พ.ศ.2561 นี้ หนึ่งในโรคระบาดที่ควบคุมได้อย่าง “โรคหัด” กลับมาระบาดหนัก โดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีผู้ป่วยหลายร้อยราย และในจำนวนนั้นก็มีหลายคนที่อาการหนัก ต้องเข้ารับการรักษาโรคในโรงพยาบาล จนถึงขั้นเสียชีวิต ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนพฤศจิกายนมีผู้ป่วยโรคหัดใน จ.ยะลาแล้วถึงประมาณ 1,300 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 10 ราย ขณะที่ใน จ.ปัตตานี มีเด็กเสียชีวิตสามคน
อัตราการป่วยของโรคหัดได้สูงขึ้นถึงสองเท่าในช่วงเวลาห้าปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปี 2556 – 2560) กลุ่มที่มีอัตราการป่วยสูงที่สุดเป็นกลุ่มเด็กแรกเกิดจนถึงอายุสี่ขวบ รองลงมาคือกลุ่มเยาวชน อายุตั้งแต่ 15 ปีจนถึง 24 ปี เฉพาะปี 2560 นั้นพบผู้ป่วยโรคหัดรวมกันถึงเกือบสามพันราย และพบมากในฤดูหนาว ซึ่งอากาศเย็นลงและเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น
โรคหัดเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส สามารถติดต่อได้ง่าย (โอกาสติดโรคจากผู้ป่วยอื่นสูงถึงร้อยละ 90 หรือติดต่อได้ง่ายกว่าโรคไข้หวัดใหญ่เสียอีก จึงควรหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดสัมผัสกับผู้ป่วย) พบได้ทุกวัย แต่พบบ่อยในเด็กเล็ก เมื่อติดแล้วจะมีไข้ประมาณสามวัน แล้วมีผื่นสีแดงขึ้นตามตัว เริ่มจากศีรษะ ลามลงมาที่หน้า ลำตัว และแขนขา ถ้าโชคดี ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ไข้และผื่นก็จะค่อยๆ ลดลงจนหายไป แต่ถ้าโชคร้าย ก็อาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ท้องเสีย หูชั้นกลางอักเสบ และถ้าแทรกซ้อนรุนแรง ก็อาจถึงขนาดเป็นปอดอักเสบ มีอาการชัก ไข้สมองอักเสบ และเสียชีวิตได้
ที่จริงโรคหัดเป็นโรคที่สามารถฉีดวัคซีนป้องกันได้ คือฉีดในเด็กเล็กตอนอายุ 9-12 เดือน และตอนอายุสองขวบครึ่งอีกหนึ่งครั้ง ร่วมกับวัคซีนโรคคางทูมและโรคหัดเยอรมัน แต่ที่น่าเศร้าใจก็คือ ในหลายอำเภอของจังหวัดยะลาที่มีการระบาดของโรคหัดสูงนั้น กลับเป็นพื้นที่ที่มีการปฏิเสธการรับวัคซีนจากผู้ปกครองมากที่สุดด้วย ทั้งที่การฉีดวัคซีนป้องกันการแพร่ระบาดของโรคที่ติดต่อง่ายอย่างโรคหัด จะต้องครอบคลุมพื้นที่ให้ได้ร้อยละ 92 ถึงร้อยละ 94 จึงจะได้ผล
น่าตกใจเมื่อพบว่า เด็กที่เสียชีวิตจากโรคหัดระบาดในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ทุกรายล้วนไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคมาก่อน ทั้งนี้เพราะมีการต่อต้านการฉีดวัคซีนในเด็กมุสลิม เนื่องจากพ่อแม่ผู้ปกครองเชื่อข่าวลือออนไลน์ที่ว่า การฉีดวัคซีนนั้นผิดหลักของศาสนาอิสลาม เป็นแผนของประเทศตะวันตกที่จะแพร่สารพิษและเชื้อโรคร้ายผ่านวัคซีน ดังนั้นในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ จึงได้เกิดปัญหาการปฏิเสธฉีดวัคซีนขึ้นในหลายประเทศที่มีชาวมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่ เช่น มีผู้ป่วยโรคโปลิโอในประเทศปากีสถานเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 60 ประเทศอียิปต์มีรายงานเด็กป่วยเป็นโรคหัดมากถึง 5,000 คนใน 10 เดือน เช่นเดียวกับในประเทศมาเลเซียที่มีผู้ป่วยโรคหัดเพิ่มขึ้นเกือบแปดเท่า
อันที่จริงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไม่ได้ขัดต่อหลักศาสนาอิสลามแต่อย่างไร จุฬาราชมนตรี ผู้นำศาสนาอิสลามของประเทศไทย เคยมีฟัตวาหรือคำวินิจฉัยไว้ตั้งแต่ปี 2556 แล้วว่า การให้วัคซีนเพื่อป้องกันโรคโปลิโอและโรคอื่นๆ นั้นสามารถกระทำได้ องค์การที่ประชุมอิสลาม (OIC) ได้รณรงค์ส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกพยายามกำจัดโรคโปลิโอและโรคอื่นๆ ให้หมดสิ้นไป จึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครองในการนำลูกหลานไปรับวัคซีน เพื่อรักษาไว้ซึ่งความสมบูรณ์ของร่างกายที่อัลลอฮ์ทรงประทานให้ และอัลลอฮ์ทรงบัญชาให้มนุษย์ดูแลตนเอง ให้สุขภาพสมบูรณ์ และหลีกห่างภยันตรายอย่างสุดความสามารถ การให้วัคซีนเพื่อป้องกันโรคในเด็กจึงเป็นวิธีการป้องกันโรคที่อาจเกิดขึ้นในเด็ก หรือปัจจุบันเรียกว่า “เวชศาสตร์ป้องกัน” ซึ่งเป็นหลักการที่อิสลามยอมรับมาแต่เดิม เป็นวิธีการป้องกันที่ดีกว่าการรักษาภายหลังจากเกิดโรคแล้ว
ถึงกระนั้นก็ยังมีความกังวลในหมู่ชาวมุสลิมเกี่ยวกับ “ส่วนประกอบของวัคซีน” ว่าจะเป็นตามบทบัญญัติฮาลาลหรือได้รับอนุมัติหรือไม่ ตัวอย่างเช่น เจลาติน (gelatin) ซึ่งเป็นส่วนประกอบของวัคซีนที่ทำให้วัคซีนคงตัว มีประสิทธิภาพคงเดิมระหว่างการจัดเก็บรักษานั้น ก็มีวัคซีนสำหรับบางโรคที่ใช้เจลาตินซึ่งสกัดจากหมู เช่น วัคซีนป้องกันโรคหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสในผู้ใหญ่ของผู้ผลิตวัคซีนบางยี่ห้อ ในกรณีนี้ก็มีฟัตวาออกมาว่า สามารถนำวัคซีนที่มีส่วนผสมของเจลาตินจากหมูมาใช้ได้ เพราะมีความจำเป็นต้องใช้ กรณีนี้จึงอยู่นอกข้อห้ามเรื่องการไม่เป็นฮาลาลดังกล่าว
นอกจากเรื่องเจลาตินในวัคซีนแล้ว ยังมีสารอีกหลายอย่างที่ใช้เป็นส่วนประกอบของวัคซีน และมักมีการเผยแพร่กันในสังคมออนไลน์ จนเกิดการปฏิเสธการรับวัคซีน ทั้งที่จริงๆ แล้วสารเหล่านั้นไม่ได้อันตรายแต่อย่างไร ตัวอย่างเช่น สารประกอบของปรอทอย่าง “ไธเมอโรซอล (thimerosal)” ที่ช่วยรักษาเสถียรภาพของวัคซีนไข้หวัดใหญ่จากการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์นั้น ผลการวิจัยอย่างยาวนานหลายปีพบว่ามันปลอดภัยที่จะนำมาใช้ เนื่องจากมีโครงสร้างอยู่ในรูปเอทิลเมอร์คิวรี่ (ethylmercury) ซึ่งสามารถสลายตัวและขับออกจากร่างกายได้อย่างรวดเร็ว
สารฟอร์มาลดีไฮด์ (formaldehyde) ซึ่งเรารู้กันดีว่าอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ถ้ารับเข้าไปมากๆ ก็เป็นสารที่ใช้เติมในวัคซีนเพื่อทำให้แอนติเจนจากไวรัสและแบคทีเรียที่เอามาทำวัคซีนนั้นเสียสภาพไป ช่วยให้ผู้ที่ถูกฉีดไม่เกิดอาการป่วยขึ้น ปริมาณฟอร์มาลดีไฮด์ที่ผสมในวัคซีนนั้นมีน้อยมาก คือ ประมาณ 0.2 มิลลิกรัมต่อวัคซีน 1 โดส ซึ่งน้อยกว่าที่พบในร่างกายของเด็กทารกตามธรรมชาติอยู่แล้วถึง 50-70 เท่า
อะลูมิเนียม (aluminum) ถูกเติมเข้ามาในวัคซีนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้เข้มแข็งขึ้น ช่วยลดจำนวนโดสของวัคซีนที่จะต้องฉีดเพื่อให้ได้ภูมิคุ้มกันเพียงพอ อะลูมิเนียมเป็นสารที่เกิดอันตรายแก่ร่างกายได้ก็จริง แต่ต้องได้รับในปริมาณมาก ขณะที่ปริมาณอะลูมิเนียมในวัคซีนนั้นมีน้อยจนแทบมองข้ามได้ คือ ในวัคซีนมาตรฐานมีอะลูมิเนียมอยู่เพียงแค่ 4.4 มิลลิกรัมเท่านั้น ไม่เป็นอันตรายแก่เด็กทารกที่ได้รับ
บางครั้งยาปฏิชีวนะก็ถูกนำมาใช้ในกระบวนการผลิตวัคซีนเพื่อลดความเสี่ยงจากเชื้อจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อน จากนั้นยาปฏิชีวนะจะถูกกำจัดออกในขั้นตอนการทำให้วัคซีนบริสุทธิ์ จนเหลือปริมาณเพียงเล็กน้อยก่อนนำวัคซีนไปฉีด ผลการศึกษาที่ผ่านมาไม่พบว่ามีเด็กที่เกิดอาการแพ้วัคซีนจากยาปฏิชีวนะในวัคซีน
สุดท้ายคือ ผงชูรส (โมโนโซเดียมกลูตาเมต monosodium glutamate) ซึ่งเราคุ้นเคยกันในฐานะเครื่องปรุงรสอาหาร ก็มีการนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในวัคซีนเช่นกัน โดยทำหน้าที่คล้ายกับเจลาตินที่ช่วยรักษาเสถียรภาพในวัคซีนบางชนิดให้ดีขึ้น เช่น วัคซีนสำหรับเชื้ออาดีโนไวรัสและวัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่ ประเด็นปัญหาของผงชูรสนั้นเป็นเพราะกระแสความหวาดกลัวอันตรายจากการใช้ผงชูรสที่มีมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 แล้ว แต่ในปัจจุบันไม่มีหลักฐานยืนยันแต่อย่างไรว่าผงชูรสจะก่อให้เกิดอันตราย
กล่าวโดยสรุป วัคซีนเป็นอาวุธและเกราะป้องกันที่สำคัญสำหรับทุกชุมชนในการต่อสู้รับมือกับโรคระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นกับลูกหลานของเรา อย่างเช่น โรคหัดที่ระบาดอยู่ในขณะนี้ อย่าให้ความเชื่อที่ผิดๆ หรือข่าวลือข่าวปลอมใดๆ มาทำให้ท่านไม่พาลูกหลานไปรับวัคซีนตั้งแต่ยังเป็นเด็กทารก รวมถึงการฉีดกระตุ้นซ้ำเมื่อโตขึ้นตามกำหนดเวลา เพื่อช่วยกันควบคุมการระบาดของโรคระบาดต่างๆ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
คอลัมน์: คิดอย่างวิทยาศาสตร์ / เรื่อง: รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์