‘ตินกานต์’ สวนดอกไม้ที่ว่าด้วยความรักและความจริง

-

“ฉันมองว่าดอกไม้และความรักเหมือนกันอยู่อย่าง คือ ผลิบาน-โรยไป เกิดขึ้น-ดับลง อย่างไม่อาจบังคับและฉุดรั้ง หากแต่เป็นเรื่องของฤดูกาลและเวลาที่เหมาะสม”

ส่วนหนึ่งของคำนำผู้เขียน จากหนังสือรวมเรื่องสั้น ดอก รัก แต่งโดย “ตินกานต์” ซึ่งสะท้อนเรื่องราวภายในเล่มได้อย่างชัดเจน หนังสือเล่มนี้เล่าความรักที่ไม่โลกสวย ไม่ฟิน ไม่จิ้น ไม่มีฉากสะดุดล้มแล้วมีชายหนุ่มเข้ามาประคองกอดจนเราผู้อ่านรู้สึกฟินถึงกับจิกมือจิกหมอน แต่ถ่ายทอดความรักในมุมที่เป็นจริง ซับซ้อน สับสน ลุ่มหลง และวาบหวาม ผ่านสำนวนการเขียนที่ลื่นไหลและวิจิตรบรรจง ทำให้หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทรวมเรื่องสั้น หนังสือดีเด่นรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด (7 Book Awards) ประจำปี 2562 “เพราะมนุษย์นั้นไม่เคยแตกฉานในความรัก ความรักจึงมีเสน่ห์เสมอ”

“ตินกานต์”

ตอนนี้ทำอะไรอยู่คะ
เป็นฟรีแลนซ์ค่ะ เมื่อก่อนทำนิตยสาร พอออกมาเป็นฟรีแลนซ์ก็ขยับมาทำคอนเทนต์ออนไลน์มากขึ้น ที่เห็นผลงานบ่อยหน่อยก็ในเว็บไซต์ a day และ The Standard เป็นคอลัมน์เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ อาหารการกินเพราะเราชอบเรื่องอาหาร ส่วน a day Bulletin ที่เคยเขียน เป็นคอลัมน์เกี่ยวกับมุมมองที่มีต่อความรัก แต่ตอนนี้หยุดเขียนแล้ว ด้วยเวลาที่ไม่ค่อยลงตัว

สนใจทำงานเขียนจนมาเป็น “ตินกานต์” ทุกวันนี้ได้อย่างไร
เรารู้ตัวว่าชอบเขียนตั้งแต่เด็ก เริ่มจากการชอบอ่านก่อน เราไม่ได้เติบโตในครอบครัวที่เป็นนักอ่าน แต่มีวันหนึ่งเรากับพ่อผ่านร้านหนังสือแล้วเจอหนังสือ ขอหมอนใบนั้นที่เธอฝันยามหนุน เราบอกพ่ออยากอ่านเล่มนี้จัง เราไม่รู้ว่าทำไมถึงอยาก อาจเพราะปกสวย พ่อจึงซื้อให้เป็นหนังสือเล่มแรก พออ่านจบแล้วรู้สึกเลยว่า ฉันชอบ ฉันอยากเขียนหนังสือ พอเราบอกพ่อว่าอยากเขียนหนังสือจังเลย วันดีคืนดีพ่อก็หิ้วเครื่องพิมพ์ดีดเก่ามาให้ที่บ้าน เราก็จิ้มก๊อกแก๊กๆ ไปเรื่อย ในช่วงยุค’ 90 ซึ่งเราเรียนอยู่ชั้นมัธยม มีนิตยสารดังๆ อย่าง The Boy, เธอกับฉัน เขาเปิดรับเรื่องสั้นจากทางบ้าน เราก็ลองพิมพ์ส่งไป ปรากฏว่าได้ลง เราจำเนื้อเรื่องไม่ได้แล้ว แต่เกี่ยวกับความรักวัยรุ่น เราส่งไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นความตั้งใจว่าเรียนจบ ฉันจะต้องทำงานนิตยสารเท่านั้น

พอเรียนจบเราเลยสมัครแต่งานกองบรรณาธิการนิตยสาร นิตยสารที่ได้ทำมักเป็นแนวผู้หญิง เกี่ยวกับแฟชั่น-บิวตี้ ถึงเราทำสัมภาษณ์เป็นหลัก ไม่ใช่งานแฟชั่นจ๋า แต่ลึกๆ รู้สึกยังไม่ใช่แบบที่ต้องการ จนออกมาเป็นฟรีแลนซ์และได้มาเขียนให้ a day, a day Bulletin และ The Standard เรารู้สึกถูกจริตมากกว่า

คอลัมน์ “Love Actually” ที่คุณเขียนลงใน a day Bulletin เรารู้สึกว่าคุณเขียนอย่างคนที่เข้าใจความรักจริงๆ
เรื่องทุกเรื่องที่เขียนไปคือเราเคยสัมผัสไม่มากก็น้อย ทั้งนี้เราไม่ได้เข้าใจความรักไปเสียหมดหรอก เราแค่เข้าใจด้านที่เคยผ่านมา แตะมากบ้างน้อยบ้าง หรือเคยอยู่ใกล้กับคนที่ประสบจนเข้าใจ สมมติมีคนตั้งคำถามว่า ทำไมดาราคู่นี้คบกันสิบยี่สิบปี แล้วอยู่ๆ บอกเข้ากันไม่ได้ เพิ่งมารู้ตัวเหรอไง เฮ้ย! มันเป็นไปได้นะ เพราะคนเราเปลี่ยนกันทุกวัน

“ตินกานต์”

ดอก รัก ผลงานวรรณกรรมเรื่องแรก เป็นเรื่องราวจากที่เคยสัมผัสด้วยรึเปล่า
เหมือนกันกับการเขียนในคอลัมน์ “Love Actually” ทุกเรื่องที่เขียน อย่างน้อยเราต้องเคยได้แตะต้องในมุมใดมุมหนึ่ง เรื่องราวในเล่มเป็นแค่ส่วนหนึ่งของประสบการณ์ แต่ไม่ทั้งหมด เราไม่สามารถบอกได้ว่าส่วนไหนคือเรา ที่จริงเราไม่เคยคิดเลยว่าจะเขียนเรื่องสั้นออกมาเป็นเล่ม เหมือนเราลืมเลือนการเขียนเรื่องสั้นไปแล้ว และไม่ได้ขวนขวายจะทำมัน แต่ด้วยจังหวะบางอย่างทำให้เราอยากกลับมาลองเขียนอีกสักครั้ง และเราชอบการเขียนที่ใช้ภาษาสละสลวย เวลาคิดประโยคสวยๆ ได้จะรู้สึกฟินกับตัวเอง แล้วเรื่องสั้นก็เปิดโอกาสให้เราได้ใช้ภาษาอย่างเต็มที่ จำได้ว่าช่วงเวลาที่นั่งเขียนนั้น ทุกอย่างพรั่งพรูออกมาเหมือนเราเตรียมพล็อตเรื่องไว้ในหัวแล้ว ที่จริงเราไม่ได้เตรียมเลย มันพรั่งพรูออกมาเอง

ทำไมเลือกถ่ายทอดเรื่องราวความรักในมุมหวานอมขมสมจริงมาก
เราชอบดูหนังความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน ยิ่งจบแบบใจสลายยิ่งชอบ (ฮ่า) แต่ชีวิตจริงไม่ได้อยากเป็นแบบนั้นนะ แค่รู้สึกว่าในความสัมพันธ์มีอะไรที่ซับซ้อนอยู่ ส่วนมากเรามักโตมากับนิยายหรือหนังรักประโลมโลกที่จบ happy ending ยืนกอดกันมองตะวันตกดิน แต่ถามจริง ปุถุชนทั่วไปมีใครสมหวังแบบในหนังบ้าง เราเชื่อว่าเปอร์เซ็นต์คนไม่สมหวังเยอะกว่าด้วยซ้ำ อย่างชีวิตเราเองผ่านมาจนวัยนี้ ถ้าเรียกว่าสมหวังมีแค่ครั้งเดียว คือคบหากับแฟนจนยืดยาวถึงปัจจุบัน ที่ผ่านมาอาจได้คบ แต่สุดท้ายก็ต้องผิดหวังเลิกลา และที่เรื่องดูสมจริงเพราะมันคือชีวิตจริงของคนทั่วไปนั่นแหละ

ความรักแต่ละตอนในเล่มเขียนยากง่ายต่างกันอย่างไรบ้าง
เราเขียน “พุดพิชญา” เป็นเรื่องแรก ตามมาด้วย “แววมยุรา” และ “เฟื่องฟ้า” แล้วเรื่องอื่นก็ค่อยทยอยมา เรื่องที่เขียนไหลลื่นที่สุดคงเป็น “แก้ว” เพราะมีภาพในหัวชัดมาก ทั้งที่ไม่เคยมีความสัมพันธ์ลักษณะนั้นมาก่อน ถึงจะเคยแตะเรื่องการคบซ้อน แต่การลงลึกไปถึงขั้นครอบครัวนั้นยังไม่เคย เราแปลกใจเหมือนกันว่าทำไมถึงพรั่งพรูออกมาเหมือนเราเป็นแก้วเอง สงสารตัวละครมากตอนที่เขียน ส่วนเรื่องที่เขียนยากคงเป็น “ลิลี่” เป็นพล็อตจากประสบการณ์ที่เราเคยไปเมืองนอกกับแฟน สิ่งที่ยากคือตอนเขียนเรารู้สึกเอาตัวเองเข้าไปเป็นลิลี่ตลอด ทั้งที่เราไม่ใช่ลิลี่ ดังนั้นจึงต้องคอยระวังไม่ใส่ตัวเองเข้าไป เมื่อรู้สึกว่ามากไปแล้วก็ต้องคอยถอย เรื่องนี้จึงเขียนช้าที่สุด

“โรส” ซึ่งเป็นเรื่องสุดท้ายเกี่ยวกับความตาย ตั้งใจให้เป็นบทสรุปความรักรึเปล่า
มันเป็นสัจธรรม ชีวิตนี้สุดท้ายก็ต้องจาก ไม่จากเป็นก็จากตาย ต่อให้รักกันมากแค่ไหนก็หนีไม่พ้น เลยรู้สึกว่ามันก็เป็นความจริงอย่างหนึ่งของชีวิตคู่

“ตินกานต์”

มีสารที่อยากสื่อถึงคนอ่านอีกบ้างไหมผ่านผลงานเรื่องนี้
เราไม่ได้ตั้งใจส่งสารอะไรขนาดนั้น แต่กระบวนการทำงานของเราคือก่อนเขียนต้องเข้าใจตัวละครให้ชัด เพื่อที่จะเข้าใจเหตุผลการกระทำของเขา ทำไมถึงเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น ทำไมถึงทำอย่างนี้ สิ่งนี้อาจเป็นเมสเสจที่เราส่งไปโดยไม่รู้ตัว เพราะเราอยากบอกว่าชีวิตรัก-ชีวิตคนมันกลม เราตัดสินเพียงด้านที่เห็นด้านเดียวไม่ได้ เราไม่อาจบอกได้ง่ายๆ ว่าคนนี้เลว คนนี้ดี ผู้ชายเป็นเพศที่แย่ ผู้หญิงเป็นเพศที่ยอม เราตัดสินไม่ได้เลย อย่าง “โบตั๋น” ที่คบชู้ ถ้าตัดสินอย่างผิวเผิน คงบอกว่าเธอเลว แต่ถ้าคุณอ่านแล้วรู้ว่าชีวิตคู่ของเธอแห้งแล้งเหลือเกิน คุณจะยังด่าเธอเหมือนเดิมไหม นี่คือสิ่งที่อยากสื่อ ชีวิตคนเรามันไม่ได้ตัดสินง่ายๆ ขนาดนั้น

คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่าโซลเมต (soul mate) ไม่จำเป็นต้องมีแค่คนเดียว ช่วยอธิบายแนวคิดของคุณหน่อย
โซลเมตสำหรับเราแปลว่า “ผู้ร่วมจิตวิญญาณ” และคนที่มาร่วมจิตวิญญาณก็ต้องช่วยพัฒนาซึ่งกันและกัน ยกระดับชีวิตให้ดีขึ้น นอกจากนี้มีคำว่า “คู่กรรม” ที่อยู่ด้วยกันแล้วทำร้ายกันเหลือเกิน สมมติถ้าคุณเชื่อว่าโซลเมตต้องมีคนเดียวในชีวิต เป็นคู่ดวงวิญญาณที่ตามกันมา แล้วถ้าคุณคบกันไปปรากฏว่าชีวิตพังเหลือเกิน คุณจะผูกติดกันอยู่อย่างนี้เหรอ หรือถ้าคุณมีคนรัก คุณเชื่อว่าเขาคือโซลเมตคนเดียวของคุณ ถ้าวันหนึ่งเขาตายจากไป คุณจะไม่ยอมให้โอกาสตัวเองมีความรักครั้งใหม่ พบคนใหม่ที่พาให้เราเติบโตขึ้นเหรอ

ตามที่บอก “โซลเมตสำหรับเราต้องพากันเติบโตในทางที่ดีขึ้น” ถ้าเมื่อไหร่ไม่เติบโต มีแต่ดึงด้านที่ไม่ดีออกมาปะทะกัน ก็หยุด แยกทาง เลิก เพื่อต่างคนต่างได้ไปใช้ชีวิตในทางที่ดีกว่า บางคนตีความความหมายของเราผิดไป พอเราบอกว่าโซลเมตไม่จำเป็นต้องมีคนเดียว เขาก็มองแค่พอเลิกกับเอ ก็ไปคบบี คบซีต่ออย่างนี้ได้สิ แต่ความหมายที่เราสื่อไม่ได้มีแค่นั้น ที่เราบอกไม่จำเป็นต้องมีแค่คนเดียว เพราะความสัมพันธ์มีอายุของมัน เหมือนอย่างหนังเรื่อง Once พระเอกนางเอกสุดท้ายก็ไม่ได้อยู่ด้วยกันจนแก่เฒ่า ต่างคนต่างแยกทางแล้วไปมีคู่ครองใหม่ แต่ระหว่างที่ยังอยู่ด้วยกัน เขาช่วยกันผลักดันส่งเสริมจนงอกงามในความฝันของตน นี่คือความหมายของโซลเมตของเรา เวลาสำหรับบางคนอาจสั้นมาก บางคนอาจยาวนาน แต่เมื่อเราจบบทเรียนกับคนนี้แล้ว พอถึงเวลา เราก็ต้องได้เรียนรู้บทเรียนใหม่กับคนใหม่ต่อไป หรือบางคนอาจเจอแค่คนเดียวตลอดชีวิตก็เป็นไปได้ เราตอบไม่ได้ว่าสิ่งที่เราคิดนี้ถูกหรือผิด แต่ลึกๆ เรามีความเชื่อแบบนี้อยู่

แล้วเชื่อว่าความรักเกี่ยวกับโชคหรือพรหมลิขิตไหม
เรารวมคำเหล่านี้ว่า “ถึงเวลาต้องมาเจอกัน” ดีกว่า พรหมลิขิตหมายถึงเวลา โชคก็หมายถึงเวลา เราเชื่อว่ามันมีเวลาของมัน

ยังมองความรักสวยงามไหม
แน่นอนค่ะ เนื้อแท้ความรักคือความเมตตา คือปรารถนาให้คนที่เรารักมีความสุข มันสวยงามนะ จนมนุษย์เอากิเลสที่มีอยู่ในตัวใส่เข้าไป เกิดเป็นความต้องการยึดครอง ความใคร่ ความโกรธ ความเกลียด ผสมรวมในความรัก เพราะฉะนั้นความรักแท้จริงสวยงาม แต่ที่เราเจ็บปวดจากความรักเพราะเราเอากิเลสตัณหาของความเป็นมนุษย์มาทำร้ายกัน แต่มนุษย์ก็ยากจะหนีพ้นรัก โลภ โกรธ หลงน่ะ ถ้าทำได้ เราคงเขียนหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ คงกลายเป็นหนังสือธรรมะไปแล้ว

“ตินกานต์”

ผลงานชิ้นถัดไปจะเป็นแนวไหน ยังสนใจเรื่องของความรักอีกรึเปล่า
สิ่งที่เราสนใจลึกกว่าความรักคือความสัมพันธ์ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นความรักหนุ่มสาว พ่อแม่ลูกก็ได้ เป็นเรื่องที่เราสนใจมากกว่า เพราะครอบครัวคือสายสัมพันธ์ที่มีการกระทำต่อกันอย่างใกล้ชิด มีความซับซ้อน เช่นเรื่อง “แก้ว” กับ “บัว” คือตัวอย่างที่ชัด เลยอยากเขียนเรื่องที่ลงลึกในความสัมพันธ์ลักษณะนี้ การเติบโต การเลี้ยงดู และการทำความเข้าใจเด็กคนหนึ่งซึ่งได้พานพบเรื่องราวจนหล่อหลอมอะไรบางอย่างขึ้นมา

รางวัลที่ได้เป็นกำลังใจให้เรามากน้อยแค่ไหน
การมีอาชีพนักเขียนอย่างเดียวในประเทศนี้ยากมาก เราจำเป็นต้องทำอย่างอื่นด้วย ถ้าเราไม่ต้องทำอย่างอื่นคงเขียนงานได้มากกว่านี้ การเขียนหนังสือเป็นงานเลี้ยงฝัน รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดก็เหมือนเป็นสปอ์ตไลท์ให้คนได้รู้ว่ามีนักเขียนคนนี้อยู่ตรงนี้นะ มีหนังสือเล่มนี้อยู่ อาจทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น ท้องอิ่มขึ้น เมื่อท้องอิ่มแล้วฝันก็น่าจะเติบโตได้

3 เล่มในดวงใจ “ตินกานต์”

ขอหมอนใบนั้นที่เธอฝันยามหนุน โดย ประภัสสร เสวิกุล
หนังสือเล่มแรกที่พ่อซื้อให้อ่าน ทำให้รู้สึกชอบการอ่าน และอยากเขียนหนังสือบ้าง
หอมดอกประดวน โดย “’รงค์ วงษ์สวรรค์”
เรารักภาษาของอารงค์มาก เล่มนี้ใช้คำสุดแพรวพราว แต่สวยนุ่มนวล สุ่มเปิดไปหน้าไหนก็เจอประโยคงาม
พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ โดย วีรพร นิติประภา
และ สมิงสำแดง โดย เอกา กรุณียาวัน
สองเล่มนี้เลือกเพียงหนึ่งได้ยาก ภาษา ลีลา เรื่องราว เลือดเนื้อตัวละคร อ่านจบแล้วรู้สึกว้าวุ่นใจมาก แต่ก็รักเหลือเกิน

ภิญญ์สินี

Writer

กองบรรณาธิการ ศิษย์เก่าเอกปรัชญาและศาสนา ชอบติดตามกระแสสังคม และเทรนด์แฟชั่น สนใจศิลปวัฒนธรรม และสีมงคล ลายนิ้วหัวแม่มือคือลายมัดหวาย

อนุชา ศรีกรการ

Photographer

ช่างภาพที่เกิดวันเดียวกับวันถ่ายภาพโลก เลยทำอย่างอื่นไม่เป็นแล้ว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!