ปัจจุบันโทรศัพท์มือถือได้เข้ามามีส่วนสำคัญต่อชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดช่องทางสำหรับการอ่านนิยายรูปแบบใหม่ผ่านโลกออนไลน์ขึ้นมามากมาย หนึ่งในนั้นคือแอพพลิเคชั่น จอยลดา (Joylada) หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกสั้นๆ กันว่า “จอย” แอพพลิเคชั่นจากค่ายอุ๊คบี (OOKBEE) ที่เป็นแหล่งรวมนิยายรูปแบบใหม่แห่งแรกในประเทศไทยซึ่งเรียกว่า “นิยายแชท” ความไม่ซ้ำใครทำให้โดนใจกลุ่มนักอ่านวัยรุ่นจนได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี
ผู้ที่มาแนะนำจอยลดาในวันนี้คือ เมย์-ธิดาพร พฤกษมาศวงศ์ ผู้จัดการชุมชนนิยายออนไลน์ แอพพลิเคชั่นจอยลดา
ช่วยเล่าจุดเริ่มต้นของจอยลดาให้ฟังหน่อย
ในทีมทำนิยายของอุ๊คบีมีการคุยกันว่าอยากทำแอพพลิเคชั่นอะไรที่มันใหม่ แล้วพวกเราก็มาปิ๊งไอเดียว่า การแชท (chat) ทางโทรศัพท์เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ใช้ในชีวิตประจำวัน หลายๆ ครั้งที่มีการเก็บภาพบทสนทนาบนหน้าจอโทรศัพท์มือถือ หรือแคปแชท (capture chat) ออกมาเป็นเรื่องราวที่อ่านแล้วสนุก จนรู้สึกว่าการแต่งแชทให้เป็นนิยายนั้นน่าสนุกและน่าสนใจ พวกเราทีมงานตั้งสโลแกนของแอพฯ ไว้ว่า “แค่จอยชีวิตก็จอย” เพราะอยากให้มองว่าจอยลดาเป็นการสร้างสรรค์ผลงานอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งสนุกกว่าการจำกัดแค่ว่าต้องอ่านหรือเขียนเพียงอย่างเดียว
ก่อตั้งมากี่ปีแล้วผลตอบรับเป็นอย่างไร
เราเริ่มแผนงานตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ.2560 ค่ะ ช่วงแรกที่ลองทำก็ไม่รู้เหมือนกันว่าผลตอบรับจะเป็นอย่างไร แต่เมื่อเผยแพร่แอพพลิเคชั่นออกมาได้หนึ่งเดือน ปรากฏว่าผลตอบรับดีกว่าที่คาดหวังไว้มาก กราฟแสดงการเติบโตหรือจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันมีผู้เข้ามาใช้งานประมาณ 1 ล้านคน
กลุ่มผู้ใช้งานหลักคือกลุ่มไหน
กลุ่มผู้ใช้งานหลักๆ อยู่ในวัยตั้งแต่ประถมศึกษาตอนปลาย จนถึงน้องๆ ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับมหาวิทยาลัย ผู้ใช้งานแอพฯ ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นแฟนคลับศิลปินเกาหลี เนื่องจากเด็กวัยรุ่นกลุ่มนี้ชื่นชอบนิยายวาย (ชายรักชาย) และเกิดการจิ้น (imagine หรือจินตนาการ) จับคู่ให้ศิลปินที่ตนชื่นชอบกับคนนั้นคนนี้ แอพฯ มีการแบ่งหมวดของเรื่อง และหมวดที่ได้รับความนิยมมากคือ “โกดังแฟนคลับ” ซึ่งเป็นหมวดหมู่ที่รวบรวมแฟนฟิค (fan fiction) หรือนิยายที่แต่งขึ้นโดยนำศิลปินที่มีอยู่จริงมาเป็นตัวละคร
จอยลดาอยากขยายกลุ่มผู้ใช้งานนอกเหนือจากแฟนคลับศิลปินเกาหลีบ้างไหม
อยากค่ะ เราอยากขยายกลุ่มผู้อ่านให้กว้างขึ้น อย่างประเทศอเมริกามีแอพฯ ชื่อ Hooked กับ Tap เป็นเจ้าของเดียวกับ Wattpadก็จะมีนิยายแชทที่เป็นแนวสยองขวัญลึกลับ สืบสวนสอบสวน เสน่ห์ของนิยายแชทแนวสืบสวนคือการให้คนอ่านได้ตื่นเต้นและลุ้นไปกับเนื้อเรื่องว่าบรรทัดต่อไปจะมีอะไรเกิดขึ้น เราคิดว่าจอยสามารถเดินไปในทิศทางที่คล้ายกันได้ จึงน่าสนใจที่จะขยายกลุ่มผู้อ่านไปในแนวทางนั้น โดยมีหมวดหมู่ “เขตอาถรรพ์” ซึ่งเป็นการรวบรวมนิยายแนวลี้ลับ สยองขวัญขึ้นมา
การอ่านในรูปแบบแชทจะทำให้เด็กรุ่นใหม่มีการใช้ภาษาวิบัติมากขึ้นหรือไม่
ด้วยความที่เป็นแชทจึงมีการใช้ภาษาพูดและภาษาเฉพาะในแชทเพื่อเพิ่มอรรถรสการอ่าน ต่อให้ไม่มีแอพฯ จอยลดา เด็กๆ ก็ใช้ภาษาวิบัติหรือภาษาที่ไม่เป็นทางการกันอยู่แล้ว การใช้ภาษาทางการหรือภาษาที่ถูกต้องควรได้รับการแนะนำเพิ่มเติมจากผู้ปกครอง และคุณครูที่โรงเรียน เราไม่ได้อยากให้มองนิยายแชทในจอยเป็นลักษณะวรรณกรรมทั่วไป แต่อยากให้มองว่านิยายแชทเป็นรูปแบบเฉพาะตัว เป็นการคิดค้นสิ่งใหม่ตามยุคสมัยและสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้เด็กๆ เข้าถึงการอ่านได้ง่ายขึ้น และปูเส้นทางสู่นิสัยรักการอ่านต่อไปมากกว่า
ความท้าทายของนักเขียนในการแต่งนิยายแชทมีอะไรบ้าง
นักเขียนจะรู้สึกว่าการเขียนนิยายแชทสร้างความท้าทายให้ตัวเอง เราเคยคุยกับนักเขียนหลายคน ส่วนใหญ่บอกเหมือนกันว่าต้องใช้ไอเดียเยอะมากในการแต่ง ต้องหาทางนำเสนอเรื่องราวผ่านรูปแบบแชทแล้วทำให้คนอ่านเข้าใจเนื้อเรื่องว่าจะดำเนินไปในทางไหน เป็นการเขียนนิยายแบบใหม่ที่สนุกและไม่เคยทำมาก่อน
แอพฯ จอยลดาเปิดกว้างให้นักเขียนอัพโหลดเรื่องราวแนวไหนก็ได้อย่างอิสระ ทีมงานผู้ดูแลแอพฯ มีวิธีควบคุมความเหมาะสมของเนื้อหาอย่างไร
ทีมงานมีการตรวจสอบเนื้อหาด้วย และยังมีปุ่มรีพอร์ทหรือปุ่มแจ้งถึงทีมงานว่าผลงานเรื่องไหนมีเนื้อหาไม่เหมาะสม เราระบุกฎการเขียนนิยายไว้ชัดเจนว่าห้ามลงนิยายที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมกับผู้อ่านที่เป็นเยาวชนหรือละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น หากทีมงานตรวจสอบพบความผิดปกติ นักเขียนจะได้รับแจ้งเตือนให้แก้ไขผลงาน และถ้ากระทำผิดกฎถึง 3 ครั้ง ผลงานจะถูกระงับการเผยแพร่ถาวร
นักเขียนที่นำผลงานมาลงในจอยลดาได้รับค่าตอบแทนด้วยใช่ไหม
ใช่ค่ะ ในจอยลดาเราคำนวณรายได้ที่นักเขียนจะได้รับจากจำนวนการกด (click) ทุกการกดให้ข้อความแชทปรากฏขึ้นหนึ่งครั้งนับเป็น “หนึ่งจอย” ถ้านิยายที่ลงมีคนอ่านเยอะ จำนวนการกดก็มากเป็นลำดับ นักเขียนก็มีรายได้มากตามไปด้วย ยอดเงินเราจะคำนวณให้เป็นรายเดือน เมื่อขึ้นเดือนถัดไปจะเริ่มการสะสมใหม่ แม้ค่าตอบแทนที่เราให้จะไม่ได้เป็นจำนวนเงินที่สูง แต่ก็เคยมีนักเขียนที่ทำได้ถึงหลักหมื่นด้วย นอกจากนี้เราได้เพิ่มระบบที่เรียกว่า “เหรียญและแคนดี้” เข้ามา นักเขียนสามารถตั้งเงื่อนไขปิดล็อคนิยายตั้งแต่ตอนที่ 6 ขึ้นไป ผู้อ่านไม่สามารถเข้าอ่านได้ฟรี หากต้องการอ่านต้องซื้อเหรียญและแคนดี้มาจ่าย เพื่อเป็นกุญแจปลดล็อค เราคาดหวังว่าระบบนี้จะสามารถสร้างรายได้จริงๆ ให้แก่นักเขียนได้
ด้านรายได้ของจอยลดาล่ะมาจากอะไร
รายได้หลักมาจากโฆษณาในแอพฯ ค่ะ รับโฆษณาเข้ามา โฆษณาจะปรากฏขึ้นหลังจบนิยายหนึ่งตอน และหากโฆษณาก่อกวนการอ่านมากไป ผู้อ่านก็สามารถซื้อสิทธิ VIP เพื่อปิดหน้าต่างโฆษณาได้ รายได้อีกส่วนมาจากการขายเหรียญและแคนดี้เพื่ออ่านตอนต่อไปของนิยายนั้นๆ เราแบ่งสัดส่วนรายได้เป็น ของนักเขียน 50% ของแอพฯ จอยลดา 50%
ในอนาคตจอยจะมีการพัฒนาต่อไปในด้านใด
น่าจะเป็นการปรับปรุงบริการให้ดีขึ้นตามความต้องการของผู้ใช้งานค่ะ จริงๆ แล้วจอยมีลูกเล่นเกี่ยวกับการเขียนและการอ่านเยอะมาก เราพยายามปรับปรุงให้ดีขึ้นตามข้อเสนอแนะที่ได้รับ นอกจากนี้เรายังมองไปไกลถึงระดับต่างประเทศด้วย ในขณะนี้เราได้ทำแอพพลิเคชั่นจอยลดาเวอร์ชั่นของอินโดนีเชียแล้ว และอนาคตก็อยากทำจอยลดาเวอร์ชั่นประเทศอื่นๆ อีกด้วยค่ะ
ด้วยความแปลกใหม่และเอกลักษณ์เฉพาะตัวนี้เอง ทำให้จอยลดาเป็นที่พูดถึงมาก ดังเห็นได้จากการติดอันดับเรื่องราวยอดนิยมในทวิตเตอร์ (Twitter) อยู่บ่อยครั้ง แม้ตอนนี้กลุ่มผู้อ่านในจอยลดาส่วนใหญ่จะยังจำกัดอยู่แค่วัยรุ่น แต่ความมุ่งมั่นในการพัฒนาแอพฯ อย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าในอนาคตจอยลดาจะเข้ามาเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับการเขียนและการอ่านสำหรับคนทุกเพศทุกวัย
นักเขียนจอยลดา
เมื่อได้คุยกับทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังการกำเนิดแอพพลิเคชั่นไปแล้ว เรามาพูดคุยกับนักเขียนผู้รังสรรค์ผลงานกันบ้าง น้ำ-ฉันทชา อดิลักษณ์ เจ้าของนามปากกา “MizuMizu” ผู้แต่งนิยายแชทยอดฮิตอย่างเรื่ององฮุนปีที่เจ็ด (องฮุนมาจากชื่อย่อของศิลปินเกาหลี คือ “องซองอู” และ “พักจีฮุน” จากวงบอยแบนด์ Wanna One [วอนนาวัน] ซึ่งเป็นคู่จิ้นกันในหมู่แฟนคลับ)
น้ำเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเขียนนิยายแชทว่าเธอมีความชื่นชอบในศิลปินเกาหลีอยู่แล้ว จึงเริ่มต้นจากการเป็นนักอ่านในจอยลดา เมื่ออ่านไปได้สักระยะ น้ำเริ่มเห็นลูกเล่นใหม่ๆ ที่น่าสนใจเพิ่มเข้ามาในแอพฯ เช่น มีการจำลองหน้าอินสตาแกรม มีการสมมติว่าโพสต์ลงเฟซบุ๊ก มีปุ่มโทร.เข้า โทร.ออก จุดประกายความอยากรู้ว่าหลังบ้านของจอยลดาเป็นอย่างไรในฐานะนักเขียน น้ำจึงลองเปิดเรื่องขึ้นมา
เรื่องแรกในจอยลดาที่น้ำเริ่มแต่งคือจ๊อบที่ห้าของจีฮุน เป็นเรื่องเกี่ยวกับความรักกุ๊กกิ๊กในวัยเรียน เมื่อเรื่องแรกที่ลงแอพฯ ได้ผลตอบรับที่ดี ต่อมาเธอจึงอยากลองแต่งอีกเรื่อง โดยนำเสนอมุมมองความรักที่เป็นความสัมพันธ์ที่โตขึ้นมาหน่อย บอกเล่าถึงปัจจัยอื่นๆ ที่นอกเหนือจากความรักให้มากขึ้น จึงเกิดเป็นไอเดียเรื่ององฮุนปีที่เจ็ด ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับคนสองคนที่จบฉากความรักกันในปีที่เจ็ด แม้ความสัมพันธ์จะยุติลงไปแล้วแต่พวกเขาก็ไม่สามารถแยกทางกันได้ และต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันต่อไปเพื่อคำว่า “ครอบครัว”
การแต่งนิยายแบบบรรยายและการแต่งนิยายแบบแชทมีความยากง่ายที่แตกต่างกัน ความยากของนิยายบรรยายคือการเลือกใช้ภาษา คำเชื่อม หลีกเลี่ยงการใช้คำซ้ำ รวมถึงการใช้หลักภาษาที่ร้อยเรียงตัวเรื่องให้ออกมาสละสลวย ข้อได้เปรียบคือสามารถใส่รายละเอียดลงไปได้เยอะว่าฉากและนิสัยตัวละครเป็นอย่างไร ตัวละครพูดประโยคนี้ด้วยอารมณ์แบบไหน แต่การแต่งนิยายแชทจะตรงข้ามกัน คือภาษาที่ใช้จะง่ายกว่ามาก แชทคือการที่มนุษย์สองคนคุยกัน ดังนั้นภาษาจึงไม่จำเป็นต้องสวยมาก เพราะการใช้ภาษาที่สวยจนเกินไป อาจทำให้ขาดเสน่ห์ของการเป็นแชท ความยากของนิยายแชทคือการที่นักเขียนมีเครื่องมือในการนำเสนอเป็นแค่บทสนทนา (dialogue) อย่างเดียว และไม่สามารถใส่บทบรรยายลงไปได้เลย แม้กระทั่งรายละเอียดง่ายๆ เช่น ฉากหลังเป็นยังไง หรือรายละเอียดอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร ว่าพูดคำนี้ด้วยอารมณ์แบบไหน ความท้าทายในการเขียนของน้ำจึงอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้คนอ่านเห็นภาพใกล้เคียงกับนักเขียนมากที่สุด
นอกจากนิยายแชทเรื่องนี้จะได้รับความนิยมจากผู้อ่านจนมียอดการกดจอยมากกว่า 350 ล้านครั้งและได้ถูกปักหมุดเป็นนิยายแนะนำที่หน้าแอพพลิเคชั่นจอยลดาแล้ว องฮุนปีที่เจ็ด ยังถูกเลือกไปสร้างเป็นซีรีส์ใน “แอพพลิเคชั่น Mello” ของช่อง 3 อีกด้วย ตอนนี้ซีรีส์กำลังอยู่ในขั้นตอนการผลิต ผู้ที่สนใจสามารถรอรับชมกันได้
การใช้งาน
แอพพลิเคชั่นจอยลดา คือการจำลองหน้าตาของแอพพลิเคชั่นสำหรับส่งข้อความพูดคุยออนไลน์ เช่น Line Whatapps ทว่าไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อส่งข้อความ แต่เพื่ออ่านข้อความแทน นักเขียนจะแต่งบทสนทนา (chat) เป็นเรื่องราวในรูปแบบนิยาย ในการเขียนเรื่องนักเขียนจะต้องลงทะเบียนเป็นสมาชิกก่อน แต่สำหรับนักอ่านสามารถเข้าใช้งานได้เลยโดยไม่ต้องสมัครสมาชิก จากนั้นเข้าไปเลือก “เรื่อง” ที่สนใจ ซึ่งมีการแบ่งหมวดหมู่นิยาย อาทิ ถนนสีชมพู (รักกุ๊กกิ๊กใสๆ) ทะเลสีเทา (ดราม่ารันทด) สถานีอวกาศ (วิทยาศาสตร์) เมื่อเลือกเรื่องเรียบร้อยจะปรากฏข้อความแชทขึ้นมาหนึ่งข้อความ หากต้องการอ่านข้อความถัดไป ผู้อ่านต้องกด (click) กรอบด้านล่างหนึ่งครั้ง แล้วข้อความถัดมาจะปรากฏ เสมือนเวลาเราส่งข้อความแชทคุยกัน หากต้องการอ่านข้อความถัดไปอีกก็ต้องกดซ้ำไปเรื่อยๆ กรอบด้านล่างเป็นเหมือนแป้นพิมพ์สมมติ ช่วยให้ผู้อ่านมีอารมณ์ร่วมประหนึ่งกำลังพิมพ์โต้ตอบกับตัวละครอยู่จริง หากผู้อ่านไม่ต้องการเสียเวลากดหลายครั้ง สามารถ “กดค้าง” ที่กรอบด้านล่างไว้เพียงครั้งเดียว บทสนทนาก็จะค่อยๆ ปรากฏขึ้นมาเองทีละข้อความแบบอัตโนมัติ และสามารถตั้งค่าระดับความเร็วในการปรากฏของข้อความได้
คอลัมน์: ถนนวรรณกรรม
All Magazine สิงหาคม 2561