จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานจุฬาฯเสวนา ครั้งที่ 18 ในหัวข้อ เข้าใจปัญหาเยาวชนกับ ‘ภาวะซึมเศร้า’ จากเหตุการณ์สะเทือนใจสังคมไทยที่นักศึกษามหาวิทยาลัยดังจบชีวิตตัวเอง หลายรายติดต่อกัน โดยมีภาวะซึมเศร้าเป็นสาเหตุ จึงเชิญผู้เชี่ยวชาญทั้ง 5 ท่านมาให้ความรู้ความเข้าใจถึงสภาวะซึมเศร้า ปัจจัยที่ส่งผลให้เยาวชนซึมเศร้า รวมทั้งแนวทางบรรเทาป้องกัน ซึ่งผู้ป่วยและคนรอบข้างสามารถนำไปปรับใช้ได้
ในตอนที่ 1 พูดถึงเนื้อหาการบรรยายของผู้เชี่ยวชาญทั้ง 5 ท่าน ได้แก่ ผศ. ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ หัวหน้าศูนย์สุขภาวะทางจิต ประธานแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาฯ, ผศ.ดร.ปิยวรรณ วิเศษสุวรรณภูมิ หัวหน้าภาควิชาวิจัยและจิตวิทยาการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ, ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร หน่วยจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ, พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และดร.ลูซี่ ตันอติชาติ ผู้แทนสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย
ในตอนที่ 2 นี้ เป็นคำถามจากผู้เข้าฟังเสวนา และคำถามจากเฟซบุ๊ก ที่ส่งมาให้ผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 5 ท่าน ไขข้อข้องใจ
ถาม: ภาวะซึมเศร้าเป็นเรื่องของการหลั่งสารเคมีที่ผิดปกติของสมองใช่หรือไม่ แล้วสามารถแยกอย่างไรระหว่างซึมเศร้าปกติ และซึมเศร้าจะฆ่าตัวตาย
ตอบ (นพ.ณัทธร): สารเคมีในสมองเกี่ยวข้องนะครับ แต่เกี่ยวในระดับปลายเหตุ ซึมเศร้าแบ่งง่ายๆ 1.มาจากปัจจัยภายนอก เช่น ความเครียด เหตุการณ์ในชีวิต เจอเรื่องราวแย่มากๆ ก็ซึมเศร้าได้ 2.เกิดจากภายในร่างกายเราเอง อาจมีพันธุกรรมหรือปัจจัยเสี่ยงในครอบครัว หรือมีบางสิ่งแปรปรวนในสมองอยู่ บางครั้งปัจจัยทั้งสองอย่างก็รวมกัน หรือแค่อย่างใดอย่างหนึ่ง เราอาจเจอคนที่ชีวิตดี๊ดีไม่ได้มีความเครียด จู่ๆ ซึมเศร้าขึ้นมาก็เป็นไปได้ หรือเราอาจเจอผู้หญิงคลอดลูกเสร็จ แทนที่จะมีความสุขกลายเป็นหลังคลอดแล้วเศร้า ก็เป็นจากเรื่องของร่างกาย
ทีนี้ต้นทางจะมาจากความเครียดหรือพันธุกรรมก็แล้วแต่ ตอนที่เป็นซึมเศร้าสารเคมีในสมองจะแปรปรวนจริงๆ เป็นเหตุผลว่าทำไมถึงมียารักษา เพราะยาจะไปปรับสมดุลในสมอง แต่เนื่องจากยาเข้าไปช่วยในส่วนสารเคมีเฉยๆ แต่ปัจจัยอื่นๆ ยังไม่ถูกจัดการ จึงต้องมีการทำจิตบำบัด ต้องไปจัดการครอบครัว ทำให้พ่อแม่เข้าใจ เหล่านี้ช่วยในระดับสภาพแวดล้อม เพื่อทำให้การช่วยเหลือคนไข้สมบูรณ์มากขึ้น
คำถามต่อมาที่บอกว่า แยกระหว่างซึมเศร้าเฉยๆ กับซึมเศร้าฆ่าตัวตายอย่างไร ซึมเศร้าฆ่าตัวตายรุนแรงกว่า เพราะซึมเศร้าไม่จำเป็นต้องฆ่าตัวตายก็ได้ เราเศร้าแต่ไม่อยากตาย แค่ไม่มีความสุข ส่วนฆ่าตัวตายไม่จำเป็นต้องซึมเศร้าก็ได้นะครับ ฆ่าตัวตายจากสาเหตุอื่นได้ เช่น เสพยาแล้วหลอน มีอาการประสาทหลอนได้ยินเสียงสั่งให้ไปกระโดดตึก เป็นอีกภาวะที่นำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ เพียงแต่ว่าการฆ่าตัวตายเจอร่วมกันบ่อยกับภาวะซึมเศร้า ซึ่งเกิดในระดับที่รุนแรงแล้ว
คำถาม: มีแบบทดสอบใดบ้างที่ประเมินว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่
ตอบ (พญ.ดุษฎี): มีตัว SDQ ใช้คัดกรองสำหรับวัยรุ่น และสำหรับผู้ใหญ่ที่อายุเกิน 15 ปีขึ้นไปคือ 2Q 9Q และอาจต่อด้วย 8Q อีกตัวหนึ่ง
2Q คือการคัดกรองเบื้องต้น ถ้าในสองข้อตอบถูกสักหนึ่งข้อ ทำการส่งต่อเพื่อทำแบบคัดกรองเก้าข้อ และในเก้าข้อ มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งถึงห้าในเก้าก็จัดว่ามีภาวะซึมเศร้า จากนั้นประเมินต่อด้วย 8 คำถาม เพื่อประเมินความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเอง ซึ่งแบบประเมินทั้งหมดดาวน์โหลดได้ในอินเตอร์เน็ต ทั้งนี้แบบประเมินคือการคัดกรอง ‘ไม่ใช่การวินิจฉัยนะคะ’ การวินิจฉัยต้องเป็นหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์
ถาม: กรณีที่มีภาวะซึมเศร้า แต่ไม่มีครอบครัวอยู่ใกล้ แล้วจำเป็นต้องอยู่คนเดียว มีคำแนะนำอะไรบ้าง
ตอบ (พญ.ดุษฎี): ถ้าเจ้าตัวต้องการความช่วยเหลือ สามารถเข้ารับการช่วยเหลือได้เลย ไม่ต้องมีครอบครัวเซ็นยินยอม เพียงแต่บุคลากรทางการแพทย์ต้องประเมินว่า มีความเสี่ยงในการทำร้ายตัวเองหรือไม่ ถ้ามีความเสี่ยงอาจต้องรับไว้รักษาในรพ.จนกว่าความเสี่ยงนั้นลดน้อยลง หรือถ้าไม่ได้รุนแรงจนต้องอยู่โรงพยาบาล อาจเป็นกลุ่มเพื่อนที่ทำงาน หรือเพื่อนที่คณะ อาจารย์ที่ปรึกษา ใครที่สามารถเข้ามาช่วยดูแลได้ เพียงแค่ไม่ใช่คนที่มีภาระผูกพันทางกฎหมาย
ถาม: เพื่อนเป็นโรคซึมเศร้าไม่ยอมรักษาต่อเนื่อง ไม่ยอมส่งงาน ไม่รับผิดชอบ จะช่วยเพื่อนอย่างไรได้บ้าง
ตอบ (อ.ปิยวรรณ): คิดว่าคำถามนี้มีสองปัญหานะคะ คือปัญหาจิตใจ เรื่องภาวะซึมเศร้า กับปัญหาด้านการเรียน ก็สอดคล้องกับคุณหมอณัทธรซึ่งบอกว่าการรับฟังเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ในบทบาทของเพื่อนอาจรับฟังเมื่อเพื่อนเล่าให้ฟัง หรือเมื่อใช้เวลาอยู่ร่วมกันก็พยายามสังเกตว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง อาจทำให้เราทราบสาเหตุบางอย่าง
ปัญหาที่สองคือเรื่องของการเรียน อาจช่วยได้หลากหลาย เช่น ชวนกันไปเรียน พากันทำงาน หรือแม้กระทั่งเล่าสิ่งที่เรียนให้เพื่อนฟังหากเพื่อนไม่ยอมเข้าเรียนเลย อย่างไรก็ตามถ้าอาการของเพื่อนไม่ดีขึ้น แนะนำให้ส่งต่อดีกว่า เพราะเพื่อนมีหน้าที่คอยอยู่เป็นเพื่อน แต่ไม่สามารถรักษาได้ เพื่อนอาจซัพพอร์ตได้แต่รักษาไม่ได้ เพราะฉะนั้นการส่งต่อเพื่อรักษาอย่างถูกต้องเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
(นพ.ณัทธร): ขออนุญาตเล่าถึงบริการอันหนึ่งที่ทำขึ้นมา จริงๆ นิสิตแพทย์ก็ซึมเศร้า เรามีจิตแพทย์แต่นิสิตแพทย์กลับไม่กล้าไปหา เพราะถ้าไปก็เป็น OPD แผนกผู้ป่วยนอกจิตเวช เข้าไปเจอเพื่อนที่ขึ้นวอร์ดอยู่ เกิดความรู้สึกอับอาย วิธีหนึ่งที่ช่วยได้คือ บริการให้คำปรึกษาที่ไม่ใช่ตรวจรักษาคนไข้ ถ้ายังไม่กล้าไปรักษาก็มารับบริการตรงนี้ ซึ่งนำไปปรับใช้กับโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยได้ ถ้าคุณครูหรือบุคลากรในโรงเรียนมีการเทรนด์เพื่อรับฟัง ถือเป็นการช่วยเหลือในเบื้องต้น เพราะไม่จำเป็นที่ทุกคนต้องหาจิตแพทย์ การเทรนด์ในระดับหนึ่งก็ช่วยได้แล้ว จริงๆ อยากให้แต่ละโรงเรียน หรือแต่ละมหาวิทยาลัยมีนักจิตวิทยาเสียด้วยซ้ำ ทุกที่น่าจะมี เพราะสามารถช่วยเหลือในระดับหนึ่งได้ แล้วค่อยติดต่อถึงจิตแพทย์ในเคสที่ต้องการดูแลเพิ่มเติม เพราะบางทีการจะตรงไปหาจิตแพทย์เลยเป็นเรื่องยาก
ถาม: อยากทราบว่าตัวเองเป็นซึมเศร้ารึเปล่า เพราะเกมที่เคยเล่น ละครที่เคยชอบดูก็ไม่อยากดูแล้ว บางทีอยากอยู่คนเดียว ตัดขาดโลกโซเชียล ไม่อยากโพสต์ในเฟซบุ๊กเพราะมีคนเห็นเยอะ แต่ทวิตเตอร์โพสต์บ้างเพราะไม่ค่อยมีคนเห็น แต่ยังอยากไปเจอเพื่อนบางครั้ง เอาแน่เอานอนไม่ได้ หรือจะเป็นไบโพล่ารึเปล่าครับ
ตอบ (ณัทธร): คำถามว่าเกี่ยวกับไบโพล่าไหม คือไม่ทราบ ไม่สามารถวินิจฉัยได้ตรงนี้ แต่เราคงเห็นแพทเทิร์นอย่างหนึ่งคืออารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากถ้าเราได้มอนิเตอร์อารมณ์เหล่านี้ สมมติสเกลมี 0-10 ถ้า 10 คือมีความสุขมาก 0 คือไม่มีความสุขเลย ให้บันทึกไปรายวัน รายชั่วโมงก็ได้ ปัจจุบันมีเครื่องมือที่ทำให้บันทึกได้ง่ายขึ้น เช่น แอพพลิเคชั่น mood diary สำหรับบันทึกว่าตอนไหนอารมณ์เป็นยังไงบ้าง ข้อมูลตรงนี้เอาไว้คุยกับหมอที่ดูแล เมื่อหมอเห็นรูปแบบการขึ้นลงของอารมณ์ เขาสามารถวิเคราะห์ได้ว่าเป็นซึมเศร้าหรือสงสัยเป็นไบโพล่ากันแน่ นำไปสู่การวินิจฉัยที่ชัดเจนขึ้น และยังเป็นประโยชน์แก่ตัวเอง ว่าตัวเองจะจัดการยังไง หลักการรักษาโรคทางอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นซึมเศร้าหรือไบโพล่า เริ่มต้นเราต้องเข้าใจตัวเองก่อน การรู้จักตัวเองนำไปสู่การจัดการตัวเองได้ ในตำราภาษาอังกฤษกล่าวว่า If you can name it, you can tame it.
ถาม: เมื่อพูดถึงการรับฟังอย่างตั้งใจ ส่วนใหญ่เราจะพูดถึง “ยู สเตทเมนต์” (You-statements) มากกว่า “ไอ สเตทเมนต์” (I-statements) อยากให้อาจารย์อธิบายเพิ่มเติม เรื่องของไอ สเตทเมนต์
ตอบ (พญ.ดุษฎี): ขออธิบายเพิ่มเรื่อง ไอ สเตทเมนต์ (I-statements) หรือ ไอ แมสเสจ (I-messages) หรือบางทีเราเรียก “ภาษาฉัน” ซึ่งตรงข้ามกับ ยู สเตทเมนต์ (You-statements) หรือ ยู แมสเสจ (You-messages) หรือเรียก “ภาษาแก” ภาษาฉันคือเริ่มต้นประโยคด้วยคำว่าฉัน เป็นประโยคที่บอกความต้องการ ความคิด ความรู้สึกของผู้พูดได้อย่างตรงไปตรงมา แม้แต่การสื่อสารกับผู้อื่นเพื่ออยากให้เขาเป็นแบบไหน ก็จะสื่อว่าเรารู้สึกอย่างไรกับเรื่องนั้น เช่น ลูกกลับบ้านดึก แทนที่แม่จะตำหนิก็ใช้คำว่า “แม่รู้สึกเป็นห่วงที่กลับบ้านค่ำ” แทนการใช้ ยู แมสเสจ ซึ่งเริ่มต้นประโยคด้วยคำว่าคุณ เช่น “ทำไมลูกถึงกลับบ้านค่ำ” ภาษาฉันจึงเป็นภาษาที่อยากชวนและเชียร์ให้ใช้มากกว่าภาษาแก ซึ่งมีน้ำเสียงของการวิจารณ์และตำหนิคนที่สนทนาด้วย
ถาม: การป้องกันการจบชีวิตก่อนวัยอันควร คือต้องเห็นคุณค่าของตนเอง หรือมี meaning of life อยากถามท่านอาจารย์ว่า เราจะมีวิธีอย่างไรที่จะหาคุณค่าในตัวเองได้ เพื่อทำให้เราอยากมีชีวิตต่อไป
ตอบ (อ.ณัฐสุดา): จริงๆไม่ต้องหา แค่ลองสำรวจกิจกรรมในชีวิต สิ่งไหนที่ทำแล้วรู้สึกมีความสุขโดยไม่ต้องเอาค่านิยมของสังคมมาตัดสิน เรามีความสุขด้วยตัวเองในการทำสิ่งนั้น เพราะบางสิ่งยิ่งตามหายิ่งไม่เจอ ยิ่งพยายามหาความหมายชีวิตก็ยิ่งไม่เจอชีวิต บางทีเด็กๆ พยายามตามหาจนหลงลืมว่า ความหมายในชีวิตคือความสุขในเหตุการณ์ประจำวันที่ได้ทำ อาจเป็นการได้คุยกับเพื่อน การที่ฉันยังมีเพื่อนที่เห็นคุณค่าของกันและกัน ไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่ไกลตัว ถ้าจะให้สรุปคืออาจจะไม่ต้องตามหา แค่ลองมองสิ่งที่มีอยู่ ว่าอะไรที่เป็นความหมายแล้วให้ความสุขแก่เรา
ถาม: เด็กผู้หญิงอายุ 4-5 ขวบ ช่วงแรกก็ไปโรงเรียนปกติ แต่ช่วงหลังเริ่มไม่อยากไป พ่อแม่สอบถามได้คำตอบว่า เพื่อนไม่เล่นด้วย และถูกรังแก มีวันหนึ่งลูกสาวถือมีดมาหาคุณพ่อ แล้วบอกว่าอยากตาย ไม่อยากอยู่ อยากปรึกษากับคุณหมอว่า กรณีนี้จะให้คำแนะนำผู้ปกครองเด็กอย่างไรดี
ตอบ (นพ.ณัทธร): คิดว่าต้องไปทำความเข้าใจปัญหาก่อนว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร คุยกับทางโรงเรียนว่าเกิดอะไรขึ้น มีการโดนแกล้งรึเปล่า แล้วการดูแลของโรงเรียนเป็นไงบ้าง ในกรณีนี้เขาจะซึมเศร้ารึเปล่า ไม่แน่นะครับ เพราะโอกาสที่เด็กเล็กขนาดนั้นจะซึมเศร้ามีได้น้อยมาก ซึมเศร้ามักเกิดขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยุร่นแล้ว แต่ถามว่าเด็กเล็กซึมเศร้าได้ไหม ได้ เพียงแค่ไม่ได้เจอบ่อย สาเหตุอาจเกิดจากเขามีความทุกข์ แล้วไปได้ตัวอย่างมา เพราะปัจจุบันการฆ่าตัวตายอยู่รอบๆ ตัว ในสื่อก็มีให้เห็นเยอะ บางทีเกิดการเลียนแบบ ดูละครแล้วเลียนแบบ เขาอาจไม่ตั้งใจอยากฆ่าตัวตายจริงๆ เพียงแต่รู้สึกทุกข์มาก พ่อแม่ถามลูกได้ว่าหนูรู้สึกแย่มากกับโรงเรียนใช่ไหม เรามาช่วยแก้ปัญหากันดีกว่า เรื่องเป็นยังไงบ้าง ฟังจากลูกก่อน แล้วไปฟังจากโรงเรียน ฟังจากครู ไปสืบว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วจะหาทางช่วยเหลือยังไง หลักการช่วยเด็กแก้ปัญหา คือถ้าเด็กแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้จะเป็นผลดีกว่าผู้ใหญ่แก้ให้ เบื้องต้นคือฝึกให้เขามีทักษะในการจัดการ ทำยังไงให้ไม่ถูกแกล้ง มีวิธีรับมือ แต่ถ้าเกินมือเขาจริงๆ เพื่อนแกล้งแรงมาก คราวนี้เราต้องไปจัดการกับระบบรอบๆ ตัว ครูจะช่วยยังไง ต้องดูเป็นขั้นๆ ทำความเข้าใจก่อนว่าเรื่องเป็นยังไง
ถาม: ปกติผู้หญิงจะมีประจำเดือน แล้วอารมณ์หงุดหงิดบ่อยๆ ระยะยาวมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคโรคซึมเศร้าไหมคะ
ตอบ (นพ.ณัทธร): คิดว่าคนละส่วน อันนั้นเป็นอาการหงุดหงิดก่อนมีประจำเดือน ซึ่งผู้หญิงมีมากมีน้อยแตกต่างกันไป อาการนี้ถ้าเป็นไม่เยอะก็ปรับตัวเอง ระวังตัวเอา เดี๋ยวก็ผ่านไป ทางการแพทย์กินยากลุ่มรักษาซึมเศร้าก็ช่วยได้ กินดักไว้ก่อนมีประจำเดือนสักอาทิตย์ แต่ต้องปรึกษาหมอ อย่าซื้อกินเอง ถ้าเป็นเยอะรักษาได้
(พญ.ดุษฎี): ถ้าอารมณ์แกว่งมากช่วงมีประจำเดือน ถือเป็นคนโชคดีมากที่มีสัญญาณเตือนว่า อารมณ์ของเราสัมพันธ์กับฮอร์โมน ผู้หญิงนั้นช่วงที่ฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ ช่วงตั้งครรภ์ และช่วงใกล้หมดประจำเดือน ซึ่งต้องระวังอารมณ์ที่แกว่งกว่าปกติ
ถาม: ดิฉันเป็นอาจารย์ และมีนักศึกษามาปรึกษาเรื่องภาวะซึมเศร้ามากจริงๆ เราไม่ได้รู้ลึกซึ้งเรื่องนี้ก็ใช้วิธีนำสื่อมาช่วยเหลือเด็ก เช่น เปิดหนังสารคดีของคุณเอิน กัลยกร เรื่อง love in depression ผลคือเด็กเอาสารคดีเรื่องนี้ไปให้คุณพ่อคุณแม่ดู คุณพ่อคุณแม่ก็เข้าใจมากขึ้น ในด้านที่เป็นคนทำสื่อ อยากให้เราผลิตสื่อแบบไหนที่จะเป็นการสร้างสรรค์ หรือช่วยเหลือเด็กๆ ได้
ตอบ (อ.ณัฐสุดา): สื่อมีอิทธิพลสำหรับวัยรุ่น ถ้าเกิดมีสื่อที่ทำให้รู้ว่าความเจ็บปวดทางจิตใจเป็นเรื่องเกิดขึ้นได้ ดูแลได้ และหายได้ โดยส่งสารนี้ไปยังคนหมู่มาก ไม่เพียงวัยรุ่น แต่รวมถึงผู้ใหญ่ สื่อจะมีบทบาทช่วยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ถ้าทำตรงนี้ได้จะมีประโยชน์อย่างยิ่งค่ะ
(พญ.ดุษฎี): อันนี้เป็นบทเรียนที่ได้จากการพูดคุยกับชมรมญาติผู้ป่วย สิ่งที่เขาอยากได้จากสังคมคือ การยอมรับอย่างไม่แบ่งแยก ก่อนจะเกิดคำว่าตราบาปได้ ต้องเกิดการตีตราก่อน เช่น คนนี้บ้า เริ่มแยกคนที่ไม่เหมือนเรา พอแยกว่าต่างแล้วก็ตีตรา พอตีตราเสร็จ ก็แปลงร่างเป็นตราบาป สิ่งที่ญาติผู้ป่วยอยากเห็นคือ ให้เขาดำรงชีวิตในสังคมร่วมกับคนอื่นได้ ถ้าสื่อสามารถพูดเรื่องนี้ออกไป ทำให้เห็นว่านี่คืออาการตามธรรมชาติที่มีอารมณ์เศร้าได้ ความแตกต่างไม่ใช่เรื่องแปลก และที่สำคัญคือมีทางออก บอกวิธีลดความแตกต่างจนใกล้เคียงคนปกติ เป็นสื่อที่บอกวิธีแก้ปัญหาด้วย และสุดท้าย คุณค่าค่ะ แม้มีความแตกต่างแต่ก็มีคุณค่าในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของสังคม ถึงจะรักษาหายหรือหายไม่สนิท เขาก็สามารถกลับมาทำหน้าที่ในสังคมตามศักยภาพได้ อยู่ร่วมกับเรา นี่คือสิ่งที่สะท้อนจากผู้ป่วยและญาติ
(ดร.ลูซี่): เราเคยมีเวิร์กช็อปสำหรับกลุ่มผู้สูญเสีย ความรู้สึกที่ผู้เข้าร่วมมีเหมือนกันคือ รู้สึกผิดที่ตัวเขาทำให้คนรักจากไปก่อนวัยอันควร จึงจัดให้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงสาเหตุที่คนรักของพวกเขาจากไป พยายามให้เขามองมุมกว้าง เพื่อจะได้ไม่โทษตัวเองว่ามีส่วนทำให้คนที่รักจากไป
ถาม: ผมเป็นนักศึกษาแพทย์ที่อยากมีส่วนร่วมแก้ปัญหานี้ ซึ่งกำลังทำโครงการแก้ปัญหาซึมเศร้าในนักศึกษาแพทย์และเยาวชน ที่อาจารย์ปิยวรรณได้กล่าวว่า นักศึกษาที่มีภาวะซึมเศร้ามักปรึกษาเพื่อนเป็นหลัก อยากสอบถามว่าในฐานะนักเรียน นิสิต นักศึกษา ถ้าอยากมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเพื่อนๆ จะทำได้ยังไง
ตอบ (อ.ปิยวรรณ): ขอตอบคำถามที่หนึ่งนะคะ เบื้องต้นเพื่อน หรือบุคคลรอบข้างนิสิตนักศึกษา คือบุคคลซึ่งมีความสำคัญ ที่เขาวิ่งเข้าหาเป็นคนแรกเมื่อเกิดปัญหา ฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยได้คือ ทำให้เขารู้จักภาวะนี้ เช่น ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ลักษณะพฤติกรรมใดที่เป็นพฤติกรรมเสี่ยง และกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมเหล่านี้จะนำไปสู่ปัญหาอะไรตามมา จริงๆทุกคนก็เป็นสิ่งแวดล้อมให้แก่กันและกัน ช่วยๆ ดูแลกันประคับประคองกันไป
ถาม: คนที่มีความคิดอยากฆ่าตัวตายมักได้รับคำแนะนำให้คิดถึงหน้าพ่อแม่ แต่ถ้าพ่อแม่คือสาเหตุหลักที่ทำให้ซึมเศร้าจะทำอย่างไร
ตอบ (นพ.ณัทธร): คิดถึงอย่างอื่นก็ได้ครับ ไม่ได้มีสูตรตายตัวว่าอะไรช่วยเราได้ พ่อแม่ก็เป็นความเครียดได้ แฟนก็เป็นความเครียดได้ และก็เป็นตัวช่วยได้เช่นกัน แต่ละคนคงไม่เหมือนกัน เวลาเราคุยก็ต้องถามว่าสิ่งนี้คือความเครียด แล้วอะไรที่ทำให้เรามีความสุขละ อะไรที่ทำให้รู้สึกดีต่อชีวิต เป็นความหวัง ความหมาย อาจเป็นดารา เป็นหมา เป็นแมว หรือในเชิงความเชื่อ ศาสนา เป็นอะไรก็ได้แล้วแต่คน ถ้าเขายังไม่ฆ่าตัวตายก็ต้องมีอะไรสักอย่างที่ดึงเขาไว้
(ดร.ลูซี่): ถ้าเป็นการทำงานของสมาคมสะมาริตันส์ เมื่อเรารู้ว่าคุณพ่อคุณแม่คือสาเหตุปัญหา เราก็ไปหาสิ่งอื่นจากการ ถามเจ้าตัวไปเรื่อยๆ จนค้นพบ แล้วก็ดึงสิ่งนั้นขึ้นมาให้เขามีความหวัง
ภาพ: ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ, สุกัญญา วังคีรี