งานประกาศผลรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 15 ประจำปี 2561 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา นักวาดผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทนิยายภาพคือ คัจฉกุล แก้วเกต จากผลงานเรื่อง The Things Behind That Door ทุกอย่างเหมือนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน เชื่อว่าเมื่อใครเห็นผลงานของคัจฉกุลแล้วคงจดจำลายเส้นของเขาได้ตั้งแต่แรกเห็น ด้วยลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์และสไตล์การเล่าเรื่องที่สามารถใช้ถ้อยคำสั้นๆ แต่กินใจ ชวนให้นึกคิดตีความหมาย จนเราอยากรู้ว่าอะไรที่เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน ออล แม็กกาซีน จึงขอพาคุณผู้อ่านมาเปิดประตูสู่โลกของคัจฉกุล เพื่อทำความรู้จักเขาให้มากขึ้นกัน

ประวัติ
เต๊นต์-คัจฉกุล แก้วเกต จบชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนศรีวิกรม์ และจบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่ NorthTec สาขาทัศนศิลป์ ประเทศนิวซีแลนด์ สมัยเรียนเขามีประสบการณ์ทำงานที่หลากหลายตามประสาคนไปเรียนต่างประเทศ ทั้งครีเอทีฟในบริษัททำป้าย เด็กเสิร์ฟ คนเก็บผลไม้ ก่อนจะกลับมาเมืองไทยได้ประมาณ 10 กว่าปีแล้ว ปัจจุบันทำงานเป็นกราฟฟิคดีไซน์ หัวหน้าฝ่ายออกแบบและส่งเสริมการขายที่บริษัทส่งออกแห่งหนึ่ง

การกลับมาวาดรูปอีกครั้ง
ตั้งแต่เรียนจบ เราก็ไม่ได้วาดรูปอีกเลย ห่างหายไปประมาณ 5-6 ปี พอมาเป็นกราฟฟิคดีไซเนอร์ ต้องทำงานผ่านคอมพิวเตอร์ตลอด เลยเกิดความรู้สึกอยากกลับมาวาดรูปลงกระดาษธรรมดาแล้วลงสี เมื่อคิดเช่นนั้นเราจึงลงมือทำด้วยการลองวาดรูปวันละรูปและโพสต์ลงในโซเชียลมีเดีย ถามว่าทำไมเราถึงอยากกลับมาวาด อาจเป็นเพราะเราชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว ตอนนั้นเราไม่รู้หรอกว่าทำไมเราถึงอยากวาดขนาดนั้น แต่พอได้กลับมาวาดอีกครั้งก็ทำให้เรารู้สึกดี มีความสุขที่ได้วาดรูปกับกระดาษ เราไม่รู้ว่าผลงานของเราจะเป็นยังไง จะออกไปสู่สายตาคนหรือเปล่า แต่เรามีความสุขจริงๆ ที่ได้ทำ

คัจฉกุล แก้วเกต

การทำงานที่หลากหลายส่งผลต่อแรงบันดาลใจ
ตอนอยู่ต่างประเทศ ประสบการณ์ทำงานอันหลากหลายคงสร้างแรงบันดาลใจให้เราไม่วิธีใดก็วิธีหนึ่ง ทุกอย่างหล่อหลอมให้เราเป็นตัวเราเฉกเช่นทุกวันนี้ เหมือนเรากำลังค้นหาตัวเองว่าจริงๆ ว่าอยากทำอะไร แม้ตอนที่เป็นกราฟฟิคดีไซเนอร์ก็ยังค้นหาตัวเองอยู่ พอมาถึงตอนนี้เรารู้สึกเหมือนกันว่าเราค้นพบตัวเองบ้างแล้ว คือมีความสุขที่ได้วาดรูป

การตามหาลายเส้นของตัวเอง
จริงๆ ตอนนี้ก็ยังหาอยู่ครับ บางทีตัวเราเมื่อ 5-6 ปีก่อน อาจไม่ใช่ลายเส้นที่ใช้อยู่ตอนนี้ก็ได้ แต่มันเป็นตัวเราในตอนนั้น ในทางกลับกันตัวเราในอีก 5-6 ปีต่อจากนี้ อาจใช้ลายเส้นคนละอย่าง แต่กระนั้นเราก็ยังไม่หยุดค้นหา เราไม่ค่อยวาดรูปแบบสเกตช์เท่าไหร่ ส่วนใหญ่เกิดจากจินตนาการของตัวเองมากกว่า เราจดจำความคิดไว้แล้วนำความคิดนั้นมาคิดต่อ ผนวกกับรูปที่เราจินตนาการขึ้น และพัฒนาต่อยอดมาเรื่อยๆ จนออกมาเป็นตัวงานอย่างที่เห็น

เทคนิคที่ใช้ในการวาด
เป็นการลงสีกับกระดาษโดยใช้ปากกามาร์กเกอร์ (Marker pen) ครับ มาร์กเกอร์เขียนแบบมีคุณสมบัติผสมสีได้เหมือนสีน้ำ เราสามารถพกพาไปที่ไหนก็ได้ สะดวกสบายและไม่เลอะเทอะมากเหมือนสีน้ำด้วย ถ้าอยากวาดเมื่อไหร่ก็ใช้ได้เลย ก่อนจะใช้เทคนิคนี้ ก็ลองมาเยอะเหมือนกัน เช่น ใช้สีอะคริลิค แต่เราชอบและรู้สึกเป็นตัวของตัวเองเมื่อใช้เทคนิคปากกามาร์กเกอร์มากกว่า

การใช้ตัวละครหลักเป็นผู้หญิง
ตัวละครจากเรื่อง Small Things Matter กับ The World in the Little Words เรื่องราวจับใจในถ้อยคำธรรมดา คือน้องใจดี เป็นตัวละครเดียวกันครับ เพราะสองเล่มนี้มีความต่อเนื่องกัน รวบรวมเรื่องสั้นจากแฟนเพจเฟซบุ๊ก ส่วนตัวละครในเรื่อง The Things Behind That Door ทุกอย่างเหมือนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน เป็นตัวละครใหม่ที่สร้างขึ้นเพื่อเล่มนี้โดยเฉพาะ การที่เราใช้ตัวละครหลักเป็นผู้หญิงทั้งสามเล่ม เพราะเราคิดว่าความรู้สึกบางอย่าง ผู้หญิงสามารถสื่อออกมาได้ดีกว่าผู้ชาย นอกจากนี้เรายังชอบที่ได้เห็นความเข้มแข็งของผู้หญิง ไม่ใช่ในแง่มุมที่ลุกขึ้นมาต่อยตีกับใคร แต่เป็นความเข้มแข็งทางจิตใจ เหมือนความเป็นแม่ ความเป็นที่พึ่ง เรารู้สึกว่านั่นคือผู้หญิงในอุดมคติ

คัจฉกุล แก้วเกต

ความสัมพันธ์ของตัวละครเชื่อมโยงกับชีวิตจริง
เราใช้ทั้งเด็ก ผู้หญิง สัตว์ และสิ่งของ ให้เป็นสัญลักษณ์ของการใช้ชีวิตร่วมกัน ถ้าเป็นเรื่องสัตว์ เราเลี้ยงแมวอยู่หลายตัว ตายจากไปบ้าง แต่ก็ยังรู้สึกผูกพัน จะเห็นได้ว่าแมวผองเพื่อนของใจดีนั้นบางครั้งช่วยเหลือ ขัดแย้ง หรือเดินคนละทางกัน แต่สุดท้ายก็ยังอยู่ด้วยกัน เหมือนคนธรรมดาทั่วไป ไม่ต้องคิดเหมือนกันซะทุกเรื่อง เราก็ยังอยู่ด้วยกันได้ ส่วนเรื่องความสัมพันธ์ในแง่ความรัก แรกๆ ที่วาดอาจมีให้เห็นบ้าง แต่หลังๆ เรานำเสนอความรักในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่ความรักในมุมหวานๆ แบบความรักหนุ่มสาว อาจเป็นเพราะเราเติบโตขึ้นด้วย ผมมีครอบครัวแล้ว เลยคิดเรื่องปั๊ปปี้เลิฟ (puppy love) น้อยลง และเขียนเรื่องที่คิดในชีวิตประจำวันให้มากขึ้น สะท้อนให้เห็นในงานบ้างแต่ก็ไม่ทั้งหมด เราไม่กล้าบอกหรอกว่ามันเป็นทั้งหมดของเรา เพราะอาจมีบางส่วนที่คิดแต่ยังไม่ได้เขียนออกมา

ประตูของคัจฉกุลที่อยากเปิดให้คนรู้จัก
อาจจะเป็น The Things Behind That Door ทุกอย่างเหมือนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน นี่แหละครับ เป็นหนังสือเรื่องยาวขนาดสั้น ตัวหนังสือไม่เยอะเท่าไหร่ แต่ถ้าอ่านแล้วใช้เวลาพิจารณา จะมองเห็นความหมายบางอย่างที่ถูกซ่อนไว้ เล่มนี้เป็นเรื่องยาวเพียงเรื่องเดียวในบรรดาผลงานทั้งสามเล่มที่ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์บันบุ๊คส์ จุดเริ่มต้นของเล่มนี้มาจากคุณหนุงหนิง ผู้เป็นบรรณาธิการ ถามว่าทำไมไม่ลองเขียนเรื่องยาวดูล่ะ เราเองก็อยากลองดู แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นยังไง จึงคิดถึงพล็อตเรื่องหลักๆ ก่อนว่าต้องการเขียนถึงการเผชิญหน้ากับสิ่งที่ไม่อยากเจออย่างความกลัวและการสูญเสียคนที่รัก แล้วสื่อออกมาเป็นภาพที่ไม่ค่อยซีเรียสนัก เพื่อให้ความรู้สึกกลมกลืนว่าความสูญเสียเป็นเรื่องธรรมดาที่เราต้องเจอจริงๆ ไม่ใช่เรื่องประหลาดอะไร

The Things Behind That Door
ในเล่ม ตัวละครผู้หญิงจะเป็นตัวแทนของคนกลุ่มหนึ่งที่เจอและต้องต่อสู้กับความสูญเสีย และต้องพัวพันกับสิ่งที่สูญเสียจนเกิดการยอมรับและความเข้าใจ ส่วนตัวละครผู้ชายเป็นคนที่มองโลกในอีกแง่หนึ่ง คือคนที่สามารถมองเห็นข้อดีจากความสูญเสีย ตัวเองจึงไม่จมไปกับความทุกข์นั้นๆ และสามารถช่วยคนอื่นได้

การตีความในงานของคัจฉกุล
นอกจากการอ่านตัวหนังสือและภาพแล้ว อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญคือการอ่านสถานการณ์ ถ้าเราอ่านทั้งสามสิ่งนี้พร้อมกัน จะเพิ่มนิสัยช่างสังเกต ทำให้สามารถตีความอะไรได้มากขึ้น บางรูปคนอาจเข้าใจว่าตีความได้แบบเดียว แต่จริงๆ แล้วมันมีความหมายอื่นซ่อนอยู่ เวลาวาดงาน เราคิดเผื่อไว้แล้วว่าถ้ามีคนมาถามเรื่องการตีความของภาพนั้นเราจะพูดว่ายังไง อย่างในแฟนเพจเฟซบุ๊กก็มีคนมาถามเหมือนกัน เราพยายามตอบทุกคำถามเพื่อทำให้เขาเข้าใจมากขึ้น เวลาคนมาถกประเด็นเรื่องการตีความและนำเสนอมุมมองที่แตกต่าง ทำให้เราคิดในมุมอื่นเพิ่มขึ้นด้วย เราได้เรียนรู้ เติบโตไปกับความคิดของคนอื่น ไม่ใช่แค่เขาที่ได้จากเรา เราก็ได้จากพวกเขาเหมือนกัน สิ่งที่ได้สามารถนำมาต่อยอดในงานของเรา

สิ่งที่ผู้อ่านได้ และสิ่งที่ได้จากผู้อ่าน
นักวาดและผู้อ่านเป็นสองสิ่งที่ขาดกันไม่ได้อยู่แล้ว เวลาโพสต์งานแล้วมีเสียงตอบรับกลับมา เราจำความเห็นของบางคนที่เข้ามาบ่อยๆ ได้ บางทีเขาคอมเมนต์ว่างานเรามีประโยชน์แก่เขา เราก็ดีใจ นอกจากงานเราจะให้กำลังใจผู้อ่านกลายๆ แล้ว บางครั้งในทางกลับกันก็ให้กำลังใจตัวเองอีกด้วย การที่งานของเราสามารถสร้างประโยชน์ให้เขาทำให้เรารู้สึกดียิ่งขึ้น

………………………………………….

3 เล่มในดวงใจ
วันอังคารแห่งความทรงจำกับครูมอร์รี (Tuesdays with Morrie) โดย มิตช์ อัลบอม
ทำให้เราคิดถึงเรื่องความตายในอีกแง่มุมหนึ่ง ครูมอร์รีเป็นครูที่ใกล้ตายและก็ได้คุยกับลูกศิษย์ ลูกศิษย์ได้อะไรจากครูมอร์รีไปเยอะเหมือนกัน

เจ้าชายน้อย (Le Petit Prince) โดย อ็องตวน เดอ แซ็งเตกซูเปรี
เล่มนี้เป็นแรงบันดาลใจอันดับต้นๆ ของเราเลย ตัวตนของเราเป็นอย่างหนังสือเล่มนี้ที่เราอ่านมาตั้งแต่เด็กและได้ซึมซับ คนอ่านอาจจะเห็นตัวตนเหล่านั้นโผล่มาในหนังสือของเราบ้าง

เฒ่าผจญทะเล (The Old Man and the Sea) โดย เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์
ให้ความรู้สึกใกล้ชิดธรรมชาติ คำพูดคำพูดหนึ่งของคนเรานั้นอาจจะตีความได้ไกลกว่าที่เราคิด

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่