก็ยังส่องไม่เห็นเลย” ปัญหาคือ กล้องดิจิตอลที่ใช้ถ่ายภาพจากบนกล้องฮับเบิ้ลนั้น ยังมีความละเอียดไม่พอที่จะส่องเห็นวัตถุบนดวงจันทร์ เพราะมันมีความละเอียดเพียง 800×800 จุดพิกเซลเท่านั้น หรือเมื่อคำนวณจากระยะห่างจากดวงจันทร์แล้ว วัตถุนั้นต้องมีขนาดประมาณหนึ่งสนามฟุตบอล กล้องฮับเบิ้ลถึงจะจับภาพได้

ยาน LRO สามารถถ่ายภาพจุดลงจอดดวงจันทร์ของยานอะพอลโลทั้งหกลำได้

ถึงแม้ว่าเรายังไม่มีกล้องโทรทรรศน์ใดที่สามารถถ่ายรูปยานและอุปกรณ์ต่างๆ ของอะพอลโลบนดวงจันทร์ได้ แต่ล่าสุด ยานอวกาศ Lunar Reconnaissance Orbiter (หรือ LRO) ของนาซ่า ซึ่งโคจรในระยะห่างจากผิวดวงจันทร์เพียง 50 กิโลเมตร ก็สามารถถ่ายภาพจุดลงจอดของยานอะพอลโลทั้งหกลำได้ และเห็นทั้งยาน Lunar Module ซึ่งเป็นส่วนครึ่งลำล่างของยานอะพอลโลที่จอดอยู่บนดวงจันทร์ หรือแม้แต่ร่องรอยเส้นทางวิ่งของล้อยานโรเวอร์สำรวจ

ใครที่สนใจคำอธิบายอย่างละเอียดถึงข้อสงสัยอื่นๆ เกี่ยวกับการลงดวงจันทร์ของยานอะพอลโล สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความของสมาคมดาราศาสตร์ไทย เรื่อง “เราไปมาแล้วจริงๆ: จับผิดคนจับโกหก” เขียนโดยคุณวิษณุ เอื้อชูเกียรติ (http://thaiastro.nectec.or.th/news/2002/special/moonhoax.html) แต่ผมเองคิดว่า ถ้าสหรัฐฯ ไม่ได้พานักบินอวกาศไปลงดวงจันทร์ได้สำเร็จจริงๆ ละก็ ชาติมหาอำนาจอื่นๆ อย่างโซเวียตรัสเซีย หรือจีน คงแฉไปนานแล้ว


เรื่อง: รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่