“Jirabell” (จิรเบล) คือนามปากกาของเขา เจ้าของผลงานพ็อคเก็ตบุ๊คความเรียงกลั่นจากประสบการณ์ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, รักเขาเท่าทะเล
“จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์” คือชื่อจริงของเขา ผู้ซึ่งเคยเป็น บก.บทสัมภาษณ์นิตยสาร a day ก่อนก้าวสู่โลกดิจิตอลด้วยบทบาทเดิม บก. บทสัมภาษณ์ของเว็บไซต์ The Cloud
เรามีนัดกับจิรเดชที่ซอยศูนย์วิจัย ณ สำนักงานของนิตยสาร a day บ้านหลังแรกที่เป็นทั้งความใฝ่ฝัน เป็นเป้าหมาย และเป็นสถานที่ก่อร่างสร้างตัวตนของเขา วันนี้เขากลับมาที่นี่อีกครั้งเพื่อนำทัพ a day ในฐานะบรรณาธิการบริหาร ยอมรับว่าเราตื่นเต้นไม่น้อยที่จะได้สนทนากับเขา นักสัมภาษณ์มากฝีมือผู้ผ่านประสบการณ์พูดคุยกับคนดังมาแล้วหลากหลาย แถมยังเขียนบทสัมภาษณ์ออกมาได้ยอดเยี่ยม ตลอดสองชั่วโมงจิรเดชแบ่งปันประสบการณ์ตลอด 10 ปีบนเส้นทางคนทำหนังสือ ให้เราได้ร่วมเรียนรู้
กว่าจะมาเป็นนักสัมภาษณ์มืออาชีพ คุณมีวิธีฝึกฝนตัวเองอย่างไร
เหมือนทุกๆ คน เราไม่ได้เริ่มจากเก่งเลยทันที เรารู้สึกกลัว รู้สึกไม่มั่นใจเวลาออกไปสัมภาษณ์ และเราไม่อยากมีความรู้สึกแบบนี้ อยากรู้สึกว่าเอาอยู่ มีอะไรยึด จึงเริ่มคิดวิธีบางอย่าง และศึกษาเยอะขึ้นด้วยการอ่านหนังสือรวมบทสัมภาษณ์ ช่วงนั้นอ่านหนังสือของพี่หนึ่ง-วรพจน์ พันธุ์พงศ์ หลายเล่ม ซึ่งมีคุณูปการต่อเรามาก นอกจากนั้นก็มีหนังสือของพี่ก้อง-ทรงกลด บางยี่ขัน ถามว่าอ่านทำไม สำหรับเราสิ่งจำเป็นในการทำบทสัมภาษณ์ คือการมองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการถาม ถ้าเราตั้งคำถามเดิมๆ ย่อมได้บทสัมภาษณ์เหมือนคนอื่น ซึ่งไม่ใช่ความผิด แต่เรารู้สึกว่าถ้าอยากก้าวให้พ้นความกลัว ต้องมีชุดทักษะอะไรบางอย่างที่ถูกสร้างขึ้นมา นั่นคือการอ่านเยอะๆ เพื่อเห็นความเป็นไปได้ในการถาม
ไม่ได้อ่านเพื่อนำวิธีถามเหล่านั้นไปใช้บ้าง
ใช่ เวลาอ่านบทสัมภาษณ์ดีๆ เราไม่จำคำถามมาถาม แต่เรามองหาความเป็นไปได้ เช่น คำตอบแนวนี้ ไม่จำเป็นต้องถามแค่แบบนี้ ถามแบบอื่นก็ได้ ถ้าเราอ่านน้อยเราย่อมรู้น้อย ไม่เห็นถึงความเป็นไปได้ต่างๆ เราอ่านเชิงพัฒนาตัวเอง ไม่ได้อ่านเอาความ บางครั้งอ่านเฉพาะคำถามด้วยซ้ำ พอเราพัฒนาตัวเองถึงจุดหนึ่ง เริ่มไม่กลัวเวลาออกไปสัมภาษณ์ กลัวอย่างเดียวคือทำงานออกมาไม่ดี เพราะบางคนโอกาสที่ได้คุยกับเขามีแค่ครั้งเดียวในชีวิต ถามว่าเราชอบการสัมภาษณ์มาตั้งแต่แรกไหม เราเริ่มชอบเมื่อเราเอาอยู่ จัดการได้อยู่มือ เป็นจุดที่ทักษะซึ่งมีอยู่ในตัวแต่ไม่เคยรู้หลอมรวมกับประสบการณ์ ทำให้ค้นพบว่าเราประมวลผลและตั้งคำถามได้เร็ว ซึ่งแตกต่างจากคนอื่น ตอนนั้นเราเริ่มสนุกกับการคุย
ความยากของงานสัมภาษณ์คืออะไรบ้าง
การทำบทสัมภาษณ์นั้นยากสองอย่าง หนึ่ง เป็นงานระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ไม่ใช่มีพี่คนหนึ่งคิดคำถามแล้วยื่นให้ เธอช่วยไปสัมภาษณ์ตามนี้ให้หน่อย แล้วสิ่งนั้นจะออกมาดี คำถามเดียวกัน แต่เปลี่ยนคนถาม คุณก็ได้คำตอบไม่เหมือนกัน แม้กระทั่งน้ำเสียง การสบตา นั่งคุยสองคน หรือมีบุคคลที่สามอยู่ด้วย ก็มีผลให้ได้คำตอบแตกต่างกัน การสัมภาษณ์นั้นไม่มีสูตรสำเร็จ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน
ความยากอย่างที่สอง คือ มันเรียกร้องทักษะหลายอย่าง สมมติคุณทำหนัง คนถ่ายก็ถ่ายไป คนตัดต่อก็ตัดไป แต่คนทำบทสัมภาษณ์รับผิดชอบทุกตำแหน่งตั้งแต่เตรียมตัวออกไปสัมภาษณ์ จนกลับมาเรียบเรียง ตอนเตรียมตัวเรียกร้องทักษะการค้นข้อมูล ตอนสัมภาษณ์เรียกร้องทักษะสนทนา จับประเด็น และคิดคำถาม สมมติคุณทำได้ดีหมดแล้วนะ สัมภาษณ์เสร็จคุณยังต้องมาเขียน ซึ่งเรียกร้องทักษะอีกแบบหนึ่ง เขียนเรียบเรียงหรือถาม-ตอบ ก็ใช้กลวิธีต่างกัน แล้วการที่คนคนหนึ่งจะมีครบทุกทักษะไม่ใช่เรื่องง่าย อีกทั้งบทสัมภาษณ์ที่ดี ก็ไม่อนุญาตให้ผิดพลาดในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งได้เลย
วิธีการทำงานสัมภาษณ์ของคุณเป็นอย่างไร
เราเคยสัมภาษณ์และชอบประโยคหนึ่งของพี่หนึ่ง-วรพจน์ ถ้าคุณเกิดมาไม่เก่ง คุณต้องทำงานแบบคนโง่ คือต้องขยัน ทำให้สุด ทำอย่างเต็มที่ พี่หนึ่งบอกว่าเวลาเขาสัมภาษณ์ใคร เขาไม่ทำเพียงแค่ให้ผ่านๆ ไป แต่งานนั้นต้องเป็นบทสัมภาษณ์ที่ดีที่สุดของคนนั้น เขาเปรียบเทียบกับช่างภาพ แค่ถ่ายภาพให้ติดใครๆ ก็ทำได้ แต่เขาอยากถ่ายภาพที่ดีที่สุดของคนนั้น เราทำงานด้วยความรู้สึกคล้ายๆ กันนี้ อยากทำให้ดีที่สุด ในกระบวนการเตรียมตัว เรารีเสิร์ชหนักมาก อ่านบทสัมภาษณ์ทุกชิ้น ไล่ดูเฟซบุ๊กของเขาเหมือนคนโรคจิต ดูว่าเขากำลังไม่พอใจอะไร หรืออินกับอะไร บางทีมันสามารถครีเอทประเด็นใหม่ที่ไม่เคยมีใครพูดถึงมาก่อนได้ ระหว่างสัมภาษณ์ก็ตั้งใจฟัง อย่าโดนจำกัดด้วยคำถามในกระดาษ ตั้งใจฟังแล้วคุยกับเขา ส่วนตอนเรียบเรียงนั้น ไม่มีสูตรอะไร แค่จัดการข้อมูลออกมาให้ดีที่สุด พยายามเก็บความรู้สึกระหว่างสนทนาแล้วถ่ายทอดให้ได้ตามนั้น เช่น ตอนเราคุยแล้วน้ำตาไหลหรือหัวเราะฉิบหาย จะเขียนยังไงให้คนอ่านรับรู้ถึงตรงนี้แล้วหัวเราะเหมือนเราบ้าง เพราะแท้ที่จริงบทสัมภาษณ์คือการนำสารชุดเดียวกันมาถ่ายทอดแก่ผู้อ่าน ดังนั้นควรรู้สึกไม่ต่างกับตอนที่เรานั่งคุย
คุณมีคำแนะนำหรือวิธีจัดการอย่างไร เมื่อต้องเจอสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดเดาได้ขณะสัมภาษณ์
มันไม่มีสูตรสำเร็จนะ สมมติเราแนะนำว่าพลิกแพลงคำถามเป็นแบบนี้สิ สุดท้ายอาจใช้ไม่ได้ผลก็ได้ อย่างที่บอกงานสัมภาษณ์คืองานระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ จึงเป็นหน้าที่ของนักสัมภาษณ์ที่ต้องคอยสังเกตปฏิกิริยาอย่างละเอียด อ่านสถานการณ์ตลอดเวลา สมมติถ้าเราจับสังเกตได้ว่าเขาไม่ชอบให้ถามเรื่องอดีต ผมเปลี่ยนเกมเลย แม้ว่าจะไม่ได้คำตอบครบตามที่วางแผนไว้ ถ้าเราไม่คำนึงว่านี่คืองานระหว่างมนุษย์ เราจะทำงานเหมือนโรบอท แค่ถามตามที่เตรียมไว้ให้ครบ ในฐานะคนสัมภาษณ์ต้องอ่านฝ่ายตรงข้าม ไม่ใช่อ่านคำถามของเรา
อีกอย่างที่ผมยึดถือคือ สิ่งที่เราอยากรู้นั้นสามารถถามได้เป็นร้อยแบบ และการถามแต่ละวิธีก็ให้คำตอบแตกต่างกัน สมมติไปถามคุณเนวินว่าเลิกเล่นการเมืองแล้วจริงหรือ แน่นอนว่าได้คำตอบแบบหนึ่ง และอาจทำให้บทสนทนาพังลง แต่ถ้าเราพลิกแพลง เช่น ทุกวันนี้คุณยังอ่านหนังสือพิมพ์การเมืองอยู่ไหม เห็นนักการเมืองแล้วรู้สึกอย่างไร คนอื่นเขาไม่เชื่อว่าคุณวางมือจากการเมือง คุณจะบอกเขาอย่างไร สรุปคือต้องมีการวางแผน ถ้าคำถามไหนสุ่มเสี่ยงที่เขาอาจไม่ตอบ เราต้องพลิกแพลง ให้น้ำหนักคำถามพอดีกับที่เขาจะตอบ
Between Hello and Goodbye (ครู่สนทนา) คือหนังสือรวมบทสัมภาษณ์เล่มแรกของคุณ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร
บก.สนพ.แซลมอน ปฏิกาล ภาคกาย ติดต่อมาว่าอยากรวมบทสัมภาษณ์ สนใจไหม จริงๆ อยากตอบตกลงในทันที แต่แอบเกรงใจ เพราะหนังสือรวมบทสัมภาษณ์ในบ้านเราค่อนข้างขายยาก แต่ทางบก.คงเห็นประโยชน์อะไรบางอย่าง เลยมีโอกาสได้ทำหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา เรารวบรวมบทสัมภาษณ์ตลอดชีวิตการทำงาน 10 ปี หลักในการเลือกคือต้องเป็นบทสัมภาษณ์ที่ timeless เหนือกาลเวลา อ่านเมื่อไหร่ก็ได้ไม่ล้าสมัย ความจริงเราค่อนข้างรักบทสัมภาษณ์ของเรานะ หลายๆ ชิ้นค่อนข้างภูมิใจ และหลายๆ ชิ้น คนที่เราไปสัมภาษณ์ก็รักมัน พอมีจำนวนมากพอ เราจึงอยากหาที่ทางให้มันอยู่รวมกัน
ทำยังไงจึงให้บทสัมภาษณ์ที่ยาว 10-12 หน้า ดึงคนอ่านไว้ได้ ในยุคที่ว่ากันว่าคนไม่นิยมอ่านอะไรยาวๆ กันแล้ว
เราไม่ได้ตะบี้ตะบันเขียน 12 หน้า โดยไม่วางแผนอะไรเลย เวลาเขียนงานเราไม่ทิ้งคนอ่านไว้กลางทาง ระหว่างทางจะมีหยอดอะไรบางอย่างที่ดึงให้คนอ่านอยากอ่านต่อไปเรื่อยๆ เช่น คำถามที่น่าสนใจ เรื่องที่เขาอยากรู้ เราเชื่อว่าแม้มันดีแต่น่าเบื่อ คนก็ไม่อ่านหรอก เพราะฉะนั้นวิธีการของเรา ถ้ารู้ว่าอ่านถึงตรงนี้เริ่มหนักแล้ว จะหาวิธีพลิกเพื่อพาคนอ่านไปต่อได้ ถ้าเป็นถาม-ตอบ ก็หยอดคำถามที่รู้สึกว่าน่าสนใจเป็นระยะๆ
ในยุคที่สื่อทุกประเภทต้องปรับตัว “บทสัมภาษณ์” ต้องปรับตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไปไหม
เราไม่รู้ว่าบทสัมภาษณ์ต้องเปลี่ยนไหม แต่เราว่าบทสัมภาษณ์ต้องคำนึงถึงแพลตฟอร์มด้วย ในแง่หนึ่งบทสัมภาษณ์เหมือนน้ำ ไหลไปอยู่บนที่ไหนละ ถ้าอยู่บนกระดาษ ธรรมชาติของมันเป็นยังไง คนอ่านอยู่กับสิ่งพิมพ์ได้นาน เขียนแบบเรียบเรียงได้ยาวๆ ใช้วรรณศิลป์เยอะๆ ได้ แต่ถ้าไปอยู่บนเว็บไซต์ ถ้าหน้าเว็บคุณเอื้อต่อการอ่านยาวได้ก็โอเค แต่ถ้าไม่ คุณจะปรับยังไงให้บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ยังทำงานอย่างที่ควรจะเป็นได้ สำหรับเราต้องปรับงานให้เข้ากับที่ที่มันไปอยู่ ไม่ใช่คุณทำรูปแบบนี้แล้วได้ผลดี แล้วจะทำรูปแบบเดิมในทุกๆ ครั้ง สมมติมีคนมาจ้างให้ทำบทสัมภาษณ์ลงใบปลิว ซึ่งต่างจากลงหนังสือ ก็ต้องคิดแล้วว่าจะทำอย่างไรให้ดึงดูด ต้องดีไซน์คำถามให้เป็นคำถามเดี่ยวๆ รึเปล่า เราต้องคิดว่าแพลตฟอร์มนั้นเรียกร้องอะไร และแบบไหนจึงจะเหมาะสม
ในบทบาทผู้รับช่วงนำทัพนิตยสาร a day คนปัจจุบัน มองว่าแวดวงนิตยสารในเมืองไทยจะดำรงอยู่ต่อไปอย่างไร
สำหรับเรามองว่า อยู่ได้ แต่จะอยู่แบบไหน คงไม่ได้อยู่แบบเมื่อสิบปีก่อน ที่โฆษณาถึงขนาดลงหน้าเว้นหน้า ยุคนั้นคงไม่กลับมาอีก แต่เราเชื่อว่าคนยังต้องการพื้นที่นี้อยู่ ไม่เชื่อว่าจะสูญพันธุ์ แต่อาจเป็นสัตว์หายาก ตั้งแต่ผมมาเป็นบรรณาธิการบริหารของ a day ผมพยายามปรับให้มัน timeless ปกติแมกกาซีนมีเวลาอยู่บนแผงประมาณเดือนหนึ่งแล้วหายไป แต่ผมพยายามทำเนื้อหาให้เหมือนพ็อคเก็ตบุ๊คเล่มหนึ่ง อีกสิบปียังหยิบมาอ่านได้ แล้วทั้งเล่มให้เป็นเรื่องเดียวกัน ส่งผลให้มีการปรับเปลี่ยนรูปโฉม เช่น เลขลำดับเล่ม เมื่อก่อนตัวใหญ่ เราปรับให้ตัวเล็กจนดูไม่ออกว่าเล่มไหนมาก่อนหรือหลัง อันไหนเล่มใหม่เล่มเก่า กลายเป็นว่าถ้าสนใจเรื่องนี้ ก็ซื้อเล่มนี้อ่าน ไม่ใช่เก่าแล้วไม่เอา จะซื้อแต่เล่มใหม่
อาชีพนักเขียน การเป็นคนทำหนังสือ ได้ให้อะไรแก่คุณบ้าง
สิ่งที่ค่อนข้างพิเศษคือเป็นงานที่ทำให้เราได้ประสบการณ์บางอย่างจากเรื่องเล่า ไม่ใช่ทุกงานที่คุณมีโอกาสได้ฟังเรื่องเล่าซึ่งทำให้คุณเติบโตอย่างสม่ำเสมอ คุณอาจได้คุยกับเพื่อนบ้างในมื้ออาหาร แต่เราได้ไปคุยกับใครบางคนที่มีชุดประสบการณ์อันมีคุณค่ามากๆ แล้วเรื่องเล่ามีพลังนะ เรื่องเล่าที่ดีเปลี่ยนแปลงทัศนคติข้างในเราได้ บางทีรู้สึกทดท้ออยู่ แต่บางประโยคทำให้เราอยากใช้ชีวิตต่อไป นี่แหละ คุณค่าและความหมาย