กระดูกพรุน อย่าดื่มนมมาก

-

เรียนอาจารย์สันต์ ใจยอดศิลป์

          มีปัญหากระดูกพรุน พยายามดื่มนมไร้ไขมันให้มาก แต่ไม่สามารถดื่มเกินวันละ 1 ลิตร เนื่องจากท้องจะเสีย ดื่มแค่นี้จะรักษามวลกระดูกให้ปกติได้ไหมครับ

 

ตอบครับ

ถามว่าการดื่มนมวันละลิตร จะช่วยให้มวลกระดูกดีขึ้นไหม ตอบว่าจะให้ผลในทางตรงกันข้ามนะครับ คือกลับทำให้กระดูกหักง่ายขึ้น หิ หิ ช่างเป็นข้อมูลที่สวนกระแสเสียนี่กระไร แต่ก็เป็นความจริงที่ได้จากหลักฐานงานวิจัย ในแง่ข้อมูลระบาดวิทยา ประชาชนในประเทศที่ดื่มนมมากเกินไปจะมีอัตราเกิดกระดูกหักมากกว่าประชาชนในประเทศที่ดื่มนมน้อย

เป็นข้อมูลลึกแต่ไม่ลับ งานวิจัยที่ทำในสวีเดนพบว่า การดื่มนมมากกลับเกี่ยวพันกับการเป็นกระดูกพรุนมากขึ้น กระดูกหักในวัยชรามากขึ้น และมีอัตราตายสูงขึ้นกว่าคนไม่ดื่มหรือดื่มนมน้อย ข้อมูลนี้ทำให้วงการแพทย์งงเต๊กไปเลยเหมือนกัน

กล่าวคือ ในงานวิจัยนี้ หญิงอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ถ้าดื่มนมเกิน 200 กรัม (เกือบหนึ่งแก้ว) ก็จะเริ่มมีความเสี่ยงเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ความเสี่ยง (RR) นี้เพิ่มขึ้นชัดเจนเป็นร้อยละ 21 เมื่อดื่มหนึ่งถึงสองแก้ว และเพิ่มเป็นร้อยละ 93 เมื่อดื่มวันละสามแก้วขึ้นไป

สาเหตุที่แท้จริงเป็นอย่างไรยังไม่มีใครทราบ สมมติฐานที่ตั้งกันในวงการแพทย์ก็เดาเอาว่า การดื่มนมทำให้เลือดเป็นกรด แล้วกลไกการปรับดุลกรดด่างก็ดึงเอาแคลเซียมออกมาจากกระดูกเพื่อรักษาดุลของกรดด่างไว้ เสร็จงานแล้วแคลเซียมก็ถูกขับทิ้งไปทางปัสสาวะ ไม่ได้กลับเข้ากระดูกอีก คนคนนั้นจึงขาดแคลเซียม นี่เป็นเวิร์บทูเดานะ

ความจริงนี่ไม่ใช่งานวิจัยแรก ก่อนหน้านี้ก็มีงานวิจัยสำรวจคนที่ดื่มนมวัวต่อเนื่องกันนานเกินยี่สิบปีแล้วพบว่ายิ่งดื่มนมวัวมาก ยิ่งมีแนวโน้มจะเกิดกระดูกหักในวัยชรามากขึ้น

และยังมีงานวิจัยของฮาร์วาร์ดซึ่งตามดูคน 77,761 คน อายุ 34-59 ปี ตามอยู่นาน 12 ปี แล้วพบว่าพวกที่ดื่มนมมากเกิดกระดูกหักมากขึ้น

ทั้งหมดนี้นำมาสู่คำแนะนำโภชนาการของรัฐบาลอเมริกันฉบับล่าสุด (USDA 2016-2020) ว่าไม่ควรดื่มนมเกินวันละ 2-3 แก้ว และคำแนะนำของรัฐบาลแคนาดา (Canada Food Guide 2019) ว่าเครื่องดื่มประจำตัวทุกวันที่แนะนำมีอย่างเดียว คือน้ำเปล่า และคำแนะโภชนาการล่าสุดของฮาร์วาร์ดก็ไม่ได้แนะนำให้ดื่มนม แต่ให้ดื่มน้ำเปล่า

 

 

ส่วนหมอสันต์ไม่แนะนำให้สุดขั้วถึงขนาดทิ้งนม การสูญเสียแคลเซียมเพราะความเป็นกรดในเลือดนั้นไม่ได้เกิดจากนมอย่างเดียว แต่เกิดจากอาหารเนื้อสัตว์ทุกชนิดด้วย งานวิจัยเชิงระบาดวิทยาพบว่าในชนบทจีนที่อาหารโปรตีนส่วนใหญ่มาจากพืช ผู้คนมีอัตราเกิดกระดูกหักในวัยชราต่ำกว่าในอเมริกาซึ่งได้โปรตีนส่วนใหญ่จากเนื้อสัตว์ อัตรากระดูกหักต่ำกว่ากันถึงห้าเท่า ดังนั้นผมแนะนำว่าหากอยากให้กระดูกแข็งแรงก็ปรับลดอาหารเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ลง รวมทั้งนมด้วย ขณะเดียวกันก็ดูแลปัจจัยอื่นที่ทำให้กระดูกแข็งแรง เช่น วิตามินดีซึ่งได้จากแสงแดด การออกกำลังกาย การเลิกบุหรี่และแอลกอฮอล์ และยารักษาโรคบางตัวที่ทำให้กระดูกพรุนก็เลิกกินเสีย


คอลัมน์: สุขภาพ

เรื่อง: นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!