ผมชอบ “คาซึโอะ อินาโมริ” ที่ได้ชื่อว่า “เทพแห่งการบริหารที่ยังมีชีวิตอยู่”
เขาเป็นเจ้าของบริษัทเคียวเซร่า. และเป็นผู้เข้ามากอบกู้สายการบินเจแปนแอร์ไลน์ที่ขาดทุนจนแทบล้มละลายให้กลับมาเป็นหนึ่งได้อีกครั้ง
ในหนังสือ ถอยก็ตาย วิกฤติยังไงก็ต้องสู้ ของสำนักพิมพ์สุขภาพใจ ที่ “สุดารัตน์ เอื้อเปี่ยมมงคล” แปล “อินาโมริ”บอกเล่าประสบการณ์และเคล็ดลับสู่ความสำเร็จหลายเรื่อง
มีสองเรื่องที่อยากเล่าให้ฟัง
เรื่องแรก ทำงานจนได้ยิน “เสียงเครื่องจักรร้องไห้”
อ่านตอนแรกนึกว่าเป็นการบอกให้ทำงานหนัก หนักจนแม้แต่เครื่องจักรยังต้องร้องไห้
แต่ไม่ใช่ครับ
เป็นวิธีคิดของนักประดิษฐ์ชาวญี่ปุ่นที่ใส่ใจลงในงาน
ทำให้ “สิ่งประดิษฐ์” กลายเป็น “งานศิลปะ”
เขายกตัวอย่างการทำ “ดาบญี่ปุ่น” ที่ต้องเผาไฟและตีเหล็กขึ้นรูป
ช่างฝีมือจะชำระล้างร่างกายให้สะอาด บางคนสวมชุดขาวทั้งชุดเหมือนเป็นกิจกรรมอันศักดิ์สิทธิ์
ใส่ “ใจ” ลงใน “งาน”
“วัตถุ” กับ “จิตใจ” เป็นหนึ่งเดียว
การประชุมตอนเช้าก่อนเริ่มทำงานของคนญี่ปุ่น ก็คือ การสร้างจิตใจของผู้สรรค์สร้างก่อนจะเริ่มประดิษฐ์
ตอนที่คุมงานโรงงานผลิต “อินาโมริ” มักบอกลูกน้องเสมอว่า “ได้ยินเสียงเครื่องจักรร้องไห้” ไหม
ความหมายก็คือ ต้องทำงานทุ่มเทจนเป็นหนึ่งเดียวกับเครื่องจักร
รู้สึกว่าเครื่องจักรมีชีวิต จนได้ยินเสียงเครื่องจักรร้องไห้
ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาจึงจะมีคุณภาพขั้นสุดยอด
วันหนึ่ง เขาเห็นพนักงานคนหนึ่งท่าทางสิ้นหวังกับการเผาเซรามิก ปรับอุณหภูมิหลายครั้งแล้วก็ยังไม่ได้
“อินาโมริ” ถามเขาว่า “อธิษฐานกับเทพเจ้าหรือยัง”
ครับ “อินาโมริ” กำลังบอกเขาว่าคำอธิษฐานจะเกิดขึ้นได้เมื่อเขาใส่จิตวิญญาณลงไปในงาน ใช้ความพยายาม และสร้างสรรค์อย่างถึงที่สุด
จนเหลือหนทางเดียวคือ ขอพรจากเทพเจ้า
พนักงานคนนั้นครุ่นคิดพักหนึ่ง. พยักหน้าแล้วกลับไปเริ่มต้นทำงานตั้งแต่ขั้นตอนแรกใหม่อีกครั้ง
เรื่องที่สอง สร้างของมีคมจนบาดมือ
ครั้งหนึ่ง เมื่อทีมงาน IC Packaging สร้างสินค้าตัวอย่างเสร็จแล้วเอามาให้ดู แต่ “อินาโมริ” ปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใย
“ใช้ไม่ได้”
แม้ทีมงานจะให้เหตุผลว่าตรงตามมาตรฐานที่ลูกค้าต้องการแล้วก็ตาม แต่ “อินาโมริ” เห็นว่าสีไม่ตรงตามที่เขาต้องการ และรู้ว่ายังทำได้ดีกว่านี้
เขาบอกคนที่รับผิดชอบว่า “จงสร้างของมีคมจนบาดมือ”
“อินาโมริ” ได้คำนี้มาจากพ่อแม่
เขาบอกว่าถ้าเราเห็นสิ่งของที่เสร็จเป็นรูปร่างอยู่ตรงหน้า แล้วรู้สึกเลื่อมใสและเคารพจนไม่กล้าสัมผัสสิ่งนั้น
แบบนี้เรียกว่า “บาดมือได้”
การสร้าง “ของมีคมจนบาดมือได้” คือ การประดิษฐ์สิ่งของที่สมบูรณ์แบบ ไร้ที่ติ เหนือความคาดหมาย
ประมาณว่าแค่มือสัมผัสก็บาดมือได้
ในที่สุด
ทีมงานก็สามารถผลิตสินค้าที่ไร้ที่ติสำเร็จ และ “เคียวเซร่า” ก็ครองตลาด IC Packaging ของโลกได้สำเร็จ
นี่คือ “ตัวอักษร” บาดมือของหนังสือเล่มนี้ครับ
คอลัมน์: ตัวอักษรบาดมือ
เรื่อง: “หนุ่มเมืองจันท์”