วัยเด็กคือช่วงเวลาแห่งการแสวงหาความรู้ แต่ด้วยความเยาว์วัยจึงต้องมีคนชี้นำช่วยเหลือให้พวกเขาค้นพบสิ่งที่ตัวเองรักและสนใจ อาชีพ “ครู” คือผู้ที่มีส่วนช่วยสำคัญ ออล แม็กกาซีนขอพาทุกคนไปรู้จักกับ ครูรัตน์-อรุณรัตน์ ศักดิ์ภิรมย์ และเพื่อนครูผู้ร่วมอุดมการณ์จากโรงเรียนบ้านจันทึง อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร ผู้สละทุนทรัพย์ส่วนตัวจ้างครูสอนดนตรีไทยและสอนเพิ่มเติมวิชาแกะสลัก เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้รับความรู้นอกเหนือจากวิชาในหลักสูตรการสอน
ขอทราบประวัติความเป็นมาของครูอรุณรัตน์หน่อยค่ะ
ครูชื่อนางสาวอรุณรัตน์ ศักดิ์ภิรมย์ ตอนนี้อายุ 59 ปี จบการศึกษาทางด้านครู ปกศ.ต้น จากวิทยาลัยครูสุราษฎร์ธานี จบปริญญาโทหลักสูตรด้านการสอนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จังหวัดชุมพร สองปีหลังจบการศึกษามีการสอบบรรจุครู จึงมาสอบและเลือกโรงเรียนบ้านจันทึง แม้โรงเรียนค่อนข้างไกลจากบ้านครู การเดินทางจากอำเภอเมืองมาสอนที่อำเภอท่าแซะ มีระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร สมัยนั้นต้องเดินเท้าจากถนนเพชรเกษมเข้ามา 7 กิโลเมตร กว่าจะถึงโรงเรียน แต่ครูไม่กลัวเรื่องนั้น จึงเลือกมาลงที่นี่
โรงเรียนบ้านจันทึงเปิดสอนถึงระดับชั้นไหน และครูอรุณรัตน์สอนวิชาอะไร
โรงเรียนบ้านจันทึงสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงประถมศึกษาปีที่ 6 วิชาที่ครูสอนคือคณิตศาสตร์และศิลปะค่ะ
การศึกษาของเด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านจันทึงเป็นอย่างไร
ชีวิตนักเรียนค่อนข้างลำบาก พ่อแม่หาเช้ากินค่ำ ส่วนใหญ่ผู้ปกครองประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป เช่น กรีดยาง และทำการเกษตร หลายครอบครัวมาจากประเทศพม่าและลาว ด้วยความห่างไกลทำให้เด็กขาดโอกาส ได้เรียนแค่ ป.6 ส่วนนักเรียนในท้องถิ่น จบ ม.3 ก็ต้องออกทำงานกันหมดแล้ว มีส่วนน้อยที่มีโอกาสได้เรียนต่อ ม.ปลาย
จุดประสงค์ของครูอรุณรัตน์ที่อยากส่งเสริมให้เด็กเรียนวิชาดนตรีไทยและการแกะสลักคืออะไร
อยากให้เด็กได้กำลังใจ มีแรงบันดาลใจและภาคภูมิใจในตัวเอง ครูคิดว่าการเล่นดนตรีไทยและการแกะสลักเป็นสิ่งที่ช่วยให้เด็กๆ ได้ผ่อนคลาย เพราะการเรียนส่วนใหญ่นั้นมุ่งแต่ด้านวิชาการ ทำให้เด็กเครียด ที่สำคัญทำให้เด็กรู้จักตนเองมากขึ้น เด็กบางคนไม่ชอบวิชาสามัญ ถ้าเราไม่จัดวิชาเหล่านี้ให้เขาแล้วเด็กกลุ่มนี้จะยืนอยู่ตรงไหน เขาคงไม่รู้ว่าตัวเองมีความสามารถด้านศิลปะ ดนตรีไทยและการแกะสลักจึงเป็นทางเลือกให้เด็กเหล่านี้รู้ว่าเขาก็มีคุณค่า และต้องการพัฒนาความสามารถส่วนนี้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งตอนนี้สังคมมีสิ่งอบายมุขเยอะมาก ทั้งปัญหาเด็กติดเกม และรุ่นพี่ขับมอเตอร์ไซค์ซิ่ง การที่เราดึงเด็กให้อยู่ที่โรงเรียน เช่น ในวันหยุดหรือช่วงเย็นหลังเลิกเรียนไม่ต้องรีบกลับบ้าน จะช่วยแก้ปัญหาได้ เพราะถ้าอยู่กับครู เด็กจะไม่ปฏิบัติสิ่งไม่ดีแบบนั้นเลย จึงอยากจะทำเรื่องนี้ต่อไปเรื่อยๆ เพื่อดึงเด็กกลุ่มนี้เข้ามาค่ะ
ทำไมจึงเลือกวิชาดนตรีไทยและการแกะสลัก
เริ่มต้นจากวิชาการแกะสลักซึ่งอยู่ในสาระวิชาศิลปะของเด็ก ป.4 ค่ะ ทีนี้น้อง ป.4 ได้เรียน พี่ ป.5 และ ป.6 ก็อยากเรียนด้วย เมื่อได้เรียนปรากฏว่าพวกเขาสามารถแกะสลักได้ครูก็ดีใจ เมื่อมีจัดแข่งขัน ครูจึงสอบถามความสมัครใจของเด็กว่ามีใครอยากไปสู้บ้าง เขาก็สมัครกัน ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นั้นออกมาดี เราสามารถชนะการแข่งขัน สิ่งนี้สร้างกำลังใจให้เด็กๆ เป็นการชี้ทางให้เขาได้รู้จักตัวเองว่าชอบวิชานี้
การเล่นดนตรีไทยก็เหมือนกันค่ะ แต่เดิมนั้นโรงเรียนมีเครื่องดนตรีที่ทางรัฐจัดสรรมาให้ แต่เนื่องจากขาดครูผู้สอนจึงต้องปล่อยเครื่องดนตรีไม่ใช้งานไว้อย่างนั้น พอดีคุณครูเกตุแก้ว ประพฤติดีเข้ามาสอนที่โรงเรียน เธอไม่ได้เรียนด้านดนตรีมาโดยตรง แต่เล่นได้จึงนำมาเล่น เด็กเห็นก็เกิดความชอบ ขอให้ครูช่วยสอน สร้างแรงจูงใจให้เด็กอยากรู้อยากเห็นกันใหญ่
มีการสอนเครื่องดนตรีชนิดใดบ้าง
สอนทุกชนิดเลยค่ะ ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ขลุ่ย ซอ จระเข้ แต่ขิมไม่ได้สอนค่ะ เพราะเราไม่มี เมื่อก่อนเคยมีอยู่ตัวหนึ่ง แต่เล่นแล้วครูผู้สอนบอกว่าเสียงมันเพี้ยน เนื่องจากคุณภาพของเครื่องดนตรีไม่สูงนัก ส่วนเครื่องคุณภาพดีราคาก็แพง ถ้านำเงินไปซื้อตัวนี้ตัวเดียว เราก็จะไม่มีเงินไปซื้อเครื่องดนตรีตัวอื่นได้จึงต้องจำยอม เพราะเครื่องดนตรีมีไม่พอกับจำนวนนักเรียน
การเล่นเครื่องดนตรีแบบนี้เรียกว่าวงประเภทใด
วงปี่พาทย์ค่ะ ทั้งวงปี่พาทย์ไม้นวม ปี่พาทย์ไม้แข็ง ปี่พาทย์มอญ ประเภทสุดท้าย ก่อนครูท่านหนึ่งจะย้ายไป เขาได้สอนปี่พาทย์มอญไว้นิดหน่อย
แล้วการแกะสลัก ใช้ผลไม้ชนิดใดบ้าง
ผลไม้ท้องถิ่นค่ะ เช่น มะละกอ แตงกวา มะเขือ มันแกว ฟักทอง ถ้าหาซื้อผลไม้ชนิดอื่นราคามันแพงมาก มีการแกะสลักแตงโมบ้างในฤดูที่ราคาถูกจริงๆ ครูก็จะซื้อมาให้เด็กลองแกะดู เขาก็ตื่นเต้นนะคะ กับของที่มีสีสันสวยๆ
จุดเริ่มต้นที่ครูอรุณรัตน์ร่วมออกเงินทุนส่วนตัวส่งเสริมการเรียนเป็นมาอย่างไร
ครูจัดตั้งโครงการให้เด็กๆ ได้เรียนแกะสลักและดนตรีไทย ตั้งแต่ประมาณปี 2553-2554 หลังจากนั้นทางองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทราบเรื่องจึงช่วยเหลือด้วยการให้เงินสนับสนุนมาส่วนหนึ่ง เพื่อจ้างครูสอน แม้เงินส่วนนั้นหมดลงแต่ครูทิ้งเด็กไม่ได้ เพราะเราเห็นแล้วว่าเด็กมีความสามารถจริงๆ จึงยอมสละเงินส่วนตัวโดยร่วมลงขันกับครูอรสา แซ่อ้วง สองคนรวมกันเดือนละ 5,000 บาทเพื่อจ้างครูนักศึกษาชั้นปี 4 จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เข้ามาสอนโดยให้ค่าจ้างเป็นสัปดาห์ เขารู้ว่าครูมีเงินไม่มาก พอจะให้ค่าจ้างติดกระเป๋าเขาไว้ใช้ได้นิดหน่อย ประมาณสัปดาห์ละ 1,000-1,500 บาท
ครูที่เข้ามาสอนคือใครคะ
ครูอาร์ม-อภิวัฒน์ นวลศิริ ค่ะ เขาเป็นผู้สร้างจริงๆ เพราะเขาทุ่มเทการสอนให้เด็กตลอดเวลา ถ้าเขาไม่ติดเรียนที่มหาวิทยาลัยก็จะอุทิศเวลาเพื่อเด็ก เครื่องดนตรีไทยทุกชนิดครูท่านนี้สอนให้ได้ ถ้าชนิดไหนแกไม่ถนัด ครูอภิวัฒน์จะกลับไปเรียนรู้จากครูบาอาจารย์ และนำวิชาที่ได้กลับมาถ่ายทอดให้เด็ก ในความรู้สึกครูคิดว่าเขาเป็นครูที่หาได้ยากนะคะ ผู้ที่จะเสียสละเพื่อเด็กได้เต็มที่แบบนี้ แต่ตอนนี้ครูอภิวัฒน์ไม่ได้สอนที่โรงเรียนบ้านจันทึงแล้ว เนื่องจากสอบบรรจุได้ที่โรงเรียนศรียาภัย โรงเรียนยอดนิยมของจังหวัดชุมพร น่าเสียดายมากที่ไม่ได้อยู่ที่โรงเรียนบ้านจันทึงต่อ แต่ด้วยจำนวนเด็กที่จำกัด การขอครูดนตรีไทยเพิ่มหนึ่งอัตราจึงไม่สามารถทำได้ เพราะจำนวนเด็กไม่ถึง 230 คน มีแค่ 163 คนเองค่ะ
ปัจจุบันโรงเรียนบ้านจันทึงยังเชิญครูอภิวัฒน์มาเป็นวิทยากรอยู่ สอนในวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ ครูอภิวัฒน์มาสอนให้โดยไม่ได้คิดเงินเลย เขายินดีเต็มที่ ถ้าใกล้ช่วงวันที่เด็กๆ แข่งขันและต้องมีการฝึกซ้อม ครูอภิวัฒน์จะใช้เวลาในตอนเช้าก่อนไปโรงเรียนศรียาภัยมาช่วยสอน ตั้งแต่ตีห้าถึงหกโมงครึ่ง แต่ถ้าเป็นช่วงเวลาปกติไม่มีการแข่ง จะมีครูอีกท่านที่มีฝีมือเหมือนกันมาช่วยสอนค่ะ
แล้วตอนนี้ครูที่สอนดนตรีไทยให้เด็กๆ คือใคร
ครูพงศกร เรืองสา เป็นครูรุ่นน้องของครูอภิวัฒน์ ก่อนที่ครูอภิวัฒน์จะบรรจุที่โรงเรียนศรียาภัย ครูขอให้เขาช่วยหารุ่นน้องมาสมัครเป็นครูสอน เพราะโรงเรียนบ้านจันทึงอยากให้เด็กได้เรียนรู้ดนตรีไทยจริง ๆ ครูที่จะมาสมัครต้องมีความเสียสละ มีจิตใจให้ความอนุเคราะห์แก่เด็ก เนื่องจากการสอนดนตรีไทยเป็นการสอนวิชาเพิ่มเติม ดังนั้นจึงไม่สามารถกลับบ้านตอน 4 โมงเย็นตามเวลาปกติได้ ต้องใช้เวลานอก แต่ครูพงศกรยอมเสียสละเพื่อเด็กได้
นอกจากนี้ยังมีใครช่วยสนับสนุนอีกไหม
ด้านบุคลากร เมื่อก่อนเราได้รับความช่วยเหลือจากหลายท่าน เช่น ครูวิชิต สมบัตินา ครูภูมิปัญญาที่นำเครื่องดนตรีของตนเองมาให้เด็กได้เรียนรู้ ครูสัมพันธ์ ดำรัสการ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านจันทึง คอยให้ความช่วยเหลือจัดหาครูภูมิปัญญามาช่วยสอน ตลอดจนผู้อำนวยการโรงเรียนทุกท่านถึงคนปัจจุบัน และครูจากต่างโรงเรียน อาจารย์นฤมล แก้วสวี ครูเกษียณอายุจากโรงเรียนศรียาภัย ท่านให้ความอนุเคราะห์สอนเด็กๆ ด้านการขับร้อง โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ครูเกรงใจท่านมากค่ะ แต่ท่านบอกว่าสิ่งที่พวกเราทำเป็นการต่อยอดให้วัฒนธรรมไทย ไม่เช่นนั้นสิ่งนี้จะสูญหายไป จึงยินดีช่วยเหลือ
ด้านเงินทุน แรกเริ่มได้รับความช่วยเหลือจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แต่ตอนนี้ อบต. ไม่มีงบมาช่วยแล้ว เราจึงทำโครงการขอเงินทุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เพื่อสนับสนุนงบประมาณจ้างครูผู้สอนและจัดซื้อเครื่องดนตรี เราได้รับความช่วยเหลือมาสองปีแล้ว แต่ปีถัดไปข้างหน้าไม่ทราบว่าจะเป็นอย่างไร
รางวัลที่ได้รับการจากการประกวดมีอะไรบ้าง
ด้านดนตรีไทยเราได้รับรางวัลตั้งแต่ปี 2553 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เด็กๆ วงจันบรรเลงของเราได้รับเหรียญทองแดง เหรียญเงิน และเหรียญทองแล้วแต่ประเภทการแข่งขัน บรรเลงเดี่ยว วงปี่พาทย์ และการขับร้อง แข่งขัน ทั้งในระดับเขตพื้นที่ ภาค และประเทศ อีกทั้งโรงเรียนบ้านจันทึงยังได้รับรางวัลสถานศึกษาดีเด่นทางวัฒนธรรมด้านดนตรีไทยและดนตรีพื้นบ้าน ประจำปี 2558 และปี 2559 ประเภทประถมศึกษา จากกระทรวงวัฒนธรรม
ครูอรุณรัตน์รู้สึกอย่างไรกับความสำเร็จและรางวัลที่นักเรียนได้รับ
ดีใจมากค่ะ ที่เด็กๆ ประสบความสำเร็จ แต่ความรู้สึกส่วนลึกในใจคือดีใจที่นักเรียนรู้จักตัวเขาเองมากกว่า ได้รู้ว่าตนชื่นชอบและถนัดในด้านใด รางวัลที่ได้รับทำให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจ เนื่องจากเขารู้จักใช้เวลาว่างในทางที่เป็นประโยชน์ ไม่ใจอ่อนกับเรื่องอบายมุขรอบข้าง อีกทั้งรางวัลตรงนี้สามารถทำให้รุ่นพี่ที่จบการศึกษาแล้วไปเรียนต่อโรงเรียนท่าข้าม ในระดับมัธยมศึกษา ได้รับทุนพระราชทาน ยิ่งทำให้ครูมีแรงสู้ ไม่ว่าอย่างไรก็ทิ้งเรื่องดนตรีไทยไม่ได้ แม้ว่าจะมีปัญหาอะไร เราพยายามแก้ไขให้เด็กไปต่อได้ เพราะเห็นแล้วว่าเด็กที่ได้ทุนพระราชทานคือเด็กยากจน แต่เล่นดนตรีไทยตั้งแต่ ป.4 ทางโรงเรียนเห็นแฟ้มผลงานตรงนี้ จึงได้รับการพิจารณาเลือกมา ครูรู้สึกดีใจมากๆ
เด็กตอนเล็กๆ อย่างนี้เราต้องคอยประคับประคองเขาให้เดินไปในทางที่ถูกที่ควร ครูรู้ผลลัพธ์ของสิ่งที่ทำ เมื่อเขาไปเรียนมัธยมแล้วกลับมาพูดให้ฟังว่าดีใจที่ได้เรียนดนตรีไทย เพราะเป็นใบเบิกทางให้พวกเขาได้รับโอกาสและประสบการณ์จากโลกภายนอก อีกทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้เขาอยากเป็นครูดนตรีไทยด้วย ครูหวังว่าจะมีเด็กสักคนหรือสองคนที่กลับมาเป็นครูให้ท้องถิ่นตน เป็นแบบอย่างที่ดีให้เด็กรุ่นต่อไป
“รางวัลที่ได้รับทำให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจ
เนื่องจากเขารู้จักใช้เวลาว่างในทางที่เป็นประโยชน์
ไม่ใจอ่อนกับเรื่องอบายมุขรอบข้าง”
ครูอรุณรัตน์ใกล้เกษียณอายุแล้ว จะมีใครสานต่อการสอนดนตรีไทยต่อไปไหม
ครูจะเกษียณอายุในเดือนกันยายน ปี 2562 หลังจากเกษียณครูคิดเอาไว้ว่าถ้ายังมีชีวิตอยู่โรงเรียนและชุมชนยังดำเนินการตรงนี้ต่อ ก็อยากกลับมาช่วยเหลือค่ะ นอกจากตัวครูแล้ว ครูท่านอื่นในโรงเรียนมีความตั้งใจเช่นนั้นเหมือนกัน ตอนนี้ครูพยายามผลักดันให้ชุมชนมีส่วนร่วมมากขึ้น ชุมชนให้ความร่วมมือดีมาก ลูกหลานมาเรียนก็ไปรับไปส่ง ครูพาเด็กไปแสดงที่ไหนจะมีรถมาช่วยบรรทุกเครื่องดนตรี พยายามส่งเสริมให้ชุมชนเห็นความสำคัญของการให้ลูกหลานมาเรียนรู้ ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ แล้วอยากให้หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนเข้ามาช่วยดูแล สนับสนุนกิจกรรมนี้ให้สำเร็จ เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าเยาวชนของเราถ้าได้รับการเอาใจใส่ที่ดี สามารถห่างจากอบายมุขได้
ในอนาคตมีเป้าหมายอะไรที่อยากพัฒนาการเรียนดนตรีไทยต่อไปไหม
ครูหวังว่าก่อนเกษียณอายุ ขอทำโครงการ “หนึ่งคนหนึ่งดนตรี” ให้สำเร็จ โครงการนี้เคยทำมาครั้งหนึ่งแล้วแต่ยังไม่สมบูรณ์ วัตถุประสงค์ของโครงการคือทำให้เด็กที่จบจากโรงเรียนแห่งนี้ สามารถเล่นดนตรีเป็นอย่างน้อยคนละหนึ่งอย่าง เป็นเครื่องดนตรีอะไรก็ได้ที่เขารัก เราอยากทำตรงนี้ แม้ว่าจะไม่ได้ไปแข่งขันที่ไหน
ครูอรุณรัตน์หวังว่าเด็กนักเรียนของเธอทุกคนจะรักในเสียงดนตรีไทย มีจิตใจอ่อนโยน อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี และมีความภาคภูมิใจในตนเอง
โรงเรียนบ้านจันทึง ตำบลหินแก้ว อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร 86190
เบอร์ติดต่อ : 08 1272 6770 (ครูอรุณรัตน์ ศักดิ์ภิรมย์)