ต่อเนื่องจากตอนที่แล้วครับ กองคาราวานรถยนต์ฮอนด้า ซีอาร์-วี ใหม่ ในกิจกรรม ‘CR-V Reach Out ก้าวออกไป…ให้ไกลกว่าจินตนาการ’ได้ล่องจากกัมพูชาเข้าสู่ลาวใต้ โดยผ่านทางเสียมราฐ – สะตึงแตร็ง – จำปาสัก โดยช่วงเช้าเราได้ขับรถผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองของทั้งสองประเทศ จากนั้นจึงมุ่งหน้าไปยังจุดหมายแรก น้ำตกคอนพะเพ็ง ไนแองการ่าแห่งเอเชีย และรับประทานอาหารเที่ยงกันที่นี่ ก่อนจะเดินทางต่อไปยังปราสาทหินวัดพู
ปราสาทวัดพู โบราณสถานซึ่งเป็นมรดกโลกแห่งที่สองของประเทศลาว ตั้งอยู่บนเนินเขาภู หรือเรียกกันว่าภูควาย ห่างจากตัวเมืองเก่าจำปาสักประมาณ 6 กิโลเมตร ซึ่งปราสาทหินวัดพูและสิ่งก่อสร้างใกล้เคียง ได้รับการรับรองและขึ้นทะเบียนเป็นเมืองมรดกโลกจากองค์การ UNESCO ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 25 พ.ศ. 2544
นอกจากที่นี่จะมีอาณาเขตกว้างขวางแล้ว ภูเขาด้านหลังปราสาทที่เรามองเห็นกันตั้งแต่หน้าทางเข้าจะมีรูปร่างคล้ายนมของผู้หญิงและคนเกล้ามวยผม ซึ่งเป็นที่มาของชื่อภูผาแห่งนี้ว่าเขานมสาวนั่นเองครับ แต่ชาวบ้านนิยมเรียกภูเกล้ามากกว่า
โดยมัคคุเทศก์ประจำปราสาทหินวัดพูได้เล่าให้ฟังว่า ในอดีตที่ตั้งของวัดพูนั้นเคยเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และแหล่งอารยธรรมโบราณถึง 3 สมัย เริ่มจาก ‘อาณาจักรเจนละ’ ในช่วงศตวรรษที่ 6 – 8 ค้นพบจารึกกล่าวถึงการฆ่าคนเพื่อบูชาแด่เทพเจ้า ต่อมาเป็นยุคของ ‘อาณาจักรขอม’ สมัยก่อนเมืองพระนคร ที่เลือกบริเวณนี้สำหรับสร้างปราสาทหิน ราวศตวรรษที่ 9 และสุดท้าย ‘อาณาจักรล้านช้าง’ ได้เปลี่ยนเทวาลัยในศาสนาฮินดูให้เป็นวัดในพุทธศาสนานิกายเถรวาท
ลักษณะของปราสาทเป็นเทวสถานขอม คล้ายกับเขาพระวิหาร สร้างราวพุทธศตวรรษที่ 12 ในสมัยพระเจ้ามเหนทรวรมัน ถือเป็นปราสาทหินที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก สร้างขึ้นก่อนนครวัด ก่อนที่จะย้ายรกรากไปตั้งเป็นอาณาจักรใหม่ ก็ตามประวัติศาสตร์นั่นแหละครับ ราชวงศ์หรือกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ต่างต้องมีพระราชวัง วิหาร เทวสถาน ตามความเชื่อโบราณ ยิ่งยุคไหนเจริญรุ่งเรืองอาณาจักรยิ่งกว้างใหญ่ไพศาล ทุกอย่างล้วนถ่ายทอดผ่านศิลปกรรม ไม่ว่าจะเป็นรูปปั้น รูปสลักหิน แท่นบูชา ไปจนถึงภาพจิตรกรรมฝาผนัง ทุกอย่างคือมรดกทางวัฒนธรรม
สำหรับปราสาทหินวัดพูแห่งนี้ ศิลปกรรมใกล้เคียงกับนครวัดมาก ส่วนใหญ่เป็นภาพสลักจากหิน มีแท่นบูชามากมาย ว่าไปแล้วมีทั้งความงดงามและความน่าสะพรึงไปพร้อมกัน ที่ว่าน่าสะพรึงเพราะเป็นปราสาทหินเก่าแก่ที่มีอารยธรรมยาวนาน มีแท่นบูชายัญ มีศิวลึงค์ มีภาพสลักทวยเทพมากมาย บันไดหินก็ชันไม่ใช่เล่น ต้นไม้ดอกไม้ล้วนทำให้บรรยากาศของที่นี่ทั้งงามและขรึมขลัง สำหรับคนหนุ่มสาวอาจไม่เหนื่อยนักที่จะขึ้นไปจนถึงแท่นบูชา แต่ถ้าคนวัยเกินสามสิบ ผมแนะนำให้เตรียมพร้อมร่างกายมาสักหน่อยครับ เพราะภาพวิวทิวทัศน์ยามอยู่บนยอดปราสาท บริเวณน้ำพุศักดิ์สิทธิ์นั้นช่างงดงามยิ่งนัก ยิ่งยามเย็นอาทิตย์อัสดงแบบนี้ ถือว่าเป็นภาพ unseen จริง ๆ ครับ
ช่วงที่เราเดินทางไปถึง กำลังมีการประดับไฟสำหรับงานประเพณีประจำปีที่เรียกว่า งานประจำปีวัดพู ซึ่งเป็นเทศกาลโด่งดังและดึงดูดนักท่องเที่ยวได้จากทั้งในและต่างประเทศ จัดขึ้นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ติดต่อกัน 3 วัน โดยประชาชนชาวลาวจากทั่วทุกแขวงจะเดินทางนำสิ่งของมาบวงสรวงบูชาตามจุดต่าง ๆ ในบริเวณองค์ประธาน วันสุดท้ายมีพระสงฆ์มาบิณฑบาต พอตกค่ำมีพิธีเวียนเทียนไปรอบ ๆ ปรางค์ประธานอีกด้วย
อ้อ…ทีมงานติดตั้งและประดับไฟ เป็นทีมงานจากเมืองไทยครับ ลาว-ไทย พี่น้องกันจริง ๆ สไตล์และรสนิยมไม่ต่างกันเท่าไหร่ ยิ่งอะไรที่ฮิตในเมืองไทย ไม่นานก็เข้าลาวเช่นกัน เอาเป็นว่าโอกาสหน้าฟ้าใหม่ถ้ามีโอกาสหวังว่าคงได้พบกันอีกนะครับ ขอขอบคุณกิจกรรม ‘CR-V Reach Out ก้าวออกไป…ให้ไกลกว่าจินตนาการ’ ของบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) ที่พาไปเที่ยวในทริป 3 ประเทศ กัมพูชา – ลาว -ไทย ด้วยครับ และที่สำคัญที่สุดขอขอบคุณแฟน ๆ นิตยสารออลฯทุกท่านที่ติดตามกันมาโดยตลอด… ขอบคุณครับ
คอลัมน์ : เที่ยวแล้วเที่ยวเล่า
เรื่อง: เปรียบตะวัน จันทรวาริณ ภาพ : ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย)