โรงเรียนสอนดนตรี 0 บาท บ้านดินคีตาทาน

-

คอลัมน์ “บุคคล (ไม่) ธรรมดา” ฉบับนี้ขอพาทุกคนไปรู้จักกับ ครูเบลล่า-นลี อินทรนันท์ ครูจิตอาสาซึ่งเล็งเห็นถึงปัญหาที่มีในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นปัญหายาเสพติด การติดเกม หรืออบายมุขต่างๆ ที่อาจชักจูงเยาวชนไปในทางที่ผิด จึงอยากใช้การเรียนดนตรีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ แต่ดนตรีเป็นการเรียนพิเศษที่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูง พ่อแม่ผู้ปกครองอาจมีปัญหาเรื่องรายจ่าย ครูเบลล่าเล็งเห็นปัญหาทั้งหมดจึงก่อตั้ง ‘บ้านดินคีตาทาน’ ขึ้นมาให้เป็น โรงเรียนสอนดนตรี 0 บาท เปิดโอกาสให้เยาวชนได้เข้ามาเรียนรู้ เลือกเรียนเครื่องดนตรีได้ตามความสนใจ โดยมุ่งหวังว่าการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์นี้จะช่วยลดปัญหาในชุมชนที่จะเกิดขึ้น เรามาพูดคุยถึงมูลเหตุที่ทำให้ครูเบลล่าทุ่มเทแรงกาย แรงใจ และเงินทุนในการก่อตั้งโรงเรียนดนตรี 0 บาทแห่งนี้

ครูเบลล่า-นลี อินทรนันท์

ประวัติคร่าวๆ ของครูเบลล่า
ครูเป็นคนเชียงใหม่ ไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาจนถึงปริญญาตรี หลังจากจบการศึกษาครูกลับมาทำงานที่กรุงเทพฯ อยู่พักหนึ่ง แล้วจึงย้ายกลับมาทำงานที่เชียงใหม่ ทำงานเหมือนคนทั่วไป อาชีพนักธุรกิจต่างๆ นานา ก่อนจะมาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ และได้แต่งงานกับอาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งเขาเรียนมาทางด้านดนตรี ตัวครูเองมีพื้นฐานทางด้านดนตรีบ้าง ร้องเพลงเป็นอยู่แล้วจึงฝึกให้เก่งขึ้น ตอนหลังได้มาเป็นนักร้องให้กับวงของสามี พวกเราทำวงดนตรีแจ๊สด้วยกัน หลังจากนั้นก็มาเป็นครูสอนดนตรีเด็กเล็กๆ พัฒนามาเรื่อยๆ จนสามารถเป็นครูสอนร้องเพลงได้ ซึ่งตอนนั้นเองที่เราเริ่มเห็นศักยภาพในงานของตนว่า มันสามารถไปช่วยเหลือคนอื่นได้

จุดเริ่มต้นของการสอนดนตรีเด็กแบบจิตอาสา
ครั้งแรกที่ทำคือมาช่วยเด็กๆ ที่วัดอุโมงค์ พระรูปหนึ่งท่านดูแลเด็กด้อยโอกาสอยู่ประมาณ 30 คน ครูเลยมาเป็นจิตอาสาสอนภาษาอังกฤษและสอนดนตรีให้ หลังจากนั้นก็ได้เข้าไปช่วยพระอาจารย์ที่วัดประแดงใกล้บ้าน ท่านเปิดสอนธรรมะให้แก่เด็ก เด็กแถวนั้นจะมีปัญหากันเยอะ ทั้งปัญหาด้านยาเสพติด การติดเกม อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องชาติพันธุ์ พระอาจารย์เลยพยายามหาทางแก้ด้วยการเปิดสอนธรรมะทุกวันเสาร์และอาทิตย์ เพื่อให้เด็กมีอะไรทำ ต่อมา พระอาจารย์ได้มาปรึกษาว่าเด็กไม่ค่อยสนใจเลย เริ่มมาบ้าง ไม่มาบ้าง ครูเลยคิดว่าหากเปลี่ยนมาสอนดนตรีเด็กน่าจะชอบ และน่าจะจูงใจให้กลับมาสนใจเรียนได้ ครูจึงขอแบ่งเวลาจากพระอาจารย์ ซึ่งท่านก็อนุญาต เมื่อเริ่มสอนผลปรากฏว่าเด็กให้ความสนใจและตั้งใจเรียนดี แต่ก็มีปัญหาคือเรื่องของการฝึกซ้อม การเรียนดนตรีต้องมีการซ้อม ครูก็ใจป้ำให้กีต้าร์เด็กไปซ้อมเลย ซื้อมา 8-9 ตัว ได้คืนกลับมาบ้าง แต่ส่วนใหญ่คือหายหมด ปัญหานี้ทำให้ท้อมาก

ตอนนั้นเองที่ครูนึกถึงสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดเชียงใหม่ขึ้นมา ที่นั่นเด็กไม่สามารถออกไปไหนได้ และเด็กที่สถานพินิจฯ เขาน่าจะมีความทุกข์ ครูเห็นว่านี่เป็นการเปิดโอกาสให้ดนตรีเข้ามาพัฒนาตัวเขาได้ จึงเข้าไปสอนดนตรีให้และได้รับการตอบรับอย่างดี เด็ก ๆ ให้ความสนใจ ปีแรกครูได้เจอกับเด็กสองคนและรับอุปการะ คนหนึ่งชื่อ “ติ๊ก” คนหนึ่งชื่อ “โอ” ครูเข้าไปสอนที่สถานพินิจฯ สัปดาห์ละครั้ง แล้วก็พบว่ามันไม่เพียงพอ เพราะระยะเวลาที่เด็กอยู่ในสถานพินิจคือสองเดือนครึ่ง หลังจากนั้นสถานพินิจฯ จะตัดสินต่อว่าเด็กต้องถูกกักกันต่อที่เดิม หรือย้ายไปอีกที่ หรือควรจะส่งเด็กกลับบ้าน ซึ่งเด็กที่กลับบ้านส่วนใหญ่จะกลับไปในวงจรเดิมๆ คือกลับไปอยู่ในแหล่งอบายมุขจนทำความผิดซ้ำๆ และต้องกลับเข้ามาในสถานพินิจอีก จุดนี้เองที่ครูคาดหวังว่าดนตรีจะเป็นทางเลือกใหม่ของชีวิตเขา ไม่ให้เขาไปอยู่ในวงจรเดิมๆ ครูจึงหาทางแก้ปัญหาโดยกระจายข่าวบอกเพื่อนๆ ว่าครูจะจัดคอนเสิร์ตการกุศล เพื่อนำรายได้จากตรงนี้มาจ้างคุณครูเข้าไปสอนประจำในสถานพินิจฯ อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ทำให้เด็กได้มีเวลาเรียนดนตรีมากขึ้น ซึ่งคอนเสิร์ตถูกจัดมาเป็นปีที่ 8 แล้วค่ะ

บ้านดินที่สร้างขึ้นด้วยตัวของเราเอง

จากสอนดนตรีในสถานพินิจ สู่จุดเริ่มต้นของบ้านดินคีตาทาน
หลังจากเข้าไปสอนในสถานพินิจ ครูมีความรู้สึกว่าการมาทำงานที่สถานพินิจนั้นเหมือนสายน้ำ หลายๆ คนที่ได้กลับบ้านแล้ว ก็จะกลับเข้าไปสู่วงจรเดิมอีก คือเข้าไปอยู่ท่ามกลางแหล่งอบายมุขและทำผิดซ้ำเดิม ครูเคยเจอเด็กที่กลับบ้านแล้วถูกส่งกลับมาที่สถานพินิจฯ ถึง 12 ครั้ง ครูเลยคิดว่าจะทำอย่างไรให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้น เลยไปปรึกษากับคนรอบข้างว่าเราน่าจะทำบ้านดนตรีนะ สอนดนตรีให้แก่เด็กทั่วไปที่ยังไม่เคยเข้าไปในสถานพินิจฯ ให้พวกเขามีกิจกรรมในทางสร้างสรรค์ทำ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อสิ่งที่เป็นอบายมุข สิ่งนี้เองที่ครูมองว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ อีกทั้งยังมองไปถึงเรื่องรายได้ของพ่อแม่เด็กที่มีไม่มากพอจะส่งลูกไปเรียนพิเศษ จึงอยากทำสถานที่เรียนดนตรีแบบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายขึ้น ช่วงนั้นประจวบเหมาะกับที่ครูได้มาเจอที่ดินผืนหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ดินของเพื่อนครูเอง แถวๆ วัดอุโมงค์ เพื่อนของครูแบ่งปันที่ดินให้สำหรับทำสถานที่ที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ขึ้นมา แต่ก็มีเงื่อนไขว่า เขามีที่ดินเท่านั้นนะ ครูต้องสร้างบ้านขึ้นมาเอง โชคดีที่ได้ไปเจอไอเดียบ้านดินมาจากคุณโจน (โจน จันได ผู้ริเริ่มการสร้างบ้านดินในประเทศไทยและเผยแพร่ให้ผู้ที่สนใจ) เขาสอนให้สร้าง จึงเกิดเป็นบ้านดินที่สร้างขึ้นด้วยตัวของเราเอง มีผู้คนมาร่วมช่วยเหลือในการสร้างมากมาย จนก่อตั้งเป็นบ้านดินคีตาทานขึ้นมาได้สำเร็จ ภายในบ้านจะประกอบไปด้วยห้องนอน ห้องเรียน และห้องนั่งเล่นให้เด็กๆ

เด็กส่วนใหญ่ที่มาเรียนที่บ้านดินคีตาทาน
ส่วนใหญ่คือเด็กในละแวกนี้ค่ะ เป็นเด็กผู้ชายเสียส่วนใหญ่ วันเสาร์และอาทิตย์เด็กๆ เขาก็ไม่ไปร้านเกมแล้ว เขาเลือกที่จะมาบ้านดนตรี เด็กบางคนเขาก็ปั่นจักรยานมาเอง เพราะเขารู้จักบ้านของเราดีอยู่แล้ว บางคนพ่อแม่เขาก็มาส่ง ตั้งแต่เช้า เวลามาก็ไม่ต้องนำข้าวกลางวันติดมาด้วยเพราะเราจะทำไว้ให้ เงินทองก็ไม่ต้องขอพ่อแม่มาเพราะที่นี่แทบไม่ต้องใช้จ่ายอะไรเลย สัญญาณ wifi ที่นี่ก็มีให้เล่น เด็กๆ สามารถเล่นอินเตอร์เน็ตได้ มีอะไรให้เราเรียนรู้เยอะ ทั้งเรียนกีต้าร์ เรียนเป่าขลุ่ย เรียนอูคูเลเล่ เรียนภาษาอังกฤษ ฯลฯ เพราะบ้านหลังนี้เปิดให้ครูท่านอื่นๆ ที่มาทำจิตอาสาช่วยแบ่งปันความรู้แขนงต่างๆ ด้วย

“บ้านดินคีตาทาน” นอกจากสอนดนตรีแล้วยังร่วมแบ่งปันความรู้แขนงต่างๆ

ครูจิตอาสาเข้ามาช่วยสอนวิชาอื่นๆ นอกจากดนตรี
ช่วงปิดเทอมที่ผ่านมา เป็นช่วงที่มีความสุขมาก มีจิตอาสาเข้ามาร่วมสอนเด็กๆ มากมาย ทั้งสอนเย็บผ้า สอนทำเทียน สอนทำสบู่ สอนวาดรูป จัดเป็นโปรแกรมให้กับเด็ก ครูดีใจมากที่มีคนมีจิตศรัทธาเข้ามาสอนสิ่งใหม่ๆ ให้แก่เด็ก อย่างการสอนเย็บผ้า เด็กๆ ให้ความสนใจมาก การได้ใช้จักรเย็บผ้า เด็กชื่นชอบที่สุด จากที่เคยมีแต่เด็กผู้ชายที่มากันเยอะ ตอนนี้มีเด็กผู้หญิงเข้ามาเรียนรู้ด้วย รวมทั้งยังมีเด็กนักเรียนจากโรงเรียนบ้านโป่งน้อยเพิ่มเติมเข้ามา เพราะว่าทางผู้อำนวยการโรงเรียนช่วยประชาสัมพันธ์หน้าเสาธงว่า ทุกวันเสาร์และอาทิตย์กับช่วงปิดเทอม ถ้าหากใครไม่รู้จะไปไหน สามารถมาที่บ้านดินคีตาทานได้นะ เขามีการสอนดนตรีให้ฟรี สอนภาษาให้ด้วย

เรื่องราวของติ๊กและโอ เด็กที่ครูเบลล่าเคยให้การอุปการะ
นายติ๊ก (เจริญ ส่วยอย่า) พ่อแม่เขาโดนตำรวจไล่ล่า จึงหนีออกนอกประเทศไป โดยทิ้งลูกชายไว้จึงทำให้ติ๊กไม่มีที่ไป ส่วนอีกคนเขาชื่อนายโอ (ภัทรภูมิ ธนสุทิน) เขาก็มีแม่อยู่นะ แต่เขาเป็นเด็กที่ด้อยโอกาส ครูอุปการะทั้งสองคนเพราะมองเห็นว่าเด็กทั้งสองสามารถก้าวหน้าไปในเส้นทางดนตรีได้ไกลกว่านี้ ครูจึงบอกพวกเขาว่า “ถ้าเธอสามารถเลิกทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอเคยทำ ครูก็ยินดีที่จะส่งให้เล่าเรียน” หลังจากนั้นทั้งติ๊กและโอก็พยายามเลิกข้องเกี่ยวกับยาเสพติด ตั้งหน้าตั้งตาเรียน และเข้ามาช่วยงานครูด้านจิตอาสา ไม่ว่าจะเป็นงานเก็บขยะ สอนหนังสือ ทำอะไรให้คนอื่น ร้องเพลงให้คนอื่นฟัง การทำงานจิตอาสาเป็นวิธีอย่างหนึ่งที่ทำให้เด็กสองคนแกร่งขึ้น การแบ่งปันน้ำใจจะทำให้รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่มีค่า จากเมื่อก่อนเขาเคยเป็นเด็กที่ไม่มีใครสนใจ ไม่มีใครรัก พวกเขาจึงไม่มีความภูมิใจของตัวเอง แต่งานจิตอาสาเป็นสิ่งที่น่าเจริญ เจริญหู เจริญตา เจริญใจ เราจึงสนับสนุนให้พวกเขาทำงานด้านนี้ต่อไปเรื่อยๆ จนเมื่อบ้านดินคีตาทานถือกำเนิดขึ้นมา ก็ได้ทั้งติ๊กและโอเช้ามาช่วยเป็นกำลังสำคัญ และเป็นคุณครูสอนดนตรีให้แก่เด็กๆ ที่เข้ามาเรียน

ติ๊กและโอ อีกหนึ่งกำลังสำคัญของครูเบลล่า

อีกหนึ่งกำลังสำคัญของครูเบลล่า
อาจารย์เต๊ะ-อิทธินันท์ อินทรนันท์ สามีของครูเป็นอาจารย์ที่จบการศึกษาทางด้านดนตรี จากวิทยาลัยดนตรี Berklee College of Music, Boston ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นปรมาจารย์ทางด้านดนตรีแจ๊สค่ะ เรื่องทางทฤษฎีเขาแน่นอยู่พอสมควร เรามีอะไรสามารถปรึกษาเขาได้ทันทีเลย เพราะฉะนั้นครูจึงภูมิใจกับบ้านดินคีตาทานเหมือนกันว่าโรงเรียนดนตรีของเรา แม้จะเป็นโรงเรียนดนตรี 0 บาท คนที่เข้ามาเรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่เราไม่ได้สอนมั่วนะ เรามีหลักการในการสอน

รายได้ที่นำมาหมุนเวียนให้โรงเรียนดนตรี 0 บาท
ครูเองก็มีธุรกิจขายร้านอาหารที่ให้เขาเช่าอยู่หน้าบ้านครู ครูก็นำเงินส่วนนั้นมาหมุนเพื่อให้บ้านดนตรีอยู่ต่อไปได้ เพื่อนที่รู้จักครู เพื่อนจากที่ต่างๆ เขาก็จะแบบ เฮ้ย… เธอทำเหรอ เดี๋ยวช่วยสนับสนุน เขาก็จะให้เงินมา 1,000-2,000 บาทบ้าง แล้วก็มีบริษัทที่ครูเคยทำงานด้วย เขาก็ส่งเงินมาให้ ครูทำงานพอที่จะสร้างศรัทธาให้คนอื่นได้เห็นว่าเราทำเพื่อแบ่งปันให้เด็กจริงๆ

“บ้านดินคีตาทาน” โรงเรียนสอนดนตรี 0 บาท

สิ่งที่ประทับใจในการทำจิตอาสา 
ความประทับใจจะมาทีละนิดนะสำหรับครู สิ่งนี้มันทำให้เราเชื่อมั่นขึ้นมาเรื่อยๆ อย่างที่เขาบอกว่า น้ำหยดลงหินทุกวัน หินยังกร่อน ทุกอย่างที่เราทุ่มเททำลงไปยังไงมันก็ต้องดีขึ้น ถ้าถามเรื่องความประทับใจ ครูก็พบเรื่องที่ทำให้ประทับใจอยู่ทุกวัน มันทำให้เราได้เรียนรู้ทุกวัน ครูเชื่อว่าการที่คนเราจะมาทำงานจิตอาสาต้องคิดดีคิดในแง่บวก คือถ้าเราคิดในแง่ลบจะทำให้ท้อแท้ง่าย ถามว่าเจอปัญหาไหม เจอปัญหาเยอะมาก แต่ครูมีนิสัยที่คิดบวกเลยทำให้ครูมีพลังเยอะเวลาทำงานออกมาก็ทำออกมาอย่างเต็มที่

ครูเบลล่าได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “ความสุขที่เรามี ที่เราได้ในโลกนี้ไม่นานก็จะหมดไป แต่ความดีที่เราทำหากเราตายไป มันจะยังคงอยู่” มุมมองการให้ที่ยิ่งใหญ่ของครูเบลล่าคงสามารถปลุกแรงบันดาลใจและจิตสาธารณะให้ผู้ที่ได้อ่านอยู่ไม่น้อย

“บ้านดินคีตาทาน” โรงเรียนสอนดนตรี 0 บาท

บ้านดินคีตาทาน
43/14 ซอย 8 รื่นรมย์ ถนนวัดอุโมงค์ ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200
เฟซบุ๊ก: Kitatarn

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก bella.intaranan

กัตติกา

Writer

กองบรรณาธิการ เด็กโบราณคดีเอกไทย ผู้พ่ายแพ้ต่อแมวเหมียวและสิ่งมีชีวิตน่ารัก ชื่นชอบการดูหนังและสีเขียวแต่ดันมีเสื้อสีฟ้ามากกว่าเพราะคิดเอาเองว่าใส่แล้วสวย

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!