“บางอย่างก็ไม่เปลี่ยนไป แม้อะไรอะไรจะเปลี่ยน” เสียงร้องประโยคแรกในเพลง “มีผลต่อหัวใจ” ที่ทำให้เราต้องหยุดฟังทั้งเพลง “เพราะจัง” คือรีแอ๊คชั่นต่อมาของเรา เจ้าของเสียงร้องไม่ใช่ใครที่ไหน นนท์-ธนนท์ จำเริญ แชมป์รายการ The Voice Thailand season 1 และยังคว้าแชมป์อีกเวทีจากการดวลเพลงในรายการ The Mask Singer หน้ากากนักร้อง season 4 ภายใต้หน้ากากเป็ดน้อย

ไม่เพียงความสามารถทางดนตรีที่ใครได้ฟังก็ต้องชื่นชม แต่การเปลี่ยนแปลงของรูปลักษณ์ภายนอกยังกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนด้วย จากเด็กหนุ่มใส่แว่นตัวสูงเก้งก้าง ที่ยิ้มอย่างเขินอาย กลายเป็นชายหนุ่มหุ่นดี รูปงาม มีความมั่นใจมากขึ้น พัฒนาการทุกอย่างของนนท์ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นภายในวันสองวัน แต่มาจากการฝึกฝนและทุ่มเท เราจึงชักชวนนนท์มาพูดคุยถึงช่วงเวลาแห่งการบ่มเพาะ เป้าหมาย รวมทั้งกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่ได้รับ

นนท์-ธนนท์ จำเริญ

เลิกคุยทั้งตำบล เพื่อนั่งคุยกับนนท์ The Voice

กว่าจะเป็นผู้ชนะถึงสองรายการใหญ่ นนท์ผ่านการประกวดมาหลายเวทีแต่ตกรอบตลอด เจ้าตัวบอกว่าไม่ต้องรอฟังผล ร้องเสร็จกลับบ้านเลย ทว่ายังคงประกวดเรื่อยมาตั้งแต่ราวๆ 6 ขวบ จนอายุ 16 ปี โดยไม่ล้มเลิก นนท์เริ่มต้นบทสนทนาด้วยการเท้าความเล่าถึงช่วงแรกพบความฝัน และช่วงเวลาไขว่คว้าความฝัน เพราะความฝันอาจเกิดขึ้นได้ในไม่กี่นาที แต่การสมดังฝันจำเป็นต้องใช้เวลา

“ต้องเล่าเป็นสองเฟส (phase) เฟสหนึ่งเริ่มต้นตอนเป็นเด็ก 6-7 ขวบ ผมดูรายการแมลงมัน เกมฮ็อตเพลงฮิต เห็นศิลปินอย่างวงพอร์ส วงพราว โมเดิร์นด็อก แล้วประทับใจอยากมีวงดนตรีแบบเขา แต่ว่าผมยังเป็นเด็ก ยังทำวงไม่ได้ แล้วต่างจังหวัดมีแต่วงลูกทุ่ง ดังนั้นแนวเพลงแรกที่ร้องคือลูกทุ่ง อยู่วงเดียวกับพี่แก้ม The Star และน้องสาวพี่แก้ม พอร้องได้สักพักก็แน่นอนว่าต้องไปประกวด จริงๆ ผมไม่ได้ชอบประกวดเดี่ยวแบบเปิด backing track หรือเปิดคาราโอเกะ ณ ตอนนั้นยังไม่รู้สึกชอบการร้องเพลง มันรู้สึกเหมือนจะใช่แต่ก็ไม่ใช่ เพราะความใฝ่ฝันไม่ใช่เป็นนักร้อง แต่คือการมีวงดนตรี ทว่าก็ไปประกวดเพราะอยากใช้โอกาสให้คุ้ม ยิ่งเราไม่ใช่เด็กหน้าตาดีที่ใครจะยื่นโอกาสทองให้ การขึ้นเวทีอย่างน้อยก็ได้ฝึกฝน

“เฟสสอง เมื่อผมเก็บประสบการณ์ได้สัก 6 ปี พอขึ้นชั้น ม.ต้นก็เริ่มฟอร์มวงกับเพื่อนได้แล้ว ตอนนั้นเล่นห่วยแตกมากแต่สนุก ความฝันในการมีวงเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ได้ร้องแนวสตริงแบบที่ใฝ่ฝันตั้งแต่เด็ก และเริ่มเดินสายประกวด จริงๆ เป้าหมายไม่ใช่การเป็นแชมป์ ไม่ได้อยากเป็นศิลปินด้วย แค่ทำยังไงก็ได้ให้มีโอกาสเล่นดนตรีกับเพื่อนบ่อยที่สุด ผมไปห้องซ้อมบ่อยๆ เพราะฉะนั้นจึงต้องหาเวทีขึ้น ก็เป็นที่มาของการเดินสายประกวด

“อย่างที่รู้กันผมไม่ได้ชนะบ่อยนะ เพิ่งมาเริ่มชนะตอนทำวงดนตรี แต่ตอนประกวดลูกทุ่งแพ้ตลอด บางเวทีเขาล็อคผลไว้ เช่น ลูก ผอ. อบต. ที่ยังไงก็เข้ารอบสุดท้ายแน่ เราร้องเสร็จเตรียมตัวกลับบ้านได้เลย พ่อแม่คนอื่นเตรียมคำชม แต่พ่อแม่ผมเตรียมคำปลอบใจ ถามว่าเสียใจไหม มีเสียใจ มีท้อ ช่วงหนึ่งบอกไม่ไปแล้วนะแม่ เหนื่อย เจอคนดูโห่ก็มี สมัยผมเป็นเด็ก 8 ขวบ ยังประกวดวงดนตรีลูกทุ่ง แต่ละที่เขามีวงประจำท้องถิ่น ซึ่งครั้งนั้นเขาไม่ได้ขึ้นเล่น แต่เขาเกณฑ์เด็กในวงไปยืนหน้าเวที ใครขึ้นร้องโดนโห่ไล่หมด เรายังเด็กแค่ร้องไม่ให้เพี้ยนยังยากมาเจอคนโห่คือสั่นเลย แม่เล่าว่ามือที่ถือไมค์สั่นหงึกๆ แต่ไม่ร้องไห้ ร้องเพลงจนจบ ลงเวทีมาค่อยร้องไห้ หลังจากเหตุการณ์นี้แม่สนับสนุนเต็มที่ เขาเห็นว่าการร้องเพลงทำให้เราโตขึ้น รู้ว่าสิ่งไหนควรพักไว้ก่อนถ้าอยู่ในเวลางาน ดังนั้นพ่อแม่จึงไม่เคยบอกให้ผมเลิก

นนท์-ธนนท์ จำเริญ

“หลายๆ คนมักคิดว่าผมประสบความสำเร็จเมื่อได้ตำแหน่งแชมป์รายการ The Voice ผมกลับมองว่าตัวเองประสบความสำเร็จตั้งแต่มีวงดนตรีอย่างที่ใฝ่ฝัน เราคิดถึงสิ่งนี้มาตลอดตั้งแต่ 6 ขวบ เราใช้เวลา 7 ปีในการเดินทาง จนสำเร็จเมื่อตอนอายุ 13 ส่วนการประกวดจะชนะหรือไม่ผมไม่ซีเรียสนะ เรารู้ว่ารายการต้องการคนบุคลิกภาพดี เราหน้าตาไม่ดี ส่วนบุคลิกนั้นผู้หญิงยังกลัว นักกีฬาวิ่งรูปร่างผอมๆ ลีนๆ เรารู้ตัวว่าไม่ได้เข้าตาใคร เลยไม่คาดหวังผลลัพธ์ แต่คาดหวังสิ่งที่ได้ระหว่างทางมากกว่า อีกอย่างผมรู้สึกว่าพ่อแม่พยายามมากกว่าผมอีก หาเงินให้เราไปห้องซ้อม ขับรถรับส่งข้ามจังหวัด รอจนเที่ยงคืนตีหนึ่ง โชคดีที่ครอบครัวเปิดโอกาส ตอนมาประกวด The Voice ผมคิดแค่ว่าร้องให้คุ้มค่ารถก็พอ ไม่ได้หวังเข้ารอบ”

แม้รางวัลจะไม่ใช่ผลลัพธ์ที่คาดหวังไว้ แต่ประสบการณ์จากการประกวดร้องเพลงตั้งแต่เด็กก็ทำให้นนท์ได้เรียนรู้ไม่น้อย “แรกๆ ผมคิดนะว่าทำไมเราไม่ชนะสักที เราพลาดตรงไหน คนที่ได้ตำแหน่งเข้ารอบนะ ร้องเนื้อผิด ร้องไม่ครบ แผ่นกระตุกร้องต่อไม่ได้ยังเข้ารอบ หลังๆ เริ่มเรียนรู้ว่าการร้องเพลงเป็นเรื่องของรสนิยม ไม่มีผิดถูกตายตัว ในฐานะนักร้องผมมีหน้าที่ร้อง แต่ไม่สามารถให้คนทุกคนชอบเสียงผม ชอบสไตล์ผม อาจมีการโกงบ้าง แต่พ่อแม่สอนว่า รัก โลภ โกรธ หลง เป็นสิ่งมีพลังมากที่สุด เปลี่ยนให้คนรู้ถูกผิดกลายเป็นไม่รู้ ขณะเดียวกันถ้าใช้ความรักในทางที่ถูกก็แปรเป็นพลังให้พยายามมากขึ้นได้ ผมพยายามไม่เปรียบเทียบตัวเองกับใคร เราเป็นเขาไม่ได้ และเขาก็เป็นเราไม่ได้”

พอได้รับตำแหน่ง ผู้ชนะส่วนใหญ่จะรีบสานต่อชื่อเสียง ตีเหล็กตอนยังร้อน ทว่านนท์เลือกกลับไปเรียนก่อน “หลังจากจบรายการผมอยู่ในช่วงช็อคด้วยซ้ำ คือผมปรับตัวกับชื่อเสียงไม่ทัน เราไปไหนเจอคนไม่รู้จักแล้วทักเหมือนรู้จักกัน เราจำเขาไม่ได้ เราเสียมารยาทรึเปล่า แล้วเราไม่ได้มั่นใจรูปลักษณ์ภายนอกของตัวเองอยู่แล้ว จึงมีความเขินอาย และยังมีเรื่องงานด้วย พอเข้าสู่เส้นทางมืออาชีพเต็มตัว มันพลาดไม่ได้ โดยเฉพาะในยุคนี้มีการถ่ายคลิป บันทึกทุกอย่างแม้แต่ข้อผิดพลาดก็จะอยู่กับเราไปตลอด ยิ่งผมไม่ได้คิดฝันจะเป็นนักร้อง อยากเป็นคนเบื้องหลัง จึงเต็มไปด้วยแรงกดดัน บอกแม่ว่าคืนรางวัลได้ไหมแล้วกลับบ้านกัน ขอให้โต มีภูมิคุ้มกันกว่านี้ก่อน โชคดีแม่บอกให้ไปเรียนก่อน แล้วถ้าถึงเวลาทำงานก็ทำให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ ไม่ต้องไปเทียบกับใคร ดีที่สุดเท่าที่ศักยภาพเรามี

นนท์-ธนนท์ จำเริญ

“ช่วงเวลาที่เหมือนหายไปจากวงการ จริงๆ ผมไม่ได้หยุดนะ ผมพัฒนาตัวเองทุกวัน เราฟัง เราฝึก เราพยายามมากขึ้นกว่าเดิม แม้ผลิตงานออกมาน้อย แต่ทุกนาทีที่หายใจเราเล่นดนตรีตลอด ผมเริ่มชอบวิถีชีวิตหลังจากเป็นศิลปินแล้ว ศิลปินเป็นอะไรที่มหัศจรรย์มาก คนไม่รู้จักกันออกจากบ้านเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อมาดูเรา บทเพลงทำให้เรามาเจอกัน เรารู้สึกว่าต้องตั้งใจแล้วนะ จะสุกเอาเผากินไม่ได้ องค์ประกอบงานทุกชิ้นในวงการบันเทิงไม่ได้เกิดจากคนคนเดียว เกิดจากความร่วมมือของหลายคน ผมเป็นแค่คนเบื้องหน้า ถ้าไม่ประสบความสำเร็จก็แค่ไม่เป็นที่จดจำ แต่ทีมงานบางคนมีเดิมพัน ถ้าไม่ได้ตามนี้ถูกเปลี่ยนทีม อีกทั้งแฟนเพลงก็ไม่เคยทิ้งเราเลย บางเพลงด้วยทักษะที่ไม่ถึงขั้น เราฟังตัวเองยังรู้สึกตะขิดตะขวงใจเลย จึงพยายามฝึกหนักเพื่อซื่อสัตย์ต่อทีมงาน ต่อแฟนๆ และตัวเองด้วย

“นอกจากเรื่องการร้องก็เรื่องรูปลักษณ์ ถึงรายการ The Voice จะเน้นแค่เสียงร้องล้วนๆ แต่เมื่อประกวดเสร็จแล้วอยู่ในวงการบันเทิงเต็มตัว วงการนี้มีแต่คนหน้าตาดี เราจึงต้องพัฒนาตัวเอง เริ่มจากหัดเสพแฟชั่น แต่งเป็นคนนั้นคนนี้ตามเขา เดินตามรอยเท้าคนอื่นก่อนแล้วค่อยสร้างรอยเท้าตัวเอง ผมใช้เวลา ไม่ใช่อยู่ๆ ก็ดูดีเลย บังเอิญว่าเราหน้าตาไม่น่าดูมาตั้งแต่แรก เลยได้รับคำแนะนำสารพัด ใช้ครีมตัวนี้สิ เคยไปสปาไหม ผมเป็นนักกีฬา สบู่ก้อนเดียวใช้ทั้งตัว วิ่งครบสามเซ็ต กินน้ำแก้วหนึ่ง แต่วงการบันเทิงไม่ใช่ เขาจิบน้ำเยอะๆ ผิวจะได้ชุ่มชื้น พอย้ายมากรุงเทพฯ ได้ใกล้ชิดกับแม่มากขึ้น แม่เป็นอดีตเจ้าของร้านเสริมสวยเลยช่วยดูแล ทุกวันนี้สกินแคร์ต่างๆ แม่เป็นคนจัดหาให้ ยิ่งผมแพ้ง่ายต้องใส่ใจตัวเอง

“เมื่อเราพัฒนาตัวเองจนสุดความสามารถ
ผลสุดท้ายคือโอกาสต่างๆ ที่ได้รับ ไม่ใช่แค่งานเพลง
มีทั้งการเดินแฟชั่นโชว์ งานแสดง ถ่ายแบบ มันได้กับตัวเราเองจริงๆ”

คนทั่วไปไม่เคยมีภาพจำเกี่ยวกับนนท์ในช่วงเวลาที่ค่อยๆ “เปลี่ยนแปลง” มาเห็นนนท์อีกทีกลายเป็นหนุ่มหล่อ จึงเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำศัลยกรรมมารึเปล่า ทำอะไรมาบ้าง เป็นคำถามซ้ำๆ ซากๆ ที่ตอบไม่รู้จบ “เบื่อคำถามมาก แต่มันก็ให้บทเรียนนะครับ ผมรู้เลยว่าสังคมเรา ‘ตัดสิน’ โดยไม่สน ‘ข้อเท็จจริง’ ไม่สน ‘การพิสูจน์’ เขาไม่รู้จักเราด้วยซ้ำแต่ตัดสินแล้วว่าเราต้องไปทำศัลยกรรมมาแน่ ผมเป็นวัยรุ่นที่เล่นโซเชียล แน่นอนว่าต้องเข้าไปอ่านคอมเมนต์ บางอันเป็นไปในทางบวก เช่น ไอดอลอะไรวะ เปลี่ยนได้ขนาดนี้เลยหรอ เดี๋ยวดูกู แล้วก็เอารูป before/after มาแข่งบ้าง แต่บางคนพูดเป็นตุเป็นตะว่าไปทำกับหมอคนนี้ ที่นี่ ผมอ่านแล้วตลก เป็นสิทธิของเขาที่จะพูด แค่รู้สึกว่าใจคนมันแคบเสียเหลือเกิน แต่แม่จะคอยบอกว่าขยะมันไม่เลอะเราหรอก ถ้าไม่เดินไปหยิบใส่กระเป๋าเอง จริงๆ ก็เป็นเรื่องที่ดีนะ เพราะพัฒนาการก้าวกระโดดจนคนไม่เชื่อว่าเราสามารถทำได้ ถ้าอยากพิสูจน์มาเลย สแกนกะโหลกผมได้เลย

“สิ่งหนึ่งที่เราพูดกับตัวเองตลอด คือจะไม่วิจารณ์แบบนี้กับคนอื่น เพราะรู้แล้วว่าเขารู้สึกยังไง ยิ่งคนที่ไปด่าเขาแรงๆ กลายเป็นว่า คนถูกวิจารณ์จริงๆ เป็นยังไงไม่รู้หรอก แต่คนที่ไปวิจารณ์เขาเผยให้เห็นนิสัยส่วนตัวออกมาแล้ว นี่คือสิ่งที่ได้เรียนรู้ การวิจารณ์ถ้าทำแล้วไม่ก่อประโยชน์ นิ่งเฉยไว้ดีกว่าไหม ให้กำลังใจกันดีกว่า โลกน่าจะต้องการแบบนี้ เอาจริงนะผมกลัวยุคนี้ที่ทุกคนไม่ชอบสิ่งไหนก็แสดงออก หนักกว่าคือไปทำลายสิ่งนั้นด้วย ผมทวีตลงทวิตเตอร์ของผมเลยนะว่า ‘ไม่รักสิ่งไหนก็อย่าไปทำลาย’ ยุคสมัยก่อนเราไม่ชอบอะไรก็แค่ทิ้งไว้ ไม่สนใจ แต่ปัจจุบันไม่ชอบดาราคนไหน ยังไม่รู้จักเขาก็ตามไปด่าแล้ว ผมไม่โดนขนาดนั้นหรอก เพียงแต่รู้สึก เราจะสร้างสังคมที่เป็นรากฐานของอนาคตแบบนี้จริงหรือ ใครจะไปรู้ วันนี้คุณด่าคนอื่น วันหนึ่งอาจเป็นลูกหลานคุณที่ถูกด่าบ้าง”

เส้นทางในวงการบันเทิงที่นนท์หวังไว้ ไม่ได้ยิ่งใหญ่ไปกว่าการได้ทำเพลง R&B แนวโปรด เท่าที่ทำไหว เพราะความใฝ่ฝันของเขาสำเร็จลงแล้วตั้งแต่วันที่ได้มีวงดนตรีเล่นกับเพื่อน “ท้ายที่สุดคุณภาพจะเป็นสิ่งที่ยืดอายุงานของเราให้อยู่ได้นาน เปลือกหรือสิ่งฉาบฉวยชั่วคราววันหนึ่งก็ต้องเสื่อมหายไป ผมไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นดารา ซุป’ตาร์ เราเป็นแค่คนธรรมดาที่ทำงานในวงการบันเทิง มีรัก สุข ทุกข์ เศร้า เหมือนคนอื่น แค่ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขโดยไม่เห็นแก่ตัว”

นนท์-ธนนท์ จำเริญ

“คนที่ไม่สมบูรณ์” นิยามที่เคยให้ไว้แก่ตัวเอง ทุกวันนี้นักร้องหนุ่มยังมองตัวเองแบบนั้น “ผมใช้คำนี้เพื่อเป็นตัวล่อให้เราไม่หยุดพัฒนา ต่อให้อายุ 50 ปีก็จะไม่บอกว่าตัวเองร้องเพลงเก่งที่สุด เรายังต้องซ้อม ถึงจะเล่นเพลงเดิมก็ตาม ไม่ใช่แค่ความซื่อสัตย์ แต่เพื่อไม่ประมาท เพราะเราไม่สมบูรณ์ด้วย ถ้าคุณคิดว่าไม่สมบูรณ์ รู้ตัวอีกทีคุณอาจไปไกลเกินกว่าความสมบูรณ์แบบที่จินตนาการไว้ ตอนนี้อยู่จุดที่ 5 หรือ 6 รู้ตัวอีกทีอาจไปอยู่จุดที่ 20 ทั้งที่ตอนแรกกะมาแค่ 10 ก็พอ ผมเป็นนักกีฬาวิ่ง ถูกสอนมาว่าไม่ต้องไปดูเส้นชัย ดูแค่ระยะข้างหน้า เพราะเราไม่รู้หรอกว่าพื้นข้างหน้าจะต่ำหรือสูง บางทีย่ำไปแล้วดูดเท้ารึเปล่า เพราะฉะนั้นอยู่แค่ปัจจุบัน ผมเอาหลักการนี้มาใช้กับการทำงาน ทำปัจจุบันให้ดี แล้วปัจจุบันจะสร้างอนาคตให้เราเอง
บทสนทนาวันนี้ทำให้รู้ว่า แม้นนท์จะเปลี่ยนจากเด็กหนุ่มบ้านๆ สู่ชายหนุ่มรูปหล่อ แต่ความเป็นกันเอง ตั้งใจ และจริงใจ อย่างที่คนไทยเคยตกหลุมรักและเทใจโหวตเมื่อครั้งประกวด The Voice ยังคงอยู่เป็นเนื้อแท้ของเขา

แม้อะไรๆ จะเปลี่ยน แต่บางอย่างก็ไม่เปลี่ยนไปจริงๆ

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่