ในวันที่อุณหภูมิการเมืองไทยเริ่มร้อนแรง มีการตั้งคำถามมากมายว่าเมื่อไหร่จะมีการเลือกตั้ง เมื่อไหร่จะได้ยลโฉมผู้บริหารพรรคการเมืองแต่ละพรรค เมื่อไหร่ประเทศไทยจะมี “ว่าที่” นายกรัฐมนตรีตามระบอบประชาธิปไตย ฯลฯ ออล ฟรี แม็กกาซีน ฉบับปฐมฤกษ์จึงขอขานรับบรรยากาศคึกคักของเหล่านักการเมืองไทย ด้วยการนำสองหนุ่มใหญ่ไฟแรง “กรณ์ จาติกวณิช” และ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” นักการเมืองภาพลักษณ์ดี ดีกรีสูสี ซึ่งอยู่ต่างขั้วการเมือง มานั่งคุยในประเด็นที่ไม่เฉียดการเมือง แต่มีความสำคัญอย่างยิ่งแก่คนในสังคมไทย เพราะใครๆ ก็พูดว่าการอ่านหนังสือมีความสำคัญแก่ชีวิต แล้วคนที่ก้าวขึ้นมาทำงานสำคัญระดับประเทศหรือเป็นผู้นำขององค์กรขนาดนี้ การอ่านหนังสือมีผลต่อความสำเร็จในชีวิตมากน้อยแค่ไหน
กรณ์ จาติกวณิช
ประธานกรรมการนโยบาย พรรคประชาธิปัตย์ ,ประธานสมาคมฟินเทคแห่งประเทศไทย
“ผมอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก เล่มแรกที่อ่านคือ พล นิกร กิมหงวน ซึ่งเด็กสมัยนี้คงไม่อ่านแล้ว จากนั้นก็เริ่มอ่านนิยายจีนกำลังภายใน ผมอ่าน มังกรหยก ภาค 1-3 จบตั้งแต่ราวๆ 11 ขวบก่อนไปเรียนเมืองนอก ถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะพี่น้องอ่านกันทั้งบ้าน เกือบๆ จะเรียกว่าแข่งกันอ่านด้วยซ้ำไป” อดีตรัฐมนตรีหนุ่มเท้าความถึงบรรยากาศการอ่านในสมัยเด็กอย่างอารมณ์ดี เขายังบอกอีกว่าในสมัยก่อนการแบ่งเวลามาอ่านหนังสือค่อนข้างง่ายกว่าสมัยนี้ที่ทุกคนล้วน “ง่วน” อยู่กับโทรศัพท์มือถือ ทำให้หนังสือในปัจจุบันกลายเป็นสิ่งที่หนัก ยาก และน่าเบื่อ
“คุณพ่อคุณแม่ผมเป็นหนอนหนังสือทั้งสองท่าน ภรรยาก็ชอบอ่านหนังสือมาก ลูกสาวเรียนวรรณคดีเหมือนผม ส่วนลูกชายแม้จะชอบเล่นเกม แต่ก็ไม่เคยห่างจากหนังสือ เรียกได้ว่าเป็นครอบครัวนักอ่าน เรามักคุยกันเสมอว่าหนังสือเล่มไหนสนุก เอามาแบ่งปันแนะนำกัน ผมก็รู้สึกดีที่มีคนช่วยกรอง ถ้าคนในครอบครัวบอกว่าเรื่องนี้ต้องอ่าน คือต้องดีจริง” กรณ์เล่าถึงบรรยากาศการอ่านหนังสือภายในครอบครัวอย่างมีความสุข ทุกวันนี้แม้ตารางงานจะแน่นเอี้ยด หนุ่มใหญ่คนนี้ยังคงแบ่งเวลาไว้สำหรับอ่านหนังสือทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมถึงนิยายจีนกำลังภายในที่ชื่นชอบ เขากำหนดตารางเวลาให้ตัวเองว่าเมื่ออ่านเล่มนี้จบจะเปลี่ยนไปอ่านแนวอื่น แต่ระหว่างนั้นมักมีคนแนะนำหนังสือเล่มอื่นแทรกเข้ามาเสมอ โดยเฉพาะหนังสือเกี่ยวกับเทคโนโลยีหรือ how-to ต่างๆ
เมื่อถามถึงหนังสือเล่มที่อ่านแล้ว “เปลี่ยนชีวิต” ชายหนุ่มนั่งคิดอยู่พักหนึ่งแล้วตอบว่า “สำหรับผม การอ่านหนังสือเล่มหนึ่งอาจไม่ถึงกับเปลี่ยนชีวิต เพราะผมเป็นคนที่อ่านแล้วลืมรายละเอียดต่างๆ ผมจะอิน (ซาบซึ้ง) เฉพาะขณะที่อ่านอยู่เท่านั้น จนภรรยาแซวว่าหนังสือทุกเล่มที่ผมอ่านคือหนังสือที่ดีที่สุดในชีวิต แต่ถ้าถามว่าหนังสือเล่มไหนที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผม ผมคิดถึง พันธุ์หมาบ้าของคุณชาติ กอบจิตติ หนังสือเล่มนี้ปลุกเชื้อความเป็นไทยของผมได้มากเป็นพิเศษ อาจเป็นเพราะผมอ่านตอนกลับจากเมืองนอกใหม่ๆ ยังวัยรุ่น และเพิ่งเริ่มทำงาน เรื่องราวภายในเล่มช่วยเปิดหูเปิดตาให้ผมเห็นวิถีชีวิตและวิธีคิดของคนที่อยู่ในสังคมหรือมีประสบการณ์ที่แตกต่างกับผม ส่วนอีกเล่มที่คล้ายๆ กัน คือเรื่องข้างหลังโปสการ์ด เขียนโดย “หลานเสรีไทย” เป็นหนังสือเชิงท่องเที่ยว ปรัชญา ประสบการณ์ชีวิต ผมอ่านแล้วรู้สึกว่าความชัดเจนในความคิดและความเป็นตัวเองของผู้เขียนมีผลต่อผม บางทีก็รู้สึกว่านี่คือสิ่งที่เราอยากเป็น หนังสือทั้งสองเล่มอาจไม่ใช่หนังสือที่ดีที่สุด แต่สองเล่มนี้มีผลทางจิตใจสำหรับผมครับ”
กว่าจะเป็น “กรณ์ จาติกวณิช” ที่ทุกคนรู้จักในวันนี้ การอ่านหนังสือส่งผลต่อความสำเร็จในชีวิตอย่างไร ชายหนุ่มตอบว่า “การอ่านหนังสือมีส่วนอย่างมากในการหล่อหลอมผมให้เป็นผมอย่างในทุกวันนี้ การอ่านหนังสือทำให้ผมสามารถอยู่กับตัวเองได้ มีความสงบ มีสติ มีสมาธิ ไม่มีความรู้สึกว่าต้องแสวงหาหรือต้องพึ่งพาคนอื่น เรื่องนี้เห็นผลชัดเจนมากตอนผมไปเรียนที่เมืองนอก เพราะมีหนังสือเป็นเพื่อน ผมจึงไม่เหงาเกินไปนักและสามารถอยู่กับตัวเองได้ เมื่อเรียนจบ กลับมาทำงาน เวลาที่ผมต้องโฟกัสหรือใช้สมาธิในสิ่งที่จะทำ ผมจึงไม่ว่อกแว่ก ซึ่งทั้งหมดนี้ผมมองว่ามันส่งผลต่อระดับความสำเร็จในชีวิตอย่างแน่นอน”
” การอ่านหนังสือมีส่วนอย่างมากในการหล่อหลอมผมให้เป็นผมอย่างในทุกวันนี้ “
“ช่วงนี้ผมอ่านหนังสือเกี่ยวกับ technical อยู่สองสามเรื่อง แล้วก็อ่านนวนิยายเรื่องความฝันครั้งที่สอง ของ “ว.วินิจฉัยกุล” ที่ภรรยาอ่านแล้วส่งต่อมา ก่อนหน้านี้ผมเพิ่งอ่าน Swing Time จบ เล่มนี้เป็นนวนิยายเรื่องล่าสุดของนักเขียนผิวสี Zadie Smith หนังสือเล่มแรกของเธอที่ผมซื้อคือเรื่อง White Teeth ไว้ตั้งแต่ค.ศ.2003 ล่าสุดลูกสาวผมไปซื้อหนังสือของนักเขียนคนนี้ที่ปัจจุบันมีชื่อเสียงแล้ว พอกลับมาบ้าน เธอพบว่าพ่อซื้อหนังสือเล่มแรกของ Zadie Smith ไว้ตั้งแต่สิบกว่าปีก่อน ลูกสาวก็งงว่าทำไมพ่อถึงอินเทรนด์ขนาดนี้” พูดจบหนุ่มใหญ่เจ้าของฉายา ‘หล่อโย่ง’ ก็หัวเราะอย่างอารมณ์ดีที่ ‘หนังสือ’ กลายเป็นการแบ่งปันประสบการณ์ที่มีความหมายสำหรับคนในครอบครัว
นอกจากปล่อยให้ตัวเองดื่มด่ำกับหนังสือที่ตัวเองชอบแล้ว ด้วยภาระหน้าที่ที่ต้องติดตามข่าวสารต่างๆ อยู่ตลอดเวลา กรณ์ยังคงอ่านหนังสือพิมพ์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพราะเขาเชื่อว่าการนำเสนอข่าวในหนังสือพิมพ์แต่ละวันจะมีบรรณาธิการข่าวคอยคัดกรองเรื่องที่ควรรู้ในระยะเวลาอันจำกัดมาให้อย่างรอบด้าน
เมื่อถามถึงแนวทางส่งเสริมการอ่านจากภาครัฐ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังบอกว่า “ผมขอพูดถึงในแง่ของจิตใจ สมัยผมเรียนหนังสือที่อังกฤษ ผมและเพื่อนมีความทรงจำที่ดีมากๆ ร่วมกัน นั่นคือภาพและเสียงของคุณครูคนแรกที่อ่านหนังสือเรื่อง Of Mice and Men ของจอห์น สไตน์เบ็คให้พวกเราฟัง ผมมองว่าวิธีหนึ่งที่จะทำให้เด็กรักหนังสือคือการสร้างประสบการณ์ลักษณะนี้แก่นักเรียน คุณครูควรเลือกหนังสือดีๆ มาอ่านให้เด็กฟัง ผมคิดว่าถ้าเรื่องนี้มีผลต่อผม ก็น่าจะมีผลต่อคนอื่นบ้างไม่มากก็น้อย”
กรณ์ทิ้งท้ายไว้ว่า “ไม่มีอะไรที่จะให้ความสุขแก่ผมได้มากกว่าการ “ติด” หนังสือดีๆ สักเล่ม ความมหัศจรรย์ของจินตนาการอยู่บนชั้นหนังสือในบ้านเรานี่เองครับ”
***********************
5 เล่มโปรดของ ‘กรณ์ จาติกวณิช’
1. พันธุ์หมาบ้า โดย ชาติ กอบจิตติ
2. ข้างหลังโปสการ์ด โดย “หลานเสรีไทย”
3. พม่าเสียเมือง โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
4. Of Mice and Men โดย John Steinbeck (ฉบับแปลภาษาไทยมีหลายสำนวน แต่ใช้ชื่อตรงกันว่า เพื่อนยาก)
5. Down and Out in Paris and London โดย George Orwell (ฉบับแปลภาษาไทยโดยบัญชา สุวรรณานนท์ ชื่อ ความจนกับคนจรในปารีสและลอนดอน)
โปรย:
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
(อดีต)ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ควอลิตีเฮาส์ จำกัด (มหาชน)
“คุณพ่อคุณแม่ให้ความสำคัญแก่การเรียนเป็นหลัก เลยสนับสนุนเรื่องการอ่านหนังสือไปด้วย ลูกๆ สามารถซื้อหนังสือได้ไม่อั้น ผมจึงชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก อ่านตั้งแต่พล นิกร กิมหงวน, ต่วย’ตูน, เบบี้, หนูจ๋า เวลาสอบได้คะแนนดี คุณพ่อคุณแม่จะให้สตางค์ไปเลือกซื้อหนังสือ ผมชอบไปซื้อ textbook (ตำรา) ที่ร้านดวงกมล สยามสแควร์ เพราะชอบอ่านตำราของเด็กปีหนึ่ง ทั้งๆ ที่ตัวเองเรียนแค่มัธยมปลาย ตอนเรียนก็ชอบตั้งคำถาม ไม่ค่อยยอมเชื่ออาจารย์ จนกว่าจะหาข้อมูลมาสนับสนุนได้ถึงจะเชื่อ นี่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของนิสัยรักการอ่านของผม” อดีตรัฐมนตรีเจ้าของฉายา “รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” เริ่มต้นเล่าให้ฟังอย่างอารมณ์ดี
เมื่อประเด็นหลักในวันนี้ เราต้องพูดคุยกันเรื่องหนังสือ รศ.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ หรืออาจารย์ทริป ได้หอบหนังสือที่ชอบอ่านติดมาด้วยถุงใหญ่ และเมื่อถามถึง “หนังสือเปลี่ยนชีวิต” เขาไม่ลังเลที่จะหยิบเล่มนี้ขึ้นมาโชว์ “ผมคิดว่าคือเล่มนี้ How to Win Friends and Influence People (วิธีชนะมิตรและจูงใจคน) เขียนโดย เดล คาร์เนกี้ (Dale Carnegie) เล่มที่ถืออยู่นี่ พิมพ์เมื่อค.ศ.1953 แม้จะพิมพ์มานานแล้วก็ยังทันสมัยอยู่ หนังสือเล่มนี้อ่านง่าย เป็นเรื่องเกี่ยวกับการคบมิตร มีข้อควรปฏิบัติเพียงไม่กี่ข้อ แต่มีผลต่อการปฏิบัติตัวและความสัมพันธ์กับคนรอบข้างมากๆ ผมอ่านเล่มนี้ตอนเรียนจบปริญญาตรี ถือว่าเปลี่ยนชีวิตผมพอสมควร”
แล้วการอ่านหนังสือส่งผลต่อความสำเร็จในชีวิตต่อซีอีโอผู้แข็งแกร่งคนนี้อย่างไรบ้าง ชัชชาติตอบเสียงดังตามสไตล์ว่า “ผมว่ามีผลมากเลยนะ ตอนรับตำแหน่งรัฐมนตรีหรือซีอีโอของบริษัท ผมแทบไม่มีเวลาเตรียมตัวเลย ตอนเป็นรัฐมนตรีมีเวลาเตรียมตัวนาทีเดียว ตอนเป็นซีอีโอก็เป็นหลังจากปฏิวัติแค่หกเดือน เมื่อจำเป็นต้องเอาความรู้ที่มีมาใช้ในหน้าที่นั้นๆ ความรู้ที่สั่งสมมาจะช่วยเราได้ หนังสือส่วนใหญ่มาจากการกลั่นกรองประสบการณ์ของคนเขียน เราจึงนำมาใช้ได้ทันที แต่ก็ต้องฉลาดคิดวิเคราะห์ด้วย อย่าไปหลับหูหลับตาเชื่อทั้งหมด”
ชัชชาติยังให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเลือกหนังสือที่น่าสนใจไว้ด้วยว่า “อย่าไปอ่านในสิ่งที่เราเชี่ยวชาญอยู่แล้ว คนสมัยใหม่ต้องใช้ชีวิตเป็นรูปตัว T หมายถึงต้องรู้ลึกในด้านที่ถนัด แล้วก็ต้องมีความกว้างในมิติอื่นด้วย นี่คือหัวใจของความสำเร็จ ถ้ารู้ลึกเฉพาะเรื่อง ก็รู้แค่เป็นจุด แต่ถ้าเรารู้กว้าง เขาเรียก connect the dot ทุกอย่างสามารถเชื่อมโยงและสร้างเป็นสิ่งใหม่ๆ ได้ หัวใจของโลกปัจจุบัน คือ multidiscipline หรือการรวมศาสตร์หลายสาขาเข้าด้วยกัน ตรงนี้หนังสือช่วยได้ ผมชอบที่ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ พูดไว้ว่า ‘โอกาสจะมาหาคนที่พร้อมก่อนเสมอ’ คนที่พร้อมคือคนที่มีความรู้ คนที่เตรียมตัวไว้ก่อน การมีความรู้ก็เหมือนตาข่ายคอยดักโอกาส การอ่านหนังสือคือการขยายตาข่ายเพื่อดักโอกาส หรือที่อับราฮัม ลิงคอล์น พูดไว้ว่า ‘ถ้าให้เวลา 6 ชั่วโมงเพื่อตัดต้นไม้ ผมจะใช้เวลา 4 ชั่วโมงในการลับขวาน’ คุณต้องให้ขวานคมก่อนแล้วจึงไปตัดต้นไม้ การอ่านหนังสือถือเป็นการลับขวานอย่างหนึ่ง”
” การอ่านหนังสือคือการขยายตาข่ายเพื่อดักโอกาส “
“ช่วงนี้ผมสนใจอ่านหนังสือเกี่ยวกับเรื่องในอนาคต อย่างเล่มนี้ The Glass Cage: Who Needs Humans Anyway? ในแง่เศรษฐศาสตร์เขาบอกว่ายังไงคนก็ไม่ตกงาน เพราะไม่ว่าจะเป็นยุคปฏิวัติเกษตรกรรมหรือยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม คนไม่เคยตกงาน ยุคปัจจุบันก็เหมือนกัน ต่างกันที่สมัยก่อนเกิดด้วยสปีด (อัตราความเร็ว) ที่ช้า แต่ปัจจุบันสปีดมันเร็วจนคนอาจปรับไม่ทัน มีคนถามเยอะว่าอนาคตมนุษย์จะถูกเทคโนโลยีแย่งงานหรือเปล่า ผมเลยสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ” แม้ภาพลักษณ์จะดูเป็นคนทันสมัย แต่อดีตรัฐมนตรีเน็ตไอดอลขวัญใจวัยรุ่นก็สารภาพว่า “ผมยังชอบอ่านหนังสือกระดาษอยู่ ชอบขีดชอบเขียนลงไปในหนังสือ อิเลคทรอนิคส์ก็เขียนได้ แต่ผมไม่ถนัด ผมเป็นคนรุ่นเก่า บางทีก็ลืมชาร์จบ้าง ผมว่าหนังสือน่ะคลาสสิค เวลาเปิดอ่านมันได้อารมณ์ ได้กลิ่นกระดาษ”
แล้วจริงไหมที่ใคร ๆ ก็บอกว่า อินเตอร์เน็ตทำให้คนอ่านหนังสือน้อยลง อาจารย์ทริปตอบทันทีว่า “ผมคิดว่าไม่จริงนะ ทั้งผมและลูกชายก็อ่านหนังสือเยอะขึ้น อินเตอร์เน็ตเป็นแค่สื่อกลาง หนังสือและอินเตอร์เน็ตต่างช่วยเติมเต็มกัน ผมว่าคนรุ่นใหม่ไม่ได้อ่านหนังสือน้อยลง แต่หนังสือที่เขาอ่านอาจเป็น niche (เฉพาะกลุ่ม) มากขึ้น ผมอยากให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการคิด หรือ thinking society ไม่ใช่สังคมแห่งอารมณ์หรือ emotion society อย่างที่ผ่านมา การที่จะเป็นสังคมแห่งการคิดได้นั้น เราต้องมีข้อมูล มีระบบการจัดการความรู้ที่ดี ต้องเริ่มจากคน ต้องทำให้ห้องเรียนมีบรรยากาศของการพูดคุย ถกเถียงแสดงความเห็นบนพื้นฐานของข้อมูล หนังสือเป็นจุดเริ่มของ thinking society หนังสือจะช่วยปรับสังคม เพราะถ้าเราอ่านหนังสือ เราจะไม่เชื่ออะไรง่ายๆ เราจะคิดละเอียดขึ้น”
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมยังบอกแนวทางที่รัฐบาลควรส่งเสริมไว้ด้วยว่า “เราต้องให้สินทรัพย์ (asset) แก่เด็กอย่างง่ายที่สุด พยายามกระจายเป็นเส้นเลือดฝอยลงไปให้ถึงคนที่เขาต้องการจริงๆ ไม่ต้องไปทำอะไรหรูหรา อย่าไปทุ่มเทกับศูนย์การเรียนรู้หรูๆ ในห้าง ผมอยากให้ทำศูนย์การเรียนรู้ย่อยๆ ตามชุมชน ตอนนี้มีห้องสมุดที่สวยที่สุดในประเทศไทยอยู่ในชุมชน 70 ไร่ กลางสลัมคลองเตย ในวันหยุดเด็กๆ จะไปนั่งอ่านหนังสือที่นี่กัน โดยมีอาสาสมัครชาวต่างประเทศที่ทำงานในเมืองไทยมาช่วยสอนภาษา ผมมองว่าเรื่องแบบนี้ต้องช่วยกัน อย่ามัวแต่พูดว่ากระทรวงศึกษาฯ ห่วย เราต้องเริ่มต้นแก้ไขที่ตัวเองก่อน ใครอยากแก้ไขให้ดีขึ้นก็เริ่มเลย แล้วสังคมจะดีขึ้นเอง”
************************
5 เล่มโปรดของชัชชาติ สิทธิพันธุ์
1. คู่มือมนุษย์ โดย พุทธทาสภิกขุ
2. ปัญญาอดีต (Past) โดย ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา
3. ปัญญาอนาคต (Future) โดย ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา
4. Good to Great โดย Jim Collins (ฉบับแปลภาษาไทยโดยขุนทอง ลอเสรีวานิช ชื่อ จากบริษัทดีสู่ความเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่)
5. Principles โดย Ray Dalio (มีฉบับแปลภาษาไทยเผยแพร่ทางออนไลน์และแจกไฟล์ฟรี)
เพราะ ‘อ่าน’ จึง ‘สำเร็จ’
ทันตแพทย์สม สุจีรา
การอ่านเป็นวิธีหาความรู้ที่ง่ายที่สุด ไม่ต้องใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีใดๆ ช่วยแปดสิบเปอร์เซ็นต์ของความรู้ได้มาจากการอ่าน เราสามารถเลือกอ่านเฉพาะสิ่งที่ต้องการ ข้ามไปจุดใด กลับมาจุดใดได้ตลอดเวลา ในยุคแห่งการสื่อสาร ข้อมูลในอินเตอร์เน็ตมีให้อ่านมากมาย ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงเท่ากัน แต่ได้ความรู้ไม่เท่ากัน ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการอ่านและการคัดเลือกสิ่งที่จะอ่าน
“หนุ่มเมืองจันท์”
การอ่านกับความสำเร็จในชีวิตของผมมีสองประเด็น ประเด็นที่หนึ่งคือการอ่านในวัยเด็ก ไม่ว่าจะเป็นอ่านหนังสือพิมพ์หรือหนังสือต่างๆ ล้วนสั่งสมตัวอักษรไว้ในตัวผม ให้สามารถนำมาเล่นบนกระดาษได้ จนผมกลายเป็นนักเขียนในวันนี้ ประเด็นที่สองคือการอ่านในช่วงวัยที่เริ่มเขียนงาน ผมได้รับความรู้ใหม่ๆ จากทุกสิ่งทุกอย่าง และทำให้มีข้อมูลที่นำมาใช้เขียนงานได้จนถึงทุกวันนี้
ภาววิทย์ กลิ่นประทุม
ผมมีวันนี้ได้เพราะการอ่านหนังสือ หนังสือเหมือนหน้าต่างของชีวิต คนที่สำเร็จในโลกล้วนเป็นนักอ่านตัวยง ยิ่งอ่านหนังสือยิ่งได้ไอเดียใหม่ๆ ยุคนี้คนไม่ค่อยมีเวลาอ่านหนังสือ เพราะมัวแต่อ่านมือถือ การอ่านหนังสือเท่ากับเปิดโลก ให้ไอเดีย เพิ่มโอกาสสร้างเงิน ส่วนการดูโทรทัศน์และมือถือมีแต่เรื่องดูดวิญญาณและกระตุ้นการเสียเงิน เมื่อหยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน นั่นคือจุดเริ่มของการเปลี่ยนแปลงชีวิตครั้งใหญ่
แม็กซ์ เจนมานะ
ผมไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าตัวเองประสบความสำเร็จในชีวิต ขอเรียกว่ากำลังไปถึงจุดสงบของชีวิตจะดีกว่า และหนังสือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ผมไปถึงจุดนั้นได้สบายขึ้น เพราะผมสามารถยืมความคิดของยอดคนทั้งหลายในโลกได้ แม้จะเป็นเพียงการรู้จักและหยิบยืมผ่านตัวหนังสือก็ตาม