มีคนเคยกล่าวไว้ว่า “โลกนี้คือละคร” ตราบใดที่ชีวิตยังโลดแล่นก็ต้องแสดงบทบาทต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แล้วในฐานะตัวละคร เราควรทำอย่างไรจึงจะ “ตีบท (ชีวิต) ให้แตก” เพื่ออยู่บนโลกใบนี้ได้อย่างมีความสุขตามที่ควรจะเป็น ออล แม็กกาซีนฉบับนี้มีนัดกับ “ครูเงาะ”-รสสุคนธ์ กองเกตุ แอ๊คติ้งโค้ชหรือครูสอนการแสดงชื่อดังของเมืองไทย ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนักแสดงยุคใหม่ค่อนวงการ เธอเชื่อมั่นเสมอว่า ศาสตร์การแสดงสามารถปรับใช้ได้กับชีวิตทุกคน น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่าเธอใช้เคล็ดลับของศาสตร์การแสดงมา “ปรุง” ชีวิตอย่างไร จึงทำให้เป็นที่รักของคนรอบข้างและมีผลงานโดดเด่นได้ยาวนานขนาดนี้

ครูเงาะ-รสสุคนธ์ กองเกตุ

ช่วงนี้ครูเงาะทำอะไรอยู่บ้าง
หลักๆ มีโรงเรียนสอนการแสดง The Drama Academy ค่ะ แล้วก็ขยายการสอนการแสดงกับจิตวิทยาไปในองค์กรต่างๆ เช่น บริษัทเอกชน ธนาคาร องค์กรมหาชน ฯลฯ เป็นการนำการแสดงไปประยุกต์ให้เขากล้าแสดงออก มีบุคลิกภาพดี พูดเป็น มีเทคนิคการนำเสนอ รวมทั้งเทคนิคการสื่อสาร เรื่องเหล่านี้เป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่ทั้งวอร์เรน บัฟเฟตต์ หรือบิล เกตส์ที่ล้วนประสบความสำเร็จระดับโลกยังบอกว่า ศาสตร์สำคัญที่สุดของผู้นำ (leader) คือศาสตร์ของการสื่อสาร ส่วนงานเบื้องหน้า เงาะเป็น commentator อยู่ 3-4 รายการ เช่น รายการ Diva Makeover เสียงเปลี่ยนสวย รายการซุปเปอร์เท็น (Super 10) ปีนี้ก็จะมีรายการซุปเปอร์ซิกตี้ (Super 60) ที่ให้คนอายุ 60 ปีขึ้นไปมาแสดงความสามารถ ด้านธุรกิจส่วนตัวก็มีบริษัทอาหารเสริม Innar SOD อินนาร์ ครูเงาะ ด้วยค่ะ

ครูเงาะอยากเป็นแอ๊คติ้งโค้ชตั้งแต่เมื่อไหร่
ตอนเรียนที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ยังไม่มีอาชีพแอ๊คติ้งโค้ช มีแต่อาชีพผู้ช่วยผู้กำกับ ตัวเงาะเองเล่นละครเวทีมาโดยตลอด เริ่มรู้สึกว่าเป็นนักแสดงนี่ยากจังเลย เงาะอยากเล่นบทที่สนุก ทีนี้บทที่สนุกก็ต้องเป็นตัวเอกหรือตัวร้าย จะให้เป็นตัวร้าย หน้าเงาะก็ไม่ได้ร้ายขนาดนั้น จะให้เป็นนางเอก ก็ไม่ได้สวยขนาดนางเอก ถ้าจะให้เล่นเป็นเพื่อนนางเอก ก็มีบทแค่ชี้นกชมไม้ ดูผู้ชาย หัวเราะเรื่อยเปื่อยไม่ได้ทำอะไรมากกว่านี้ กระทั่งเพื่อนของเงาะคือ โต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล (ผู้กำกับภาพยนตร์พี่มากพระโขนง) ตอนนั้นโต้งเป็นผู้กำกับละครเวที เขาเห็นรุ่นน้องเล่นไม่ได้ เลยให้เงาะมาช่วยสอนน้อง เพราะเห็นว่าเงาะเล่นมา 4 ปีแล้ว เงาะก็ไปสอน ปรากฏว่าน้องเล่นได้ พอเล่นได้ปุ๊บ เงาะชัดเจนเลยว่าฉันเจออาชีพแล้ว (แววตาเป็นประกาย) มันต้องมีอาชีพนี้สิ บนโลกใบนี้ต้องมีคนสอนนักแสดงหน้ากองให้เล่นได้แบบนี้

ทำไมถึงคิดว่าอาชีพนี้คือสิ่งที่ใช่
ครูเงาะ : เพราะมีความชอบด้านการแสดงและการสอนเป็นปัจจัยสำคัญ เงาะเอาสองเรื่องนี้มารวมกัน โดยยึดหลักอิคิไก (ikigai 生き甲斐 – เหตุผลของการมีชีวิตอยู่) คือเราชอบ ทำได้ดี และมีคนเป็นลูกค้า หมายถึงโลกนี้มีคนต้องการศักยภาพที่เรามีและชอบ พอมีคนต้องการ เขาก็จะยอมจ่ายเงินให้เรา สิ่งนั้นเรียกว่าอาชีพ พอรู้ว่าตัวเองมีทักษะนี้ เงาะก็มองหาลูกค้าทันที ลูกค้าของเงาะคือนักแสดงที่เล่นไม่ได้ ผู้กำกับที่อยากให้งานถ่ายเร็ว โปรดิวเซอร์ที่ต้องการประหยัดงบ ตอนเงาะไปหาผู้กำกับเพื่อฝากเนื้อฝากตัว เขามักบอกว่าไม่มีตำแหน่งนี้นะ เงาะบอกว่าให้ทำหน้าที่อะไรก็ได้ ขอเพียงได้สอนนักแสดงหน้ากอง เรียกว่าลุยตรงนั้นเลย ระหว่างรองานแอ๊คติ้ง เงาะก็ฝึกแคสติ้งเด็ก (คัดเลือกตัวแสดง) ก่อน เวลาคัดเลือกใครก็พยายามสอนแอ๊คติ้งให้ด้วย เหมือนเป็นการฝึกมือไปในตัว ถ้าเด็กที่เราเลือกผ่านเข้าไปแสดงนั้น พออยู่หน้ากองกลับเล่นไม่ได้ ผู้กำกับเขาก็ให้เงาะสอน ปรากฏว่าเด็กเล่นได้ ผู้กำกับเขาเลยบอกว่า “เออ เงาะมันเป็นแอ๊คติ้งโค้ชได้” ตอนนั้นทำแอ๊คติ้งโค้ชเด็กและเรียนการแสดงเพิ่มเติมด้วย

ครูเงาะ-รสสุคนธ์ กองเกตุ

มาเป็นแอ๊คติ้งโค้ชเต็มตัวตั้งแต่เมื่อไหร่
พอดีทีมงานสร้างภาพยนตร์เรื่องแฟนฉัน เขาเห็นเงาะทั้งรักการแสดงและมีประสบการณ์กับเด็ก เลยชวนมาทำงานด้วย ตอนนั้นไม่มีคำว่าเซย์โนค่ะ ทั้งๆ ที่ตอนทำแคสติ้งโฆษณาได้เงินเดือนสองหมื่นต้นๆ ทางแฟนฉันให้ห้าหมื่น แต่ทำงานนาน 5 เดือนนะ ตกเดือนละหมื่นเอง พอได้ทำปุ๊บ เงาะตั้งใจมาก อยากทำให้ดี เหมือนเราซื่อสัตย์ต่องาน เขาก็ซื่อสัตย์ต่อเรา เป็นการตอบสนองซึ่งกันและกัน เงาะไม่ได้คาดหวังอะไรเลย ทำเพราะอยากทำ ไม่เคยคิดว่าหนังจะดังหรือไม่ดัง เพราะเป็นหนังเด็ก จะดังได้ยังไง เด็กที่แสดงก็ใหม่หมด เงาะแค่รู้สึกว่าโอกาสมาถึงแล้ว เราได้ทำสิ่งที่เรารักแล้ว จึงทุ่มเทใจให้ ซึ่งผลออกมาดีมาก เป็นปรากฏการณ์เลยตอนนั้น จำได้ว่ามีคนพูดถึงการแสดงของเด็กๆ ว่า “เด็กเล่นแบบนี้ได้ยังไง” แล้วมีคนมาขอสัมภาษณ์ จากนั้นคำว่าแอ๊คติ้งโค้ชก็เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นค่ะ

อาชีพแอ๊คติ้งโค้ชต้องทำอะไรบ้าง
เริ่มต้นจากการแคสติ้งนักแสดงก่อนค่ะ พอแคสติ้งแล้วค่อยมาถึงมือเงาะ เงาะจะอ่านบทและตีความร่วมกับผู้กำกับ จากนั้นจึงเริ่มทำแบบทดสอบ (exercise) เพื่อฝึกซ้อมให้เขามีทักษะ ถ้าใครไม่เคยมีทักษะทางการแสดง ก็ซ้อมทักษะพื้นฐานก่อน พอเสร็จแล้วก็เข้าสู่บท เข้าสู่คาแร็กเตอร์ แต่ถ้าใครมีทักษะแล้วก็เข้าคาแร็กเตอร์ได้เลย

หัวใจหลักของการแสดงคืออะไร
หัวใจหลักของการแสดงคือการที่มนุษย์รู้จักตัวเองมากที่สุด และรู้จักมนุษย์ด้วยกันมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จึงไม่แปลกที่คนทำงานด้านการแสดงเมื่อถึงจุดหนึ่ง มักเข้าทางธรรมหรือศึกษาเกี่ยวกับจิตวิทยา เพราะการแสดงนำไปสู่จุดจุดนั้น การที่เราจะเล่นเป็นใครสักคน เราต้องเข้าไปอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของเขา ไม่ใช่แค่การทำหน้าทำตา เราต้องรู้ว่าสิ่งที่ทำให้คนคนนี้โกรธขนาดนี้คืออะไร ทำไมเขาจึงร้องไห้ เราต้องรู้สึกว่าเขามาอาศัยร่างกายเราเล่น อาศัยน้ำตาของเรา ต้องหาจุดเชื่อมระหว่างน้ำตาของเขากับน้ำตาของเราให้ได้ ถ้าเราแค่ทำหน้าทำตา ก็เป็นได้แค่นักแสดงทั่วไป แต่ถ้าอยากเป็นนักแสดงพิเศษต้องตั้งคำถามกับตัวเองให้ได้ว่ามีอะไรเกิดขึ้น เราจึงจะโกรธได้เท่ากับคนคนนี้ ต้องอาศัยจินตนาการ ต้องรู้จักคนที่เรารัก ต้องรู้จักชีวิตตัวเองอย่างถ่องแท้พอสมควรเลย

ครูเงาะ-รสสุคนธ์ กองเกตุ

ยกตัวอย่างให้ฟังหน่อยได้ไหมคะ
มีเด็กคนหนึ่งบอกเงาะว่า “จะให้หนูยิงได้ยังไง หนูไม่เคยฆ่าคนนะคะครู ขนาดยุงหนูยังไม่ตบเลย” เงาะจึงบอกว่า “ถ้าเกิดวันหนึ่งมีโจรเข้ามาในบ้าน แล้วยิงพ่อหนู จับหนูกับแม่มัดแล้วกำลังจะข่มขืน แต่มันทำปืนร่วงตรงหน้าหนู หนูจะยิงไหม” เด็กก็ตอบว่า “โห… ยิงแน่ค่ะครู” นี่คือทักษะการแสดง การทำให้ตัวเองรู้สึกเท่ากับตัวละครให้ได้ คนที่ทำหน้าโกรธกับคนที่โกรธมาจากข้างใน แม้ว่าหยิบปืนมายิงเหมือนกัน แต่การแสดงไม่เหมือนกัน นักแสดงที่ดีต้องรู้จักตัวเองและซื่อสัตย์ต่อตนเอง มีคนชอบคิดว่าโลกการแสดงคือโลกที่ต้องใส่หน้ากาก แต่ความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เลยค่ะ มันคือการกระชากหน้ากากออกมาต่างหาก นักแสดงหลายคนมีความกลัวเป็นพื้นฐาน แต่ทุกคนต้องก้าวข้ามความกลัวไปให้ได้ เวลามีเด็กมาเรียนวันแรก เงาะจะให้ทำท่าทำเสียงให้น่าเกลียดที่สุด คนที่กลัวหรือห่วงสวยมากๆ จะไม่กล้าทำ ซึ่งเงาะไม่ให้ผ่าน พอไม่ให้ผ่านเขาก็ยิ้ม ยิ้มทั้งๆ ที่ในใจกำลังร้องไห้ เงาะยิ่งไม่ให้ผ่าน สุดท้ายเงาะคุยกับเขาว่า “มันไม่โอเคเลยนะคะ ที่เราไม่รู้ตัวว่ากำลังอึดอัด แล้วใส่หน้ากากยิ้มเพื่อบอกโลกว่าฉันโอเค” เพราะในความเป็นจริง บนโลกใบนี้มีคนทำแบบนี้อยู่แล้วตลอดเวลา เงาะถึงบอกว่าถ้าคุณใส่หน้ากากเล่น ไม่มีใครอยากดูคุณหรอก เขาไปหาดูที่ไหนก็ได้ เขาต้องการดูคนที่เจ็บแทนเขา สุขแทนเขา มีชีวิตชีวาแทนเขามากกว่า

แล้วตัวครูเงาะเองล่ะคะ เคยใส่หน้ากากมาก่อนไหม
ครูเงาะ : เงาะใส่หน้ากากตลกมาก่อนค่ะ เพราะคิดว่าตัวเองอ่อนแอไม่ได้ ในทางจิตวิทยาเรื่องนี้เกิดจากการเลี้ยงดู คุณพ่อเงาะเป็นทหาร พ่อจะคอยบอกว่า “ลูกพ่อต้องเข้มแข็ง” ทำให้เงาะแสดงความอ่อนแอออกมาไม่ได้ มีทฤษฎีหนึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเลือกไพ่ เขาบอกว่าเด็กต้องการการยอมรับจากพ่อแม่ พ่อแม่พูดอะไรก็จะฟัง เพื่อความอยู่รอดของตัวเอง เมื่อพ่อบอกว่าต้องเข้มแข็ง อย่าร้องไห้ อย่างี่เง่า เงาะก็เลือก “ไพ่เข้มแข็ง” มาตั้งแต่วันนั้น แล้วทิ้ง “ไพ่อ่อนแอ” ไปทันที คุณลักษณะที่ดีของความอ่อนแอคือความน่าทะนุถนอมและอ่อนโยน ใครเห็นก็อยากเข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งเงาะไม่มีคุณลักษณะเหล่านี้เลย เด็กหลายคนเลือก “ไพ่ผู้ใหญ่” จากคำพูดของพ่อแม่ แล้วทิ้งความสนุกในวัยเด็ก เพราะเชื่อว่าทำแบบนี้แล้วรอด ระหว่างทางชีวิต เราเลือกไพ่มาแล้วกี่ใบ ครูบอกยังไง แฟนบอกยังไง ทุกวันนี้เราเป็นตัวเองจริงหรือเปล่า หรือเรากำลังติดกรอบมาตรฐานของคนอื่นอยู่กันแน่ จำได้ว่าครั้งหนึ่งตอนอยู่ในห้องเรียนการแสดง เงาะเล่นกับพี่ย้ง (ทรงยศ สุขมากอนันต์ – ผู้กำกับละครชุด ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น) ต้องพูดคำว่า “มานี่” คือเรียกให้เข้ามาหา กับ “ไม่” คือไม่ยอมเข้าไปหา ต้องพูดจนกว่าคนที่พูดว่า “มานี่” ทำให้รู้สึกได้จริงๆ ว่าอยากให้มา เงาะมีหน้าที่พูดว่า “มานี่” ส่วนพี่ย้งต้องตอบว่า “ไม่” พอเล่นจริง เงาะทำเป็นไม่แคร์ ออกไปทำตลก ทำเป็นยิ้ม ทำเป็นลิง แต่พี่ย้งเป็นคนจริงจังมาก ยังไงก็ตอบว่า “ไม่” ผ่านไปเกือบชั่วโมง พี่ย้งก็ยังตอบว่า “ไม่” คนทั้งห้องหยุดดูเราสองคน เฝ้าดูว่าเมื่อไหร่เงาะจะทำได้ เงาะก็ยิ้ม ขณะที่ยิ้มๆ อยู่ ความโกรธและความอายเริ่มเข้ามา พอถึงจุดจุดหนึ่ง มันผัวะออกมาเลย เงาะทนไม่ได้จึงร้องไห้โฮออกมา จะเห็นว่าหน้ากากเราหนามากเลยนะ เป็นชั่วโมงๆ กว่าจะถอดได้ แต่ตอนนั้นก็ไม่ถือว่าถอดได้อย่างเบ็ดเสร็จนะคะ ยังมีความโกรธความอายอยู่ พอมีโอกาสได้ศึกษาเรื่องจิตวิทยา เรื่องคาแร็กเตอร์คน ทำให้เห็นว่า ที่ผ่านมาเราใช้ชีวิตแบบเด็กสามขวบคนนั้นมาตลอด เราปกปิดความอ่อนแอของเรามาทั้งชีวิต อยากให้สังเกตตัวเองดีๆ ถ้ารู้สึกไม่ชอบใคร ไม่ชอบคนแบบไหน มั่นใจได้เลยว่าเรามีคุณลักษณะนั้นซ่อนอยู่ในตัวเอง สมัยก่อนเงาะโกรธมากถ้ามีใครมาด่าว่าอ่อนแอ แต่วันนี้ ถ้ามีคนมาด่า เงาะกลับรู้สึกว่าจริงของเขา เรายอมรับความจริงได้มากขึ้น

ครูเงาะ-รสสุคนธ์ กองเกตุ

ครูเงาะเคยพูดว่า “การแสดงไม่ใช่เป็นเรื่องของพรสวรรค์ แต่เป็นเรื่องที่ฝึกฝนและพัฒนาได้” ความหมายของประโยคนี้คืออะไร
เงาะมองอย่างนี้ค่ะ ถามว่าพรสวรรค์มีจริงไหม คำตอบคือมีจริง บางคนมีทักษะด้านภาษาที่เก่งกว่า นั่นแปลว่าเมื่อเขาได้รับการฝึกฝนอย่างถูกต้อง เขาจะไปเร็วกว่าคนที่ไม่มีพื้นฐาน การแสดงก็เช่นกัน ยกตัวอย่าง ณเดชน์ (ณเดชน์ คูกิมิยะ), ญาญ่า (อุรัสยา เสปอร์บันด์), หรือซันนี่ (ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์) คนเหล่านี้มีพื้นฐานที่เรียกว่าธรรมชาติส่งให้มาเป็นนักแสดง ร้องได้ เล่นได้ เต้นได้ มีอารมณ์ขัน มีดราม่า รู้จักตัวเอง พอเราเติมให้เขา เขาก็จะไปเร็ว แต่ธรรมชาติไม่เคยให้ใครมาเต็มร้อย อย่างญาญ่า มาตอนแรกยังขาดอารมณ์อ่อนไหว ณเดชน์มาครั้งแรกยังไม่กล้าเป็นตัวเอง เขามีความกลัวบางอย่างอยู่ ส่วนซันนี่มาตลกอย่างเดียว ไม่ดราม่าเลย เราก็เติมให้เขา สมมติเขาเข้ามา 60 เราเติมให้เขาไปอีก 40 แต่บางคนมา 20 ไม่เข้าใจชีวิต ไม่รู้จักตัวเอง เต้นทื่อๆ แข็งๆ เสียงพูดก็ไม่ค่อยชัด พวกนี้ต้องใช้เวลานานหน่อย แต่ทุกทักษะของมนุษย์ฝึกฝนได้ทั้งนั้น ยกตัวอย่างเช่น มิว (นิษฐา จิรยั่งยืน) มิวเล่นดราม่าดีมาก แต่อ่อนในเรื่องบทตลก เพราะบ้านเขาไม่มีใครตลกเลย ตอนเล่นเรื่องแฟนเดย์ มิวต้องเล่นใหญ่ให้ดูตลก ดูโอเวอร์แอ๊คติ้ง ก็ต้องให้เขาก็อปปี้แทน ให้ดูตุ๊กกี้บ้าง ดูโอปอล์บ้าง แล้วก็อปปี้ออกมา การก็อปปี้เป็นทักษะของมนุษย์ ที่เหลือก็อยู่ที่การฝึก ปรากฏว่าเดี๋ยวนี้ มิวกลายเป็นคนตลก หัวเราะเก่ง ล่าสุดไปเล่นโฆษณาตัวหนึ่งกับเจ้าปิงปอง ไดอารี่ตุ๊ดซี่ โอ้โห… บ้าบอไปแล้ว เงาะถึงบอกว่าทักษะแบบนี้ฝึกซ้ำได้ อย่าไปตั้งข้อจำกัดว่าฉันไม่มี ถ้ารักจริง ฝึกซ้ำ ทำได้

ทำไมครูเงาะถึงเชื่อว่า ศาสตร์ทางการแสดงเป็นสิ่งที่คนทั่วไปสมควรเรียนอย่างยิ่ง
ที่เมืองนอก ไม่ว่าคุณจะเป็นหมอ ทนาย พนักงานบัญชี จะถูกส่งเรียนแอ๊คติ้งหมดเลย เพราะแอ๊คติ้งเป็นศาสตร์เกี่ยวกับเครื่องมือมนุษย์สามชิ้น คือ กาย เสียง และใจ ถ้าเรารู้ว่าร่างกายส่วนไหนทำให้เราหลังค่อม เราต้องแก้ไขส่วนนั้นจนทำให้เราหลังตรงและดูสง่าขึ้น หรือรู้ว่าถ้าพูดเสียงสูง คนจะไม่เชื่อถือ พูดเสียงต่ำ คนก็จะไม่เอ็นเตอร์เทน ทุกอย่างทำให้ชีวิตดีขึ้น ง่ายขึ้น มีประโยชน์มากขึ้น จริงๆ เรามีเครื่องมือเหล่านี้อยู่แล้ว แต่ไม่เคยใช้อย่างเต็มศักยภาพเท่านั้นเอง ส่วนเครื่องมือที่สามซึ่งสำคัญที่สุดก็คือ ใจ มีวิชาไหนในโลกบ้างที่ถามนักเรียนว่าเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตคุณ คุณดีใจที่สุด เสียใจที่สุด โกรธที่สุด รู้สึกผิดที่สุด ปลาบปลื้มปีติที่สุดกับเรื่องอะไรบ้าง มีแต่วิชาการแสดงเท่านั้นที่ถาม ถามเพื่อให้รู้จักตัวเองมากขึ้นและมีเป้าหมายของชีวิตชัดเจนขึ้น เงาะอยากถามต่อว่ามีอาชีพไหนไม่ได้ใช้กาย เสียง ใจบ้าง ไม่ว่าคุณจะเป็นทนายหรือเป็นหมอ คุณต้องรู้เรื่องการใช้โทนเสียง ต้องมีเทคนิคการเล่าเรื่อง ต้องใช้จิตวิทยาในการพูด ทุกวันนี้ที่โรงเรียนการแสดงของเงาะ มีคนที่เรียนเพื่อเป็นนักแสดงแค่ 15% เอง ที่เหลือเป็นอาชีพอื่นหมดเลย เขามาเรียนเพื่อพัฒนาศักยภาพ เรียนเพื่อให้ตัวเองมั่นใจกล้าแสดงออก ไม่ตื่นเต้นเวลาต้องออกไปพูด พอได้เรียนก็สนุก เพราะเป็นทักษะมนุษย์ที่ไม่ค่อยได้ใช้ พอได้ใช้ ร่างกายหรือจิตใจก็สนุกไปด้วย

ครูเงาะ-รสสุคนธ์ กองเกตุ

การสอนนักแสดงคนหนึ่งให้แสดงสมบทบาทจนต้องเตรียมความพร้อมมากขนาดไหน
ก่อนเรียน ต้องคุยและทำการบ้านกันเยอะค่ะ เช่น ถ้าเรียนเรื่องการเข้าคาแร็กเตอร์ ก็ต้องทำความเข้าใจว่าทำไมเขาถึงทำแบบนี้ อย่างจุ๋ย (วรัทยา นิลคูหา) ที่เล่นเป็นสายน้ำผึ้งในสามีตีตรา จุ๋ยไม่เข้าใจว่าทำไมตัวละครนี้ต้องร้ายขนาดนี้ เงาะต้องอธิบายว่าผู้หญิงคนนี้ยากจน เขาไม่มีพ่อไม่มีแม่ ไม่เคยมีอะไรเป็นของตัวเองเลย ต่างกับกะรัตที่พ่อแม่ร่ำรวยและมีทุกอย่าง สายน้ำผึ้งสั่งสมความรู้สึกแบบนี้ไว้นาน จนวันหนึ่งเกิดหลงรักผู้ชายคนหนึ่ง แต่ผู้ชายคนนั้นก็จำเป็นต้องไปแต่งงานกับกะรัตอีก ทุกอย่างมีเหตุและผล เธอรู้สึกขาด เธอต้องการให้ใครก็ได้มารักและเห็นคุณค่า พออธิบายก็ทำให้นักแสดงเข้าใจ เข้าใจทั้งตัวละคร เข้าใจทั้งมนุษย์ หลังจากนั้นจึงทำความเข้าใจลึกลงไปอีกว่ามีภาวะไหนในชีวิตที่เกิดขึ้นแล้ว เรารู้สึกไร้ค่าเหมือนคนคนนี้บ้าง การเรียนการแสดงจึงต้องทำความเข้าใจเรื่องคนเยอะมาก

การดึงศักยภาพของนักแสดงคนหนึ่งออกมาเป็นเรื่องยากไหม
เงาะมองว่าแต่ละคนมีพื้นฐานไม่เหมือนกัน สมัยก่อนเงาะพยายามทำทุกวิถีทางให้คนคนนั้นทำให้ได้ กลายเป็นว่าเราเครียด เลยถามตัวเองว่าเราทำเพื่อเขาหรือเพื่อเรากันแน่ เราทำทุกอย่างให้เขาดี เพื่อจะได้ภูมิใจว่าเราเป็นครูที่ดี แต่ไม่ได้ดูเลยว่าเขาพร้อมที่จะรับมากน้อยแค่ไหน แรกๆ เงาะสอนสนุก แต่พอเริ่มเรียนเยอะปุ๊บ เงาะเริ่มซีเรียส ฉันไปเรียนที่เมืองนอกมา ที่โน่นเขาซ้อมตั้งแต่เช้าจรดเย็น แต่เด็กไทยเรียนกันแค่ 50-50 ไม่ได้สิ เราต้องมีมาตรฐานเท่าเขา กลายเป็นเครียด ไม่ปล่อยวาง แต่พอมาตอนนี้ เงาะเข้าใจสิ่งต่างๆ มากขึ้น เราไม่ต้องการให้คนที่เริ่มจากศูนย์แล้วได้สิบทันที แค่คุณได้สาม เงาะก็พอใจแล้ว หน้าที่ของเงาะคือชื่นชมและให้กำลังใจ ดูเขาเท่าที่เขาเป็น ให้เขาค่อยๆ เดิน ไม่ใช่ว่าเขาเพิ่งหัดวิ่ง แล้วจะให้เขาวิ่งมาราธอน หรือให้วิ่งเหมือนพี่ตูน แบบนี้ก็พัง เงาะรู้จักปล่อยวางมากขึ้น ช่วยเขาเท่าที่เขาเป็น เท่าที่เขาไหวค่ะ

ทราบว่าหนึ่งในเทคนิคการสอนของครูเงาะคือการผสมผสานหลักพุทธศาสนากับการแสดง
เงาะคิดว่าในหลักพุทธศาสนา คำว่า “ธรรมะ” ย่อมาจากคำว่า “ธรรมชาติ” ถ้าเราอยากอยู่ในโลกอย่างเป็นธรรมชาติ ก็ต้องเข้าใจธรรมะ ไม่ว่าอาชีพอะไรก็ตาม เรานำเรื่องนี้ไปใช้ได้หมด ส่วนด้านการแสดง จะช่วยได้เยอะในเรื่องของสติและสมาธิ ธรรมะสอนให้นักแสดงมีทั้งสติและสมาธิมากขึ้นค่ะ

ครูเงาะ-รสสุคนธ์ กองเกตุ

เมื่อเห็นลูกศิษย์ที่เคยสอนกลายเป็นนักแสดงเก่งๆ สร้างความชุ่มชื่นในหัวใจของคนที่เป็นครูได้มากน้อยแค่ไหน
ก็ดีใจค่ะ แต่เงาะมองว่า ครูเป็นแค่ส่วนเดียว ครูเป็นแค่คนที่เอาวิชามาถ่ายทอด มาบอกต่อ แต่ตัวลูกศิษย์ต้องเอาไปทำด้วย ถ้าวันนี้เขาประสบความสำเร็จ ก็ภูมิใจกับเขา เพราะเขาไม่ได้เอาแค่วิชาไปทำ แต่เขาเลือกใช้ชีวิตอย่างถูกต้องด้วย เลยทำให้เขาประสบความสำเร็จในวันนี้

นอกจากการเป็นโค้ชทางการแสดงแล้ว ตอนนี้ครูเงาะมาเป็นคอมเม้นเตเตอร์หน้าจอทีวี ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
ชีวิตโดยรวมไม่ค่อยเปลี่ยนค่ะ เงาะเหมือนเดิมมาก แต่มีบางคนที่เข้าใจเอาเองว่าเงาะเปลี่ยนไป เช่น มีรุ่นพี่คนหนึ่งไม่กล้าโทร. หา เขาคิดว่าเงาะดังแล้ว จนเราได้เจอกัน ได้คุยกัน พี่เขาบอกว่าเงาะเหมือนเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนจริงๆ คือ ระหว่างทางมีคนขอถ่ายรูปมากขึ้น แล้วเงาะขี้เกรงใจ จะปฏิเสธก็ทำไม่เป็น พูดยากมาก ไม่รู้จะพูดยังไง เงาะรู้สึกดีนะเวลามีคนมาขอถ่ายรูป เพราะเขาเมตตาเรา แต่บางทีเรารีบ ต้องให้คนอื่นช่วยเบรค เงาะไม่รู้จะเบรคยังไง นี่ในกรณีที่รีบนะ ความเป็นส่วนตัวจะหายไป แต่ถ้าไม่รีบ ก็รู้สึกดีที่มีคนรักและเมตตาค่ะ แต่โดยรวมไม่ค่อยมีอะไรเปลี่ยน ใช้ชีวิตเหมือนเดิมทุกอย่าง กินง่ายอยู่ง่ายเหมือนเดิม กินข้าวในรถก็ได้ กินข้าวกล่องเซเว่นฯ ก็ได้ ไม่มีอะไรเปลี่ยนเลย

ครูเงาะตั้งใจว่าจะทำอะไรต่อ
วางแผนไว้ว่าจะขยายโรงเรียนไปต่างประเทศที่เวียดนามกับลาว แล้วทำคอร์สออนไลน์เพิ่มขึ้น เพื่อให้คนที่อยู่ไกลๆ ได้มีโอกาสเรียน ล่าสุดกำลังเขียนหนังสือเกี่ยวกับสิ่งที่ควรทำในแต่ละวัน ให้คนเมื่ออ่านแล้วพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ ด้วยค่ะ จุดเปลี่ยนสำคัญของเงาะอยู่ในช่วงสองปีหลังที่เริ่มทำเฟซบุ๊กไลฟ์ (Facebook Live) เมื่อก่อนเงาะมองว่าเรื่องไลฟ์เป็นสิ่งไกลตัว ไม่น่าสนใจ ใครจะอยากรู้ว่าคุณไลฟ์อะไร เรียกว่าแอนตี้เลยก็ได้ แต่วันหนึ่ง มีคนเข้ามาขอคำปรึกษา เงาะก็คุยกับเขา เขาน้ำตาไหลและบอกว่าขอบคุณมากๆ ทำไมครูเงาะไม่ทำไลฟ์ล่ะคะ สิ่งที่ครูเงาะสอนมีประโยชน์นะ คนที่เขาไม่มีโอกาสพบครู เขาจะได้เรียนด้วย พอฟังปุ๊บก็ถามตัวเองว่าเราอยากช่วยคน แต่ใช้วิธีเดินสายสอนทีละ 100-200 คน มันพอไหม ทำไมเราถึงปิดกั้นตัวเองขนาดนี้ จนวันหนึ่งนั่งคุยกับลูกศิษย์ ตัดสินใจไลฟ์เล่าเรื่องการปฏิบัติธรรม ก็เล่าผ่านกล้องไปเรื่อย ยาวประมาณ 8 นาที ผ่านไป 5 วัน มีคนดูล้านวิว รู้เลยว่าที่ผ่านมาเราดูถูกตัวเองมาก มีคนบนโลกใบนี้เป็นลูกค้าเราเสมอ เมื่อเขาหยุดฟัง ในวันนี้สิ่งที่เรามีนั้นสร้างประโยชน์ให้คนอื่นได้ แล้วทำไมเราถึงไม่ทำ พอมาทำไลฟ์ กลายเป็นว่าคนทั่วไปรู้จักเงาะจากไลฟ์มากพอๆ กับรู้จักจากงานเบื้องหน้าเลยนะคะ

ครูเงาะ-รสสุคนธ์ กองเกตุ

วันที่ 8 มีนาคมของทุกปีเป็นวันสตรีสากล ครูเงาะมองเรื่องบทบาทของผู้หญิงในปัจจุบันอย่างไรบ้าง
เงาะขอชื่นชมสังคมไทยที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้ทำสิ่งดีๆ ตามศักยภาพของตัวเองมากขึ้น แต่สิ่งที่อยากให้ทุกคนใส่ใจกันเพิ่มขึ้นก็คือ หนึ่ง อย่าปล่อยให้ผู้หญิงเป็นแค่สัญลักษณ์ทางเพศ อย่ากดไลค์กดแชร์ผู้หญิงที่เลือกจะขายเรื่องเพศอย่างเดียว สอง เมื่อเห็นผู้หญิงถูกทำร้าย ถูกกระทำ อย่านิ่งนอนใจ อย่าคิดแต่ว่าไม่ใช่เรื่องของเรา เราต้องช่วยกันค่ะ สาม ทำให้ผู้หญิงเห็นคุณค่าของตัวเองด้วยการเลิกตั้งคำถามว่า เมื่อไหร่จะแต่งงาน มีแฟนหรือยัง เมื่อไหร่จะมีลูก เลิกตั้งคำถามที่วัดความเป็นผู้หญิงแค่นี้ได้แล้ว เงาะมองว่ามีผู้หญิงมากมายที่มีความสุขได้ด้วยตัวเอง เงาะอยากให้ผู้หญิงทุกคนมีความสุขด้วยตัวเองให้เป็น พึ่งตนเองได้ มีเมตตาทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ไม่ได้แปลว่าฉันพึ่งตนเองได้ ฉันเกลียดผู้ชาย อันนี้คือสุดโต่ง เราสามารถเป็นมิตรกับคนทุกคนได้ โดยเฉพาะคนแรกคือตัวของเราเองค่ะ

นอกจากความรู้และข้อคิดดีๆ เกี่ยวกับศาสตร์การแสดงที่เธอมีอยู่เต็มเปี่ยมแล้ว มุมมองความคิดเรื่องผู้หญิงของเธอก็น่าสนใจไม่แพ้กัน จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่เมื่อคิดถึงผู้หญิงสวย ฉลาด และเก่งของวงการบันเทิงไทย ชื่อของ “ครูเงาะ-รสสุคนธ์ กองเกตุ” เป็นหนึ่งในนั้นเสมอ

ครูเงาะ-รสสุคนธ์ กองเกตุ

 

เครดิต
นางแบบ: ครูเงาะ – รสสุคนธ์ กองเกตุ
ช่างภาพ: อนุชา ศรีกรการ
สไตลิสต์: Natee  ผู้ช่วยสไตลิสต์: Cris
แต่งหน้า: จรัสรัตน์ พงษ์พันธ์ (น้ำฟ้า) IG: Namfah17_MAKEUPARTIST 09 7136 6965
ทำผม: Suttanakorn Phuttakosol
เสื้อผ้า: Iconic ชั้น 1 สยามเซ็นเตอร์, ชั้น 2 เซน
Bchurunway ซอยทองหล่อ 20
เครื่องประดับ: Kayve ชั้น 2 เซ็นทรัลชิดลม
สถานที่: โรงแรม U Sathorn Bangkok
105, 105/1 ซอยงามดูพลี แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพฯ 10120
โทรศัพท์: 0 2119 4888

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่