ที่ผ่านมาเทคโนโลยีทางการแพทย์มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โรคซึ่งคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นแล้วมีโอกาสเสียชีวิตสูงอย่าง “มะเร็ง” ปัจจุบันมีทางเลือกในการรักษาเพิ่มมากขึ้น “ยุทธจักร ฅ.ฅน” ได้มีโอกาสสนทนากับ ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล (Siriraj Center of Research Excellence in Precision Medicine) ถึงการวิจัยรักษาโรคมะเร็งรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “ถอดรหัสพันธุกรรมยีนมะเร็ง” เพื่อทำความเข้าใจการรักษารูปแบบใหม่นี้

ปัจจุบันแนวทางการรักษาโรคมะเร็งในประเทศไทยมี 5 วิธีหลัก ได้แก่

1. การผ่าตัด
2. การฉายรังสีเพื่อทำลายก้อนมะเร็งแบบเฉพาะจุด
3. การรับยาเคมีบำบัด
4. การรับยาต้านมะเร็งแบบมุ่งเป้า
5. การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด

เลือกวิธีการรักษาตามระยะการลุกลามและชนิดของมะเร็ง หากการรักษาไม่เกิดผลตอบสนองที่ดี จะต้องมีการปรับเปลี่ยนยาและวิธีการรักษาไปเรื่อยๆ ทำให้สูญเสียเวลา สูญเสียค่าใช้จ่าย และคนไข้บางรายอาจได้รับผลข้างเคียงจากยาด้วย เช่น คลื่นไส้อาเจียน ผมร่วง เกล็ดเลือดต่ำติดเชื้อได้ง่าย กว่าจะค้นพบการรักษาที่เหมาะสมมะเร็งร้ายก็เติบโตลุกลาม จนเลยช่วงเวลาทองของการรักษาไปอย่างน่าเสียดาย ปัจจัยเหล่านี้ทำให้โรคมะเร็งกลายเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของคนไทย

ทว่าเทคโนโลยีและองค์ความรู้ทางการแพทย์ในปัจจุบันจุดประกายความหวังในการรักษา นั่นคือ “การแพทย์แม่นยำในโรคมะเร็ง” (Cancer Precision Medicine) ซึ่งดำเนินการโดย “การถอดรหัสพันธุกรรมยีนมะเร็ง” เก็บข้อมูลจากจีโนม (genome) หรือดีเอ็นเอ (DNA) เช่น เลือด เซลล์เยื่อบุกระพุ้งแก้ม และจากเซลล์มะเร็งโดยเฉพาะซึ่งได้จากเนื้อเยื่อมะเร็ง ใช้ในการวิเคราะห์คาดคะเนวิธีการรักษาที่เหมาะสม ตั้งแต่ก่อนเริ่มการรักษาคนไข้แต่ละราย หากวิธีการรักษาทั้งห้าข้างต้นเป็นกระสุนที่ใช้ต่อกร การแพทย์แม่นยำก็เปรียบเสมือนเลเซอร์นำวิถีที่ช่วยให้ยิงกระสุนเหล่านั้นอย่างตรงเป้า ประโยชน์ที่ได้คือคนไข้ไม่ต้องเสียเวลาปรับเปลี่ยนการรักษา ลดค่าใช้จ่าย และลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยาโดยไม่จำเป็น

ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร

การแพทย์แม่นยำในโรคมะเร็งไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นความสำเร็จที่ประจักษ์ในต่างประเทศมาแล้ว ทั้งประเทศใหญ่ๆ ในภูมิภาคตะวันตก ตะวันออกกลาง หรือเอเชียเองก็ตาม ประเทศเหล่านั้นได้ดำเนินการถอดรหัสพันธุกรรมของคนในประเทศเพื่อเป็นฐานข้อมูล ทำให้มีข้อมูลมากพอในการคาดคะเนการรักษาอย่างแม่นยำ แต่เราไม่สามารถพึ่งข้อมูลจากต่างชาติได้ เนื่องจากการรักษาที่แม่นยำต้องอาศัยฐานข้อมูลรหัสมะเร็งของคนไทยเอง ซึ่งยังไม่มีการเก็บข้อมูลในปัจจุบัน

ศ.นพ.มานพ กล่าวว่า “การจะวิเคราะห์การรักษาได้อย่างแม่นยำนั้น ก่อนอื่นต้องมีฐานข้อมูลของผู้ป่วยที่มากพอเสียก่อน เพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์การรักษาที่เหมาะสมให้แก่คนไข้ โครงการวิจัยที่ศิริราชจัดทำอยู่นี้จะช่วยสร้างฐานข้อมูลรหัสมะเร็งคนไทยขึ้นมาเป็นครั้งแรก เรารวบรวมข้อมูลจากคนไข้อาสาสมัคร 2,000 ราย ซึ่งแพทย์ประเมินว่าผลการตรวจของคนไข้แต่ละรายจะสามารถให้ข้อมูลที่สำคัญได้ ฐานข้อมูลเหล่านั้นไม่เพียงก่อประโยชน์ในการรักษาแก่คนไข้โรคมะเร็งเท่านั้น ทว่ายังสามารถนำไปสู่การวิเคราะห์สิ่งต่างๆ เกี่ยวกับร่างกายเราได้อีกมากมาย

“ความสำคัญของการแพทย์แม่นยำในโรคมะเร็ง นอกจากช่วยคาดคะเนการรักษาอย่างเหมาะสมแล้ว ยังคาดคะเนมะเร็งอันเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมและถ่ายทอดในครอบครัวอีกด้วย เมื่อค้นหาได้ก่อนว่าใครมีความเสี่ยงสูง จึงสามารถหาวิธีคัดกรองมะเร็งตั้งแต่เนิ่น ๆ หรือผ่าตัดป้องกัน ลดความเสี่ยงก่อนเซลล์จะกลายพันธุ์เป็นมะเร็ง การผ่าตัดป้องกันนั้นไม่ได้น่ากลัวอย่างที่ทุกคนคิด ยกตัวอย่างเช่น การผ่าตัดป้องกันมะเร็งเต้านม เป็นการผ่าตัดย่อย เพื่อนำเนื้อเยื่อเต้านมอันเป็นต้นเหตุของการเกิดมะเร็งออก หลังจากนั้นอาจจะต้องติดตามผลกันในระยะยาว แต่ส่วนใหญ่เกินกว่าร้อยละ 95 ที่ผ่าตัดมาแล้วไม่มีใครเป็นมะเร็งอีก”

ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร

ขณะนี้การวิจัยอยู่ในขั้นตอนรวบรวมข้อมูล แต่อุปสรรคที่พบคือปัญหาด้านเงินทุน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการดำเนินการถอดรหัสพันธุกรรม ค่าใช้จ่ายด้านทรัพยากร การดำเนินงาน และอุปกรณ์เครื่องมือ ประมาณหนึ่งแสนบาทต่อหนึ่งคนจึงมีการระดมทุนกับศิริราชมูลนิธิขึ้น ศ.นพ.มานพ อยากเชิญชวนให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของงานวิจัยนี้ ว่าเป็นการสร้างองค์ความรู้ที่สามารถต่อยอดเพิ่มพูนได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ผลที่ได้จะมีประโยชน์อย่างมหาศาลแก่ประชาชน “ผมอยากใช้เทคโนโลยีของเราเปลี่ยนโฉมหน้าการรักษามะเร็ง จากโรคที่เป็นแล้วมีโอกาสเสียชีวิตสูงให้กลายเป็นโรคที่รักษาได้ เหมือนโรคเบาหวานหรือความดันโลหิตสูง หากคนไข้ควบคุมและรักษาโรคมะเร็งได้ดี ก็สามารถใช้ชีวิตแบบมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ต่างจากคนธรรมดาทั่วไปได้ หลายคนอาจจะมองว่าดูโอเวอร์ แต่นี่คือความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่เดินทางมาถึงพวกเราแล้ว”

คงไม่ไกลเกินเอื้อมหากจะกล่าวว่าการแพทย์แม่นยำในโรคมะเร็ง อาจเป็น “มาตรฐานใหม่” สำหรับการรักษาโรคมะเร็งของคนไข้ไทยในอนาคต

 


ร่วมบริจาคเพื่อสนับสนุนการวิจัยได้ที่
ธนาคารกรุงเทพ เลขที่บัญชี: 901-7-05999-0
ชื่อบัญชี: ศิริราชมูลนิธิ กองทุนสนับสนุนการแพทย์แม่นยำในโรคมะเร็ง
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม: สถานวิทยามะเร็งศิริราช โทรศัพท์: 0 2419 4471–4

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่