ต้นไม้ให้ความ ชุ่มชื่น แก่ชีวิต นกตัวนิด ให้เสียงเพลง แก่โลกหล้า
ดอกไม้ ให้ความงาม ผ่านสายตา แม้ต้นหญ้า ก็ยังให้ ออกซิเจน
แล้วตัวเรา เกิดมา ในโลกนี้  ทำสิ่งดี อะไรไว้ ให้โลกเห็น
กิน นอน เล่น เท่านั้นหรือ ที่ทำเป็น ไม่ดีเด่น กว่าบรรดา ต้นหญ้าเอย
ชีวิต ไร้สาระ ขณะนี้    ยังไม่สาย เกินที่ จะแก้ไข
เพราะบางคน อาจจะตาย ก่อนถึงวัย มรณภัย ไม่ได้รอ ให้ต่อรอง

ขอความเจริญในธรรมจงมีแด่ทุกๆ ท่าน พระมหาสมปองมาอีกแล้ว ฉบับนี้อาจจะมาแปลกนิดหนึ่ง

โยมทุกท่าน ทุกอย่างในโลกนี้ล้วนแต่มีคุณค่าในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ นกหนูปูปลาหรือแมลงก็ล้วนแต่มีคุณค่าทั้งนั้น อย่างผีเสื้อหรือผึ้งตัวเล็กๆ ก็หาน้ำหวานเพื่อเลี้ยงชีวิต แต่ในขณะที่กำลังหาอาหาร สัตว์ตัวเล็กเหล่านี้ได้ทำสิ่งมหัศจรรย์ คือผสมเกสรดอกไม้ เพื่อขยายพันธุ์พืชอย่างมหาศาล

จากตัวอย่างนี้สะท้อนให้เราได้เห็นว่า เราไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่งที่ใหญ่โต ขอเพียงทำหน้าที่ของตนเองให้ดี คุณค่าย่อมบังเกิด เราอย่ารอให้คนอื่นมาชื่นชม ขอให้เรานิยมชมชอบในการทำความดี

ที่อาตมาพูดแบบนี้ก็เพราะว่า ชีวิตผ่านมาเท่าไหร่เรารู้ ชีวิตเหลือเท่าไหร่เราไม่รู้

โยมทุกท่าน ชีวิตของเรานี้สั้นนิดเดียว หายใจเข้าแต่ไม่หายใจออกก็ตายแล้ว ถ้าโยมไม่เชื่อลองทำตามอาตมา เดี๋ยวอาตมาจะพาตาย หายใจเข้าลึกๆ แล้วไม่ต้องหายใจออก ทิ้งไว้สักสิบนาที เท่านี้ก็ตายแล้ว

ไม่ต้องไปฆ่าใครเขา ไม่ต้องไปฆ่าตัวตาย เพราะเดี๋ยวเราๆ ท่านๆ ก็ตายแล้ว

พระพุทธเจ้าจึงสอนให้เราไม่ประมาทในชีวิต และพระองค์ทรงกล่าวเป็นโอวาทครั้งสุดท้ายว่า

“ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนท่านทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด” นี่เป็นพระวาจาครั้งสุดท้ายของพระตถาคตเจ้า

โยมทุกท่าน อาตมาเห็นหลายๆ คนเกิดมาหาความสุขยากเหลือเกิน ยุ่งกับคนอื่นไปทั่ว เดี๋ยวก็ทะเลาะกับคนนั้น เดี๋ยวก็ทะเลาะกับคนนี้

โยมทุกท่าน ไม่มีใครควรค่าแก่การเกลียดชัง ยิ่งเกลียดใคร ชังใคร ใจเรายิ่งทุกข์ เราอย่าสร้างกับดักความทุกข์ให้ตนเอง

โยมทั้งหลาย หากว่าเรายิ่งยึดถือ เราก็ยิ่งเป็นทุกข์ หากว่าเรายิ่งหลงในสุข เราก็ยิ่งทุกข์ใจ

หากว่าเรายิ่งรื้อฟื้น เราก็ยิ่งวุ่นวาย หากว่าเรายิ่งเอาแต่ใจ เราก็ยิ่งทรมาน สุดท้ายก็จะจมอยู่กับกองทุกข์

ความทุกข์นั้นมีกันทุกคน อยู่ที่ว่าใครทุกข์มาก ใครทุกข์น้อย และใครปล่อยวางได้มากกว่ากัน
เรายิ่งวางได้มากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งเบาได้มากเท่านั้น คนที่มีความสุข ไม่ใช่ว่าเขาไม่มีทุกข์นะโยม

แต่เขาเรียนรู้และยอมรับมัน แล้วอยู่กับมันได้อย่างลงตัว

โยมทั้งหลาย “ความสุขความทุกข์นั้นอยู่ที่เรา เราจะสุขหรือทุกข์ ยึดมั่นหรือปล่อยวาง ก็ตัวเราทั้งนั้นที่เป็นคนเลือก”

ถ้าเราเลือกที่จะปล่อย เราก็เบา ถ้าเราเลือกที่จะถือเอา มันก็หนัก

เหตุที่คนเรามีทุกข์ ส่วนมากทุกข์เพราะอดีต ทุกข์เพราะอนาคต แต่เรากลับไม่ได้ให้ความสำคัญแก่ปัจจุบัน ถ้าเรามีสติอยู่กับปัจจุบันให้มาก ความทุกข์ก็จะเบาบางลง

โยม ชีวิตของเรา เราต้องเลือกสิ่งที่ดีให้แก่ตนเอง อะไรที่ทำให้ทุกข์ เราก็ต้องสลัดออก เหมือนเรารู้ว่าตรงนั้นมีกลิ่นเหม็น เราก็อย่าเข้าไปใกล้ อย่าไปเกลือกกลั้ว เพราะมันจะทำให้เราทุกข์ได้

ชีวิตของเราที่ว่าให้รู้จักปล่อยวาง คือปล่อยวางจากความทุกข์ อย่าไปยึดมั่นจนทำให้เราตรอมใจ และเราต้องรู้จักหาโอกาสในการสร้างความสุขที่เที่ยงแท้ให้แก่ตนเอง ไม่ใช่แสวงหาแต่ความสุขจอมปลอม สุขได้ไม่นาน ทุกข์ก็เข้ามาแทน

โยมทั้งหลาย “เราต้องรู้จักปล่อยวาง ถ้ามันหนัก เราต้องวางลง ถ้าเหนื่อยล้า ต้องพักบ้าง ถ้าผิดพลาด เราก็ต้องแก้ไข”

สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้ชีวิตปลดเปลื้องจากความทุกข์คือ เราต้องรักษาใจของเราให้ดี อย่าให้ 4 ประการนี้มาทำร้ายใจเราได้ คือ

1. อย่าให้ใจมีความกำหนัด ความกำหนัดเป็นตัวกำหนดความทุกข์ เรายิ่งตามใจที่กำหนัดมากเท่าไหร่ เรายิ่งเป็นทุกข์มากเท่านั้น

2. อย่าให้ใจเต็มไปด้วยความขัดเคือง ความโกรธ ความเกลียดเป็นเชื้อเพลิงของความทุกข์ วิธีที่จะลดไฟลงได้คือ เราต้องเพิ่มน้ำให้มีปริมาณที่มากพอ ต้องเจริญเมตตาในตนเองมากๆ

3. อย่าให้ใจถูกความโลภหลงครอบงำจิต ความหลงเป็นต้นเหตุแห่งความเชื่อ ถ้าเราหลงผิด เข้าใจผิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง มันจะเป็นต้นเหตุแห่งความเขลามากที่สุด ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนว่า เราต้องมีสัมมาทิฐิ คือมีความเห็นชอบ แล้วเราจะได้ทำแต่สิ่งที่ถูกในทุกๆ ด้าน

4. อย่าให้ความมัวเมาเข้าเกาะกุมใจ โยมทั้งหลาย พระพุทธองค์ทรงสอนให้เราพิจารณาปัจจัยสี่ เช่น จีวร พิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้วจึงใช้จีวรเพื่อบำบัดความหนาว เพื่อบำบัดความร้อน เพื่อบำบัดสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน เพื่อปกปิดอวัยวะที่ให้ความละอายกำเริบ สรุปคือเครื่องนุ่งห่มไม่ใช้เพื่อประดับ แต่เพื่ออนุเคราะห์ร่างกายให้ประพฤติพรหมจรรย์

ดังนั้น “ชีวิตของคนเราต้องมีสติให้มาก ยิ่งมีสติมากเท่าไหร่ ยิ่งมีปัญญามากขึ้นเท่านั้น เมื่อมีสติและปัญญา ปัญหาและความทุกข์ก็จะลดลง”

เจริญพร

 


เรื่อง: พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต
ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่