ตะลุยบางปะกง จากพายเรือเล่นเป็นพายเรือเก็บขยะและฟื้นฟูชีวิตไทยกับสายน้ำ

-

เมื่อได้ทราบว่าผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล เขียนหนังสือเรื่องตะลุยบางปะกง ก็สั่งซื้อทันทีเพราะมีพ่อเป็นคนแปดริ้ว จึงอยากอ่านเพื่อรำลึกถึงบ้านเกิดของพ่อ พ่อใช้ชีวิตยามเด็กกับสายน้ำบางปะกงก่อนจะเข้ากรุงเทพฯ พวกลูกๆ ไม่คุ้นเคยกับแปดริ้ว แต่ก็ได้ไปเยี่ยมญาติ ไปไหว้หลวงพ่อโสธร และกินก๋วยเตี๋ยวต้มยำหมูสับใส่กุ้งแห้งตัวเล็กๆ กับเต้าหู้เหลืองหั่นฝอยที่ขายในตลาด แสนอร่อยไม่มีลืม แปดริ้วครั้งสุดท้ายของพวกเราคือเมื่อลอยอังคารของพ่อกลับคืนสู่สายน้ำบางปะกง

หลังจากสั่งซื้อหนังสือไปไม่นานก็ได้หนังสือมาสองเล่ม จากการสั่งซื้อเล่มหนึ่ง และอภินันทนาการจากคุณขจรฤทธิ์ คนจัดพิมพ์อีกเล่มหนึ่ง อ่านแล้วไม่ผิดหวังเลย หนังสือเล่มหนาแต่อ่านจบได้ในเวลาไม่นาน

จะว่าตะลุยบางปะกงเป็นสารคดีท่องเที่ยวก็ได้ หรือเป็นสารคดีเล่าเรื่องราวของสายน้ำบางปะกงก็ได้ วิธีการเดินทางของอาจารย์ปริญญาก็ชวนให้น่าทึ่งแล้วสำหรับคนที่ไม่เคยทราบมาก่อนว่างานอดิเรกของอาจารย์คือพายเรือคายัค และอาจารย์เป็นผู้ทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีกองเรือคายัคทำกิจกรรมทางน้ำอยู่หลายลำ

การเดินทางพายเรือคายัคล่องแม่น้ำบางปะกงที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้เป็นการพายเรือรวมหกครั้ง ในช่วง พ.ศ. 2559 เส้นทางตั้งต้นจากปากน้ำโจโล้จนออกอ่าวไทยที่วัดหงษ์ทองซึ่งถูกน้ำทะเลกัดเซาะจนกลายเป็นวัดกลางทะเล การพายเรือแต่ละครั้งอาจารย์ปริญญาใช้เวลาวันเสาร์เช้า-เย็น และอาทิตย์เช้า มีคณะผู้สนับสนุนติดตามไป 2-3 คน ตั้งเป้าหมายการพายเรือแต่ละครั้งไว้ที่จุดหมายหนึ่ง แล้วครั้งต่อไปก็พายเรือจากจุดนั้นต่อยังอีกจุดหมายหนึ่งที่กำหนดไว้ จนในที่สุดได้พายเรือคายัคออกอ่าวไทยอันเป็นจุดหมายปลายทางที่ตั้งใจไว้ รวมระยะทาง 297 กิโลเมตร

การพายเรือคายัคของอาจารย์ปริญญาตามสายน้ำบางปะกงเป็นทั้งการสำรวจเส้นทางที่ไม่เคยไปมาก่อนแม้จะเป็นคนแปดริ้ว และการหาประสบการณ์ในการพายเรือคายัคในแม่น้ำบางปะกงที่บางตอนกว้างขวางเวิ้งว้างจนน่ากลัว บางตอนมีเกาะแก่ง บางตอนคดเคี้ยวราวกับเชือกทบ อาจารย์ปริญญาพายเรือในยามพระอาทิตย์ขึ้นฉายแสงอบอุ่นสีชมพู ยามพระอาทิตย์ตกที่แสงสีทองอาบท้องน้ำและสรรพสิ่ง ยามท้องฟ้ามืดสนิทและมีพายุฝนกระหน่ำ ยามพระจันทร์ดวงโตสาดแสงสว่างนวลชวนพิศวง ยามเที่ยงอากาศร้อนจัดไร้ร่มเงาให้พักพิง ยามเย็นอากาศฉ่ำด้วยสายลมอ่อนและไอความชื้นจากต้นไม้ใหญ่ ยามพายทวนน้ำที่เรือหนักหนืดจนหมดเรี่ยวแรง และยามพายเรือตามน้ำที่โลดแล่นรวดเร็วเหนือรวงคลื่นอย่างร่าเริง ฯลฯ บรรยากาศรอบข้างที่แปรเปลี่ยนไปหลากหลาย ไม่เพียงทำให้คนพายตื่นเต้นมีชีวิตชีวา แม้คนอ่านก็ตื่นเต้นติดตามรับรู้อารมณ์ของผู้เขียนอย่างใกล้ชิดราวกับติดนั่งท้ายเรือไปด้วย

อาจารย์ปริญญาทำให้คนอ่านรู้สึกว่าการพายเรือคายัคยาว 12-15 ฟุตเป็นเรื่องง่ายๆ ทั้งๆ ในความเป็นจริงคงไม่ง่ายเลย ถ้าไม่ได้ฝึกมาจนมีกำลังอยู่ตัว เพราะพายเรือคนเดียวครั้งละ 6-7 ชั่วโมง คนพายต้องแข็งแรง และมีน้ำอดน้ำทนอย่างมาก อีกทั้งต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพียงลำพัง แม้ว่าอุปกรณ์จะเพียบ พร้อมทั้งเรือคายัครุ่นใหม่ที่วิ่งฉิวเบาแรง กล้องถ่ายภาพ ไฟฉาย แผนที่ โทรศัพท์มือถือที่มีแอพพลิเคชั่นช่วยติดตามและมีแผนที่ดาวเทียมหาข้อมูลเกี่ยวกับสภาพของสถานที่ และอื่นๆ แต่สิ่งสำคัญที่สุดเป็นเรื่อง “ใจ”

ในขณะที่อ่านเรารู้สึกได้ว่าอาจารย์ปริญญาเป็นคนมีเป้าหมายชัดเจน ใจสู้ ไม่ย่อท้อ แต่ไม่ประมาท สู้ต่อเมื่อเห็นว่าตนมีศักยภาพที่สามารถทำได้อีก และยอมหยุดเมื่อเห็นว่าไร้ประโยชน์ที่จะดึงดันไปต่อ ในการสำรวจสายน้ำบางปะกงด้วยตนเอง ทำให้อาจารย์ปริญญาเห็นว่าโครงการของรัฐหลายอย่างที่ตั้งขึ้นเพื่อบริหารจัดการน้ำยังมีจุดที่สูญเปล่า ไม่คุ้มค่า อย่างเช่นการสร้างประตูกั้นน้ำแบบปิดตาย ก่อให้เกิดน้ำเน่าเสียและวัชพืชเติบโต ที่ถูกควรจะเปิดประตูน้ำตลอดเวลาให้ระบายออก และปิดประตูเมื่อต้องการจัดการบริหารน้ำ การเจรจากับ อบต. อบจ. และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นภารกิจและพันธกิจที่จะต้องดำเนินการต่อไป

เวลาเราดูข่าวการวิ่งระยะไกล เราจะเห็นว่ามีรถของทีมงานสนับสนุนคอยส่งน้ำ ผ้าเย็น ดูแลสวัสดิภาพและความปลอดภัย การพายเรือระยะไกลก็เช่นกัน ทีมงานสนับสนุนของอาจารย์ปริญญาทำงานหนักอย่างน่ายกย่อง เพราะทั้งผู้พายและผู้ติดตามต่างก็ไม่เคยใช้เส้นทางนี้มาก่อน ดังนั้นการสำรวจจุดเริ่มต้น จุดปลายทาง และจุดพักระหว่างทาง ที่สามารถจอดเรือหรือเอาเรือขึ้นฝั่งได้จึงเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากผู้คนในปัจจุบันไม่ได้ใช้เส้นทางน้ำในการดำเนินชีวิตเหมือนคนในอดีต บ้าน วัด และสถานที่ทำการต่างๆ ที่อยู่ริมน้ำ มักจะไม่มีท่าเรือ รถของทีมงานสนับสนุนไม่สามารถแล่นขนานกันไปกับเรือคายัคได้ เพราะแม่น้ำบางตอนคดเคี้ยวจนต้องพายเรือเป็นชั่วโมง ในขณะที่รถวิ่งเพียง 10 นาที การมีทีมงานสนับสนุนติดตามไปยังจุดนัดพบจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อความปลอดภัยของผู้พายเรือ และต้องได้ทีมที่รู้ใจเพราะความผิดพลาดอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

เพียงแค่ติดตามอ่านเรื่องอาจารย์ปริญญาพายเรือคายัคสำรวจเส้นทางแม่น้ำบางปะกงจากต้นน้ำที่เขาใหญ่จนถึงอ่าวไทย ก็เป็นเรื่องสนุกสนานคุ้มค่าแล้ว ครั้นพบว่าอาจารย์ต่อยอดการพายเรือเล่นเป็นการฟื้นฟูประเพณีทางน้ำและการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ก็ยิ่งเห็นคุณค่าของอาจารย์ในฐานะปัญญาชนผู้ใช้ความรู้ ประสบการณ์ และมโนธรรมทำประโยชน์ให้บ้านเมืองตลอดมายิ่งขึ้น จากหนังสือ ผจญภัยคลองท่าลาด ที่อาจารย์เขียนขึ้นก่อนหน้านี้ซึ่งได้รื้อฟื้นเทศกาลพายเรือของชุมชนริมน้ำที่คลองท่าลาด ฉะเชิงเทรา นำมาสู่การพายเรือแห่กฐินที่วัดกระแจะ ซึ่งมีขบวนเรือ 50 ลำทั้งเรือไม้ของชาวบ้านและเรือคายัคของชาวกรุง เป็นการแห่กฐินในแม่น้ำบางปะกงครั้งแรกในรอบ 50 ปีซึ่งประสบความสำเร็จงดงาม และกลายเป็นต้นแบบของการแห่ผ้าพระกฐินพระราชทานทางน้ำของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเวลาต่อมา

ส่วนการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ในระหว่างที่พายเรือ อาจารย์ปริญญาได้เห็นว่าคนส่วนหนึ่งใช้แม่น้ำเป็นที่ทิ้งขยะอย่างขาดความรับผิดชอบ สนับสนุนข้อมูลของกลุ่มกรีนพีซที่พบว่าขยะในมหาสมุทรร้อยละ 80 ไหลมาจากแม่น้ำ และกว่าครึ่งมาจากประเทศในเอเชีย ในการพายเรือแต่ละเที่ยว อาจารย์ปริญญาจึงเก็บขยะในแม่น้ำมาทิ้งบนบกด้วย เพื่อคืนความสะอาดแก่แม่น้ำลำคลอง และกลายเป็น “โครงการพายเรือเพื่อเจ้าพระยา” ซึ่งเป็นกิจกรรมพายเรือเก็บขยะที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อธันวาคม พ.ศ.2561 เรือคายัคกว่า 300 ลำ พายเก็บขยะจากปากน้ำโพถึงสมุทรปราการ ใช้เวลา 10 วัน ในสายน้ำไหลที่ผ่าน 10 จังหวัด คือ นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ เมื่อเดือนตุลาคมปีนี้ โครงการพายเรือเพื่อเจ้าพระยาจัดเป็นครั้งที่ 2 โดยใช้เส้นทางเดิม การเก็บขยะในแม่น้ำในโครงการจิตอาสาแบบนี้สามารถลดปริมาณขยะได้บ้าง แต่ที่สำคัญคือสร้างความสำนึกตื่นตัวว่าต้องไม่ทิ้งขยะลงในแม่น้ำ ลำคลอง และทะเล และสร้างความตระหนักว่าเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของทุกคนในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

หนังสือตะลุยบางปะกง ของอาจารย์ปริญญา อาจจะสร้างแรงบันดาลใจให้มีผู้อยากพายเรือคายัคเป็นกีฬาและงานอดิเรกเพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นกีฬาที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และผู้พายเรือยังได้ศึกษาหาความรู้เรื่องธรรมชาติรอบตัว เรื่องน้ำขึ้น น้ำลง น้ำทาม (ไหลนิ่ง ไม่ขึ้นไม่ลง) รู้ทิศทาง รู้จักชนิดของต้นไม้และสัตว์ต่างๆ เป็นการออกกำลังที่รื่นรมย์ยิ่ง และหากต่อยอดเข้าร่วมกิจกรรมคืนความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตกับสายน้ำ และการรักษาธรรมชาติสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปกับการพัฒนาอย่างสมดุล ก็จะทำให้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น เส้นทางพายเรือของอาจารย์ปริญญาไม่ได้จบลงที่แม่น้ำบางปะกง เที่ยวหน้าอาจารย์จะตะลุยเดี่ยวออกอ่าวไทยไปถึงปากน้ำเจ้าพระยา ก็รออ่านสิคะ


คอลัมน์: เชิญมาวิจารณ์ / เรื่อง: ศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!