นักสืบเสาะเดินทางไปยังบ้านครูมนตรี ตราโมท โดยรถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งตอนนี้การคมนาคมสะดวกสบายขึ้นเพราะมีการขยายเส้นทางเชื่อมต่อเป็นรถไฟฟ้าสายสีม่วง เมื่อลงที่สถานีกระทรวงสาธาณสุข เดินเข้าถนนติวานนท์ 3 และเลี้ยวขวาเข้าแยก 4 มาไม่ไกล จะสังเกตเห็นป้าย ‘บ้านครูมนตรี ตราโมท’ หรือ ‘บ้านโสมส่องแสง’ ได้อย่างชัดเจน
เหตุที่บ้านครูมนตรี ตราโมทมีอีกชื่อหนึ่งว่า ‘บ้านโสมส่องแสง’ นั้น เกิดจากสมัยก่อนมีการจัดสรรที่ดินในซอยพิชยนันท์ เจ้าของที่ดินมีใจรักในดนตรีไทย และชื่นชมผลงานของครูมนตรี จึงตัดถนนจากที่ดินจัดสรรของตนให้ครูมนตรีใช้เป็นเส้นทางทางเข้าออกสู่ซอยพิชยนันท์ได้สะดวกขึ้น และขอให้ครูมนตรีช่วยตั้งชื่อซอยย่อยในที่ดินจัดสรรทั้ง 24 ซอยเป็นชื่อเพลงไทย เพื่อเป็นการอนุรักษ์ความเป็นไทยให้คงอยู่ ซอยบ้านของครูมนตรีมีชื่อว่าซอยโสมส่องแสง ซึ่งเป็นที่มาของชื่อบ้าน
ญาณี ตราโมท บุตรชายคนเล็กของครูมนตรี เป็นผู้มาพูดคุยให้ความรู้แก่พวกเรา เขากล่าวว่า “เริ่มคิดทำพิพิธภัณฑ์มาตั้งแต่ก่อนคุณพ่อจะเสีย เพราะรู้สึกว่าคุณพ่อทำคุณประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองและแผ่นดินไทยไว้มากมาย ครูมนตรี ตราโมทจึงไม่ใช่บุคคลที่เกิดมาแล้วลืมเลือนไปจากความทรงจำของผู้คน แต่เป็นบุคคลที่น่าศึกษา น่ารู้จัก อีกทั้งพิพิธภัณฑ์ในปัจจุบันส่วนใหญ่แสดงวัตถุสิ่งของ แต่ถ้าเป็นพิพิธภัณฑ์ชีวิต หรือ life museum ยังไม่ค่อยมี ผมจึงอยากเปิดบ้านของท่านเป็นพิพิธภัณฑ์ โดยหวังว่าจะเป็นแรงบันดาลใจหรือสร้างประโยชน์แก่คนรุ่นหลัง รวมทั้งวงการดนตรีไทยต่อไป ดังนั้นจึงตัดสินใจทำพิพิธภัณฑ์โดยใช้ทุนของตัวเอง เปิดให้เข้าชมครั้งแรกในวาระครบรอบ 100 ปีครูมนตรี เมื่อวันที่ 8 – 9 เมษายน พ.ศ. 2543”
ตัวบ้านที่ดัดแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์ยังคงสภาพเดิมเหมือนสมัยที่ครูมนตรียังอาศัยอยู่ เฟอร์นิเจอร์และของใช้ทุกชิ้นเป็นของที่ครูมนตรีเคยใช้ อย่างเช่น เตียงนอน ครูมนตรีมักแต่งเพลงก่อนเวลานอน ทำให้ตรงหัวเตียงมีรอยซึ่งเกิดจากการเคาะประกอบจังหวะตอนแต่งเพลง “ไม่รู้ว่ากี่เพลงต่อกี่เพลงที่เกิดขึ้นบนเตียงนอนนี้ ท่านใช้มือเคาะ พอได้เป็นทำนองเพลงก็ลุกขึ้นมาเขียนโน้ต” ญาณีอธิบายให้เราฟังถึงที่มา นอกจากนี้ทุกจุดของพิพิธภัณฑ์ยังมีคำอธิบายถึงประวัติความเป็นมา ความสำคัญของสิ่งของแต่ละชิ้นกำกับไว้ให้เราได้เรียนรู้
ภายหลัง บริเวณบ้านมีการต่อเติมและสร้างอาคารใหม่ขึ้นมาเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งเสริมด้านดนตรีไทย โดยมี 2 กิจกรรมคือ วันครูมนตรี ตราโมท ในวันที่ 17 มิถุนายน ของทุกปี ในสมัยก่อนลูกศิษย์ลูกหาของครูมนตรีจะเดินทางมาจัดกิจกรรมที่นี่ มีการทำบุญและทำกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย อีกหนึ่งกิจกรรมคือวันไหว้ครู จัดขึ้นวันพฤหัสบดีซึ่งถือว่าเป็นวันครูตามประเพณีไทย ในช่วงประมาณเดือนสิงหาคม
บ้านครูมนตรี ตราโมท เป็นเสมือนสถานที่ที่พาเราย้อนเวลา แต่ละส่วนของบ้านฉายภาพเรื่องราวชีวิตและเกียรติประวัติของครูดนตรีไทยผู้ยิ่งใหญ่ ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาสืบไป
ชีวประวัติ
ครูมนตรี ตราโมท เกิดเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2443 ที่ตำบลท่าพี่เลี้ยง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ท่านถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2538 สิริอายุรวม 95 ปี เป็นคีตกวี 5 แผ่นดิน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงรัชกาล 9 ท่านจากไปโดยทิ้งเกียรติประวัติ คุณงามความดี และผลงานมากมายไว้ให้แผ่นดิน ท่านได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาดนตรีไทย ประจำ พ.ศ. 2528
ผลงานที่รู้จักกันแพร่หลายของท่าน ด้านเพลงไทย ได้แก่ โหมโรงมหาราช โสมส่องแสง อัศวลีลา ระบำโบราณคดี เพลงระบำนพรัตน์ ลาวกระทบไม้ เพลงสากล ได้แก่ 24 มิถุนา ในน้ำมีปลาในนามีข้าว เพลงรำวง ได้แก่ รำมาซิมารำ ดวงจันทร์วันเพ็ญ เป็นต้น
บ้านครูมนตรี ตราโมท บ้านเลขที่ 81 หมู่ 11 ถนนติวานนท์ 3 แยก 4 ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000
โทรศัพท์ : 08 1645 5445
เรื่อง: มะลิวัลย์
ภาพ: อนุชา ศรีกรการ