ต้อม คาซาวา ผู้คิดนวัตกรรมใหม่ด้านสิ่งแวดล้อม

-

ปรากฏการณ์ต่างๆ และภัยพิบัติทางธรรมชาติที่อุบัติขึ้น ล้วนส่งสัญญาณเตือนมนุษย์ว่าสถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลกตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นวิกฤติ ทั่วทั้งโลกตื่นตัวกับภาวะโลกร้อน (global warming) หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate change) กันมากขึ้น “ยุทธจักร ฅ.ฅน” ขอพาไปรู้จักกับผู้หญิงตัวเล็กๆ หัวใจแกร่งคนหนึ่งที่เดินหน้าทำงานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างไม่ย่อท้อ “ต้อม คาซาวา” (Tom Casava) หรือพลอยฉัตรชนก วิริยาทรพันธุ์ ผู้พลิกตัวปัญหาอย่างเหง้ามันสำปะหลังมาสร้างเป็นนวัตกรรม “ถ่านชาร์โคล” (activated charcoal) ผลิตภัณฑ์รักษ์โลกมากคุณประโยชน์

พลอยฉัตรชนก วิริยาทรพันธุ์ หรือ “ต้อม คาซาวา” (Tom Casava)

ก่อนมาเป็น ‘ต้อม คาซาวา’
ธุรกิจครอบครัวของพี่คือลานมันสำปะหลังที่จังหวัดกาญจนบุรี การช่วยกิจการทางบ้านทำให้พี่เห็นความเดือดร้อนของเกษตรกรทั้งเรื่องคุณภาพผลผลิตและราคาที่ตกต่ำ สมัยก่อนประเทศไทยทำไร่มันสำปะหลังแบบสุกเอาเผากินไม่ได้เน้นคุณภาพ เกิดการเจือปนจนโดนบอยคอตจากยุโรป พี่จึงอยากหาทางช่วยเหลือด้วยการทุ่มเทเวลาส่วนตัวเข้าอบรมคอร์สระยะสั้นกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อเรียนรู้ว่ามันสำปะหลังมีคุณสมบัติใดบ้าง ก่อนจะเริ่มต้นรณรงค์ “โครงการมันเส้นสะอาด” ให้เกษตรกรปลูกมันสำปะหลังอย่างถูกวิธีและมีคุณภาพ เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลผลิต

แนวคิดการทำงาน
พี่มีแนวคิดสำคัญคือ “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” นั่นคือเราควรเข้าใจและพูดคุยลงลึกถึงปัญหาทั้งหมดก่อนเพื่อให้เกิดการพัฒนาขึ้น การลงไปคลุกคลีกับปัญหาอย่างใกล้ชิด ทำให้พี่มีวิธีสื่อสารกับเกษตรกรให้เข้าใจถึงปัญหาได้อย่างเป็นกันเอง เพราะที่ผ่านมา การอธิบายแบบหลักวิชาการ ทำให้ชาวบ้านไม่เข้าใจและไม่ทำตาม พี่จึงประยุกต์วิธีที่ง่ายและไม่ไปทำลายวิถีชีวิตเดิมของพวกเขา สิ่งที่พี่อยากทำที่สุดคือสอนให้ชาวบ้านเก่งและฉลาด คนอย่างพี่จะไม่สอนให้เขากิน แต่จะสอนวิธีทำกินให้แก่เขา สิ่งนี้จะช่วยลดความขัดแย้ง ทำให้เราอยู่ร่วมกันได้ ด้วยเหตุนี้เองเหล่าเกษตรกรจึงไว้ใจและมาขอให้พี่ช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหา บ่มเพาะจิตสำนึกการทำงานเพื่อสังคมให้พี่ด้วย พี่มองว่าทุกปัญหาต้องการทางแก้ แต่เขาอาจมีกำลังหรือองค์ความรู้ไม่เพียงพอจึงมาขอความช่วยเหลือ เราต้องช่วยกันทุกองค์กร ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งแก้ปัญหาได้ทั้งหมด นี่เป็นส่วนสำคัญที่หล่อหลอมให้พี่มองปัญหาเป็นการท้าทาย สำหรับพี่ไม่มีคำว่าทำไม่สำเร็จ มันอยู่ที่ว่าคุณทุ่มเทแค่ไหนต่างหาก

พลอยฉัตรชนก วิริยาทรพันธุ์ หรือ “ต้อม คาซาวา” (Tom Casava)

ปัญหาการเผาของเกษตรกร
พี่ได้ร่วมทำงานวิจัยกับมหาวิทยาลัยหลายแห่งเพื่อศึกษาคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์ของมันสำปะหลังออกมาให้ได้ อาทิ งานวิจัยนำใบสำปะหลังไปใช้เป็นอาหารสัตว์ ฯลฯ เมื่อเราแก้ปัญหาคุณภาพและราคาผลผลิตได้แล้ว พี่ก็เริ่มมองถึงการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมคือการเผาเหง้ามันสำปะหลัง เหง้ามันสำปะหลังเป็นส่วนที่ถูกตัดออกจากหัวมัน นำไปใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ ก่อให้เกิดเชื้อราและแย่งสารอาหารผลผลิต ชาวบ้านจึงกำจัดโดยการการเผาทำลาย ซึ่งการเผาของเกษตรกรเป็นการเผาระบบเปิด ซึ่งการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมลพิษทางอากาศซึ่งเป็นสาเหตุในการก่อภาวะเรือนกระจก (greenhouse effect)

การกำจัดเหง้ามันสำปะหลังตัวสร้างปัญหา
ปัญหากำจัดเหง้ามันสำปะหลังของเกษตรกรบานปลายไปสู่ปัญหาระดับโลกอย่างเรื่องการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลก พี่จึงสนใจนำเหง้ามันสำปะหลังมาทำเป็นเชื้อเพลิง เนื่องจากคุณสมบัติของมันคือมีไฟเบอร์สูง ติดไฟง่าย แต่ระยะแรกของการทดลองปรากฏว่าการทำถ่านอัดแท่งนั้นต้องใช้เวลาเผานาน 8-12 ชั่วโมง หลังจากเหน็ดเหนื่อยจากงานในไร่แล้วยังต้องมานั่งเฝ้าเตาเผา ทั้งเสียเวลาและไม่ตอบโจทย์กับสิ่งที่พี่อยากจะช่วยเกษตรกร จนพี่ได้ค้นพบงานวิจัยเกี่ยวกับ “activated charcoal” หรือถ่านกัมมันต์จึงเกิดความสนใจค้นคว้า พี่และทีมวิจัยใช้เวลานานกว่า 7 ปี ผลิตเตาเผาระบบปิดซึ่งมีลักษณะเฉพาะ ผสมผสานกับระบบแก๊สซิไฟเออร์ (gasifier) คือการดึงแก๊สในพืชเป็นตัวจุดไฟเผาตัวของมันเองที่อุณหภูมิ 1,200 องศาเซลเซียส ความพิเศษคือระบบการทำงานของเตาเป็นการเผาไหม้ที่สมบูรณ์โดยไม่ใช้พลังงานจากทรัพยากรธรรมชาติ ช่วยลดการสร้างคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งมีเป้าหมาย 15 ล้านตันคาร์บอนต่อปี ใช้เวลาเผาเพียง 25 นาทีและสามารถผลิตถ่านกัมมันต์ได้วันละ 1-2 ตัน

ผลิตภัณฑ์จากถ่านกัมมันต์จากเหง้ามันสำปะหลัง

ถ่านกัมมันต์จากเหง้ามันสำปะหลัง
จากผู้ร้ายสร้างปัญหา กลับกลายมาเป็นพระเอก ถ่านกัมมันต์จากเหง้ามันสำปะหลังช่วยเพิ่มพูนรายได้ให้เกษตรกรอีกทางหนึ่ง และเป็นผลิตภัณฑ์ปราศจากเคมี (non-chemical) ในชื่อ “พลายชล” (Plaichon) ด้วยคุณสมบัติของถ่านกัมมันต์คือช่วยดูดซับสารเคมีและแบคทีเรียตกค้างต่างๆ ดังนั้นผลิตภัณฑ์ของพลายชลทั้งผงล้างผัก สบู่ และเม็ดบำบัดอากาศ จึงสามารถทำให้น้ำ อาหาร และอากาศสะอาดขึ้น นอกจากนี้พี่ยังร่วมมือกับพันธมิตรอีกหลายหน่วยงาน นำถ่านกัมมันต์แตกยอดผลิตภัณฑ์อื่นๆ ร่วมมือกับโรงงานอุตสาหกรรมบำบัดอากาศเสียก่อนปล่อยออกสู่สาธารณะ จะเห็นได้ว่าประโยชน์จากการอุดหนุนถ่านกัมมันต์จากเหง้ามันสำปะหลังมีหลายทาง ทั้งช่วยส่งเสริมรายได้ของเกษตรกรและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

รางวัลที่ได้รับ
ผลงานถ่านกัมมันต์จากเหง้ามันสำปะหลังชนะเลิศอันดับหนึ่งรางวัลโครงการนวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาดโอกาสใหม่ของธุรกิจ SMEs (GEF UNIDO Cleantech Programme for SMEs in Thailand) เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันระดับโลกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และสร้างความภาคภูมิใจด้วยการคว้ารางวัลรองชนะเลิศกลับมา สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในเวทีสากล อีกทั้งต้อมยังได้รับหน้าที่เป็นทูตด้านสิ่งแวดล้อมขององค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Industrial Development Organization หรือ UNIDO) ซึ่งเป็นองค์กรส่วนหนึ่งของ UN ล่าสุดในปี 2562 บริษัทต้อม คาซาวา จำกัด ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 สุดยอดนวัตกรรม 7 Innovation Awards 2019 ประเภทผลงานนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์ด้านสังคม

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 สุดยอดนวัตกรรม 7 Innovation Awards 2019 ประเภทผลงานนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์ด้านสังคม

ตลอดช่วงเวลาที่คุยกัน ต้อมมีประกายตาที่มุ่งมั่นและมีแผนการทำงานเพื่อส่วนรวมอย่างไม่ย่อท้อ ไม่มีทีท่าว่าจะเหนื่อยหรือหยุดพัก การทำงานของต้อมน่าชื่นชมและยึดเป็นแบบอย่างในการปลุกแรงบันดาลใจให้มีจิตสำนึกเพื่อสาธารณะเพื่อดูแลโลกใบนี้ของเราต่อไป

 


ช่องทางติดต่อ
Facebook: TOM Casava (@Plaichon)
Line: @tom_casava

กัตติกา

Writer

กองบรรณาธิการ เด็กโบราณคดีเอกไทย ผู้พ่ายแพ้ต่อแมวเหมียวและสิ่งมีชีวิตน่ารัก ชื่นชอบการดูหนังและสีเขียวแต่ดันมีเสื้อสีฟ้ามากกว่าเพราะคิดเอาเองว่าใส่แล้วสวย

อนุชา ศรีกรการ

Photographer

ช่างภาพที่เกิดวันเดียวกับวันถ่ายภาพโลก เลยทำอย่างอื่นไม่เป็นแล้ว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!