‘รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำ พ.ศ. 2560’ อย่างที่ทราบกันว่ารวมเรื่องสั้น สิงโตนอกคอก ผลงานของ ‘ลี้ – จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท’ ได้รางวัลดังกล่าว นอกจากเป็นผลงานของนักเขียนหญิงซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยครั้ง แล้วยังเป็นนักเขียนอายุน้อยที่สุดด้วย ชื่อของจิดานันท์จึงเป็นที่สนอกสนใจ เมื่อสำรวจผลงานที่ผ่านมาพบว่าเธอมีงานเขียน 2 สไตล์ 2 นามปากกา ‘จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท’ เป็นทั้งชื่อจริงและนามปากกาสำหรับงานด้านวรรณกรรม ส่วนนามปากกา ‘ร เรือในมหาสมุท’ ใช้สำหรับนิยาย Y หรือนิยายชายรักชาย ซึ่งผลงาน ชายใดเล่าจะแซ่บเท่าแฟนเก่าแม่ ก็เป็นที่พูดถึงไม่น้อยนอกจากนั้นเธอยังจบด้านภาษารัสเซีย แต่เลือกที่จะเลี้ยงชีพด้วยการเป็นนักเขียนฟูลไทม์ ตัวตนที่น่าค้นหาของนักเขียนสาวดาวรุ่งคนนี้ทำให้ ‘นัดพบนักเขียน’ ต้องเชิญเธอมาเปิดใจสนทนา

จุดเริ่มต้นที่ทำให้อยากมาเป็นนักเขียน

จิดานันท์ : ในบ้านลี้มีหนังสืออยู่เยอะค่ะ เราได้อ่านหนังสือตลอดส่วนมากเป็นวรรณกรรมแปล ตอนที่ลี้อายุ 12 ปี มีนักเขียนวัยรุ่นคนไทยตีพิมพ์งานเขียนแนวแฟนตาซี กลายเป็นแรงบันดาลใจว่าคนที่ยังไม่เป็นผู้ใหญ่ก็สามารถเขียนหนังสือได้ จึงเริ่มต้นตั้งแต่ตอนนั้น เขียนหนังสือมาตลอดไม่เคยหยุด ช่วงแรกเราเขียนแนวแฟนตาซีเช่นกัน เขียนใส่สมุด จนเรียนชั้นม.ต้น จึงเริ่มโพสต์ลงเว็บไซต์ dek-d.com

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ตัดสินใจมาเป็นนักเขียนอาชีพแบบเต็มตัว

จิดานันท์ : ลี้เขียนนิยาย Y ตั้งแต่เรียนมัธยม แต่เป็นรูปแบบแฟนฟิกชั่นที่นำตัวละครจากการ์ตูนหรือหนัง มาจินตนาการสร้างเรื่องราวต่อยอด พอเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลี้เลือกเรียนภาษารัสเซียเพราะช่วงมัธยมสนใจด้านการเมืองและศิลปะวัฒนธรรมของรัสเซีย มีคนเตือนว่ายากเหมือนกัน เรารู้สึกว่าน่าลองท้าทายดู แล้วทีนี้ได้รู้จักกับรุ่นพี่ชมรมวรรณศิลป์ของมหาวิทยาลัย เราได้รับคำแนะนำด้านงานเขียน มีโอกาสส่งงานเขียนเข้าประกวด จึงกลับมาเขียนงานในเชิงวรรณกรรมจริง ๆ อีกครั้ง พอเรียนจบยังไปสมัครงานบริษัทเพราะไม่คิดว่าอาชีพนักเขียนจะเป็นงานประจำได้ พอดีบก.2 ท่านรอต้นฉบับจากเรา ซึ่งลี้ไม่มีเวลาทำ ตอนนั้นจึงตัดสินใจลาออกเพื่อมาทำต้นฉบับอย่างจริงจัง

จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท

ทั้ง ชายใดเล่าจะแซ่บเท่าแฟนเก่าแม่ และ สิงโตนอกคอกต่างพูดถึงประเด็น ‘คนนอก’ ทำไมลี้ถึงสนใจประเด็นนี้เป็นพิเศษ หรือมีสิ่งที่อยากจะสื่อสารผ่านนิยาย

จิดานันท์ : อาจเป็นเพราะว่าตัวลี้เองค่อนข้างเป็นคนนอก มองว่าตัวเองเป็นคนนอกเสมอ อย่างเช่นตอนเด็ก ๆ ลี้อาศัยอยู่จังหวัดสมุทรปราการ จากนั้นย้ายมาเรียนมัธยมที่จังหวัดเชียงใหม่ เรารู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่คนเชียงใหม่ แต่พอไปเรียนต่อมหาวิทยาลัย ได้กลับมาเรียนที่รังสิต ซึ่งตอนเด็ก ๆ อาศัยอยู่ละแวกนี้ แต่เพื่อนที่อยู่ด้วยกันกลับรู้สึกว่าลี้ไม่ใช่คนกรุงเทพฯ เพราะมาจากเชียงใหม่ ถามว่าตัวเองเป็นคนท้องถิ่นภาคเหนือไหม ก็ไม่ใช่ ลี้รู้สึกว่าเราเป็นคนนอกตลอด อย่างในโลกของนักเขียนก็เช่นกัน ในวงการวรรณกรรม ลี้รู้สึกว่าเราไม่กลมกลืนเพราะเขียนนิยาย Y ด้วย แต่พอไปอยู่ในแวดวงนักเขียนนิยาย Y น่ารัก ๆ จะได้ยินประมาณว่าพี่ลี้มีงานตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ฝั่งวรรณกรรมด้วย ซึ่งเขาไม่ได้พูดในเชิงรังเกียจนะคะ แต่ตัวเองรู้สึกว่าเราไม่กลมกลืน เราเป็นคนนอกในทุก ๆ พื้นที่

ได้ยินมาว่า สิงโตนอกคอก ได้แรงบันดาลใจจากการเรียนวิชาปรัชญาและจริยศาสตร์ของค้านท์ (Immanuel Kant) อะไรที่กระทบใจเราจนทำให้เกิดเป็นเรื่องราว

จิดานันท์ : สมัยเรียนมหาวิทยาลัยเขาเปิดโอกาสให้ลงวิชาเลือก ลี้ไปลงทั้งปรัชญาจริยศาสตร์ ปรัชญาศาสนา และปรัชญารัฐศาสตร์การปกครอง ระหว่างที่อ่านหรือพูดคุยกับอาจารย์ในห้อง เราจะนำบางจุดที่กระทบใจมาต่อยอดเป็นเรื่องสั้น เช่น แนวคิดของค้านท์จะปรากฏในเรื่อง ในโลกที่ทุกคนอยากเป็นคนดี เพราะหลักจริยศาสตร์ของค้านท์นั้นความดีคือความดีเลย สมมติว่าเราทำผิดนิดหน่อย เช่นการโกหกเพื่อให้เพื่อนสบายใจ ค้านท์จะไม่มองว่าเป็นการกระทำที่เป็นความดี เขาตัดสินเลยว่า ไม่ นี่คือการทำชั่ว ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรการโกหกคือสิ่งที่ไม่ดี ลี้จึงนำจุดนี้มาเขียนเป็นเรื่องราวของเมืองซึ่งทุกคนมีหลักคิดแบบค้านท์ ใครทำผิดนิดหน่อยไม่ได้เลยสิงโตนอกคอก เป็นเรื่องสั้นที่เขียนเมื่อตอนยังเป็นนักศึกษา วัตถุดิบของเรื่องมาจากสิ่งที่คลุกคลีในตอนนั้น เช่น วิชาที่เรียน ดังนั้นเนื้อหาจึงอาจจะเกี่ยวกับปรัชญาเสียเยอะ

ทำไมถึงสนใจวิชาปรัชญา หรือชอบเรียนอะไรยาก ๆ ?

จิดานันท์ : เราสนุกนะ ตอนที่เรียนนั้นตลกมาก มีน้องคนหนึ่งวิชาเอกปรัชญาเลย แต่ไม่ชอบเรียนทว่าดันสอบติด น้องบางคนคะแนนสูงมาก เรียนที่ไหนก็ได้ แต่มาเรียนปรัชญา ในห้องเรียนมีบรรยากาศหลากหลาย สำหรับลี้แล้วสนุกมาก แต่เราก็เห็นว่าบางคนไม่ได้สนุกแบบเรา ต้องตอบว่าถูกจริตมากกว่ามั้ง ถ้าถามว่าควรเรียนปรัชญาไหม ลี้จะบอกเลยว่าไม่ใช่สิ่งที่บังคับให้ทุกคนเรียนได้ แต่บังเอิญว่าลี้ชอบ ชอบการถกเถียงในหัวข้อทางปรัชญา

จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท

งานเขียน 2 ประเภทของลี้ค่อนข้างแตกต่าง มีวิธีสับสวิทช์ความคิดอย่างไร       

จิดานันท์ : วิธีการเก็บวัตถุดิบไม่ต่างกัน ไปไหนแล้วเห็นอะไรหรืออ่านบทความแล้วเจอประโยคสะกิดใจจะจดไว้ก่อน ดังนั้นวิธีการรับเข้ามาจึงไม่ต่างกัน จากนั้นค่อยไปคัดอีกทีว่าอันไหนควรใส่ในนิยาย Y และอันไหนใส่ในงานวรรณกรรม ส่วนการตัดต่อ การตรวจงาน การแบ่งระหว่างบทพูดกับบทบรรยายก็เหมือน ๆ กัน อาจแตกต่างตรงงานวรรณกรรมเขียนให้หนักได้เต็มที่กว่า ส่วนนิยาย Y ต้องคั่นด้วยฉากกุ๊กกิ๊กหรือสนุกสนานบางครั้งเรื่องสั้นที่เป็นงานวรรณกรรมใช้เวลาในการเขียนน้อยกว่าเรื่องสั้นที่เป็นนิยาย Y เสียด้วยซ้ำ เพราะงานวรรณกรรมเมื่อเขียนอยู่ตัวแล้วเราสามารถปลดปล่อยทีเดียวให้พรั่งพรูออกมาเลย

เกณฑ์ในการเลือกว่าข้อมูลใดใช้สำหรับวรรณกรรม ข้อมูลใดสำหรับนิยาย Y เป็นอย่างไร

จิดานันท์ : อันที่จริงไม่มีเกณฑ์นะคะ ยกตัวอย่างสุดโต่งเลย ลี้ไปเดินสยาม เจอร้านขายเสื้อผ้าร้านหนึ่ง ชื่อร้านเพราะมาก เราก็จดชื่อไว้ ต่อมากลายเป็นว่าชื่อร้านนี้บันดาลใจให้สร้างงานวรรณกรรม ทั้งที่มาจากแค่ชื่อร้านในห้าง หรือบางครั้งเราไปสัมผัสความเศร้าระดับเข้มข้น ความรู้สึกที่กลั่นกรองจากการสัมผัสความทุกข์นี้ ลี้นำไปใส่ในนิยาย Y ซึ่งมองดูเผิน ๆน่าจะเนื้อหาสนุกสนาน ขึ้นอยู่กับว่าอยากเขียนอะไรค่ะ

สิ่งที่ต้องมีในนิยาย Y ของ ‘ร เรือในมหาสมุท’ และวรรณกรรมของ ‘จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท’ คืออะไร

จิดานันท์ : ถ้าเป็นนิยาย Y อย่างน้อยต้องมีสักจุดหนึ่งที่พูดถึงครอบครัว หรือความสัมพันธ์ของคนที่คล้ายครอบครัว จริง ๆ แล้วงานวรรณกรรมก็มีเช่นเดียวกัน ส่วนตัวชอบเขียนเรื่องความสัมพันธ์ในเชิงครอบครัวค่ะ อีกอย่างเพิ่งมาสังเกตตัวเองว่าระยะหลังในนิยาย Y มีบทบรรยายพูดถึง’แสง’เสมอ อาจเป็นแสงอาทิตย์หรือแสงไฟ อย่างฉากเศร้า ๆ ตัวเอกนั่งในห้องมืด มีแสงไฟจากข้างนอกเข้ามา หรือไม่ก็ยืนอยู่ในที่แสงไฟรถสาดหน้า ชอบที่ได้บรรยายแสง

จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท

งานเขียนทั้งสองประเภทมีความสำคัญต่อเราอย่างไร

จิดานันท์ : ส่วนใหญ่ลี้ทำงานสลับกัน การสลับช่วยให้เราไม่เครียด บางทีทำงานวรรณกรรมเครียดมาก มาเขียนนิยาย Y ก็ผ่อนคลายหน่อย หรือเบื่อกับการเขียนนิยาย Y อยากเขียนอะไรหนัก ๆ ก็ไปเขียนงานวรรณกรรมทำให้หายเบื่อ สำหรับลี้งานทั้งสองประเภทช่วยส่งเสริมกัน มีเรื่องตลกคือพอเราอยู่ในแวดวงทั้งสอง ทำให้เรามีข้อมูลของทั้งคู่ ซึ่งถ้าอยู่เพียงแวดวงใดแวดวงหนึ่งจะไม่รู้ ตัวอย่างเช่น ลี้เคยได้อีเมลแจ้งว่าต้นฉบับไม่ผ่านการพิจารณา ซึ่งเขาเขียนด้วยภาษาสวยงามละมุนละไมมาก เรานำไปให้เพื่อนดู เพื่อนที่อยู่สายนิยาย Y ไม่เคยเห็นการปฏิเสธด้วยภาษาสวยงามแบบนี้ ก็เป็นเรื่องดีที่เรามีประสบการณ์แตกต่างกับคนอื่นนะ หรือการที่เราอยู่ในแวดวงนิยายYทำให้ได้รู้ว่านิยาย Y ต้องมีปกสวย ๆ ให้ความสำคัญแก่ภาพประกอบ แตกต่างกับงานเขียนสายวรรณกรรมที่คนอ่านไม่เคยเรียกร้องให้มีภาพประกอบเป็นเรื่องสนุกที่ได้อยู่ทั้งสองที่ซึ่งแตกต่างกัน

คุณค่าของนิยาย Y อาจยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ในฐานะคนทำงานมีความเห็นอย่างไรต่อเรื่องนี้

จิดานันท์ : ตัวลี้เองยังไม่สามารถทำให้ภาพลักษณ์ของนิยาย Y ดีขึ้นได้ ต่อให้สาว Y ได้รางวัลซีไรต์ก็ตาม คนที่ไม่ชอบเขาก็ยังไม่ชอบอยู่ ลี้มองว่าเพราะเขายังไม่สนิทกับนิยาย Y ถ้าได้ใกล้ชิดกัน เข้าใจกัน สังคมน่าจะเปิดรับมากขึ้น อย่างไรก็ตาม คุณค่าทางวรรณกรรมมีอยู่หลายรูปแบบ บางเรื่องอ่านแล้วเติบโตด้านความรู้สึก บางเรื่องได้ความรู้ ลี้คิดว่านิยาย Y มีคุณค่าในตัวเอง แต่อาจเป็นคุณค่าในนิยามที่แตกต่างออกไป

จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท

การได้รับรางวัลซีไรต์ทั้งที่อายุยังน้อย และเป็นนักเขียนหญิง แถมประวัติการทำงานยังไม่เหมือนใคร กังวลกับการถูกจับตามองไหม

จิดานันท์ : ตอนแรกกังวลว่าจะมีเสียงโจมตีไหม สักพักเริ่มคิดได้ว่าการวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นกับทุกคนที่ได้ซีไรต์ตลอด 39 ปี เพราะฉะนั้นมันต้องเกิดขึ้น จึงเริ่มปลง แต่มาถึงตอนนี้เสียงวิจารณ์น้อยกว่าที่คิดไว้ ตอนแรกจินตนาการว่าต้องดุเดือดมากแน่ ๆ สุดท้ายคนอาจไม่ได้สนใจเรามากอย่างที่เราคิด ตอนนี้ไม่กังวลหรืออึดอัดอะไรแล้ว ค่อนข้างสงบค่ะ

สิ่งที่ได้รับมากที่สุดจากการเขียนหนังสือคืออะไร

จิดานันท์ : มันช่วยให้เราไม่แย่จนเกินไป บางครั้งลี้โกรธหรือเจ็บปวดกับชีวิต พอได้เขียนหนังสือเหมือนได้นำความเศร้านั้นออกไป ถ้าโกรธใครมา พอได้เขียนหนังสือ ได้ระบายก็รู้สึกให้อภัย มันช่วยเราในเรื่องสุขภาพจิตค่ะ แต่อาจได้ผลสำหรับตัวลี้เท่านั้นนะ จึงไม่กล้าแนะนำใครว่าถ้าเศร้าให้เขียนหนังสือสิ เพราะอาจได้ผลไม่เหมือนกัน

แม้เนื้อที่ใน ‘นัดพบนักเขียน’ จะหมดลง แต่เรื่องราวของลี้ – จิดานันท์ยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะเส้นทางน้ำหมึกของเธอยังทอดยาวไปอีกไกล ติดตามและเป็นกำลังใจให้เธอ สาวน้อยนอกคอก เลือดใหม่แห่งวงการวรรณกรรม


5 เล่มในดวงใจของจิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท

  • โรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลก โดย ฟ้า พูลวรลักษณ์

ชอบผลงานทุกเล่มของนักเขียนคนนี้ แต่เล่มนี้น่าจะอ่านง่ายที่สุด เป็นนักเขียนที่เก่งมากและไม่ธรรมดา

  • อารมณ์เศร้าเลม่อนเค้ก (The Particular Sadness of Lemon Cake) โดย เอมี เบ็นเดอร์
  • ขุนทองเจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง โดย อัศศิริ ธรรมโชติ
  • การิทัตผจญภัย โดย สตีเว่น ลุคส์
  • เกร็ดความคิดบนก้าววิ่ง What I Talk About When I Talk About Running โดย ‘ฮารูกิ มูราคามิ’

นัดพบนักเขียน : ภิญญ์สินี ภาพ : อมรินทร์

1 ความคิดเห็น

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่