บรรจงปั้นฝัน ‘บรรจง ชีวมงคลกานต์’

-

จากสถานการณ์ปัจจุบัน สื่อสารมวลชนมีบทบาทในสังคมสูงขึ้น เพราะเป็นผู้นำข่าวสารต่างๆ เผยแพร่สู่คนในสังคม ออล แม็กกาซีนฉบับนี้จึงขอเปลี่ยนแนวจากการพูดคุยกับดารานักร้อง มาคุยกับผู้ประกาศข่าวชื่อดังแทน นั่นก็คือ “บรรจง ชีวมงคลกานต์” รองผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์เวิร์คพอยท์ทีวี ผู้ทำหน้าที่ “ชงข่าว” แห่งรายการ “ข่าวเวิร์คพอยท์ภาคเช้า” และ “บรรจงชงข่าว” ทางช่องเวิร์คพอยท์ทีวี เพื่อถ่ายทอดเส้นทางชีวิตผู้ประกาศข่าวที่เกิดขึ้นจากความฝันของตนเองสมัยวัยรุ่น ทุกวันนี้เขาสามารถ“ปั้นความฝัน” ให้เป็นจริงด้วยหนึ่งสมองและสองมือของตนเอง

บรรจง ชีวมงคลกานต์

บรรจงเริ่มต้นเล่าให้ฟังว่าเขาอยากเป็นนักสื่อสารมวลชนตั้งแต่ยังไม่ได้เข้าเรียนที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แต่ที่เขาตัดสินใจเรียนนิติศาสตร์แทนนิเทศศาสตร์ตามที่ความใฝ่ฝันนั้น เป็นเพราะตลาดงานนิเทศศาสตร์ในต่างจังหวัดยังมีไม่มากนัก “ผมเกิดที่นราธิวาส ใจจริงแล้วอยากเรียนนิเทศศาสตร์ อยากเป็นนักข่าว แต่ผมนึกไม่ออกว่าเรียนนิเทศฯ จบแล้วจะกลับไปทำอะไรที่บ้าน เพราะตลาดงานนิเทศศาสตร์ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ คุณพ่อเลยแนะนำให้เรียนกฎหมาย มีคนบอกว่าเรียนนิติฯ ต้องท่องจำเยอะ แต่ผมก็คิดว่าน่าจะเรียนได้เพราะชอบอ่านหนังสือ ผมมองว่าเราสามารถนำความรู้ด้านกฎหมายมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย และถ้าวันหนึ่งต้องกลับไปทำงานที่บ้านต่างจังหวัด มีงานรองรับแน่ๆ ไม่ว่าจะสอบบรรจุเป็นข้าราชการหรือเป็นทนายความ ผมยังพอเห็นภาพอาชีพของตัวเองข้างหน้าได้บ้าง”

แม้ตัดสินใจเรียนด้านกฎหมาย แต่ชายหนุ่มก็ยังอยากทำงานด้านสื่อมวลชนอยู่ตลอดเวลา “ผมเรียนกฎหมายได้ค่อนข้างได้ดีนะครับ พอเรียนจบ ผมไปฝึกงานที่สำนักงานกฎหมายติลลิกีแอนด์กิบบินส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ผมฝึกอยู่หกเดือน เพื่อรอสอบใบอนุญาตว่าความของสภาทนายความฯ ถ้าสอบผ่านก็จะได้ใบอนุญาตว่าความ ช่วงนั้นผมหางานทำไปด้วย เพราะเรียนจบแล้ว ก็สมัครงานไปหลายบริษัท มีบริษัทแห่งหนึ่งเขาเปิดรับสมัครผู้สื่อข่าวสายการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมสนใจอยู่แล้ว เลยตัดสินใจส่งใบสมัครไป” บริษัทสื่อที่บรรจงลองส่งใบสมัครไปนั้นชื่อว่า “ช่องไททีวี” เขามารู้ภายหลังว่าคือเนชั่นทีวีที่เพิ่งย้ายออกมาจากสถานีโทรทัศน์ยูบีซี-UBC (บริษัท ยูไนเต็ด บรอดคาสติง คอร์ปอเรชัน จำกัด) ช่องนี้ออกอากาศระบบอนาล็อกเอ็มเอ็มดีเอส (MMDS) หรือที่เรียกกันว่า “เดือยหมู” รัศมีครอบคลุมแค่เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น

แล้วชีวิตของชายหนุ่มก็หักเหอีกครั้ง เพราะเขาไม่ได้ถูกสัมภาษณ์ในตำแหน่งผู้สื่อข่าวการเมือง แต่ถูกสัมภาษณ์ในตำแหน่งผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจแทน บรรจงเล่าว่า “ผู้สัมภาษณ์ผมคือคุณชไมพร คงเพชร บรรณาธิการข่าวเศรษฐกิจในยุคนั้น คุณชไมพรบอกว่าตำแหน่งผู้สื่อข่าวสายการเมืองได้คนเรียบร้อยแล้ว เหลือแต่ตำแหน่งผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ตอนแรกผมจะถอยแล้วนะ เพราะไม่ชอบเรื่องตัวเลข แต่โชคดีที่ก่อนเรียนจบ ผมศึกษาเรื่องการลงทุนในหุ้นมาบ้าง อ่านข่าวหุ้นในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจทุกวัน อ่านหนังสือเกี่ยวกับการลงทุน อ่านข่าวเรื่องหุ้นไอทีวี วันนั้นพี่เขาให้ผมวิเคราะห์เรื่องที่รัฐบาลตรึงราคาน้ำมันว่าจะส่งผลกระทบอะไรบ้าง ผมตอบไปแบบงูๆ ปลาๆ แล้วบอกพี่เขาว่าเรื่องเศรษฐกิจผมอาจไม่ถนัด เพราะไม่ได้เตรียมตัวมา ผมอยากให้พี่ถามเรื่องหุ้นที่ผมพอจะมีความรู้อยู่บ้างมากกว่า เขาก็เปิดโอกาสให้ผมเล่าในสิ่งที่ผมรู้ เล่าไปสักพัก ผมรู้สึกว่าพี่เขาชอบในสิ่งที่ผมตอบ เขาให้ผมไปเทสต์หน้ากล้อง แล้วผมก็ได้งานผู้สื่อข่าวตามที่หวังไว้จริงๆ”

บรรจง ชีวมงคลกานต์

บรรจงได้เป็นผู้สื่อข่าวตามความใฝ่ฝันแบบไม่ทันตั้งตัว เขาบอกว่า “ผมกลัวเหมือนกันว่าจะทำงานผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจไม่ได้ แต่เมื่อได้รับโอกาสขนาดนี้ แถมยังได้ร่วมงานกับนักข่าวรุ่นใหญ่อย่างคุณสุทธิชัย หยุ่น, คุณเทพชัย หย่อง ก็คิดว่าน่าจะได้ประสบการณ์ที่ดี ตั้งใจว่าขอลองทำงานสายนี้สักสามปี ถ้าไม่ไหวจริงๆ ค่อยกลับมาทำงานสายกฎหมาย” ในที่สุดชายหนุ่มก็พิสูจน์ตัวเองได้สำเร็จ เขาทำหน้าที่ผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจอยู่ราวห้าปี และยังได้สั่งสมประสบการณ์การรายงานข่าวด้วย “โต๊ะข่าวเศรษฐกิจของที่นี่เปิดโอกาสให้ผู้สื่อข่าวที่ไปทำข่าวข้างนอกรายงานข่าวเอง ไม่เหมือนโต๊ะข่าวอื่นที่ใช้ผู้รายงานข่าวส่วนกลาง ระหว่างนั้นผมก็ถูกขอยืมตัวไปช่วยอ่านข่าวรอบดึกหลังเที่ยงคืนบ้าง เพราะไม่ค่อยมีคนอยากทำงานเท่าไหร่ ผมก็โอเค ยอมเหนื่อยเพื่อโอกาสในอนาคต จึงเริ่มได้ฝึกทักษะการรายงานข่าวมาตั้งแต่ตอนนั้น”

“หมายจับกับบรรจง” เป็นรายการที่ทำให้ผู้ชมทางบ้านรู้จัก “บรรจง ชีวมงคลกานต์” มากขึ้น รายการข่าวอาชญากรรมสั้นๆ ซึ่งมีผู้ดำเนินรายการใส่เสื้อหนังลงไปทำข่าวในสถานที่เกิดเหตุจริง จุดเริ่มต้นของรายการนี้เนื่องจากเขาต้องไปเป็นพิธีกรเปิดรายการ “จุดชนวน” แทนคุณเทพชัย หย่องที่ติดภารกิจด่วน แล้วไปเข้าตาโปรดิวเซอร์ของรายการพอดี “ตอนนั้นโปรดิวเซอร์รายการนี้คืออาจารย์พิภพ พานิชภักดิ์ ซึ่งปัจจุบันท่านเป็นรองผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (ThaiPBS) ท่านถามผมว่าเคยดูรายการ ‘America’s Most Wanted’ ไหม เป็นรายการที่ตามติดคดีอาชญากรรมต่างๆ ของสหรัฐอเมริกา มีจอห์น วอลช์ (John Walsh) นักข่าวรุ่นเก๋าเป็นพิธีกร วอลช์เดินเรื่องโดยใส่เสื้อหนังและรายงานข่าวจากเฮลิคอปเตอร์ จากสปีดโบ๊ท หรือขี่มอเตอร์ไซค์เพื่อให้ดูสมจริงสมจัง แต่ในบ้านเรายังไม่มีรายการข่าวอาชญากรรมแบบนี้ และเมื่อระดมความคิดกันก็ออกมาเป็นรายการ ‘หมายจับกับบรรจง’ นำเสนอสกู๊ปข่าวอาชญากรรมสั้นๆ ไม่เกิน 5 นาที ออกอากาศในช่วงข่าวเช้าของรายการ ‘สยามเช้านี้’ ทางช่อง 5 ครับ”

เพราะความแปลกใหม่สำหรับทีวีในเมืองไทย “หมายจับกับบรรจง” จึงกลายเป็นคาแร็กเตอร์ที่ติดตัวชายหนุ่มมาโดยตลอด “ตอนนั้นหลายคนก็งงว่าบรรจงมันใส่เสื้อหนังรายงานข่าวกลางแดดเปรี้ยงทำไม บางคนคิดว่าผมเป็นตำรวจ ปล่อยให้ผมเข้าไปในพื้นที่ห้ามเข้าก็มี รายการผมเน้นความเป็นเรียลลิตี้ เช่น เมื่อเกิดคดีฆาตกรรม บางช่องอาจนำเสนอแค่การแถลงข่าวของตำรวจเมื่อจับคนร้ายได้ แต่ผมจะเริ่มจากภาพที่คนดูเห็นแล้วอยากดูต่อ เล่าเรื่องให้น่าสนใจ มีพิธีกรเดินเรื่อง นำเสนอให้สนุก ไม่เป็นทางการจนเกินไป เลยเป็นความแปลกใหม่ของรายการ คนดูเขาก็จำได้”

บรรจง ชีวมงคลกานต์

นอกจากนำเสนอข่าวอาชญากรรมแล้ว ในระยะหลัง “หมายจับกับบรรจง” ได้ทำข่าวเปิดโปงคดีอื่นๆ เพิ่มด้วย “เราอยากได้ประเด็นใหม่ๆ มานำเสนอ เลยเปิดช่องทางให้ติดต่อเข้ามาร้องเรียน เช่น ไม่ได้รับความเป็นธรรมทางสังคม ถูกฉ้อโกง พอมีคนส่งเข้ามา เราก็ไปตามเรื่องให้ คดีฉ้อโกงนี่มากเป็นอันดับหนึ่ง ในฐานะคนทำข่าว บางทีก็เซ็งนะ เราพยายามเตือนและนำเสนอแง่มุมต่างๆ ที่ทำให้รู้ว่าคุณอาจจะถูกโกง แต่เวลาเขาได้ประโยชน์ เขาไม่ฟัง พอโดนโกง ก็มาร้องเรียน ผมเคยถามพวกเขาว่าไม่ได้ดูข่าวกันมั่งหรือ มีตัวอย่างให้เห็นเยอะแยะ เขาก็ตอบว่าเขารู้ แต่ไม่คิดว่าจะโดนกับตัวเอง เขาคิดว่าจะลุกได้เร็ว ออกได้ทัน สุดท้ายก็เป็นเหยื่ออยู่ดี”

เมื่อตั้งใจทำหน้าที่เปิดโปงคดีที่ส่งผลกระทบต่อคนหมู่มาก เขาจึงพลอยฟ้าพลอยฝนถูกฟ้องร้องเป็นคดีความด้วย “ตั้งแต่ทำข่าวมา ผมโดนฟ้องแล้วห้าคดี แต่ไม่เป็นไร ผมทำหน้าที่ของผม นำเสนอข่าวตามความเป็นจริง ไม่มีการกลั่นแกล้งหรือเรียกรับผลประโยชน์ใดๆ ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ มีข้อเท็จจริง มีประชาชน มีข้อกฎหมายเป็นกำแพงหนุนหลัง ใครก็มาทำร้ายผมไม่ได้ แต่ถ้าผมรายงานข่าวผิดพลาด ผมก็ยอมรับและขอโทษ บางข่าวผมอาจพลั้งเผลอไปด้วยข้อเท็จจริงบางอย่าง อาจพาดพิงทำให้ผู้อื่นเสียหาย ผมก็ยินดีขอโทษหรือแก้ข่าวให้ แต่บางกรณีเขาฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อปิดปากไม่ให้ผมนำเสนอข่าวต่อ ผมก็พร้อมที่จะต่อสู้ ผมเคยสู้ถึงขนาดที่ตำรวจสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่าผมนำเสนอข่าวโดยสุจริตใจ เข้าข่ายข้อยกเว้นในคดีหมิ่นประมาทการโฆษณา นั่นคือการติชมโดยสุจริตเพื่อประโยชน์สาธารณะ ข้อยกเว้นนี้ผู้สื่อข่าวสามารถใช้ปกป้องตัวเองได้ครับ”

นอกเหนือจากงานผู้ประกาศข่าวแล้ว บรรจงดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการฝ่ายข่าวของสถานีโทรทัศน์เวิร์คพอยท์ทีวีด้วย เราจึงตั้งคำถามสำคัญเกี่ยวกับจรรยาบรรณสื่อมวลชนที่คนในสังคมเริ่มพูดถึง ชายหนุ่มมองประเด็นนี้ว่า “มีหลายเหตุการณ์ที่ผู้สื่อข่าวถูกถามถึงเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพดารานักร้องหรือคนที่เสียชีวิต การสัมภาษณ์ญาติผู้เสียชีวิตจนแทบละเมิดความเป็นส่วนตัว ผมมองว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่สาระสำคัญของการนำเสนอข่าว ถ้าเป็นนักข่าวมืออาชีพ เขารู้ว่าภาพเหล่านี้ออกอากาศไม่ได้ ที่สถานีโทรทัศน์เวิร์คพอยท์แห่งนี้ เราคุยกันเสมอว่าไม่มีความจำเป็นที่ต้องนำเสนอเรื่องแบบนี้ เพราะรายการข่าวทางโทรทัศน์ถูกคุมเข้มโดย กสทช. (สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) มากกว่าสื่ออื่นอยู่แล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาจมีหลุดออกไปเหมือนกัน โดยเฉพาะในรายการสด เราต้องระมัดระวังและพยายามไม่ให้เกิดขึ้น ผมคิดว่าเราหาจุดขายของรายการไปในทางอื่นได้ ที่ไม่ละเมิดต่อผู้เสียชีวิตและครอบครัว ผมใช้หลัก ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’ เวลานำเสนอให้คิดว่าถ้าเราเป็นคนในข่าวหรือเป็นผู้สูญเสียเอง เราจะรู้สึกอย่างไร”

บรรจง ชีวมงคลกานต์

อีกเรื่องที่กำลังเป็นประเด็นสำคัญ ในสถานการณ์การเมืองที่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน จนส่งผลกระทบต่อการนำเสนอข่าวต่างๆ ด้วยนั้น นักข่าวควรวางตัวอย่างไร บรรจงตอบว่า “เรื่องความชอบหรือไม่ชอบมีอยู่ในใจทุกคนอยู่แล้ว เวลาเราอินมาก เราก็อยากแสดงออก แต่อย่าลืมว่าถ้าแสดงออกมาแล้ว เราเอากลับคืนไม่ได้นะ หลักการของผมคือจะไม่แสดงออกเรื่องการเมืองในที่สาธารณะ เช่น ไม่ไปเวทีใดๆ ทางการเมือง ไม่แสดงความคิดเห็นในสื่อออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ ผมจะไม่ปล่อย hate speech ออกไปเด็ดขาด ผมพยายามระมัดระวังเรื่องเหล่านี้มาก เพราะมันล้ำเส้นการทำหน้าที่ผู้สื่อข่าว ตราบใดที่ยังทำหน้าที่ผู้สื่อข่าว ผู้ดำเนินรายการข่าว หรือสื่อมวลชน เราจำเป็นต้องรักษาจุดยืนของความเป็นมืออาชีพ นั่นคือความเป็นกลางทางการเมือง ผมจึงสามารถสัมภาษณ์นักการเมืองจากทุกพรรคและทุกคนได้ การเป็นนักสื่อสารมวลชนที่ดีคือการสื่อสารกับทุกคนและทุกกลุ่มความคิด ถ้าคุณอยากเป็นสื่อสาธารณะที่ดี คุณต้องทำให้ทุกคนเสพงานของคุณให้ได้”

ผู้ประกาศข่าวหนุ่มได้ฝากถึงคุณสมบัติของนักข่าวที่ดีไว้ด้วยว่า นักข่าวที่ดีต้องสื่อสารและจับประเด็นเป็น อ่านหนังสือให้มากและหลากหลาย นำเสนอข้อเท็จจริง มีความน่าเชื่อถือ และตรวจสอบความถูกต้องในสิ่งที่นำเสนอด้วย สำหรับน้องๆ ที่อยากก้าวสู่การเป็นสื่อสารมวลชน รุ่นพี่อย่างบรรจงบอกว่า “อาชีพนี้เป็นที่สนใจของคนรุ่นใหม่จำนวนมาก ผมอยากให้น้องๆ ทำการบ้านเกี่ยวกับข่าวสารบ้านเมืองให้มาก ศึกษาข่าวทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นข่าวสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ต่างประเทศ อยากให้อ่านหนังสือเยอะๆ พอเข้าใจหรือมีพื้นฐานเหล่านี้ เราจะทำงานง่ายขึ้นด้วย”

ตลอดเส้นทางคนชงข่าวที่ผ่านมา “บรรจง ชีวมงคลกานต์” ได้พิสูจน์แล้วว่าความฝันปั้นได้เสมอ และจากความมุ่งมั่นตั้งใจที่เขาแสดงให้เห็น เราจึงเชื่อว่าความฝันของเขาจะยังไม่จบเพียงแค่นี้อย่างแน่นอน

 


เรื่อง: รินคำ
ภาพ: อนุชา ศรีกรการ

ขอบคุณสถานที่: บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน)
99 หมู่ 2 ต.บางพูน อ.เมืองปทุมธานี จ.ปทุมธานี 12000
โทรศัพท์: 0 2833 2000 โทรสาร: 0 2833 2999

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!