ในปี 2554 “สุนทราภรณ์เดอะมิวสิคัล” ถือกำเนิดขึ้นเนื่องในโอกาส “100 ปี ชาตกาล ครูเอื้อ สุนทรสนาน” ผู้ได้รับการยกย่องจากยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกสาขาวัฒนธรรมดนตรีไทยสากลเปิดวาระการเฉลิมฉลองด้วย “กว่าจะรักกันได้ สุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล” ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างดีทั้งจากแฟนเพลงของสุนทราภรณ์และคนรุ่นใหม่ที่ตกหลุมรักเพลงสุนทราภรณ์ทำให้ “สุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล” เป็นละครเพลงที่มีการพูดถึงและมีผู้ติดตามชมอย่างเหนียวแน่นนับตั้งแต่ครั้งแรกเป็นต้นมา
ปัจจุบัน “สุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล” ดำเนินมาถึงครั้งที่ 7 ซึ่งใช้ชื่อว่า“บ้านเรือนเคียงกัน สุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล” โดยมูลนิธิสุนทราภรณ์ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับบริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัดมาพร้อมวาระพิเศษก่อตั้งวงดนตรีสุนทราภรณ์ครบ 80 ปี ออล แม็กกาซีน มีโอกาสพูดคุยกับ เจี๊ยบ-วัชระ ปานเอี่ยม ผู้กำกับการแสดง และ อู๋-ธรรพ์ณธร ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้กำกับดนตรีถึงการแสดงที่กำลังจัดขึ้นในเดือนมีนาคมนี้
เจี๊ยบเข้ามากำกับการแสดงสุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล โดยได้รับคำชวนจาก อั๋น-วัชระ แวววุฒินันท์ (ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เอส แอล จำกัด ผู้เขียนบทและควบคุมการผลิต) เจี๊ยบเล่าว่า “พี่เกิดในยุคที่เพลงสุนทราภรณ์กำลังฮิต ได้ฟังเพลงสุนทราภรณ์มาตั้งแต่เด็ก เกิดเป็นความประทับใจตั้งแต่ตอนนั้น ตอนอั๋นมาชวน อั๋นบอกว่าคนที่จะกำกับสุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัลได้ ต้องชอบสุนทราภรณ์อย่างมึง หมายถึงพี่ (หัวเราะ) แล้วด้วยความที่ละครเวทีเป็นละครแนวรื่นรมย์ ต้องมีแก๊กมีมุก ซึ่งอั๋นบอกว่าพี่ทำให้คนอื่นหัวเราะได้ จึงชวนมาทำด้วยกัน”
ด้วยความที่เจี๊ยบและอั๋นเป็นเพื่อนและเคยทำละครเวทีด้วยกันตั้งแต่สมัยเรียนคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ จึงรู้ใจและรู้ทางกันเป็นอย่างดี “อั๋นกับพี่ต่างคนต่างรู้ทางกัน บางทีอั๋นเขียนบทมา พี่ก็รู้ว่าอั๋นต้องการอะไร และอั๋นก็เขียนบทเพราะรู้ทันว่าพี่ต้องทำแบบนั้น คือต่างคนต่างรู้ทางกันและมันมาช่วยเสริมกันได้”
ส่วนอู๋ทำหน้าที่ผู้กำกับดนตรีมาตั้งแต่ปีแรกร่วมกับฟอร์ด-สบชัย ไกรยูรเสน และตั้งแต่สุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล ครั้งที่ 3 เป็นต้นมา เขาก็ได้รับความไว้วางใจจากผู้ใหญ่ให้ฉายเดี่ยวอู๋ได้มาร่วมงานกับเจี๊ยบในสุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล ครั้งที่ 2 อู๋เล่าว่ามีความชื่นชอบในวิธีการคิดของเจี๊ยบอยู่แล้ว “อาจเป็นเพราะสาขาวิชาที่เรียนด้วยครับ มัณฑนศิลป์อย่างผมต้องยอมให้สถาปัตย์อยู่แล้ว เขามองภาพรวมทั้งหมดได้ขาดกว่าเรา เราแค่ไปเติมเต็มส่วนที่มีความต้องการเฉพาะทางให้”
หน้าที่ผู้กำกับ ด้านการแสดง เจี๊ยบต้องควบคุมการซ้อมทั้งหมด ช่วยนักแสดงให้เข้าถึงบทบาทตัวละครมากขึ้น และสื่อสารเนื้อหาบทละครออกมาให้คนดูเข้าใจและตามติดเรื่องราวแบบไม่อาจละสายตาได้ ด้านดนตรีอู๋ต้องเรียบเรียงเพลงด้วยวิธีการแบบใหม่ให้แต่คงอัตลักษณ์ของความเป็นสุนทราภรณ์ไว้ และช่วยสนับสนุนให้นักแสดงเข้าถึงอารมณ์เพลงการร่วมงานสุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัลด้วยกันมาหลายครั้ง ทำให้เจี๊ยบและอู๋คุ้นเคยกันดี ทั้งเจี๊ยบและอู๋ต่างคร่ำหวอดในวงการบันเทิง เป็นทั้งนักร้อง นักแสดง ฯลฯ ทั้งสองมีความเห็นตรงกันว่าประสบการณ์ในวงการบันเทิงมีส่วนช่วยในการกำกับละครเวทีเรื่องนี้ได้อย่างมาก เพราะเป็นศาสตร์ใกล้เคียงกัน คือสื่อสารสิ่งที่ต้องการสื่อไปยังคนดูโดยผ่านการกระทำ เสียงร้อง และอารมณ์
สำหรับ “บ้านเรือนเคียงกัน” เจี๊ยบเล่าที่มาว่าได้คุยกับอั๋นผู้เขียนบทแล้วรู้สึกว่าสังคมปัจจุบันการทำงานและไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนทำให้เราหวงแหนความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ความเป็นเพื่อนบ้านถูกกำแพงขวางกั้นจนขาดปฏิสัมพันธ์กัน ซึ่งตรงกับบทเพลง พวกเขาเห็นว่าสามารถนำบทเพลงมาผูกเรื่องให้สนุกสนานได้เจี๊ยบกล่าวว่า “สีสันที่วางไว้ ช่วยๆ กันคิดออกมาว่าอยากให้ดูเป็นการ์ตูนหน่อยๆ จัดจ้านเกินจริงเล็กน้อย ทุกตัวละครมีบทบาทและสีสันซึ่งประกอบให้เรื่องน่าติดตาม หลายคนอาจบอกว่า ‘บ้านเรือนเคียงกัน’ แค่พูดชื่อเพลงก็เดาได้แล้วว่าเรื่องจะเป็นยังไง แต่สิ่งที่อยากให้ทุกคนมาดูคือการดำเนินเรื่องนี่แหละ เพราะคุณไม่มีทางคาดเดาได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผมว่าคุณควรเตรียมผ้าเช็ดหน้าไว้ด้วย เพราะคุณอาจร้องไห้จากการหัวเราะท้องคัดท้องแข็งแน่นอน”
การแสดงครั้งนี้มาพร้อมบทเพลงสุนทราภรณ์ในความทรงจำ เต็มอิ่มทั้ง 22 เพลง อาทิ บ้านเรือนเคียงกัน อุษาสวาท จำได้ไหม ใจรัก และพรานล่อเนื้อ เป็นต้น ผู้กำกับดนตรีกล่าวว่า “ปีนี้จะหนักไปทางบิ๊กแบนด์ (Big band) ซะส่วนใหญ่ เป็นเครื่องเป่าเยอะเกือบทุกเพลงเลย แต่จะมีความป็อบอยู่ด้วยให้รู้สึกเหมือนฟังเพลงป็อปที่ร่วมสมัย นอกจากนี้ก็จะมีแนวบัลลาด (Ballad) บลูส์ (Blues) จังหวะที่เป็นดั๊บสเตป (Dupstep) เข้ามาด้วยหน่อยๆ สวิงแจ๊ซ (Swing Jazz)”
เรื่องย่อ: ด้วยชะตาชีวิตหรือพรหมลิขิตนำพาให้ ต้อม (ปอ-อรรณพ ทองบริสุทธิ์) และแพรวา (แป้ง-พรภัสร์ชนก มิตรชัย) สองคู่กัดที่อยู่บ้านรั้วชิดติดกัน เรื่องอลเวงของคนบ้านเรือนเคียงกันจึงเกิดขึ้น ความสัมพันธ์ที่เริ่มจากพ่อแง่แม่งอนจนกลายมาเป็นคนรู้ใจ แถมยังเป็นกามเทพให้แก่พีท (ต้น-ธนษิต จตุรภุช) และแตงกวา (ซานิ-นิภาภรณ์ ฐิติธนการ) พี่ชายและพี่สาวของทั้งคู่ แต่หนทางความรักของทั้งสองคู่ มิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบด้วยฐานะที่ต่างกัน และแม่ทั้งสองบ้านที่ไม่ถูกกัน เป็นที่มาของอุปสรรคแห่งความรัก แถมยังมีเรื่องราวเกี่ยวพันกับชาวชุมชนที่สุดแสนจะอลหม่าน สร้างความวุ่นวายยิ่งขึ้นอีก ความรักของหนุ่มสาวทั้ง 2 คู่ จะฝ่าด่านกาแพงอุปสรรคทั้งหลาย และสมหวังกลายเป็นบ้านเดียวกันได้หรือไม่
จุดมุ่งหมายของสุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล คือต้องการอนุรักษ์เพลงสุนทราภรณ์ให้คงอยู่เป็นมรดกของคนไทย วิธีการนำเสนอของพวกเขาไม่ใช่การนำเพลงเก่ามาปัดฝุ่นและหาคนที่เสียงใกล้เคียงต้นแบบมาร้อง แต่พวกเขาอยากแสดงให้เห็นว่า เพลงอันทรงคุณค่าแบบนี้มีความเป็นสากล ไม่ว่าใครก็สามารถร้องได้ ทีมงานจึงตีความเพลงสุนทราภรณ์ใหม่ให้เข้ากับเนื้อหาของบทและตัวละคร โดยรักษาเนื้อร้องและทำนองเดิมไว้ แต่เรียบเรียงเสียงประสานและออกแบบการร้องให้ใส่อารมณ์แบบใหม่ ในขณะที่ยังคงอัตลักษณ์และเคารพกฎกติกาของสุนทราภรณ์แบบดั้งเดิมอยู่ ทั้งเจี๊ยบและอู๋มีความเห็นตรงกันว่า
เจี๊ยบ : “ถ้าถามว่าไม่แต่งเพลงใหม่เพื่อแสดงเหรอ พี่ว่ามันไม่ใช่โจทย์ที่เราตั้งไว้ตั้งแต่แรก นี่คือเพลงสุนทราภรณ์ที่คนคุ้นหูกันอยู่แล้ว คนที่เคยได้ยินเพลงนี้ในอดีตสามารถฟังเพลงสุนทราภรณ์ที่เข้ากับเรื่องได้อย่างสนุกสนาน แฟนกลุ่มใหม่ๆ ถึงแม้จะไม่รู้จัก แต่เมื่อดูสุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัลแล้วสนุก เขาจะกลับไปตามหาเองว่าต้นฉบับเป็นอย่างไร”
อู๋ : “ผมอาจจะต้องปรับเปลี่ยนตีความบทเพลงใหม่ให้เหมาะสมกับบทละคร แต่ผมยังเคารพรักเพลงสุนทราภรณ์เหมือนเดิม แต่บางทีเราต้องนำเสนอให้คนรุ่นใหม่ได้ฟังบ้างว่า จริงๆ แล้วเพลงสุนทราภรณ์เป็นได้ทุกแบบ แล้วเมื่อเขาชื่นชอบสิ่งที่เขาได้ยิน เขาก็จะกลับไปฟังต้นฉบับเอง”
ความพิเศษเฉพาะตัวนี้เองที่ทำให้สุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัลได้รับความนิยมอย่างดีจนมีการสร้างอย่างต่อเนื่องมาถึงครั้งที่ 7 แล้วสองผู้กำกับปิดท้ายว่าอยากเชิญชวนให้ทุกคนลองมาดูสุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล แล้วจะพบว่าละครเวทีอาจเป็นสิ่งหนึ่งซึ่งคุณชอบแต่ไม่รู้ตัวก็ได้ ทีมงานและนักแสดงทุกคนทุ่มเทเต็มที่กับงาน เพื่อหวังให้คนดูได้รับความสุขและความสนุกสนานกลับไป
“บ้านเรือนเคียงกัน สุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล” เปิดการแสดงทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์เพียง 10 รอบ ระหว่างวันที่ 2-31 มีนาคม พ.ศ.2562ณ โรงละครเอ็มเธียเตอร์ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ บัตรราคา 2,500 2,000 และ 1,500 บาท สอบถามข้อมูลและจองบัตรได้ที่ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ทุกสาขา
ติดตามรายละเอียดและการจองบัตรได้ที่
Facebook: บ้านเรือนเคียงกัน สุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล
Instagram / Twitter: jslglobalmedia
Line: @suntarapornmusical
เรื่อง : กรพินธุ์ ภาพ : อนุชา ศรีกรการ และบ้านเรือนเคียงกัน สุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล